ผู้เขียน หัวข้อ: บอร์ด สปสช.เห็นชอบเพิ่มสิทธิเจาะน้ำคร่ำในครรภ์-รักษาแผลผู้ป่วยเบาหวาน  (อ่าน 702 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
บอร์ด สปสช.เห็นชอบข้อเสนอรับฟังความเห็นขอเพิ่มสิทธิเจาะน้ำคร่ำในครรภ์แรก การรักษาแผลผู้ป่วยเบาหวานด้วยออกซิเจนความดันสูง การรักษาภาวะมีบุตรยาก การเข้าถึงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก อีสุกอีใส ตับอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ รพ.ทุรกันดารและเสี่ยงภัย พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการตามข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะโรคที่ยังไม่ครอบคลุม
       
       วันนี้ (2 ก.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สปสช.ซึ่งมีการพิจารณาเรื่อง รายงานความคืบหน้าการพิจารณาข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2556 ว่า บอร์ด สปสช.กำหนดแผนปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากประชาชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการดำเนินการ เพื่อนำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาในพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขโดยเน้น 3 ประเด็นคือ
1.นำความคิดเห็นมาพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการทางด้านสาธารณสุข
2.นำมาพิจารณาในการจัดสรรเงินกองทุนให้กับหน่วยบริการและเครือข่ายของหน่วยบริการและเกี่ยวข้องและ
3.ประเด็นต่างๆ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมประชาชน 49 ล้านคน
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า มติที่ประชุม บอร์ด สปสช.ได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการแล้ว และได้มอบหมายให้เร่งรัดติดตามข้อเสนออื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพตรงตามที่ต้องการมากที่สุด

       นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพด้านการแพทย์สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นที่ต้องส่งให้คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์คือ เรื่องการเจาะน้ำคร่ำในครรภ์แรก, การรักษาแผลผู้ป่วยเบาหวานด้วยเครื่องมือ Hyperbaric Chamber หรือการรรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง ซึ่งสิทธิประโยชน์เดิมให้รักษาเฉพาะโรคน้ำหนีบเท่านั้น, การรักษาภาวะมีบุตรยาก และสิทธิประโยชน์การเข้าถึงวัคซีน เช่น วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนไวรัสตับอักเสบ A B และ C และวัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กรณีฉุกเฉิน 3 กองทุน รพ.เอกชนไม่รับผู้ป่วยหรือยังมีการเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการ และผ่านไปยังคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ คือ ปัญหาเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วยกลับหน่วยบริการต้นสังกัด หรือการใช้ยาและเวชภัณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 สิทธิการรักษา เป็นต้น
       
       นพ.จรัล กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอที่ต้องผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง โดยเฉพาะการเพิ่มงบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือกองทุนสุขภาพตำบลจาก 40 บาทต่อประชากร เป็น 45 บาทต่อประชากร พร้อมทั้งขอให้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการงบค่าเสื่อมโดยลดสัดส่วนงบในระดับประเทศ/เขต/จังหวัด และเพิ่มสัดส่วนงบที่จัดสรรตรงให้หน่วยบริการ และขอเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายเพื่อประสิทธิภาพหน่วยบริการ (สถานพยาบาลที่จำเป็นต้องให้บริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัย) พร้อมทั้งให้มีการกำกับและเร่งรัดการใช้เงินกองทุนทุกระดับ รวมทั้งเงินกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
       
       “นอกจากนี้แล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ ให้ขยายหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนครอบคลุมทุกจังหวัด และเชื่อมโยงกับศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งขณะนี้ได้ปรับเพิ่มไปแล้วในปี 2556 พร้อมทั้งยังมีประเด็นการรับความคิดเห็นไปสู่การปฏิบัติให้มากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพทั้ง 49 ล้านคน” นพ.จรัล กล่าว
       
       อย่างไรก็ตาม ผลการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในปี 2556 ในระดับเขต ทั้ง 13 เขต มีกลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ ผู้ให้บริการสาธารณสุขจากสถานพยาบาลทุกระดับ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ประชาชนทั่วไป ทั้งที่มีและไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ โดยเน้นประเด็น 7 ด้าน คือ
1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข
2.ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข
3.ด้านการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
4.ด้านบริหารจัดการสำนักงาน
5.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
6.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ์ และ
7.ด้านการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่
เพื่อกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนต่อไป
       
       ทั้งนี้ ประเด็นจาการรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งมีการประกาศเป็นนโยบาย หรือกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน เช่น การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การเปลี่ยนหน่วยบริการจาก 2 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง การสนับสนุนเร่งรัดพัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช่จ่ายสูงอย่างครบวงจร การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ(2) การใช้บัตรประชาชน Smart card แทนบัตรทอง การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2556