ผู้เขียน หัวข้อ: การรักษาพยาบาลในจีนยังห่างชั้นจากการเติบโตเศรษฐกิจนัก  (อ่าน 2174 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ใครก็ตามที่เคยอยู่ที่จีนใน ช่วงระยะเวลาหนึ่ง มักจะสรุปเป็นเสียงส่วนใหญ่ว่า “อยู่ในจีน อย่าป่วยเป็นดีที่สุด” นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าภาพลักษณ์การให้บริการรักษาพยาบาลในจีนยังไม่เป็นที่ ยอมรับ ทั้งที่ปัจจุบันในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ หรือในเมืองใหญ่ๆต่างก็มีโรงพยาบาลชั้นนำที่ได้รับมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) ซึ่งหมายถึงการรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลระดับนานาชาติ โดย JCAHO (Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organizations) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสถานพยาบาลต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลกมาก ว่า 75 ปี
       
       โรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI มักจะมีเป้าหมายดูแลผู้ป่วยนานาชาติ เพราะสัญลักษณ์ JCI ถือเป็นเครื่องหมายสากลที่แสดงว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ระดับโลก เป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ นานาชาติจึงให้การไว้วางใจเลือกมาใช้บริการรักษาพยาบาล เพราะถือว่าได้ผ่านการรับรองและตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ จากทั่วโลก โดยมาตรฐานนี้จะมุ่งเน้นที่การปฏิบัติงานของทีมงานแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและบุคลากรของโรงพยาบาล ในองค์ประกอบด้านสิทธิของผู้ป่วย, การรักษาผู้ป่วย, การควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลต่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการในสถานพยาบาล นั้น สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีโรงพยาบาล 11 แห่ง ที่ได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน JCI ส่วนโรงพยาบาลในจีนที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI มีเพียง 5 แห่งจากทั่วประเทศ ได้แก่

ที่เซี่ยงไฮ้ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลฮัวซานหยวนปั่น (Shanghai’s Huashan Hospital /华山院办) , โรงพยาบาลซ่างไฮ่รื่อเปิ่นยวี (Shanghai United Family Hospital and Clinics /上海日本语) ,

ที่ปักกิ่ง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเป่ยจิ่งรื่อเปิ่นยวี (Beijing United Family Hospital and Clinics /北京日本语) , โรงพยาบาลคลิฟฟอร์ด (Clifford Hospital / 祈福医院) และ

ที่เจ้อเจียง 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University 's School of Medicine /浙江大学医学院附属第二医院)

 ปัจจุบันจีนมีสถานพยาบาลทั่วประเทศประกอบด้วย โรงพยาบาล 19,900 แห่ง สถานีอนามัย 40,000 แห่ง ชุมชนศูนย์บริการสาธารณสุข 24,000 แห่ง และศูนย์สุขภาพเด็กมารดากว่า 3,000 แห่ง โดยแบ่งสถานพยาบาลเป็น 3 ระดับ คือ
       
       
       ระดับที่ 1 สถานบริการสาธารณสุขระดับชุมชน ตั้งอยู่บริเวณชุมชนชานเมือง ให้บริการด้านการตรวจรักษาโรคทั่วไป มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยน้อยกว่า 100 เตียง
       
       ระดับที่ 2 สถานีอนามัยระดับเขต เป็นที่ให้บริการแก่กลุ่มประชาชนในเขตที่สถานีอนามัยตั้งอยู่เป็นหลัก มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 100-400 เตียง มีเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมและสามารถให้การตรวจวินิจฉัยโรคเฉพาะด้านในระดับ ที่สูงกว่าศูนย์บริการสาธารณสุขระดับชุมชน แต่ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่มีความซับซ้อน
       
       ระดับที่ 3 โรงพยาบาลระดับรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับแนวหน้าของรัฐที่มีชื่อเสียง มีความร่วมมือระหว่างคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานการทหาร เป็นสถานพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่าสถานพยาบาล 2 ระดับแรก มาตรฐานการตรวจรักษาและการวิจัยโรคอยู่ในระดับที่มีคุณภาพ จึงถือเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับและดีที่สุดสำหรับคนจีน สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 500 เตียงขึ้นไป
       
       แม้ว่าจีนจะมีโรงพยาบาลระดับรัฐของประเทศกว่า 19, 900 แห่ง แต่ด้านสาธารณสุขของจีน ทั้งในด้านจำนวนโรงพยาบาล จำนวนเตียงคนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์ กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนจีน 1,300 ล้านคน
       
       ทั้งที่รัฐบาลเองก็ได้ประกาศแผนการดูแลสุขภาพประชาชนจีน ทุ่มงบประมาณกว่า 850,000 ล้านหยวน เพื่อให้ความคุ้มครองในด้านระบบประกันสุขภาพแก่ประชาชนภายใน ปี 2020 มีการปรับปรุงโรงพยาบาลของรัฐ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำรายได้ระหว่างคนเมืองกับชนบท ขยายระบบประกันการรักษาพยาบาลภายในประเทศ สร้างเครือข่ายของสถานพยาบาลทั้ง 3 ระดับ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท ให้ครอบคลุมร้อยละ 90 ของประชาชนภายในประเทศ โดยรัฐบาลยังได้เพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับเบี้ยประกัน มอบสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพแก่ประชาชนจีน เนื่องจากคนจีนจำนวนมากยังไม่มีประกันสุขภาพ และต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ดังนั้น หากไม่มีเงินพอ ก็ต้องหยุดการรักษาแม้ว่าจะเจ็บป่วยหนักจนสูญเสียอวัยวะหรือถึงแก่ชีวิตก็ ตาม ส่งผลให้คนจีนหลายคนต้องการออมเงินมากกว่านำเงินออกมาใช้จ่าย เนื่องจากถ้าป่วยแล้วค่ารักษาพยาบาลก็แพงมากสำหรับคนที่ไม่มีประกัน และรายได้ต่อครอบครัวก็ไม่เพียงพอต่อการรักษา คนที่ป่วยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไปซื้อยามากินเอง
       
       คนจีนมากกว่า 92 ล้านคนต้องทนทุกข์กับโรคเบาหวาน และเฉลี่ยทุกปีคนจีนประมาณกว่า 27,00 คน ต้องเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมาณด้วยโรคมะเร็ง โดยขาดการเหลียวแลจากรัฐ สิ่งนี้จึงถือเป็นความล้มเหลวประการหนึ่งของการดูแลสุขภาพ การขาดหลักประกันด้านสุขภาพในจีน เนื่องจากจีนใช้ทรัพยากรทั้งหมดเพื่อเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้เหลือเงินทุนเพียงน้อยนิดสำหรับการพัฒนาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีราคาย่อมเยาว์ รวมไปถึงการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อวางกฎระเบียบในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขอนามัย ด้านความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจขององค์กรน้อยใหญ่ทั่วประเทศ
       
       จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกทำให้ทราบว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 156 จากทั้งหมด 200 ประเทศในการดูแลสุขภาพประชาชน รัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณในด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนไม่เท่าเทียมกัน คนจีนแต่ละคนต้องแบกภาระเกือบร้อยละ 50 ของค่ารักษาพยาบาล ส่วนรัฐบาลแบกรับเพียงร้อยละ 18 และการบริการสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชนในชนบทมีเพียงร้อยละ 25 ทั้งที่ชาวชนบทมีจำนวนสูงเกือบร้อยละ 60 ของประชากรทั่วประเทศ และยังมีคนจีนอีกร้อยละ 33 ต้องแบกรับการประกันสุขภาพประเภทต่าง ๆที่นอกเหนือสวัสดิการของรัฐ
       
       เนื่องด้วยธุรกิจในการรักษาพยาบาลในจีนเป็นสิ่งที่ผูกขาดโดยรัฐบาลมาตลอด ทำให้การบริหารและรูปแบบการให้บริการของโรงพยาบาลจึงล้าหลังกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐยังไม่ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่แท้จริงของโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลของรัฐเองก็ถูกกดดันให้แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในการรักษา พยาบาลจากผู้ป่วยและญาติ มีการโก่งค่ายา ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าตรวจรักษาโดยแพทย์ และแม้ว่ารัฐเองจะพยายามเข้ามาควบคุมระบบอัตราค่ารักษาพยาบาลและการจำหน่าย เวชภัณฑ์ยา ซึ่งสามารถลดการค้ากำไรจากการขายยาของพวกหมอและโรงพยาบาลไปได้ส่วนหนึ่ง
       
       ความต้องการด้านบริการสุขภาพในจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนพัฒนาเติบโตต่อเนื่อง ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่มีสัดส่วนประมาณเกือบร้อยละ 40 ของประชากรจีนหรือประมาณกว่า 540 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 6,000 หยวนต่อเดือน ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะด้านทันตกรรม ด้านผิวหนัง สถานพักฟื้นสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุเนื่องจากสังคมจีนมีกลุ่มผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นทุก ขณะ ก็เป็นเป้าหมายกลุ่มการตลาดที่กำลังขยายตัวของธุรกิจพยาบาลในจีน กลุ่มชนชั้นกลางนี้มีกำลังซื้อระดับหนึ่งแต่มีปัญหาว่า ไม่ค่อยมีสถานพยาบาลที่เหมาะสม มีการบริการพึงพอใจตรงความต้องการของพวกเขา
       
       ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักธุรกิจเอกชนและนัก ธุรกิจชาวต่างชาติจากตะวันตก สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ สามารถเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลเพื่อจัดตั้งสถานพยาบาลเอกชนในเขตเมืองอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเมืองใหญ่ๆ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 30 ทั้งนี้เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่อยู่ในจีนให้เกิดความไว้วางใจเลือกรับการ รักษาในโรงพยาบาลชั้นนำของจีนแทนการที่จะต้องเดินทางกลับประเทศตนเองหรือไป ยังฮ่องกงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มนักลงทุนก็เห็นว่าจีนมีศักยภาพการลงทุนด้านธุรกิจพยาบาล แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการบริหารโรงพยาบาล บุคคลากรในจีนมีเพียงพอ แต่ต้องมีการพัฒนาเรื่องการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มทุนที่จะเข้าไปร่วมทุนโรงพยาบาลในจีน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ เงินทุน และสายสัมพันธ์เป็นที่ไว้วางใจต่อรัฐบาลจีนด้วย จึงจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี(ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 กันยายน)