ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ส.ค.2556  (อ่าน 861 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ส.ค.2556
« เมื่อ: 06 กันยายน 2013, 23:00:48 »
1. “ในหลวง-พระราชินี” ทรงมีพระพลานามัยสดชื่นแข็งแรง หลังประทับแรมวังไกลกังวลครบ 1 สัปดาห์!
       
       หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. โดยมีคณะแพทย์ที่เคยถวายการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตามไปถวายการรักษาที่วังไกลกังวลด้วยนั้น สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระอาการทั่วไปดี ความดันพระโลหิตปกติ อัตราการเต้นพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ดี เสวยได้มากขึ้น บรรทมได้ดี ทรงพระดำเนินได้ดี แต่มีพระอาการปวดที่พระอังสา(หัวไหล่) และข้อพระกรข้างซ้าย คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจและเห็นว่า พระนหารู(เอ็น) บริเวณดังกล่าวอักเสบ จึงได้ถวายพระโอสถและกายภาพบำบัด ขณะที่ผลการตรวจพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คณะแพทย์ขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง
       
       ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังเสด็จฯ เปลี่ยนพระอิริยาบถประทับ ณ วังไกลกังวล ครบ 1 สัปดาห์ว่า อยู่ในช่วงที่มีพระสุขภาพดี ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง สดชื่นดีมาก ทรงพระเกษมสำราญ พระดำเนินได้ดี และเสวยได้ดี ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด
       
       2. ร่างนิรโทษฯ ผ่านสภาวาระแรกฉลุย ขณะที่ “ม.จ.จุลเจิม” ลั่น รับไม่ได้ ล้างผิดคนหมิ่นสถาบัน ด้าน “สนธิ” ยังเชียร์ ปชป.ลาออก พันธมิตรฯ พร้อมร่วมสู้!

       หลังสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เป็นวาระแรกในวันที่ 7 ส.ค. ตามมติของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) โดยเมินเสียงคัดค้านของประชาชนในนามกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่นัดชุมนุมตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ขณะที่รัฐบาลรีบประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใน 3 เขต คือ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค. โดยอ้างเหตุเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณไม่สามารถชุมนุมใกล้รัฐสภาหรือที่สนามม้านางเลิ้งได้ จึงเปลี่ยนไปชุมนุมที่สวนลุมพินีแทน
       
       ด้านแกนนำพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ประกาศจะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ทั้งในสภาและนอกสภา โดยนอกสภา ได้จัดเวทีผ่าความจริงฯ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 6 ส.ค.ถึงเช้าวันที่ 7 ส.ค. ที่ใต้ทางด่วนแยกอุรุพงษ์ เขตราชเทวี ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับเขตพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่สุด ส่วนเหตุผลที่จัดเวทีดังกล่าวโต้รุ่ง เนื่องจากต้องการให้มวลชนร่วมเดินเท้าไปส่ง ส.ส.ของพรรคเข้าไปทำหน้าที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในสภา ซึ่งเมื่อถึงกำหนด(7 ส.ค.) มวลชนไม่สามารถเดินไปส่งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ถึงหน้ารัฐสภาได้ เพราะติดด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ บริเวณแยกราชวิถี แม้แกนนำของพรรค ไม่ว่าจะเป็นนายชวน หลีกภัย ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะพยายามเจรจากับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แล้วก็ตาม แต่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก็ไม่ยอมให้ตำรวจเปิดทางให้มวลชนผ่าน อนุญาตให้เฉพาะ ส.ส.เท่านั้นที่จะผ่านด่านตำรวจเข้าสภาได้ แกนนำประชาธิปัตย์จึงได้แยกกับมวลชน ณ จุดนั้น ส่งผลให้มวลชนทยอยกลับบ้าน ขณะที่ผู้ชุมนุมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่สวนลุมพินีไม่ได้เคลื่อนขบวนมายังรัฐสภาแต่อย่างใด
       
       ทั้งนี้ นายสุเทพ พูดถึงกรณีที่มวลชนไม่สามารถมาส่งแกนนำพรรคถึงหน้าสภาเพราะตำรวจไม่อนุญาตว่า “ผมได้ขอให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อน เพราะตรากตรำมากับ ปชป.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ส่วน ปชป.จะเข้าไปทำหน้าที่และจะรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ผมจะสู้วาระ 1-3 ตามกฎเกณฑ์กติกา ถ้ารัฐบาลยังดื้อด้าน ดึงดันไม่ฟังเสียงประชาชน เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาในวาระที่ 3 จะไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไร”
       
       สำหรับบรรยากาศการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนายวรชัยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามเสนอที่ประชุมให้เลื่อนเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจงหลักการและเหตุผลที่เสนอร่าง กฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่า เนื่องจากสังคมมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การจะทำให้ประเทศกลับมาสู่ความสงบสุข สามัคคี จำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้
       
       ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างประท้วงการชี้แจงหลักการและเหตุผลของนายวรชัยเป็นระยะๆ ส่งผลให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งนั่งข้างนายวรชัย ไม่พอใจ ได้ยกรองเท้าหนังสีดำขึ้นชูในระหว่างที่นายวรชัยแถลง พรรคประชาธิปัตย์ จึงประท้วงพฤติกรรมของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ แต่เจ้าตัว อ้างว่า เห็นสถานการณ์ไม่ดี จึงถอดรองเท้าเตรียมวิ่งออกจากห้องประชุม หรืออาจจะเอารองเท้ามาปกป้องใบหน้า ขณะที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงขอให้มีการสอบจริยธรรม จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามเสนอให้ที่ประชุมเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ออกไปก่อน เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้เลื่อน สุดท้ายที่ประชุมจึงมีการลงมติว่าจะเลื่อนหรือไม่ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนด้วยคะแนน 301 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ประธานจึงเปิดให้อภิปรายต่อ
       
       ซึ่งช่วงหนึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายยืนยันไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เพราะมีการหมกเม็ดอย่างน้อย 2 เม็ด 1. ชื่อร่างดังกล่าวบอกว่านิรโทษฯ ให้การกระทำที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง แต่ในมาตรา 3 กลับระบุนิรโทษฯ ให้การกระทำใดใดที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย ทำให้การนิรโทษฯ ดังกล่าวครอบคลุมถึงจำเลย 1 คนในคดีก่อการร้ายที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมคือคนที่อยู่นอกประเทศ 2. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งทำความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 4-5 คน คนเหล่านี้ก็จะได้รับผลพวงด้วย
       
       ทั้งนี้ การอภิปรายเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ไม่แล้วเสร็จ เพราะยังเหลือผู้อภิปรายจำนวนมาก ประธานจึงนัดประชุมเพื่ออภิปรายและลงมติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในวันรุ่งขึ้น(8 ส.ค.) ซึ่งก่อนที่การประชุมในวันที่สองจะเริ่มขึ้น วิปรัฐบาลได้ตกลงกับวิปฝ่ายค้านว่า จะปิดการอภิปรายและลงมติในเวลา 18.00น. อย่างไรก็ตาม หลังอภิปรายไปได้ไม่กี่คน นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติปิดอภิปราย โดยอ้างว่าได้มีการอภิปรายมาพอสมควรและได้เนื้อหาครอบคลุมแล้ว ส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเชียร์ให้ปิดอภิปรายเป็นการใหญ่ แต่พรรคประชาธิปัตย์ค้าน และเสนอขออภิปรายต่อ เพราะฝ่ายค้านมีผู้อภิปราย 60 คน เพิ่งอภิปรายไปได้แค่ 4 คน จึงมีการประท้วงกันไปมา จนประธานต้องสั่งพักการประชุมหลายครั้ง
       
       กระทั่งในที่สุด ประธานที่ประชุมได้ขอมติปิดการอภิปรายในเวลา 16.30น. ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยให้ปิดการอภิปรายด้วยคะแนน 300 ต่อ 126 เสียง ท่ามกลางเสียงโห่จากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความไม่พอใจด้วยการลุกขึ้นฉีกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ
       
       สำหรับผลการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ นั้น ผลปรากฏว่า เสียงข้างมากลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 299 ต่อ 121 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง อย่างไรก็ตาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงว่าบัตรมีปัญหา ขอแก้คะแนน ประธานจึงให้ลงคะแนนใหม่ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมากมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 300 ต่อ 124 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากนั้นที่ประชุมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 35 คน เพื่อแปรญัตติใน 7 วัน ก่อนสั่งปิดการประชุม
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เสร็จสิ้นลงในวันที่ 8 ส.ค. รัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.มั่นคงฯ ทันที ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงถึงท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณดีใจที่ร่างดังกล่าวผ่านวาระแรก แม้จะมีการประท้วงและถ่วงเวลาของพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม พร้อมยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นห่วงที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้ม็อบมาล้มกฎหมายฉบับนี้ในวาระ 3 โดยอยากให้เลิกคิดและขอให้ส่งตัวแทนไปร่วมพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอย่างสร้างสรรค์
       
       สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อกรณีที่สภาเสียงข้างมากผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ วาระ 1 แล้วนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์พลาดมากที่เข้าสภาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. แล้วเสนอให้เลื่อนวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เมื่อเลื่อนไม่สำเร็จ ประชาธิปัตย์ต้องเดินออกจากสภาทั้งหมด แล้วไปเจอมวลชนของตัวเองที่อยู่ข้างนอก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไปไม่เป็น ประชาธิปัตย์ต้องไม่ให้สภาเดินเรื่องร่างนิรโทษฯ ต่อ เพราะขาดความชอบธรรม
       
       นายสนธิ ยังชี้ทางออกของประเทศด้วยว่า ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ต้องไม่ยอมรับระบบเดรัจฉานในสภานี้ ต้องหาทางให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน ซึ่งวิธีเดียวที่จะให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันได้คือ ประชาธิปัตย์ทุกคนต้องลาออก แล้วมาเดินเกมการเมืองนอกสภา ต้องปฏิรูปประเทศ หากประชาธิปัตย์ทำได้ ตนและพันธมิตรฯ พร้อมจะร่วมสู้ด้วย และพร้อมจะให้อภัยในสิ่งที่ผ่านมา “ผมพร้อมจะร่วม พันธมิตรฯ พร้อมจะร่วม แต่คุณต้องลาออกนะ ให้คุณนำ ผมไม่ต้องการนำ ผมเป็นผู้ตามคุณ ผมยินดีตามพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าคุณกล้าทำอย่างนี้ อาการเจ็บหลังของผมที่ผมโดนแทงข้างหลัง และเจ็บหัวที่โดนยิงหัว ผมลืมได้ ผมทิ้งไว้ข้างตัวเลย เอาชาติมาก่อน ถ้าอย่างนั้นแล้ว ระดมคนทั่วประเทศไทย 7 วันต้องมีคนเป็นล้านมา วันนั้นเพื่อไทยต้องเคาะประตูแล้วขอคุยด้วย”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์(พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่ผ่านสภาวาระแรกแล้ว เนื่องจากเป็นการนิรโทษกรรมให้กลุ่มคนที่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงระบุด้วยว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นการล้างผิดให้คนที่ไม่สำนึกว่าตัวเองทำผิด ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นพวกพ้องของคนในพรรคเพื่อไทยที่ใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์ติดต่อกันนานเกือบ 10 ปี “บ้านเมืองนี้ว้าเหว่สิ้นดี เมื่อการเมืองไม่ชอบธรรม เมื่อรัฐสภาไม่ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ผ่านกฎหมายมากี่ฉบับ บ้านเมืองก็ลุกเป็นไฟ... ล้างผิดทั้งที่เจตนาทำ มีคนตักเตือน ทักท้วงและห้ามปราม ชี้สิ่งที่ควรและไม่ควร คนทำเหล่านี้ก็ไม่ไยดี ไม่ยี่หระใดๆ ในฐานะเราชาวพุทธคนหนึ่งและประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะให้ล้างผิดพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ทำใจไม่ได้จริงๆ”
       
       3. ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับยกฟ้อง นปช.มือยิงอาร์พีจีถล่มกลาโหม ชี้ พยานให้การขัดกัน ด้าน “อภิสิทธิ์” ดักคออัยการต้องยื่นฎีกา เหตุศาลชั้นต้นสั่งลงโทษหนัก!

       เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อายุ 44 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว และแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลยในหลายความผิด เช่น ร่วมกันก่อการร้าย ,ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ,ร่วมกันยิงปืนโดยใช้ดินระเบิดในที่ชุมนุม ,ร่วมกันมีเครื่องยิงระเบิดไว้ในครอบครอง ,ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ฯลฯ จากกรณียิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2553
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและพวกอีก 1 คน ได้ร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวจอาร์พีจี 2 เล็งและยิงลูกระเบิดไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม ทำให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้สายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ก็ได้รับความเสียหายด้วย และว่า จำเลยกับพวกกระทำการดังกล่าวเพื่อขู่เข็ญ บังคับรัฐบาลไทยให้ยุบสภา ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่ม นปช. ทั้งนี้ จำเลยมีเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก ,ลูกระเบิดแบบสังหาร เอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก ,ปืนกลมือ(เอ็ม 3) ขนาด .45 จำนวน 48 นัด
       
       ด้านศาลชั้นต้น พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2554 ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวมจำคุก 38 ปี และให้ริบของกลาง ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี
       
       ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาต่างกัน โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานเห็นคนร้ายขับรถยนต์โตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน ตศ.9818 กรุงเทพมหานคร เข้ามาจอดในซอยด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานระบุว่า เห็นจำเลยอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบรถคันดังกล่าวจอดอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ สภาพกระจกแตกทั้งคัน ประตูรถเสียหายทั้งบาน และตัวรถเสียหายมาก ขณะที่ภายในรถ ยังพบเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก และระเบิดสังหารเอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก และเสื้อแจ๊กเก็ต 1 ตัว แสดงว่าคนร้ายใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการก่อเหตุจริง
       
       อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์นำพยานขึ้นเบิกความหลายปาก แต่คำเบิกความของพยานไม่ตรงกัน พยานบางรายระบุว่าเห็นจำเลยเป็นคนขับ บางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับ พยานบางรายบอกว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป ขณะที่บางรายบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก ศาลเห็นว่า พยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่
       
       อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แสงไฟมีน้อย แม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อแจ๊กเก็ต จะพบว่ามีสารพันธุกรรมของจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นด้วย ส่วนที่พยานให้การว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันก่อเหตุที่มีการซื้อขายต่อกันมาหลายทอดนั้น ศาลเห็นว่า พยานก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยและเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้พยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงพิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกาและให้ริบของกลาง
       
       ด้าน ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม จำเลยในคดีนี้ เผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า “รู้สึกดีใจมาก รอคอยวันนี้มานาน และเห็นว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง ซึ่งที่ผ่านมา ยืนยันว่าผมเองไม่ผิดและจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด”
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีดังกล่าวว่า คิดว่าอัยการควรจะต้องยื่นฎีกา เพราะเป็นคดีที่ทำให้เกิดความเสียหาย และกระทบกระเทือนต่อส่วนรวมอย่างมาก อย่าลืมว่าศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำเลยไว้สูงมาก เพราะฉะนั้นคดีนี้ต้องดำเนินการไปให้ถึงที่สุดคือศาลฎีกา หากไม่มีการยื่นฎีกา ที่สุดแล้วก็จะเป็นปัญหาว่า ใครก็ตามที่ทำความเสียหายต่อส่วนรวมแล้ว จะไม่ร่วมกันหาคนรับผิดชอบ
       
       4. สมเด็จเกี่ยว มรณภาพแล้ว หลังติดเชื้อในกระแสเลือด ด้านมหาเถรสมาคมเตรียมคัดเลือก ปธ.คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่!

       เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เวลา 08.41น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพลงที่โรงพยาบาลสมิติเวช เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด สิริรวมอายุ 85 ปี
       
       ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวชอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 เดือน โดยครั้งล่าสุด ได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนกว่า กระทั่งมรณภาพลงในที่สุด
       
        นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า “คณะสงฆ์ไทยได้สูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ถือเป็นพระนักพัฒนาผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก โดยเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน”
       
       ด้านพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เผยว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังได้มาจัดสถานที่ในการตั้งศพ และเนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ จะได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสอง พร้อมด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศศพตามฐานันดร ขณะที่พิธีสวดพระอภิธรรมศพจะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน
       
       สำหรับการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น มหาเถรสมาคม (มส.) จะต้องคัดเลือกจากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 7 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ,สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต) ,สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต),สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (ธรรมยุต) ,สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุต) ,สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เมื่อทาง มส.ลงมติเลือกแล้ว ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 สิงหาคม 2556