ผู้เขียน หัวข้อ: แถลงการณ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานและสหวิชาชีพผู้ดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลสงขลา  (อ่าน 2049 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

แถลงการณ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานและสหวิชาชีพผู้ดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลสงขลาเพื่อคัดค้านร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข                                                                                       

เรียนประชาชนผู้มาใช้บริการที่เคารพทุกท่านโปรดทราบ   

ขณะนี้ได้มีกลุ่มผู้ผลักดันร่างพรบ.นี้(ประกอบด้วยกลุ่ม NGO บางกลุ่มและแพทย์ส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว)พยายามแสวงหาผลประโยชน์ โดยการผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ  โดยหลอกลวงสังคมและรัฐบาลให้หลงเชื่อว่ามีแต่ประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป  แต่โดยเนื้อแท้แล้ว  ร่างพรบ.ฉบับนี้ใช้ประชาชนผู้มารับบริการและผู้ให้บริการทางสาธารณสุข  เป็นเหยื่อหรือทาสร่วมกันเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ผลักดันเอง  โดยวิธีการคือ                                                                                                                                     

1.) กดดันบุคคลากรทางการแพทย์ให้เป็นผู้กระทำผิดโดยง่าย เช่น ให้มีอายุความฟ้องร้องไม่จำกัด(ตามมาตรา25 โดยอายุความนับแล้วแต่การรับรู้ของผู้เสียหาย  ซึ่งไม่แน่นอน),  มีการกำหนดว่าความเสียหายเกิดจากการไม่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพ(ตามมาตรา 6 ) ทั้งๆที่สถานพยาบาลทั่วประเทศส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมทำตามมาตรฐาน เพราะผู้ป่วยล้นบริการร่วมกับขาดแคลนบุคคลากรและอุปกรณ์, สัดส่วนคณะกรรมการตัดสินไม่เป็นธรรม(ตามมาตรา7) มีผู้มีความรู้ทางวิชาชีพน้อยมาก  แต่กลับใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสินชี้ขาด (ตามมาตรา11),          ปฏิบัติกับผู้ให้บริการเหมือนอาชญากรค้ายาเสพติด โดยมีการยึดหรืออายัดทรัพย์ได้(ตามมาตรา21), ไม่ทำตามคำสั่งคณะกรรมการ มีสิทธิ์เป็นศาลเตี้ยเอง สั่งจำคุก6เดือนหรื่อปรับหนึ่งหมื่นบาทตามอำเภอใจ(ตามมาตรา46)                                                                                                         

2.)ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อ เพราะจะเกิดความเสียหายมากขึ้น เพราะกลุ่มผู้ผลักดันรู้อยู่แล้วว่า  เมื่อกดดันบุคคลากรทางการแพทย์แล้ว  จะเกิดความลังเลในการดูแลผู้ป่วย หรือหลีกเลี่ยงการรักษา จึงส่งต่อไปรักษาที่อื่น จนเกิดความล่าช้าในการรักษา  ทำให้ผู้ป่วยตายหรือพิการเพิ่มขึ้น   ทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้น แล้วไปกดดันบุคคลากรทางการแพทย์ต่อไป เป็นวงจรอุบาทว์  นำไปสู่เงื่อนไขเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น(ตามมาตรา21)  ทำให้เงินกองทุนชดเชยพอกพูนมากขึ้นเรื่อย เพราะไม่ต้องส่งคืนคลัง(ตามมาตรา22)  กลุ่มผู้ผลักดันที่ได้เป็นกรรมการยิ่งมีสิทธิ์ใช้เงินได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว  เพราะกำหนดให้สามารถใช้ได้ถึงร้อยละ10ของเงินกองทุน(ตามมาตรา20)    ประชาชนผู้ใช้บริการและบุคคลากรทางการแพทย์กลายเป็นทาสปั่นเงินให้กับผู้แสวงหาผลประโชน์จากการเป็นกรรมการในกองทุนชดเชยนี้ไปตลอดชีวิต                                                                                                                                                   
3.)กลุ่มผู้ผลักดันร่างพรบ.นี้  ต้องการใช้กองทุนชดเชยนี้ เป็นผลงานประชาสัมพันธ์ให้กับตนเองและกลุ่มของตน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา นำไปสู่อำนาจทางสังคมต่อไป  และอาจต่อยอดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆอีก  และหวังกินนานๆ โดยการกำหนดให้เป็นกรรมการได้นานสุดติดต่อกันถึง8ปี(ตามมาตรา8)   ขนาดเคยมีผู้ถามถึงความจริงใจในการผลักดันกฎหมาย โดยขอให้งดรับตำแหน่งกรรมการ10ปีแรก  กลุ่มผู้ผลักดันนี้ ก็ไม่รับปาก                                                         

4.)จากวงจรอุบาทว์ที่มีการฟ้องร้องมากขึ้น  มีการเรียกเก็บเงินสมทบมากขึ้นจากสถานพยาบาล   สถานพยาบาลต้องเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยมาทดแทน  สุดท้ายประชาชนรับภาระจ่ายค่ารักษาเพิ่มถ้าไปรักษาจากสถานพยาบาลเอกชน  ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็ขาดเงินมาจ่ายยาให้ผู้ป่วย เพราะรัฐบาลไม่เคยยืนยันเลยว่าจะเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนสมทบแทนให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยมากเกินปรกติ   ต้องตรวจใช้เวลานานขึ้นจนบางครั้งเกินจำเป็น  ทำให้ผู้มารับบริการไม่ได้รับความสะดวกและล่าช้า  เพราะไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้เสียหาย  เพราะเป็นพื้นฐานต่อในการถูกอ้างฟ้องอาญาได้  แม้กองทุนจ่ายเงินทดแทน   แต่ร่างพรบ.ฉบับนี้ ก็ไม่เว้นการฟ้องอาญาให้      แม้จะอ้างว่ามีมาตรา45 ช่วยเว้นโทษอาญาให้  แต่มีเงื่อนไขคือบุคคลากรทางการแพทย์ต้องยอมรับความผิด (เท่ากับบีบคอให้รับ)  ดังนั้นการที่ผู้ผลักดันอ้างว่าจะลดการฟ้องร้อง  จึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยทั้งสิ้น

              เหตุผลทั้งหมดนี้พ่อแม่พี่น้องที่รักและบุคคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน  จะยอมเป็นเหยื่อหรือเครื่องจักรปั่นเงินและอำนาจให้กับกลุ่มผู้ผลักดันหรือไม่  ทำไมต้องยอมให้คนกลุ่มหนึ่งจำนวนน้อยนิดอ้างตัวว่าทำเพื่อประชาชน  อ้างว่าร่างพรบ.นี้ดี  แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ศึกษาเนื้อหากฎหมายโดยการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ   หลอกลวงให้รู้จักแต่ชื่อร่างพรบ.ว่าดูดี  นี่หรือคือประเทศประชาธิปไตย   หรือประเทศของกลุ่มผู้ผลักดัน กันแน่ 

             สุดท้ายนี้ ขอวิงวอนรัฐบาลผู้มีอำนาจในการพิจารณา    โปรดอย่าส่งเสริมกลุ่มผู้ผลักดันนี้   ซึ่งพยายามสร้างอำนาจทางสังคม  และอาจนำไปสู่อำนาจทางการเมืองต่อไป  สุดท้ายอาจกลับมาเป็นฝ่ายคุมรัฐบาลเสียเองได้ในอนาคต  ซึ่งกลุ่มNGOนั้นส่วนใหญ่มีทั้งกลุ่มที่สร้างสรรค์  มีเพียงบางกลุ่มที่แฝงมาเพื่อผลประโยชน์

           จึงขอเรียกร้องให้ยุติการพิจารณาร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ในสภาผู้แทนฯ  การให้ความหวังว่าจะสามารถแก้ไขมาตราที่เป็นปัญหาได้ในชั้นกรรมาธิการ  ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  สิ่งที่ดีที่สุดคือควรมีการแก้ไขให้รอบคอบจากทุกฝ่าย   ลดความขัดแย้งก่อนเข้าสู่สภา โดยการทำประชาพิจารณ์แก่ประชาชนให้ถูกต้องยอมรับโดยทั่วกัน   จึงจะเป็นหนทางที่ถูกต้องตามยุคสมัยที่โหยหาความสมานฉันท์  และสมกับเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าปกครองโดยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรยิ์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริง


                                                          แถลง ณ.วันที่  7 กุมภาพันธ์  2554