หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

ผ่านมา 230 ปีเพิ่งพบโมเลกุล “ออกซิเจน” ในอวกาศครั้งแรก

(1/1)

pani:
กล้องโทรทรรศน์อวกาศพบหลักฐานโมเลกุล “ออกซิเจน” ในอวกาศ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราค้นพบโมเลกุลออกซิเจนในรูปแบบเดียวกับที่เราใช้หายใจ โดยพบโมเลกุลดังกล่าวในบริเวณที่มีการกำเนิดดาวในกลุ่มดาวนายพราน
       
       ทั้งนี้ ออกซิเจนเป็นธาตุที่มีอยู่มากมายเป็นอันดับ 3 ในจักรวาล รองจากไฮโดรเจนและฮีเลียม โมเลกุลของออกซิเจนเกิดขึ้นจากออกซิเจน 2 อะตอมรวมตัวกันด้วยพันธะคู่ (double bond) ซึ่งช่วยในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่เราไม่เคยพบออกซิเจนที่มีรูปแบบโมเลกุลเดียวกันนี้ในอวกาศ
       
       ล่าสุดบีบีซีซีนิวส์และเอเอฟพีรายงานว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์เชล (Herschel) ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) พบหลักฐานที่ได้รับการยืนยันเป็นครั้งแรกว่าเป็นโมเลกุลออกซิเจนในอวกาศ ซึ่งบริเวณที่ค้นพบอยู่ในบริเวณที่ดาวก่อตัวในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) และรายงานการค้นพบครั้งนี้ได้เผยแพร่ลงวารสารแอสโตรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal)
       
       “ก๊าซออกซิเจนถูกค้นพบเมื่อทศวรรษ 1770 แต่เราต้องใช้เวลามากกว่า 230 ปีเพื่อจะพูดได้เต็มปากว่า โมเลกุลที่แสนจะธรรมดานี้มีอยู่ในอวกาศด้วย” เอเอฟพีรายงานคำพูดของ พอล โกลด์สมิธ (Paul Goldsmith) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการกล้องเฮอร์เชล จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)
       
       ออกซิเจนในอวกาศมีอยู่ในน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นผิวของเม็ดฝุ่นเล็กๆ และเมื่อได้รับความร้อนมากขึ้นระดับหนึ่งจะปลดปล่อยน้ำและออกซิเจนออก ซึ่งโกลด์สมิธกล่าวว่านั่นเป็นบริเวณที่ออกซิเจนซุกซ่อนอยู่ แต่เราก็ยังไม่พบในปริมาณที่มากนัก และยังไม่เข้าใจถึงความพิเศษของบริเวณที่เราค้นพบโมเลกุลออกซิเจน และเขาได้สรุปว่าเอกภพนั้นยังคงเก็บงำความลับไว้อีกมาก
       
       ด้านบีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมอีกว่า ทีมวิจัยเลือกค้นหาโมเลกุลออกซิเจนในกลุ่มดาวนายพรานบริเวณที่ดาวกำลังก่อตัว เพราะเชื่อว่าจะมีออกซิเจนที่ปลดปล่อยออกมาจากน้ำแข็งและฝุ่นที่ถูก “เผา” จากบริเวณที่มีความร้อนและปั่นป่วนมากในอวกาศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 สิงหาคม 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version