ผู้เขียน หัวข้อ: ผลศึกษาชี้ “ร่วมจ่าย” ก่อนป่วย-คนจนไม่ต้องจ่าย เหมาะสมสังคมไทย  (อ่าน 1672 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
นศ.ปธพ. รุ่น 1 เปิดผลศึกษาระบบร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับคนไทย พบต้องเป็นการจ่ายล่วงหน้าก่อนป่วย คนยากไร้ไม่ต้องร่วมจ่าย ชี้ช่วยลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพภาครัฐ สร้างความชอบธรรมให้ระบบด้วยคนที่มีความสามารถช่วยจ่ายคนไม่สามารถ และเพิ่มความรับผิดชอบ

       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ในการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ (ปธพ.) รุ่นที่ 1 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2556 ตนและสมาชิกกลุ่มได้ทำการศึกษาเรื่อง “ระบบร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับระบบสุขภาพไทยที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน” โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพไทยจำนวน 31 คน ทั้งภาคประชาสังคม ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และนักบริหาร เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบสุขภาพไทยในปัจจุบัน และที่ต้องการให้เป็นในอนาคต โดยใช้คำถามปลายเปิดให้แสดงความคิดเห็น ผลการศึกษา พบว่า เรื่องการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ต้องการให้มีนั้น กลุ่มภาคประชาสังคม ผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ ต้องการให้มีการร่วมจ่ายตามกำลังฐานะทางการเงิน มีระบบกลั่นกรองที่ดีในการแยะแยะบุคคลที่ควรร่วมจ่าย และรัฐควรจัดให้มีการรักษาขั้นพื้นฐานแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการมากกว่านี้ก็ให้ร่วมจ่ายแบบสมัครใจ
       
       พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ให้บริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกความเห็นต้องการให้นำระบบร่วมจ่ายมาบังคับใช้ โดยสร้างระบบแยกแยะความสามารถในการร่วมจ่าย กำหนดหลักเกณฑ์การร่วมจ่ายที่เหมาะสม เช่น ความถี่ของการใช้บริการ อาชีพ พฤติกรรมเสี่ยง เพื่อสร้างสำนึกถึงเงินภาษีส่วนรวมที่นำมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล และกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการและนักบริหารเห็นว่า การร่วมจ่ายอาจทำเป็นแบบจ่ายสมทบตั้งแต่ยังไม่ป่วย (Prepaid) หรือจ่ายเมื่อป่วย (Postpaid) โดยอัตราไม่เท่ากัน การร่วมจ่ายอาจเป็นลักษณะที่จ่ายเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ หรือส่วนที่ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ (Non-Medical Service) ไม่เห็นด้วยที่รัฐไม่สร้างระบบร่วมจ่าย เพราะผิดหลักรัฐประศาสนศาสตร์ที่นำเงินภาษีไปช่วยคนที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว
       
       “สรุปรูปแบบการร่วมจ่ายที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือ เน้นให้มีระบบจ่ายประกันล่วงหน้า (Pre-Paid Insurance) รัฐส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนตระหนัก และเข้าใจถึงความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยในครอบครัวระบบที่ดี คือ การร่วมจ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย จะทำให้ไม่ต้องจ่าย หรือจ่ายเงินเพิ่มน้อยที่สุดยามเจ็บป่วย และผู้ยากไร้ต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของตนเองเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพของภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้ระบบสุขภาพด้วย คือ คนที่มีความสามารถจ่ายสามารถช่วยคนที่ไม่สามารถจ่ายได้ และเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชนที่สามารถจ่ายได้ด้วย” พญ.ประชุมพร กล่าว
       
       ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 14 ส.ค. สปสช. จะจัดการประชุมปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของไทยขึ้น โดยจะหารือร่วมกันใน 3 กองทุนสุขภาพ ว่า ถึงเวลาจะต้องปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของไทยอย่างไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และจะมีการพูดในประเด็นร่วมจ่ายว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งหลักการยืนยันต้องร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย ไม่มีการเก็บเงิน ณ สถานพยาบาล นอกจากนี้ สปสช. จะร่วมกับมูลนิธิราชประชาสมาสัย จัดประชุมจิตอาสาเพื่อสลายขั้วขัดแย้งต่างๆ ในวันที่ 25 ก.ค. ที่โรงแรมริชมอนด์ โดยเชิญ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเป็นประธานเปิดงาน เพื่อหารือจัดตั้งชมรมจิตอาสาเพื่อชุมชนในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 กรกฎาคม 2557