ผู้เขียน หัวข้อ: สู่การแพทย์สองมาตรฐาน บทวิพากษ์ "เมดิคัลฮับ" ในมุมมองวิชาการ  (อ่าน 1080 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
ตามที่นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณ

การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้น  แนวคิดดังกล่าวมีความน่าเป็นห่วงอะไรบ้าง การตีแผ่วิพากษ์ในทางวิชาการ เพื่อประกอบการร่วมตัดสินใจของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น
 
ประการแรก  การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิหรือสินค้า

มุมมองต่อสุขภาพมีสองขั้วใหญ่ๆ คือ

1. มุมมองด้านมนุษยนิยม  มองว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน  ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน บ้านอยู่กรุงหรืออยู่บนดอย เชื้อชาติศาสนาใดๆ ก็ตาม มีบัตรประชาชนหรือไม่ก็ตาม  ย่อมควรต้องมีสิทธิเสมอกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รัฐต้องจัดบริการให้ดีที่สุดโดยมีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  แนวคิดนี้มองว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนของทุกคน ประเทศที่เดินตามทิศทางนี้คือประเทศในยุโรป  รวมทั้งประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

2. มุมมองด้านวัตถุนิยม  มองว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสินค้า  การไปรับบริการด้านสุขภาพเป็นเหมือนการซื้อเสื้อผ้า  บริการสุขภาพควรมีทั้งอย่างหรูสำหรับคนมีเงิน มีอย่างปานกลางสำหรับคนทำงาน และมีอย่างสังคมสงเคราะห์สำหรับคนยากคนจน  แม้ไม่มีเงินสังคมก็ควรได้รับการดูแลรักษา  แนวคิดนี้ไม่ยอมรับความเท่าเทียมเพราะความจริงโลกนี้แตกต่าง  และบริการสุขภาพก็ขายได้ เป็นสินค้าสำคัญที่สังคมต้องการ  ประเทศที่เดินตามทิศทางนี้ คือ สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากอเมริกานั่นเอง
 
คำถามแรก คือ แล้วแนวคิดเมดิคัลฮับนั้น  ยึดถืออุดมคติข้อใดในการจัดบริการเป็นสำคัญ   เห็นสุขภาพเป็นสิทธิหรือเป็นสินค้า
 
ประการที่สอง  มุมมองเพื่อวิเคราะห์ว่าโรงพยาบาลใดเห็นสุขภาพเป็นสิทธิหรือเป็นสินค้า
ด้วยสภาพสังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบัน  การมองว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้นจัดบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นไม่จริงเสมอไป  หรือจะมองว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งเห็นสุขภาพเป็นสินค้าเท่านั้นก็อาจไม่ใช่  เพราะองค์กรเอกชนที่ทำเพื่อสังคมโดยไม่แสวงหากำไรก็มี

การเปิดเมดิคัลฮับจึงท้าทายจริยธรรมของโรงพยาบาลของรัฐนั้นๆ ว่า  จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผันตนเองไปเป็นโรงพยาบาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแสวงหากำไรและละทิ้งอุดมการณ์เพื่อสาธารณะในระยะยาวต่อไปหรือไม่
ประการที่สาม แนวคิดโรบินฮู้ด ปล้นคนรวยเพื่อช่วยคนจน แค่ไหนจึงจะพอดี
 
เหตุผลประการสำคัญที่สมควรสร้างให้มี เมดิคัลฮับนั้น  ก็เป็นไปเพื่อการเก็บเงินจากคนรวยคนต่างชาติที่มีอันจะจ่ายมาใช้ในการช่วยเหลือคนจน หรือแนวคิดแบบโรบินฮู้ดนั่นเอง  ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชม   ศ.นพ. Jean-Pierre Unger แห่งสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนประเทศเบลเยียม ได้กล่าวไว้ว่า การหารายได้ของโรงพยาบาลแบบโรบินฮู้ดเพื่อนำมาพัฒนาโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ดี จำเป็นและทำได้ แต่ต้องยืนบนหลักการสำคัญสองประการให้มั่นคง กล่าวคือ
 
1. การหารายได้จากบริการนั้นๆ ต้องไม่ทำให้เกิดสองมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ คือ มาตรฐานคนรวยอย่างสูง มาตรฐานคนจนอย่างต่ำ ซึ่งขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์
 
2. ค่าบริการที่เก็บนั้นต้องเก็บให้สูงให้มีกำไรมากพอที่จะนำส่วนเกินไปช่วยคนจนได้จริง  ไม่ใช่เพียงเพื่อพอจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าวัสดุและค่าตอบแทนแพทย์เท่านั้น หากไม่มีส่วนเหลือมากพอที่จะนำมาใช้เพื่อเกื้อกูลคนจนตามความตั้งใจเดิม  ก็ไม่รู้จะจัดบริการนั้นไปทำไม  ให้เอาแรงเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นดีกว่า
 
จากสองหลักการนี้  รูปแบบของวิธีการแบบโรบินฮู้ดที่ดีที่สุดที่ปฏิบัติกันมาในทุกโรงพยาบาล ก็คือ  การจัดบริการห้องพิเศษแก่คนที่พอจะจ่ายได้นั่นเอง  โดยที่มาตรฐานการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างจากเตียงสามัญ  ต่างกันแต่ความสะดวกสบายของสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น และรายได้นั้นนำมาจัดบริการเพื่อช่วยเหลือคนจนต่อไป  ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมและจริยธรรมทางการแพทย์ยอมรับได้

คำถามคือ  แล้วเมดิคัลฮับ จะทำให้เกิดสองมาตรฐานในโรงพยาบาลนั้นๆ หรือไม่   หากมีเมดิคัลฮับแล้ว จริงหรือไม่ที่จะทำให้คนต่างชาติหรือคนมีฐานะได้แซงคิวผ่าตัดก่อน  มียาสองบัญชี มีแนวทางการรักษาโรคตามความสามารถในการจ่ายเงิน มีเครื่องมือราคาแพงที่คนไม่จ่ายเงินพิเศษไม่มีสิทธิได้บริการ หรือคนไทยได้ตรวจกับนักเรียนแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัด แต่ฝรั่งได้ตรวจกับอาจารย์แพทย์ฝีมือดี  แพทย์มือดีก็มีแค่สองมือมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมง เช่นนี้แล้วคนไทยที่ไม่รวยจริงจะได้ตรวจกับใคร หากเกิดสองมาตรฐานเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ เนื่องจากเมดิคัลฮับนั้นเป็นแนวคิดที่ตามก้นอเมริกา จึงมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะเกิดสองมาตรฐานเช่นนี้ในโรงพยาบาล

ประการที่สี่  การเอาเมดิคัลฮับไปตั้งในโรงเรียนแพทย์ ส่งผลดีผลเสียต่อการผลิตแพทย์อย่างไร

โรงเรียนแพทย์คือหัวใจห้องสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เพราะมีหน้าที่ในการผลิตแพทย์ออกมาทำหน้าที่เป็นหมอที่ดีของสังคม มีจริยธรรม มีความรู้ มีเหตุผล มีความรับผิดชอบ เข้าใจสภาพสังคมและที่สำคัญ คือ มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุ่มเทให้เขาทุกคนพ้นจากความเจ็บป่วยไม่ว่ารวยหรือจน แต่เมดิคัลฮับมีแนวโน้มที่จะเน้นรักษาคนต่างชาติและคนรวยเป็นสำคัญ  การสั่งตรวจเกินจำเป็นเกินมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อการหารายได้และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทั้งๆ ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นปกติของการแพทย์ที่เห็นสุขภาพเป็นสินค้า การมีสองมาตรฐานในการรักษา
 
รวมทั้งการที่นักศึกษาจะได้เห็นวิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ตลอด 6 ปีในโรงเรียนแพทย์ เช่นนี้แล้วจะสามารถสอนแพทย์ให้มีจริยธรรม มีความมีเหตุมีผล มีความเสียสละ มีอุดมคติในการรับใช้สังคมได้อย่างไร
 

หากจะตั้งเมดิคัลฮับเพื่อการหารายได้เข้าประเทศจริงๆ  เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจริงๆ  ทรัพยากรด้านการบริการสุขภาพมีเหลือเฟือแล้วจริงๆ  ก็ควรตั้งโรงพยาบาลพิเศษขึ้นมาเพื่อการนี้  แล้วจัดบริการแข่งกับเอกชน แต่ต้องไม่ไปตั้งในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสอนแพทย์ให้มีอุดมคติของการดูแลผู้ป่วยโดยไม่แบ่งแยก  การเรียนรู้ด้วยการซึมซาบในวิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ที่ซึมลึกเข้าสู่โรงเรียนแพทย์แล้วนั้น คือหายนะที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบแพทยศาสตร์ศึกษาในปัจจุบัน
บทสรุปของเมดิคัลฮับ  คือ การแปรรูปโรงพยาบาลไทยสู่การเป็นสองมาตรฐาน
 

จากบทวิเคราะห์ทั้ง 4 ประการ  น่าจะพอเห็นชัดเจนว่า  เมดิคัลฮับยืนในมุมที่เห็นสุขภาพเป็นสินค้าที่ขายได้ทำกำไรได้  เมดิคัลฮับมีแนวโน้มที่จะนำพาโรงพยาบาลของรัฐที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะไปสู่การเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มุ่งแสวงหาผลกำไรในอนาคต   เมดิคัลฮับจะทำให้เกิดระบบบริการสองมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และเมดิคัลฮับในโรงเรียนแพทย์จะทำให้วิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ซึมลึกสู่นักศึกษาแพทย์จนสูญเสียอัตลักษณ์และอุดมคติของการเป็นแพทย์ที่ดี  ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาผลข้างเคียงที่จะตามมาจากปัญหาสมองไหลกลับจากชนบทสู่เมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงบริการที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ปัญหาการเสียดุลการค้าจากการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงที่ไม่สมเหตุผลทางการแพทย์ เป็นต้น

หากเราไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้า หรือ ปตท.  และไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐ  ก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดที่ควรจะเห็นด้วยกับการแปรรูปโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงเรียนแพทย์ของรัฐในนามของ เมดิคัลฮับ เพราะเป็นตรรกะอันเดียวกัน

หากคนไทยจะมุ่งหวังให้สุขภาพไม่ใช่สินค้า ไม่ต้องการการแพทย์สองมาตรฐาน ประเทศไทยก็ต้องหยุดนโยบายในการสนับสนุนให้โรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเมดิคัลฮับโดยทันที   เพราะหากก้าวพลาดไปอีก แล้วจะกู่ไม่กลับ วันนี้ยังไม่สายจนเกินไป

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
กรุงเทพธุรกิจ  10 กุมภาพันธ์ 2555