ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25-31 ส.ค.2556  (อ่าน 1324 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25-31 ส.ค.2556
« เมื่อ: 06 กันยายน 2013, 23:04:59 »
 1. รัฐสภา ผ่านแก้ รธน.ที่มา ส.ว.อีก 2 มาตรา นัดถกมาตรา 5 เปิดช่อง “สภาผัวเมีย” 4 ก.ย.!

       เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ต่อ หลังประชุมไปแล้ว 3 วัน(20-22 ส.ค.) ลงมติไปได้ 2 มาตรา ว่าด้วยชื่อของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวและวันบังคับใช้ ส่วนมาตรา 3 ที่ยังพิจารณาค้างอยู่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจำนวน ส.ว.ที่มีการแก้ไขให้เพิ่มจาก 150 คน เป็น 200 คน และให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิก ส.ว.สรรหา รวมทั้งให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยบางจังหวัดอาจมี ส.ว.มากกว่า 1 คน
       
        ทั้งนี้ เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ขอหารือประธานที่ประชุม เกี่ยวกับความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.นั้น คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ได้แก้ไขเกินกว่าหลักการที่รัฐสภาได้มีมติในวาระ 1 ไปแล้ว ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากหลักการแก้ไข ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ปรากฏว่า มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้บุพการี คู่สมรส และบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ และแก้ไขให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งได้หลายสมัยติดต่อกัน รวมทั้งแก้ไขให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ยังพ้นสภาพไม่เกิน 5 ปี ลงสมัคร ส.ว.ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. อ้างว่า นายคณิตมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่ผู้ชี้ขาด เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่จะวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีการอภิปรายมาตรา 3 ไปได้ไม่เท่าไหร่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้ปิดอภิปราย เพื่อลงมติ โดยอ้างว่า มีการอภิปรายกันมานานและเนื้อหาเริ่มวกวนแล้ว แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย เพราะยังเหลือผู้อภิปรายอีกหลายคน สุดท้ายประธานต้องสั่งพักการประชุม เพื่อให้วิป 3 ฝ่าย(รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา) ไปหารือกัน สุดท้ายจึงให้อภิปรายต่อ และเมื่อการอภิปรายมาตรา 3 ไม่แล้วเสร็จ จึงได้นัดประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น(28 ส.ค.)
       
        สำหรับบรรยากาศการประชุมในวันที่ 28 ส.ค. ค่อนข้างดุเดือด เมื่อนายสุชีน เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ในอนาคตอาจทำให้ยึดโยงกับการซื้อเสียง โดยจะเกิดการซื้อประเทศไทยด้วยกุญแจ 4 ดอก ด้านนายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี ไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วง พร้อมตำหนินายสุชีนว่าพูดจาเลอะเทอะวกวน ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันมา เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ถ้าแก้ที่มา ส.ว.ตามกรรมาธิการจะมีผล 3 ประการ คือ 1.การได้มาซึ่ง ส.ว.ส่วนใหญ่จะมาจากฐานคิดเดียวกับ ส.ส. ซึ่งจะทำให้ ส.ส.-ส.ว.ผูกพันกันอย่างไม่ต้องสงสัย 2.การหวังจะเห็น ส.ว.อิสระจะไม่เกิดขึ้น และ 3.อาจมีฝ่ายการเมืองส่งนอมินีลงเลือกตั้งแบบลับๆ ใช้เครือข่ายแบบอุปถัมภ์จัดการให้ได้ ส.ว.เป็นจำนวนมาก ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย
       
        อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายอย่างไร สุดท้ายที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ด้วยคะแนน 344 ต่อ 140 เสียง งดออกเสียง 32 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง ส่วนมาตรา 4 ที่มีการแก้ไขโดยยกเลิกกระบวนการสรรหา ส.ว.นั้น ที่ประชุมนัดพิจารณาในวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งทันทีที่การประชุมเริ่มขึ้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติทันที โดยไม่ต้องอภิปราย ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยรีบสนับสนุน แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย จึงตอบโต้กันไปมา ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา บอกว่า ไม่ให้อภิปรายไม่ได้ เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิการอภิปรายของผู้ขอแปรญัตติ ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจนายสมศักดิ์ สุดท้ายจึงต้องสั่งพักการประชุม เพื่อให้วิป 3 ฝ่ายไปหาทางออก
       
        เมื่อกลับมาเริ่มประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์ จึงอนุญาตให้อภิปราย โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยที่มาตรา 4 มีการยกเลิกกระบวนการสรรหา ส.ว.ทั้งหมด เพราะจะทำให้การเลือกตั้ง ส.ว.ไม่คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ ไม่คำนึงถึงคนที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งไม่ให้โอกาสผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นการทำลายหลักการของวุฒิสภา เพราะ ส.ว.ต้องไม่เหมือน ส.ส. แต่สุดท้าย ที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 4 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขด้วยคะแนน 332 ต่อ 108 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นประธานได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 ก.ย. เพื่อพิจารณามาตรา 5 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ เพราะมีการแก้ไขให้ ส.ว.สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้หลายสมัย ไม่ต้องเว้นวรรคดังที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุ นอกจากนี้ยังเปิดทางให้ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.วได้ทันที ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองเกิน 5 ปีดังที่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุ รวมทั้งมีการแก้ไขโดยเปิดโอกาสให้บุพการี สามีภรรยา หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ด้วย ซึ่งหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทำให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็น “สภาผัวเมีย” ทำงานเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และจะส่งผลให้ฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงวุฒิสภาในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ด้วย
       
       2. อำนาจมืดคุกคามม็อบยาง! ยิงใส่ผู้ชุมนุม ดับ 1 สาหัส 1 ด้านผู้ชุมนุมขู่ยกระดับ 2 ก.ย. หาก รบ.ไม่สนองข้อเรียกร้อง-ไม่ส่งคนเจรจา!

       จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันได้ปักหลักชุมนุมต่อเนื่องบริเวณสี่แยกควรหนองหงษ์ ถ.เอเชีย 41 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือหลังเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ แต่ตำรวจในพื้นที่กลับพยายามใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมเปิดถนน ส่งผลให้เกิดการปะทะกัน และมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมขีดเส้นให้รัฐบาลช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องโดยให้ประกันราคายางแผ่นที่ 120 บาท/กก. ,เศษยาง 60 บาท/กก. และปาล์มน้ำมัน 7 บาท/กก. หากรัฐบาลเพิกเฉย เกษตรกรสวนยางทุกภาคจะชุมนุมใหญ่ปิดประเทศในวันที่ 3 ก.ย.
       
       ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ประกาศพร้อมยืนเคียงข้างผู้ชุมนุมชาวสวนยาง โดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ยืนยันว่า “เราเห็นด้วยกับการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนและเราจะเดินตามพี่น้องประชาชนทุกฝีก้าว... ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สลายการชุมนุม มอบหมายให้นายนิพิฏฐ์ (อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ปชป.) ใช้มาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น พี่น้องที่ได้รับบาดเจ็บจะเรียกร้องค่าเสียหาย รวมทั้งเรียกร้องค่าสินไหมทุกประเภทกับรัฐบาล” อย่างไรก็ตาม การที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนไปให้กำลังใจผู้ชุมนุม ก็ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ชุมนุมดังกล่าวเป็นม็อบการเมือง ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เปิดแถลงยืนยัน พรรคไม่ได้อยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุม แต่ชาวสวนยางเหล่านี้เดือดร้อนจนทนไม่ไหว เพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจแก้ปัญหามา 2 ปีแล้ว ดังนั้นนายกฯ ควรลงไปแก้ปัญหา
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่นที่กิโลกรัมละ 120 บาทว่า ไทยต้องอิงตามราคาตลาดโลก ต้องดูตามหลักสมดุล ดูต้นทุนต่างๆ ไม่สามารถผลักราคาไปเท่ากับราคาตลาดโลกได้ เพราะปริมาณยางของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ยังน้อย ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ไปเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม แต่เจรจาไม่สำเร็จ โดยนายสุภรณ์ บอกว่า รัฐบาลพร้อมช่วยในราคายางแผ่นดิบไม่เกิน 80 บาท/กก. ,น้ำยาง 70 บาท/กก. และเศษยางไม่เกิน 40 บาท/กก. ซึ่งผู้ชุมนุมรับไม่ได้ จึงยังคงชุมนุมเรียกร้องต่อ แต่นายสุภรณ์ อ้างว่า ผู้ชุมนุมที่เป็นชาวสวนยางจริงๆ รับได้และกลับบ้านแล้ว ส่วนผู้ที่ยังชุมนุมต่อไม่ใช่ชาวสวนยาง
       
       ด้านผู้ชุมนุมได้ปิดถนนเพิ่มขึ้นบริเวณแยกบ้านตูล หมู่ 2 ต.บ้านตูล อ.ชะอวด รวมทั้งปิดเส้นทางรถไฟทั้งขาขึ้นและขาล่อง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่อาจใช้กำลังสลายการชุมนุมอีกครั้งหลังตำรวจชุดปราบจลาจลในจังหวัดใกล้เคียงได้รับคำสั่งให้เข้าไปในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีการสลายการชุมนุมซ้ำอีก แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมแล้ว 15 คน ฐานปิดถนนและทำให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายแก่การจราจร
       
       ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า จะไม่มีมาตรการพิเศษเข้ามาอุดหนุนราคายางหรือรับซื้อยางแผ่น 120 บาทต่อ กก. แต่จะช่วยเหลือตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ซึ่งจะเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ประกอบด้วย 1.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่ทั้งยางแท่งและยางแผ่นวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.อนุมัติสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาทให้สหกรณ์กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่นดิบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. อนุมัติงบกลางกรณีฉุกเฉินวงเงิน 5,628 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าปุ๋ย โดยโอนผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรโดยตรง เฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางน้อยกว่า 10 ไร่ จะได้รับการสนับสนุนค่าปุ๋ยไร่ละ 1,250 บาท
       
       ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้ชาวสวนยางมีทั้งพอใจและไม่พอใจ โดยชาวสวนยางบางภาคบางจังหวัดที่พอใจ ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น จ.พะเยา ,อุตรดิตถ์ จึงได้ประกาศชะลอการเคลื่อนไหวออกไป เพื่อรอดูการแก้ปัญหาของรัฐบาลภายใน 15 วันก่อน หากไม่น่าพอใจ จะเคลื่อนไหวต่อไป ส่วนชาวสวนยางที่ไม่พอใจการช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาราคายาง จึงยืนยันจะชุมนุมใหญ่ที่สหกรณ์การยาง หรือที่โคออฟ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 3 ก.ย.
       
       ด้านเครือข่ายชาวสวนยาง จ.นครราชสีมา ก็ยืนยันเช่นกันว่า พร้อมร่วมชุมนุมใหญ่บริเวณทางแยกต่างระดับ ถ.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว ในวันที่ 3 ก.ย. โดยคาดว่า จะมีชาวสวนยางภาคอีสานเข้าร่วมชุมนุมกว่า 50,000 คน
       
       ขณะที่เครือข่ายชาวสวนยางภาคอีสาน เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งซึ่งปลูกยางบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิรู้สึกพอใจการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตต่อไร่ ไร่ละ 1,250 บาท แต่อีกฝ่ายซึ่งปลูกยางบนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ไม่พอใจ เพราะไม่รู้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ จึงยืนยันจะเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.
       
       ด้านเครือข่ายชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์และแยกบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะต้องประกันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ 120 บาท/กก. เศษยาง 60 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน 7 บาท/กก. พร้อมขีดเส้นให้รัฐบาลส่งคนมาเจรจากับผู้ชุมนุมโดยตรงภายในวันที่ 2 ก.ย. เวลา 11.00 น. หากยังเพิกเฉย จะยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นมากขึ้น โดยนายเอียด เส้งเอียด ผู้ประสานเวทีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยาง ย้ำว่า รัฐบาลสามารถติดต่อมายังตนได้ตลอดเวลา หากมีการทำตามข้อเรียกร้อง ม็อบก็พร้อมจะยุติ แต่หากไม่ทำตามข้อเรียกร้องจะยกระดับการชุมนุม ส่วนจะดำเนินการรูปแบบไหนยังไม่บอก แต่เชื่อว่าต้องรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนจริงๆ จึงจำเป็นต้องออกมาเรียกร้อง ไม่อยากให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องมาเดือดร้อนด้วย แต่รัฐบาลยังเมินเฉยจึงจำเป็นต้องตอบโต้
       
       ล่าสุด เริ่มมีอำนาจมืดคุกคามผู้ชุมนุมชาวสวนยางแล้ว หลังมือมืดได้ยิงปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุมเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 31 ส.ค.ล่วงเข้าวันที่ 1 ก.ย. ประมาณ 03.00น.เศษ บริเวณทางรถไฟบ้านตูล ซึ่งเป็นจุดที่ชุมนุม ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ล่าสุด เสียชีวิตลงแล้ว 1 รายที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทราบชื่อคือ นายศิริ บุญวงศ์ อายุ 29 ปี
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับที่ พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกมาเตือนเชิงชี้นำเกี่ยวกับการชุมนุมของม็อบชาวสวนยางเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ว่า สิ่งที่กังวลในเวลานี้ คือเรื่องของบุคคลที่สาม หากมีใครสักคนเข้าไปในพื้นที่ แอบยิงปืนสักนัดเข้าไปในเวที จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา…
       
       3. ผู้บริโภค ยื่นศาล ปค.ระงับขึ้นแอลพีจี ขณะที่ภาค ปชช.ล่า 5 หมื่นชื่อ ถอด รมว.พลังงาน พร้อมนัดชุมนุมใหญ่ 9 ก.ย.!

       เมื่อวันที่ 29 ส.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ,น.ส.บุญยืน ศิริธรรม และนายชาลี ลอยสูง ผู้ฟ้องคดี 1-5 ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ,คณะรัฐมนตรี ,คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5 ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ซึ่งเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ที่ให้ปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. จนกว่าจะสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม
       
        ทั้งนี้ ผู้ฟ้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย.ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยให้คงราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 18.13 บาทไปพลาง จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างพลังงานให้ถูกต้องเป็นธรรม
       
        น.ส.สารี เผยเหตุที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า เนื่องจากการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย รัฐบาลไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 และมติ ครม.ที่ออกมาก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่มีอำนาจจัดสรรก๊าซในประเทศจากโรงแยกให้กับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมภาคปิโตรเคมีใช้ก่อน และเมื่อมีมติออกมาและเสนอ ครม.แล้ว ครม.มีมติเห็นชอบ จึงทำให้มติ ครม.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เนื่องจากคณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจและยังเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.เพียงรายเดียว ทั้งนี้ รายงานแจ้งว่า พนักงานคดีได้แจ้งไปยังทนายความของผู้ฟ้องคดีว่า ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 10 ก.ย. เวลา 09.30 น.
       
        วันเดียวกัน(29 ส.ค.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย ได้เปิดแถลงข่าวบริเวณป้ายรถเมล์หน้าบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โดยบอกว่า ระหว่างวันที่ 1-8 ก.ย.นี้ ทางเครือข่ายฯ จะตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อปลดนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ,ปลัดกระทรวงพลังงาน และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ ออกจากตำแหน่ง โดยจะยื่นรายชื่อต่อองค์กรอิสระและวุฒิสภา พร้อมนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 ก.ย. เพื่อต่อต้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีของรัฐบาล
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน ได้มีกลุ่มคนซึ่งอ้างตัวว่าเป็นกลุ่มรวมพลคนรักพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย คนเสื้อแดง จ.นนทบุรี และปทุมธานี พร้อมด้วยกลุ่มวิทยุชุมชนประมาณ 50 คน ไปรวมตัวกันที่หน้า ปตท.เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี
       
        ด้านนายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(เงา) ได้แถลงหลังลงพื้นที่ตลาดรุ่งเจริญและร้านค้าก๊าซในเขตยานนาวา เพื่อตรวจสอบเรื่องสินค้าราคาแพง ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในวันที่ 1 ก.ย. เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนทั้งประเทศ
       
       4. ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน ครม. “ยิ่งลักษณ์ 5” พบ “พงศ์เทพ” รวยสุดกว่า 3 พันล้าน ด้าน “ยิ่งลักษณ์” มาแปลก มีหนี้ยืมเงิน “ทักษิณ” ซื้อที่ดิน 27 ล้าน!

       เมื่อวันที่ 27 ส.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2556 จำนวน 18 ราย 19 ตำแหน่ง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สินกว่า 628.6 ล้านบาท มีหนี้สิน 27 ล้านบาท ขณะที่นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน มีทรัพย์สินกว่า 76 ล้านบาท ส่วน ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย มีทรัพย์สินกว่า 1.2 ล้านบาท รวมแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 601.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสมัยที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2554 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 50.5 ล้านบาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุดนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีหนี้สินขึ้นมา 27 ล้านบาท โดยเจ้าตัวได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาว่า เงินในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของตนจำนวน 77 ล้านบาทนั้น เป็นเงินที่ได้จากการขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในครอบครองของตน โดย พ.ต.ท.ทักษิณอนุญาตให้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2555 ตนจึงได้นำเงินดังกล่าวมาจำนวน 27 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินที่ ต.คลองกุ่ม อ.บึงกุ่ม กทม.
       
       เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ในส่วนของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร นั้น ก่อนหน้านี้เคยแจ้งบัญชีทรัพย์สินสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า มีหนี้สิน 369.6 ล้านบาท แต่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุดนี้ กลับไม่ปรากฏหนี้สินดังกล่าวแล้ว
       
        สำหรับรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินกว่า 3,085 ล้านบาท มีหนี้สิน 10 บาท ส่วนรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุด คือ นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 10.9 ล้านบาท
       
        ส่วนบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สินกว่า 312 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 394 ล้านบาท ,นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 137 ล้านบาท , นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (อดีตอัยการสูงสุด ที่ถูกมองว่าทำงานสนองฝ่ายการเมืองในระบอบทักษิณ) มีทรัพย์สินกว่า 152 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินกว่า 118 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีทรัพย์สินกว่า 171 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 23 ล้านบาท ,นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 377 ล้านบาท
       
       นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากรที่ตอบข้อหารือคดีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทอง ชินวัตร ว่าไม่ต้องเสียภาษี) มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 182 ล้านบาท , นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีทรัพย์สินกว่า 16 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 18 ล้านบาท ,นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทรัพย์สินกว่า 364 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ,นายพีระพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 69 ล้านบาท ,นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเกือบ 47 ล้านบาท และนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเกือบ 181 ล้านบาท
       
       5. คกก.สรรหา มีมติ 4 : 1 เลือก “ทวีเกียรติ” นั่งตุลาการศาล รธน.คนใหม่แทน “วสันต์” เผย ต้องคัดเลือกถึง 8 รอบ!

       เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออก โดยคณะกรรมการสรรหามี 5 คน ประกอบด้วย นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการสรรหา ส่วนกรรมการ ได้แก่ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ,นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน
       
        สำหรับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหามีทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วย 1.นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อายุ 63 ปี ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2.นายพรเพชร วิชิตชลชัย อายุ 65 ปี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3.นายถาวร พานิชพันธ์ อายุ 63 ปี รองอัยการสูงสุด 4.ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ อายุ 49 ปี ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) 5.ศ.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล อายุ 55 ปี ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6.ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อายุ 60 ปี ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 7.นางเปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ อายุ 65 ปี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8.นายไพรัช เกิดศิริ อายุ 66 ปี ผู้พิพากษาอาวุโสศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต และอดีตรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค และ 9.พล.อ.สถาพร เกียรติภิญโญ อายุ 61 ปี หัวหน้าสำนักงานตุลาการทหารและตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
       
        ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาเลือกอยู่ 8 ครั้ง ที่ประชุมได้มีมติเลือก ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องได้รับเลือกด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ สำหรับกรรมการสรรหาที่ไม่ลงมติเลือก ศ.ทวีเกียรติ คือนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการส่งรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้วุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสรรหามีมติ หากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ให้นำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่หากที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ให้ส่งรายชื่อกลับมายังคณะกรรมการสรรหาพร้อมระบุเหตุผล หากคณะกรรมการสรรหายืนยันด้วยมติเอกฉันท์ ให้นำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติไม่เอกฉันท์ จะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กันยายน 2556