ผู้เขียน หัวข้อ: โลกใต้ดินเร้นลับแห่งมหาสงคราม-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 757 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
งานศิลป์ที่โลกลืมเผยแง่มุมอันอ่อนโยนของมนุษย์ ท่ามกลางดงกระสุน ระเบิด และไฟสงคราม

ทางเข้าเป็นโพรงแฉะๆใหญ่กว่าโพรงสัตว์เล็กน้อย ปกคลุมด้วยพุ่มไม้หนามรกเรื้อกลางผืนป่าห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส  ผมกำลังติดตามเจฟฟ์ กัสกี ช่างภาพที่เคยสำรวจอุโมงค์ใต้ดินแบบนี้มาหลายสิบแห่งเราทั้งคู่ไถลตัวผ่านโพรงที่เป็นดินโคลนสู่ความมืดมิดเบื้องล่าง ไม่ช้าเส้นทางก็ขยายใหญ่ขึ้น จนเราคลานเข่าต่อไปได้แสงจากไฟฉายคาดศีรษะวูบไหวบนผนังหินชอล์กฝุ่นเขรอะของอุโมงค์เก่าแก่อายุร่วมศตวรรษ หลังจากคลานไปได้ราว 100 เมตร อุโมงค์ก็สิ้นสุดลงตรงคูหาเล็กๆที่เกิดจากการสกัดผนังหินชอล์ก ผมนึกถึงตู้โทรศัพท์ขึ้นมาทันที

ณ โลกใต้ดินแห่งนี้  ไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในช่วงฤดูร้อนเมื่อ 100 ปีก่อน  ทหารช่างฝ่ายเยอรมนีคงผลัดกันมานั่งเงียบกริบอยู่ตรงจุดนี้ เพื่อคอยเงี่ยหูฟังเสียงขุดอุโมงค์ของฝ่ายศัตรู เสียงพูดคุยงึมงำหรือเสียงพลั่วบ่งชี้ว่า หน่วยขุดอุโมงค์ของฝ่ายข้าศึกอาจอยู่ห่างออกไปไม่กี่เมตร และกำลังขุดอุโมงค์โจมตีตรงเข้ามาหาคุณ อันตรายยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าเสียงขุดเงียบลงและคุณได้ยินเสียงถุงหรือกระป๋องวางซ้อนกันเบาๆ ซึ่งชี้ว่าฝ่ายข้าศึกกำลังวางระเบิดทำลายล้างสูงตรงปลายอุโมงค์  สิ่งที่ทำให้ขวัญผวามากที่สุดคือความเงียบที่ตามมา  เพราะระเบิดอาจตูมตามขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ถ้าร่างคุณไม่ถูกแรงระเบิดฉีกเป็นชิ้นๆ ก็คงถูกฝังทั้งเป็น

ใกล้ๆกันนั้น บนผนังอุโมงค์ด้านหนึ่ง ไฟฉายคาดศีรษะของเราส่องให้เห็นรอยขูดขีดที่ทหารช่างเยอรมันทิ้งไว้ พวกเขาจารึกชื่อและหน่วยของตัวเองไว้ใต้คำขวัญ “Gott fur Kaiser! (พระเจ้าทรงอยู่ข้างจักรพรรดิไกเซอร์!)” รอยดินสอยังดูสดใหม่ อันที่จริง ชั้นหินชอล์กและหินปูนอ่อนนุ่มของแคว้นปิการ์ดีในฝรั่งเศสไม่เพียงเหมาะกับการขุดอุโมงค์ แต่ยังเป็นเวทีให้ทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจารึกการมีตัวตันของพวกเขาไว้ ด้วยลายเซ็นดินสอภาพร่างและภาพการ์ตูนล้อเลียน และแม้แต่ภาพสลักนูนต่ำฝีมือประณีตบรรจง

 

ความขัดแย้งเปิดฉากด้วยกองทหารม้าและความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายว่า  ปัญหาทั้งหมดน่าจะยุติลงก่อนวันคริสต์มาส พอถึงปลายปี 1914 การรุกคืบของฝ่ายเยอรมนีก็ยุติลงกลางคัน  กองทัพตั้งฐานที่มั่นและสร้างเครือข่ายสนามเพลาะทอดยาวจากชายฝั่งทะเลเหนือไปจรดชายแดนสวิตเซอร์แลนด์ การแข่งขันด้านอาวุธนำไปสู่การใช้แก๊สพิษอย่างกว้างขวาง  ตลอดจนการรบทางอากาศ และสมรภูมิรถถัง  ในแนวรบด้านตะวันตก ทหารหลายล้านคนสังเวยชีวิตในการโจมตีและการตอบโต้

ท่ามกลางภาวะชะงักงันอันนองเลือด ทั้งฝ่ายเยอรมนีและฝ่ายพันธมิตรอย่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ ต่างหันไปใช้           กลยุทธ์ปิดล้อมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป้าหมายคือการขุดลงไปใต้ฐานจุดต้านทานสำคัญๆ ของฝ่ายข้าศึกและวางระเบิดให้เป็นจุณ และป้องกันการโต้กลับด้วยการจุดระเบิดทำลายอุโมงค์ของตัวเอง ในปี 1916 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามใต้ดินรุนแรงที่สุด หน่วยปฏิการในอุโมงค์ของอังกฤษจุดระเบิดราว 750 ครั้งตลอดแนวสนามเพลาะและอุโมงค์ระยะทาง 160 กิโลเมตรของฝ่ายตน ขณะที่ฝ่ายเยอรมันตอบโต้ด้วยการจุดระเบิดเกือบ 700 ครั้งเช่นกัน เนินเขาและสันเขาน้อยใหญ่ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังสำคัญกลายเป็นรูพรุนเหมือนเนยแข็งสวิส ขณะที่การระเบิดครั้งใหญ่หลายครั้งทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่เป็นรอยแผลในภูมิประเทศแถบนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน

 

ในบรรดาศิลปินแห่งโลกใต้ดินที่มีผลงานมากที่สุด ได้แก่หน่วย “แยงกี” ที่ยี่สิบหก (26th “Yankee” Division) ซึ่งเป็นทหารอเมริกันหน่วยแรกๆที่มาถึงแนวหน้า  หลังสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามในเดือนเมษายน ปี 1917   เพื่อไปเยี่ยมชมเหมืองหินที่เชอแมงเดดามส์ซึ่งทหารหน่วยนี้ใช้เป็นที่พัก เราต้องไต่บันไดง่อนแง่นสองช่วงทอดลงสู่ถ้ำที่อยู่ลึกลงไปเก้าเมตร และใช้เวลาสำรวจเครือข่ายคูหาถ้ำซึ่งกินพื้นที่ถึง 250 ไร่อยู่นานหลายชั่วโมง ไฟฉายคาดศีรษะของเราเผยให้เห็นแคปซูลเวลาแห่งสงคราม นั่นคือทางเดินที่เกลื่อนกล่นไปด้วยขวด รองเท้า ปลอกกระสุน หมวกนิรภัย และเตียงนอนที่ทำจากลวดตาข่ายขึ้นสนิมจำนวนนับไม่ถ้วน  กระทั่งเตาหุงต้มและอุปกรณ์ประกอบอาหารครบชุดซึ่งมีทั้งหม้อและกระทะก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม

ตลอดช่วงหกสัปดาห์นับจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1918 ทางเดินเหล่านี้คงอึงอลคละคลุ้งไปด้วยเสียงและกลิ่นทหารอเมริกันหลายร้อยนาย ทหารที่ส่วนใหญ่เพิ่งเกณฑ์มาใหม่จะผลัดกันเข้าออกเหมืองหินแห่งนี้เพื่อไปสัมผัสประสบการณ์การสู้รบครั้งแรกในสนามเพลาะด้านบน พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงตกแต่งทุกตารางเซนติเมตรของผนังบางด้าน เราสังเกตเห็นสัญลักษณ์ปลุกใจให้รักชาติและสัญลักษณ์ทางศาสนาจำนวนมาก

เหล่าทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่อาศัยโลกใต้ดินเหล่านี้เป็นที่คุ้มภัยจากสงครามอันไร้ความปราณีเบื้องบน ฝากตราประทับในรูปของชื่อเสียงเรียงนาม และเรื่องราวว่าด้วยการมีชีวิตรอดของตัวเองไว้

เรื่องโดย อีแวน เฮดิงแฮม
สิงหาคม