ผู้เขียน หัวข้อ: ปลูกปะการัง เกาะขาม...กิจกรรมเพื่อท้องทะเลไทย  (อ่าน 1421 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 หากชีวิตมนุษย์เราปราศจากบ้าน คงไม่มีแหล่งพักพิง ก็เหมือนกับฝูงปลาในทะเลที่ขาดปะการัง ก็คงไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยเหมือนกัน..
       
       ปะการังสำคัญไฉน.. ปะการังก็เป็นเสมือนบ้าน ของเหล่าปลาตัวน้อยใหญ่ในท้องทะเล หากไม่มีปะการัง เหล่าปลาตัวน้อยใหญ่ ก็คงจะขาดบ้าน ปัจจุบันปะการังถูกทำลายไปมาก เนื่องจากสาเหตุต่างๆ มากมาย ทั้งจากธรรมชาติด้วยกันเอง และจากน้ำมือมนุษย์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญ
       
       นั่นจึงทำให้ปัจจุบันได้มีการสำรวจ และริเริ่มปลูกปะการังกันอย่างแพร่หลาย ทั้งการอนุรักษ์ปะการัง ให้คงอยู่แบบธรรมชาติ ไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดน้อยลงไป รวมถึงมีโครงการต่างๆ ที่ก่อตั้งเพื่อสำรวจและฟื้นฟู ปะการังในส่วนที่เสียหาย ให้กลับมาเจริญเติบโต เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาและธรรมชาติ โดยผู้ที่คิดค้นและฟื้นฟูการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซีในเมืองไทย ก็คือ “ประสาน แสงไพบูลย์” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี จ.จันทบุรี

       อ.ประสาน ได้ค้นคว้าทดลองด้วยวิธีต่างๆ จนสามารถปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในปี พ.ศ.2538 ณ บริเวณหาดแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ท่อพีวีซีเป็นวัตถุที่คงทนต่อธรรมชาติ และเมื่อนำท่อพีวีซีมาใช้ในการปลูก ทำให้หลังจากการปลูกปะการัง 2 อาทิตย์ ปะการังก็จะเกาะท่อพีวีซี และแตกตัวอ่อนขึ้นมาหลังจากนั้น
       
       “เมื่อมนุษย์สามารถขยายพันธุ์ต้นไม้ด้วยการปลูกป่าได้ ก็น่าที่จะขยายพันธุ์ปะการังด้วยการปลูกปะการังได้” อ.ประสาน กล่าว
       
       โดยก่อนหน้านั้น (ก่อนปี 38) อ.ประสาน ได้ลองคิดค้นหาวิธีปลูกปะการังจากวัสดุอื่น แต่ไม่มีอะไรดีเท่าพีวีซี ซึ่งเขาได้ถึงเหตุผลและความเหมาะสมของการใช้ท่อพีวีซีปลูกปะการัง ว่า หากใช้ไม้ไผ่ปลูก ไม้ไผ่จะผุกร่อนง่าย ถ้าใช้ดินเผา ดินเผาจะแตกหักง่าย ส่วนพีวีซีจากการทดลอง พบว่า มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด ปลอดภัย คงทน อยู่ได้นาน ประหยัด ทำง่าย และสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่
       
       “นอกจากนี้ พีวีซียังมีความเสถียรในตัวมันเอง ทำให้ปะการัง หอย ฟองน้ำ และตัวอ่อนต่างๆ เติบโตได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับวัสดุอื่นๆ” อ.ประสาน กล่าว

       ด้าน วิกรม ภูมิผล ผู้จัดการมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ได้พูดถึงกระบวนการต่างๆ ในการปลูกปะการัง ว่า เริ่มจากหลักการในการปลูกปะการังที่สังเกตง่ายๆคือ ในการปลูกปะการังไม่ใช่ว่าจะไปปลูกส่วนไหนของทะเลได้ การปลูกปะการังจะต้องปลูกในที่ที่มีแนวปะการังเดิมอาศัยอยู่ นอกจากนั้นแล้ว ต้องมีปะการังชนิดอื่นอาศัยอยู่ด้วย ที่สำคัญก็คือต้องมีปะการังเขากวางอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย
       
       ส่วนมากแล้วปะการังที่ใช้ในการปลูกจะใช้ปะการังเขากวาง เนื่องจากปะการังเขากวางเป็นปะการังที่เติบโตได้รวดเร็ว และสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ง่าย จึงง่ายแก่การปลูกและการอยู่รอด ส่วนปะการังชนิดอื่นๆ ก็สามารถนำมาปลูกได้ แต่จะทำให้โตช้า และเสี่ยงต่อการตาย
       
       ในขณะที่หลายๆ คนอาจสงสัย ว่า “แล้วเอาปะการังจากที่ไหนมาปลูก” นายวิกรม ได้ให้ข้อมูล ว่า ปะการังที่ใช้ในการปลูกจะได้มาจากการสำรวจสภาพปะการังในแต่ละพื้นที่ และเก็บส่วนที่แตกหัก ตามพื้นทรายที่ใกล้ตายแล้วมาเสียบในแปลงอนุบาลเพื่อการขยายพันธุ์ ถ้าใช้ปะการังที่แตก หรือหักแล้ว มันจะงอกขึ้นมาเองได้ ถ้าปะการังชิ้นใดจมทราย จะทำให้มันตาย

       อย่างไรก็ตาม การปลูกปะการังในช่วงแรกๆ ของ อ.ประสาน มีปะการังตายมากกว่ารอด อีกทั้งยังถูกคนปรามาส แต่ อ.ประสาน กับทีมงานไม่ได้ย่อท้อได้ ทดลองปลูกปะการังในท่อพีวีซีต่อไป จนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดโครงการปลูกปะการังตามต่อกันมานถึงปัจจุบัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้มีโครงการปลูกปะการัง ในชื่อโครงการ “รักษ์นะ ปะการัง” ขึ้น ที่ เกาะขาม อ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

       สำหรับเกาะขามที่นี่ถือเป็นพื้นที่ปลูกปะการังสำคัญในบ้านเรา เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ สภาพน้ำเหมาะสม ซึ่งในอดีตเกาะขามเป็นพื้นที่ที่มีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์ แต่ในปี 2540 ได้ถูกพายุลินดา ทำให้ปะการังเกิดความเสียหายอย่างมาก แถมในปี 2541 ยังเกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวทำให้ปะการังตายเกือบทั้งหมด เหลือแค่บางส่วนที่รอดขึ้นมา
       
       เมื่อเหลือส่วนที่น้อย ทำให้ผู้คนที่เข้ามาดู หรือดำน้ำได้เหยียบย่ำไปบ้าง ชาวบ้านก็ทิ้งสมอเรือบ้าง ทำให้ปะการังเกิดความเสียหายและแตกหัก
       
       กระทั่งเมื่อประมาณปี 2548 ได้มีการสำรวจพื้นที่และเริ่มปลูกปะการังไปประมาณ 5,000 ต้น โดยปะการังที่ใช้ปลูกจะเป็นปะการังกิ่งใหญ่และเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงทำให้ง่ายต่อการขยายพันธุ์ในพื้นที่ หลังจากนั้น ในปี 2551 ได้เริ่มโครงการ “วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่ง เพื่อล้นเกล้า” โดยเกาะขามได้รับปะการังในโครงการมา 10,000 ต้น ตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงปัจจุบันก็ได้ปลูกไปจะครบ 10,000 ต้นแล้ว เนื่องจากปะการังเขากวางเป็นปะการังที่โตเร็ว จึงทำให้ครอบคลุมพื้นที่และง่ายต่อการเติบโต

  น.ส.กมลชนก จิตรพล หรือ น้องมาย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร ที่มาเข้าร่วมปลูกปะการังในโครงการ “รักษ์นะ ปะการัง” กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้มีโอกาสมาร่วมอนุรักษ์สัตว์ทะเลอย่างปะการังเขากวาง เพราะคนส่วนมากไม่ค่อยนึกถึงในส่วนนี้ ด้วยประสบการณ์การปลูกปะการังเขากวางครั้งแรกของเธอ
       
       สำหรับสัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นปะการังเขากวาง หรือปะการังชนิดอื่นๆ ก็ล้วนมีความสำคัญต่อท้องทะเล จึงอยากให้มาร่วมกันอนุรักษ์ ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอย่างฝูงปลาเป็นต้น และสุดท้ายก็อยากจะฝากถึงทุกๆ คน ว่า อยากให้ช่วยกันมาปลูกปะการังกันเยอะๆ เพราะปัจจุบันแหล่งปะการังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ถ้าเราช่วยกันคนไม้คนละมือ ท้องทะเลของเราก็จะอุดมไปด้วยแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล และนอกจากนั้น ยังมีปะการังสวยงามไว้ให้เราชมอีกด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 เมษายน 2555