แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 531 532 [533] 534 535 536
7981
นายธัญญา หนูเริก หน.สถานีอนามัยสะพานเคียน ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดตรัง ร่วมกับสถานีอนามัยบ้านสะพานเคียน จัดทำโครงการสร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดตรัง โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้หมอพื้นบ้าน รวบรวมข้อมูลสมุนไพรในท้องถิ่นและใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการแพทย์ แผนปัจจุบันให้บริการด้านสุขภาพทางเลือกกับประชาชน โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ การสนับสนุน

นาย ธัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านมักจะหันไปพึ่งการรักษาจากโรงพยาบาลกันมากขึ้น เสียทั้งค่ายาและค่าเดินทางจำนวนมาก ซึ่งบางโรคสามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาโรคให้กับคนในชุมชน ทางอนามัยจะคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และให้คำแนะนำว่ามีทางเลือกในการรักษาให้กับชาวบ้าน ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์พื้นบ้าน โครงการนี้จึงส่งผลดีกับสุขภาพของคนในชุมชน ถ้าเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปรักษาในตัวเมือง ซึ่งเสียทั้งเงินและเวลา แล้วชาวบ้านก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้จากสมุนไพรพื้นบ้านในการรักษาตัวเอง เบื้องต้น

7982
สถานการณ์ม็อบแดงทำพิษ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมดีๆของว่าที่นิสิตนักศึกษาอีกงาน ล่าสุดน้องใหม่คณะแพทย์ฯ จำต้องยกเลิกกิจกรรมแรกพบ สพท. 53 แล้ว
       
       เนื่องจากเหตุการณ์วุ่นวายของบ้านเมืองในช่วงนี้ คณะกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และการเดินทางมาร่วมกิจกรรมของน้องๆทุกคน คณะกรรมการจึงขอ ประกาศยกเลิก “งานแรกพบ สพท.2553” ในวันเสาร์ที่ 15 พ.ค. นี้
       
อนึ่ง กิจกรรม“งานแรกพบ สพท.” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้น้องๆนิสิตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จากทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งนักเรียนแพทย์ทหาร ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนรู้จักกับรุ่นพี่ และเพื่อนๆจากทั่วประเทศ โดยกิจกรรมดังกล่าวยังมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ แนะแนวการศึกษา และเตรียมความพร้อมก่อนเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ อีกด้วย
       
       ซึ่งในปีนี้ เดิมกำหนดการแรกนั้น สพท. ตั้งใจจัดกิจกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ใกล้เคียง ทาง สพท. จึงเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดกิจกรรมไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แทน
       
       แต่ด้วยสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1 – 2 วันที่ผ่านมา สพท.จึงประกาศยกเลิกงานดังกล่าวข้างต้นไปไม่มีกำหนด

7983
 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนุนให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้สมุนไพรดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งเป้าปีนี้ให้ได้ร้อยละ 5 ขณะนี้มีสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 19 รายการ จะเพิ่มอีก 22 รายการ พร้อมทั้งส่งหมอแผนไทยประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปีนี้ 150 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งหนุนนำตู้ยาสมุนไพรประจำบ้าน เข้าสู่ครัวเรือน ใช้บำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เหมือนยาแผนปัจจุบัน
       
       ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติเมืองเก่า ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ซึ่งจะพัฒนายกระดับให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เมื่อเช้าวันนี้ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะให้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกแห่งทั่วประเทศ ใช้สมุนไพรทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ โดยจะให้มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 1.78 ให้เป็นอย่างน้อยร้อยละ 5 ให้ได้ ซึ่งขณะนี้มียาสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 19 รายการ ในปีนี้จะพยามเพิ่มอีก 22 รายการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมียาสมุนไพรใช้ในการบำบัดรักษาโรคมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรซึ่งมีในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยสมุนไพรไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก็จะมีการศึกษาพัฒนาและนำใช้ประโยชน์ อย่างกว้างขวาง
       
       ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาไทยในการรักษาโรค นอกจากใช้ยาแล้วยังมีการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรค ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดส่งแพทย์แผนไทย ลงประจำการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างน้อยจังหวัดละ 2 คน รวม 150 แห่งทั่วปะเทศ เพื่อดูแลด้านบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรโดยตรง เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนและทำงานร่วมกับ อสม.เริ่มปฏิบัติงานพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป
       
       นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหนุนให้นำตู้ยาสมุนไพรประจำบ้าน กระจายเข้าสู่ระดับครัวเรือน สรรพคุณยาคล้ายกับยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นเบื้องต้นที่ต้องมีทุกบ้าน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย ยาใส่แผล ซึ่งในเบื้องต้น ได้แก่ ฟ้าทะลายโจรใช้แก้ไข้ ขมิ้นชันแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาอมฟ้าทะลายโจรแก้ไอ ขับเสมหะ เจลพริกบรรเทาอาการปวดเมื่อย เจลล้างมือว่านหางจระเข้ ทิงเจอร์สมุนไพรซึ่งทำจากสารสกัดเปลือกมังคุด ขมิ้นชันและแอลกอฮอล์ รักษาโรคผิวหนัง และยาหม่องพญายอทาแก้แมลงกัดต่อย รวมทั้งพลาสเตอร์ สำลีทำแผล ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีจำหน่ายทั่วไป ราคาไม่แพง โดยจะมอบสาธิตเป็นตัวอย่างให้ชุมชนที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติทุกแห่ง
       


7984
ผลวิจัยพบผู้สูงอายุ 55% เลือกใช้บริการบัตรทอง สาเหตุเพราะฟรี ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี รับได้ แต่ 21% เลือกรักษาที่รพ.เอกชน เพราะเชื่อว่ามีแพทย์รักษาดีกว่า และไม่อยากรอคิวนาน ที่เหลือ 24% เลือกใช้บริการแบบผสม หากเจ็บป่วยฉุกเฉินค่อยไป รพ.เอกชน เพราะรวดเร็ว เข้ารักษานอกเวลาราชการได้
       
       รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยการเงินการคลังสำหรับการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุใน เขตกรุงเทพฯและภูมิภาค เปิดเผยผลวิจัยการศึกษาเชิงลึกด้านการใช้บริการทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ในกรุงเทพมหานครและเทศบาลนครอุบลราชธานี เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการและสถานการณ์การใช้สิทธิด้านการรักษาพยาบาล ของผู้สูงอายุ สนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) พบว่า มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง มากถึงร้อยละ 55 ผู้สูงอายุที่ไม่ใช้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลือกที่จะจ่ายเงินค่าบริการด้วยตนเอง ร้อยละ 21 ส่วนผู้สูงอายุที่ใช้บริการด้านสุขภาพทั้งสองแบบหรือแบบผสมคิดเป็นร้อยละ 24

รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า สาเหตุที่ ผู้สูงอายุเลือกใช้สิทธิบัตรทอง ส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและอยู่ใกล้บ้าน ทำให้ประหยัดเงินค่ารักษาพยาบาลได้จำนวนมาก ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนไม่มีประกันสังคม เมื่อถามถึงการบริการของสถานพยาบาล ส่วนใหญ่เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่เลือกใช้สิทธิบัตรทอง ระบุสาเหตุเพราะไม่มั่นใจในการรักษาพยาบาล และคิดว่ายาที่ได้รับ ไม่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกนอกเวลา รวมทั้งยังไม่สามารถเลือกแพทย์ที่จะทำการรักษาได้
       
       “ผู้ที่ไม่เลือกใช้ใช้บริการบัตรทองบอกว่า แม้โครงการบัตรทองจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรอคิวนาน และมีแพทย์น้อย เพราะคนไข้มีจำนวนมาก ทำให้การรักษาพยาบาลไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนโรงพยาบาลเอกชน การให้บริการก็ไม่น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งต่างจากของโรงพยาบาลเอกชนโดยสิ้นเชิง” รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว

รศ.ดร.วรเวศม์  กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือผู้ที่เลือกใช้บริการแบบผสม ส่วนใหญ่ระบุว่าหากเจ็บป่วยกรณีเป็นโรคเรื้อรัง ก็จะเลือกใช้สิทธิบัตรทอง เพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะการรักษาโรคเรื้อรังต้องรักษาเป็นประจำ จึงไม่อาจแบกรับภาระได้ทั้งหมด แต่หากในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน จะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน เพราะสะดวกรวดเร็ว บริการดี เข้ารักษานอกเวลาราชการได้
       
       รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า การสำรวจยังได้สอบถามความพึงพอใจต่อโครงการบัตรทอง พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจ และเห็นว่าการให้บริการของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯอยู่ในเกณฑ์ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุบางคนเห็นว่าแพทย์ให้บริการไม่ตรงใจ เช่น ไม่ค่อยตรวจอาการป่วย เพียงฟังอาการที่เล่า แล้วสั่งยาให้รับประทาน หรือบางกรณีผู้สูงอายุได้พบเห็นการพูดจาไม่ดีทำให้บางคนที่พอจะมีกำลัง ทรัพย์ หันไปใช้บริการของเอกชนแทน หรือหากไม่มั่นใจในการก็จะไปตรวจรักษาเพิ่มเติมที่สถานพยาบาลอื่นๆ ที่ตนเองเชื่อมั่นมากกว่า โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้นด้วยตนเอง
       
       “ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าแม้การใช้ บริการบัตรทอง จะเป็นการรักษาพยาบาลตามสิทธิ ไม่ต้องเสียเงิน แต่การกำหนดคิวนัดหมายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างช้า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องรอคิวนาน ผู้สูงอายุบางคนอาจไม่สามารถรอได้ ซึ่งปัญหาการกำหนดคิวนัดหมายนี้เอง เมื่อเปรียบเทียบกับการให้บริการของสถานพยาบาลภาคเอกชนจะความแตกต่างกัน อย่างชัดเจน ทำให้มีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเลือกที่จะรับบริการทางด้านสุขภาพแบบผสม” รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว

7985
ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนมักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออก มารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายต่างก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว

คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ”แพทยสภา” และ“กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน

เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่ รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่าง ๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง

แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน

ผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที

แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับ ผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด

กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงาน
เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของ คู่กัน


7986
ภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพฯ ออกแถลงการณ์ รุมประณามเสื้อแดงบุกค้นรพ.จุฬาฯ ชี้ละเมิดหลักสากล-มนุษยธรรม นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีประเทศไหนทำ คาดความเครียดเล่นงาน ทำให้หวาดระแวงเตือนม็อบแดงเสี่ยงเกิดอาการทางจิตชนิดหวาดระแวง วอนยุติการคุกคามรพ.-รถพยาบาล –บุคลากรทางการแพทย์ เตรียมร่อนหนังสือถึงสภาฯให้ความรู้ส.ส.หลักปฏิบัติสากล
       
       เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 เมษายน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ภาคีสภา วิชาชีพด้านสุขภาพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ขอให้ยุติการคุกคามและปฏิบัติต่อโรงพยาบาล รถพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้บาดเจ็บ ที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลและหลักมนุษยธรรม” เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งนำมาซึ่งการสูญเสีย และบาดเจ็บของประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก และปรากฏว่า มีการบุกรุกตรวจค้นโรงพยาบาล คุกคามบุคลากรทางการแพทย์ และขัดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การปะทะ มีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอประณามการกระทำที่ไม่เป็นไปตาม หลักสากลและหลักมนุษยธรรม

ทั้งนี้ ภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายมีสติ หนักแน่น เคารพหลักการสากลและหลักมนุษยธรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ดังนี้ 1.ภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพฯ ขอให้สมาชิกยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าภายใต้เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น 2. ในหลักสากลแม้กระทั่งในยามสงครามหรือความขัดแย้ง สู้รบระหว่างประเทศ โรงพยาบาล รถพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่ายให้มีความปลอดภัยและสามารถปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่
       
       3. ในประเทศไทยขณะนี้เป็นเพียงความขัดแย้งทาง ความคิดของคนในชาติเดียวกัน จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพความเป็นกลางของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล รถพยาบาล ถอยห่างจากพื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1๐๐ เมตร และละเว้นการกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการปฏิบัติงานและกีดขวางทางเข้า-ออกโรงพยาบาล 4. ผู้บาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม และผู้ที่เข้าให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จะต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการนำส่งเพื่อการ รักษาอย่างทันท่วงทีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ5.ขอให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากลโดยทันที และขอให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก มนุษยธรรมโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวปฏิบัติด้านการแพทย์ในยามเกิดเหตุความไม่สงบ กาชาดสากลได้ออกสนธิสัญญาเจนีวา ตั้งแต่ปี 1949 หรือพ.ศ.2492 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบุแนวปฏิบัติ 3 ข้อหลัก คือ 1.รถพยาบาล โรงพยาบาล และบุคลากรด้านการแพทย์เป็นกลาง ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่าย 2.ประชาชนที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยต้องได้รับการคุ้มครองและ3.ผู้บาดเจ็บและ ผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยเหลือ
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในกรณีของผู้ชุมนุมอาจจะไม่รู้และไม่ได้มีการศึกษาในเรื่องหลักสากลเกี่ยว กับเรื่องนี้ แต่ในที่ชุมนุมมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งมั่นใจว่ารู้หลักเกณฑ์สากลเป็นอย่างดี จึงควรแนะนำให้ผู้ชุมนุมคนอื่นรู้จะได้ไม่กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดหลัก สากล และหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก สิ่งที่ผู้ชุมนุมบุกค้นโรงพยาบาลอาจเป็นเพราะความเครียด ทำให้เกิดการหวาดระแวงเห็นอะไรขยับก็กลัว หากเป็นเช่นนี้เรื่อยๆก็เสี่ยงที่จะมีอาการทางจิตชนิดหวาดระแวง
       
       “เชื่อว่าผู้ที่เป็นแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ถูกสั่งสอนมาให้มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ทุกคน การที่สภาวิชาชีพออกแถลงการณ์น่าจะเพียงพอ ที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีจิตสำนึกและรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด พร้อมที่จะแก้ไขให้เป็นไปตามหลักสากล เพราะแม้ แต่ในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีใครไปยุ่งกับบุคลากรทางการแพทย์และรถ พยาบาล ที่ผ่านมานับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่เคยมีประเทศไหนกระทำการเช่นนี้มาก่อน เนื่องจากรู้ดีว่าหากละเมิดจะถูกประเทศต่างๆรุมประณามอย่างหนัก ขายหน้าทั่วโลก ”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว
       
       เมื่อถามว่า แกนนำผู้ชุมนุมในการบุกค้นรพ.จุฬาฯเป็นส.ส.มีความเหมาะสมหรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส.ส.ไม่ควรกระทำการเช่นนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าส.ส.มีความรู้เรื่องหลักสากลนี้หรือไม่ จึงเตรียมส่งสนธิสัญญาเจนีวาไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส.ส.มีความรู้ ความใจในแนวปฏิบัตินี้ด้วย

7987
ผลพวง “ไพร่แดง” ป่วน รพ.จุฬาฯ สะเทือนใจทั้งผู้ป่วย อาการโคม่า และอยู่ระหว่างรักษาโรคมะเร็ง ต้องระเห็ดหนีไปรักษาตัวโรงพยาบาลอื่น ขณะที่พยาบาล รพ.จุฬาฯ สะอื้นน้ำตานอง ระบุ รพ.จุฬาฯ เปิดมาเป็นเวลา 100 ปี ทุกคนถูกปลูกฝังให้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์มาตลอด ชี้คืนวันอันโหดร้ายถึงขั้นต้องคอยหลบกระสุน คลานที่พื้นไปเปลี่ยนน้ำเกลือให้คนไข้ ย้ำไม่เคยฝักใฝ่ฝ่ายใด เพียงแค่ต้องการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์เท่านั้น

 วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย บริเวณอาคารคัคณางค์ติดกับตึกนวมินทราชินี ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่า ทีมแพทย์และพยาบาลได้เร่งทำการเคลื่อย้ายผู้ป่วยไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยมีทั้งผู้ป่วยที่อาการหนัก และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวมาเพื่อรอดูอาการ โดยบรรยากาศการเคลื่อนย้ายในวันนี้เป็นไปด้วยความโกลาหล และท่ามกลางความรู้สึกเสียใจของแพทย์และพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยที่ย้ายออกไปนั้นบางรายมีอาการโคม่า แต่ต้องย้ายออกไปเพื่อความปลอดภัย
       
       ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาว่ามีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย เนื่องจากเหตุความวุ่นวายที่กลุ่มเสื้อแดงบุกเข้ามาภายในโรงพยาบาลนั้น ทาง รศ.นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.รพ.จุฬาฯ ได้ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง
       
       ด้าน นางอุไร จันทร์ทอง อายุ 29 ปี มาดาของ ด.ญ.กานชนิต์ พวงแก้ว อายุ 1 ปี กล่าวว่า ลูกสาวป่วยเป็นโรคตับ ม้ามโต ตาเหลือง ตัวเหลือง และเข้ามารักษาที่ รพ.จุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่วันนี้ทางแพทย์ได้แจ้งว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่สงบ มีการชุมนุม อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัย ให้พาลูกกลับไปรักษาตัวที่บ้าน และนัดมาตรวจอาการอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งตนรู้สึกเป็นห่วงอาการของลูกสาวอย่างมาก ซึ่งเสื้อผ้าก็ไม่ได้เตรียมมาให้ลูกต้องหาเสื้อตัวเก่ามาใส่ให้ก่อน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่พยาบาลได้เข็นเตียงคนไข้เป็นเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ชื่อ ด.ญ.อรนัท ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลงมาจากอาคารคัคณางค์ โดยมารดาของ ด.ญ.อรนัท กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า ลูกสาวป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว รักษาที่ รพ.จุฬาฯ มาเป็นเวลา 2 ปี แล้ว ตนเสียใจมากที่ต้องพาลูกย้ายออกจากโรงพยาบาลอย่างกะทันหัน เนื่องจากลูกสาวอาการไม่ค่อยดี กลัวว่าลูกจะแย่ลงกว่าเดิม จากนี้จะส่งตัวลูกไปรักษาต่อที่ รพ.ราชวิถี
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทีมแพทย์และพยาบาล รพ.จุฬาฯ ได้ออกมายืนรวมตัวกัน เพื่อถือป้ายแสดงจุดยืนขององค์กรและความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ว่า “รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย เป็นกลาง ยึดถือหน้าที่การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดยไม่แบ่งแยก โปรดอย่ามารุกล้ำการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ของพวกเรา”
       
       ทางด้าน น.ส.สุภาภรณ์ ศรีตังศิริกุล พยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวทั้งน้ำตาว่า โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลา 100 ปี ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ ทุกคนถูกปลูกฝังให้ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์มาโดยตลอด เมื่อคืนที่ผ่านมาตนเองก็ต้องคอยหลบกระสุน ต้องคลานที่พื้นไปเปลี่ยนน้ำเกลือให้คนไข้ ช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีการบริจาคอวัยวะและเลือดเยอะมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไข้เสียโอกาสที่จะได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ เพราะต้องย้ายโรงพยาบาล ตนไม่เคยฝักใฝ่ฝ่ายใด เพียงแค่ต้องการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์เท่านั้น พวกเราขอเพียงแค่ความปลอดภัยให้กับคนไข้ และความสะดวกในการทำงานเท่านั้น ซึ่งตนไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเวลา 5 วันแล้ว เนื่องจากต้องอยู่ประจำการเตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ประสานงานไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อจัดเตรียมห้องประทับให้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยขณะนี้ทรงประทับอยู่ที่อาคารเพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 8 และจะสเด็จออกจาก รพ.จุฬาฯ เพื่อไปประทับรักษาพระอาการที่ รพ.ศิริราช ในเวลาประมาณ 15.00 น.

7988
วันที่ 29 เม.ย.ไปที่กระทรวงคุณหมอ ของ ฯพณฯ “จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกิดอาการปรี๊ด! อารมณ์เสียอย่างหนัก หลังเกิดเหตุปะทะระหว่าง “โจรแดง” กับเจ้าหน้าที่ทหาร ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รายงานข้อมูลให้ “อู้ดด้า” ได้รับทราบ
       
       หลังจากได้ข้อมูลท่านจุรินทร์ ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อทันทีว่า ผู้ป่วยที่ รพ.ภูมิพล เป็นเพศหญิง ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นผู้ชาย งานนี้ท่านจุรินทร์ถึงกับสะกิด นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ถามว่า สพฉ.รายงานผิดอีกแล้วหรือ พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลอีกรอบ
       
       “อู้ดด้า” ถึงกับ “เหวี่ยง” บอกว่า ที่ไม่อยากรีบแถลงต้องรอตรวจสอบให้มั่นใจก่อน ก็เพราะเป็นแบบนี้
       
       แถมที่ผ่านมาก็ช้าตลอด ตัวเลขยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ผิดๆ ถูกๆ ล่าสุด แถมเหตุปะทะครั้งล่าสุด สื่อมวลชนโทรศัพท์ไปสอบถามสถานการณ์ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ก็ได้รับคำตอบจาก “นพ.ชาตรี เจริญปิยกุล” เลขาธิการ สพฉ.ว่า อยู่ที่ระยอง สัมมนาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้
       
       งานนี้เลยไม่รู้ว่าจะมี สถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติไว้ ทำไม?????

7989
 สธ.ดีเดย์ 1 มิถุนายน แจกสารอาหารเสริม “โฟเลท-ไอโอดีน” ให้หญิงตั้งครรภ์ พร้อมหนุนให้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์รับโฟเลท-ไอโอดีน ก่อน 6 สัปดาห์ ป้องกันเด็กไม่ครบ 32-เอ๋อ มีปัญหาเชาวน์ปัญญา คาด ใช้งบ 300-400 บาทต่อปี สั่งอภ.ผลิต พร้อมดันเข้าบัญชียาหลัก ให้ใช้ฟรีทั้ง 3 ระบบ ประกันสุขภาพ
       
       วันที่ 29 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “โครงการลูกครบ 32 สมองดี เริ่มต้นที่ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์” ว่า จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในแต่ละปีจะมีทารกแรกเกิดราว 800,000 คน โดยใน 10,000 คน จะพบเด็กที่มีภาวะโรคเอ๋อ 7 คน โรคภาวะหลอดประสาททารกในครรภ์เปิดอีก 4 คน และปัญหาปากแหว่ง เพดานโหว่อีก 20 คน หรือประมาณ 1,500 คนต่อปี สาเหตุสำคัญเนื่องจากแม่ขาดความรู้ในการดูแลตนเอง ตั้งแต่เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์จนถึงระยะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือน หรือ 6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญสำหรับการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก โดยสารอาหารที่จำเป็นในระยะนี้ คือ โฟเลท และไอโอดีน
       
       “การเสริมโฟลิกในช่วง 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ในปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน นอกจากจะลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทแล้ว ยังสามารถลดโอกาสการเกิดปากแหว่งได้ประมาณ 1 ใน 3 ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดร้อยละ 25-50 ลดความผิดปกติของแขนขาร้อยละ 50 และยังลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะไม่มีรูทวารหนัก โดยรวมแล้วการเสริมวิตามินที่มีกรดโฟลิก จะสามารถลดความพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 25-50” นายจุรินทร์ กล่าว
       
       นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมอนามัยยังพบว่า หญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ โดยระหว่างปี 2549-2551 พบหญิงตั้งครรภ์มีค่าไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร สูงถึงร้อยละ 71.8 61.3 และ 58.3 ตามลำดับ ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดต้องไม่เกินร้อยละ 50 โดยพบหญิงตั้งครรภ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับสารไอโอดีนน้อยที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ อย่างไรก็ตาม เด็กทารกที่ขาดสารไอโอดีน จะเป็นโรคเอ๋อ มีเชาวน์ปัญญาต่ำ โดยพบว่าจะมีค่าไอคิวลดลงโดยเฉลี่ย 13.6 จุด จากปกติที่ 90-110 จุด ซึ่งระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยเมื่อปี 2545 มีค่า 88 จุด ในขณะที่ประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกไกลมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 98-104 จุด
       
       “ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ สถานพยาบาลทุกแห่ง จะเริ่มให้สารอาหารประเภทโฟเลทที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ที่เติบโตรวดเร็ว และไอโอดีน โดยรวมอยู่ในเม็ดเดียวรับประทานง่าย เพื่อประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ โดยจะสนับสนุนให้ผู้หญิงที่มีการวางแผนครอบครัว เตรียมความพร้อมที่จะตั้งครรภ์มารับวิตามินดังกล่าวก่อนการตั้งครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ โดยคาดว่าภายในปีงบประมาณนี้จะต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท และคาดว่า น่าจะใช้งบประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท นอกจากนี้ พยายามผลักดันให้สามารถผลิตได้เอง โดยมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พิจารณาโอกาสในการผลิตสารอาหารดังกล่าว เมื่อผลิตสำเร็จจะผลักดันให้เข้าอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อจะได้ ใช้ฟรีทั้ง 3 ระบบทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ” นายจุรินทร์ กล่าว

7990
แพทยสภาออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่าย ทุกสี เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์-พยาบาล ห่างจาก รพ.รัศมี 100 เมตร รักษาผู้ป่วยด้วยความมั่นใจ ปลอดภัย หวัง “เหวง” มีจิตสำนึก เตือนแดงอย่าขัดขวางการทำงานช่วยเหลือชีวิต ด้าน ผอ.จุฬาฯ ปิดรับคนไข้นอกต่ออีก 1 วัน รับเฉพาะฉุกเฉิน ย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นแล้ว
       
       วันที่ 29 เมษายน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า กรรมการบริหารแพทยสภา มีมติออกแถลงการณ์แพทยสภา เรื่อง ขอให้ทุกฝ่ายเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง นำมาซึ่งการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการทำงานของโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สถานที่ชุมนุม 2 แห่ง คือ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ตำรวจ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีสติ หนักแน่นและเคารพหลักสากลในการดูแลผู้ป่วย และบาดเจ็บ
       
       นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องรักษาจริยธรรมในวิชาชีพ ในการดุแลผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 2.โรงพยาบาลต้องมีความพร้อมและความสะดวกในการช่วยชีวิต ตลอดจนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน จึงขอให้ทุกฝ่ายถอยห่างจากพื้นที่โรงพยาบาลและละเว้นการกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการปฏิบัติงาน และกีดขวางทางเข้า-ออก โรงพยาบาล และ 3.ขอให้ทุกฝ่ายละเว้นการใช้สถานที่ของโรงพยาบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการ เมือง
       
       “แพทยสภาไม่มีอำนาจบังคับแต่อยากขอร้องให้ทุกฝ่ายจะเคารพในสิทธิของ โรงพยาบาลในฐานะพื้นที่ในการักษาดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ โดยไม่ขัดขวางการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ละเมิดโรงพยาบาล โดยการตรวจค้นหรือการเข้าไปรบกวนสร้างความวุ่นวายในโรงพยาบาล ซึ่งแม้แต่ในสงครามก็ไม่เคยมีเหตุในลักษณะนี้ รวมทั้งจะทำให้แพทย์ พยาบาล รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่สามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ ขอให้ถอยห่างจากประตูเข้า-ออก รพ.ในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร เพื่อเปิดทางให้กรณีที่มีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บฉุกเฉินช่วยเพิ่มโอกาสการรอด ชีวิตและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างสะดวก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
       
       นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ หาก ไม่ได้รับความร่วมมือก็จะหารือกับ นพ.เหวง โตจิราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง และในฐานะแพทย์คนหนึ่ง น่าจะมีจิตสำนึก รู้ได้เอง ซึ่งแพทยสภาได้เตือนสติแล้ว เชื่อว่า ความเป็นแพทย์จะช่วยให้รู้ถูกผิดและเข้าใจการทำงานของแพทย์ รวมถึงการขัดขวางรถพยาบาลฉุกเฉินในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการค้นรถพยาบาลฉุกเฉินก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากประชาชนบางส่วนยังไม่รู้กฎระเบียบ อะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้ นั้น แพทยสภาก็ได้ชี้แจงแล้ว ดังนั้น จะบอกว่าไม่รู้หรือไม่บอกไม่ได้
       
       ด้าน นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ทุกสี ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐ หยุดใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของโรงพยาบาลและถอยกำลังออกจากพื้นที่ของโรง พยาบาลและเคารพในฐานะพื้นที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ เชื่อว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ว่าจะโรงพยาบาลใด คงไม่อยากให้มีผู้ที่มีกำลังอาวุธเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเข้ามาคุ้มครองหรือทำอะไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานของแพทย์เป็นไปอย่างสะดวกตามหลักมนุษยธรรมและตามหลักสากล
       
       ด้าน ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล ว่า จากการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะมีการปิดรับคนไข้นอกทั้งหมดเพิ่มเป็นถึงวันที่ 30 เม.ย.โดยจะรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนคนไข้ในในทยอยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ที่สามารถรับได้เพื่อให้เหลือผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากอาคารที่อยู่บริเวณถนนราชดำริ และพื้นที่การชุมนุมแล้ว คือ ตึก สก.และตึก ภปร.ออกทั้งหมดแล้ว โดยทั้งหมดเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลจะพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

7991
โรงพยาบาลของสเปน กล่าวแจ้งว่า ได้ผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าทั้งหน้า ให้กับผู้ชายซึ่งได้รับอุบัติเหตุ จนไม่ อาจจะกิน หายใจหรือพูดจาได้อย่างปกติ เมื่อ 5 ปีก่อน นับเป็นรายแรกของโลก

โรงพยาบาลลวอลล์ เฮบรอน ที่นครบาร์เซโลนาอ้างว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้า ที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ ตลอดทั่วโลกรวม 11 แห่ง ล้วนแต่ทำกับบางส่วนของใบหน้าเท่านั้น

หัวหน้าทีมแพทย์หมอโจน เปียร์ บาร์เรต แจ้งว่า ได้ระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 30 นาย ผ่าตัดเปลี่ยนกล้ามเนื้อ ผิวหนัง จมูก ริมฝีปาก ขากรรไกร ฟัน เพดาน และโหนกแก้ม ให้ใหม่ ในการผ่าตัด นาน 22 ชม. รับประกันได้ว่า ใบหน้าใหม่จะคล้ายกับใบหน้าเดิม "คนไข้จะมีแผลเฉพาะที่หน้าผากกับที่คอเท่านั้น แต่ต่อไปก็อาจจะแก้ไขให้ปิดซ่อนมิดชิดได้"

"เมื่อคนไข้เห็นใบหน้า ใหม่ของตนเอง จากการส่องกระจก หลังผ่าตัดไปได้ 1 อาทิตย์ เขาก็พอใจและยอมรับได้" หัวหน้าทีมหมอผ่าตัดกล่าว.

7992
“จุรินทร์”ขอร้อง เสื้อแดงอย่ายึดรถหวอ ชี้ทำให้หมอพยาบาลตระหนก เกรงกระทบหากเกิดเหตุฉุกเฉินจริง

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   กล่าวถึงกรณีแกนนำคนเสื้อแดงประกาศจะยึดรถพยาบาลว่า   เราไม่มีนโยบายให้รถพยาบาลไปทำอย่างอื่น ชัดเจนว่า ที่ส่งไปในการดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาตินั้น มีความปรารถนาที่ต้องการเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วย  หรือผู้ได้รับบาดเจ็บจริงๆ ถ้าเกิดกรณีเหตุฉุกเฉินขึ้น  เราไม่มีวัตถุประสงค์ให้ไปดำเนินการอย่างอื่น นอกจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และพยาบาล จึงเป็นที่มาที่ตนเคยร้องขอทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ชุมนุมไปก่อนหน้านี้ว่า  ขอความกรุณาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กับรถพยาบาลที่จะเข้าไปดูแลผู้ ป่วย  หรือผู้บาดเจ็บถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นด้วย 
 “ผมไม่ทราบว่าจะยึด ไปเพื่อประโยชน์อะไร และจะทำไปเพื่ออะไร ไม่ควรที่จะทำ ถ้าคิดจะทำไม่อยากให้ไปทำอะไรไม่ถูกต้องต้องขอความกรุณาเพราะไม่เช่นนั้นจะ เกิดความตระหนกกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นแพทย์และพยาบาลซึ่งเขามีความปรารถนาดี ที่ตั้งใจจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยจริงๆ  และถ้าเกิดกรณีเหตุฉุกเฉินขึ้นมามีผู้ป่วยผู้ได้รับบาดเจ็บที่สุดผลจะกระทบ กับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บเอง” รมว.สธ.กล่าว

 นายจุรินทร์ กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่ได้สั่งเปลี่ยนแปลงแผนดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุก เฉินระดับชาติ   และถ้ามีความจำเป็นรถพยาบาลจะไปจอดสำหรับเตรียมรับในกรณีฉุกเฉินใกล้ที่ ชุมนุม  ส่วนการปรับแผนหากเกิดความไม่ปลอดภัยกับแพทย์พยาบาลนั้น  จะปรับตามความเหมาะสมแล้วแต่ช่วงเวลา ซึ่งขณะนี้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่  24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการเปลี่ยนแผนตลอดเวลาและจะปรับแผนตามความเหมาะสม เพื่อเป้าหมายคือต้องการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บไม่มีอย่างอื่น 

 ด้านนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (เลขาธิการสพฉ.) กล่าวว่า  ได้มอบหมายให้นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย  ผู้ช่วยเลขาธิการสพฉ.  เข้าไปเจรจาทำความเข้าใจกับนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช.  ว่า การปฏิบัติการทางการแพทย์ไม่เคยมีวัตถุประสงค์อื่นแม้แต่การขนอาวุธ  ได้สอบถามไปทางแกนนำก็ยืนยันไม่ได้ว่ารถคันไหนของรพ.ใด แต่การพูดอย่างนี้มีจะเกิดปัญหาในการทำงานของแพทย์ ทั้งที่เราเป็นกลางช่วยเหลือทุกฝ่าย  อย่างไรก็ตามรถพยาบาลทุกคันตอนนี้ยังไม่ถูกยึด และได้สั่งให้รถพยาบาลทุกคันถอยออกห่างจากพื้นที่ชุมนุมจากจุดเดิม  เช่นเคยอยู่ตรงแยกไหนก็ให้ถอยออกมา 2-3 แยก ให้พอได้รับคำสั่งแล้วเห็นจุดเข้าไปรับส่งได้ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังให้มากขึ้นแล้ว

 นพ.ชาตรี กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉินร้องขออุปกรณ์ในการเข้าปฏิบัติงานช่วง สลายการชุมนุมว่า ทราบว่ามีการร้องขอมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการแพทย์ให้สนับสนุนแล้ว ส่วนสิ่งที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพร้องขอ อาทิ อุปกรณ์ป้องกันน้ำกรด อุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา  ผ้าก๊อก ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ   ซึ่งทราบว่าทางกรมการแพทย์พร้อมช่วยเหลือ

 ผู้สื่อข่าวรายงาน  เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงสาธารณสุข ขอสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัวเพิ่มเติมสำหรับใช้ปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีสลายการชุมนุมขึ้นอีก ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมพร้อมอนุมัติให้กรมการแพทย์ส่งอุปกรณ์ ต่างๆไปสนับสนุนตามที่มีการร้องขอเข้ามา

7993
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติอัตราการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ประจำปีงบประมาณ 2554 ว่า

สำหรับงบประมาณเหมาจ่าย รายหัวที่ไม่ลงตัว เนื่องจากสำนักงบประมาณเห็นว่าสูงเกินไป โดย สปสช.เสนอไปที่ 2,814.75 บาทต่อหัวประชากร แต่สำนักงบตัดเหลือ 2,525 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย เพราะตัวเลขน้อยไป ไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน จึงมอบหมายให้ไปเจรจาอีกครั้งและนำเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า (27 เม.ย.) ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้คำนวณอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวตัวเลขใหม่อยู่ที่ 2,600 บาท

 “สปสช.คำนวณตามความเป็นจริง เพราะอย่าลืมว่าแต่ละปีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งหลังจากใช้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่า อัตราการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานพบ ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจากเดิมเข้ารักษาเพียง 1-2 ครั้งต่อปี เป็น 3 ครั้งต่อปี ตัวเลขการเข้าบริการที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าจำนวนงบประมาณการรักษาพยาบาล ย่อมสูงขึ้นด้วย” นพ.วินัยกล่าว

 อนึ่งงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวตั้งแต่ปี 2546 เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยปี 2546 อยู่ที่ 1,202.4 บาท ปี 2547 อยู่ที่ 1,308.5 บาท ปี 2548 อยู่ที่ 1,396.3 บาท ปี 2549 อยู่ที่ 1,659.2 บาท ปี 2550 อยู่ที่ 2,089.20 บาท ปี 2551 อยู่ที่ 2,100 บาท ปี 2552 อยู่ที่ 2,202 บาท และ ปี 2553 อยู่ที่ 2,401.33 บาท

7994
 เมื่อแพทย์ชนบทออกมาตี แผ่ว่าโครงการไทยเข้มแข็งของสธ.ในส่วนที่จะได้รับการจัดสรรตามพ.ร.บ.ให้ อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ จำนวน 7.5 หมื่นล้านบาท มีการส่อทุจริต แม้จะยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างเพราะเงินงบประมาณยังไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากพ.ร.บ.ยังไม่ผ่านสภา แต่ก็มีการเตรียมการ ทั้งในประเด็นการจัดซื้อครุภัณฑ์หลายรายการและการตั้งค่าราคาประเมินสิ่งก่อสร้างสูงเกิน จนทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของสธ. ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ที่สรุปว่ามีการส่อเจตนาทุจริต และส่งผลให้นายวิทยา แก้วภราดัย ในฐานะรมว.สาธารณสุข ต้องลาออกจากตำแหน่ง

 ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง และมีคณะอนุกรรมการพิจารณาถึง 8 ชุด อาทิ คณะอนุกรรมการทบทวนรายการและราคาของครุภัณฑ์ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง, คณะอนุกรรมการกำหนดรายการสิ่งก่อสร้างของโรงพยาบาลชุมชนใหม่, คณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสม และทบทวนการจัดสรรของหน่วยบริการปฐมภูมิ, คณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสมและทบทวนการจัดสรรของโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปหรือบริการตติยภูมิ

 แต่ดูเหมือนบรรดาหมอๆ จะเถียงกันไม่จบ โดยเฉพาะประเด็นราคาประเมินสิ่งก่อสร้าง เมื่อฝ่ายแพทย์ชนบทพยายามจี้ให้มีการลดระดับราคาลง ส่วนฝ่ายกระทรวงเห็นว่าราคาที่ตั้งและมีการลดลงมาบ้างแล้วนั้น ไม่สามารถลดต่ำลงได้อีก เนื่องจากอาจเป็นราคาที่ต่ำเกินไป ทำให้สถานพยาบาลไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จนต้องสำรองเงินของสถานพยาบาล สมทบ จึงส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณฟันธงราคา ระหว่างนั้นครม.ก็มีมติให้ทุกกระทรวงนำงบประมาณเดิมของไทยเข้มแข็งในส่วน พ.ร.บ. มารวมกับงบปกติประจำปี 2554 เพื่อเสนอในคราวเดียวกัน

 "ครม.ให้นำงบประมาณที่ตั้งไว้ในงบฯโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของพ.ร.บ.มา ปรับตั้งเป็นงบประมาณปกติประจำปี 2554 แทน ซึ่งในส่วนของสธ.จะพิจารณาคงโครงการที่มีความจำเป็นมากที่สุดไว้เพื่อดำเนินการในปี 2554" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข กล่าว 

 ล่าสุด ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่มีนายจุรินทร์เป็นประธานเมื่อวัน ที่ 19 เมษายน 2553 เห็นชอบ โครงการไทยเข้มแข็งที่อยู่ในส่วนของพ.ร.บ. ปี 2554 เป็นจำนวน 19,295.728 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณก่อสร้าง 8,257 ล้านบาท งบครุภัณฑ์ 6,563 ล้านบาท งบในการผลิตและพัฒนาบุคลากร 1,112 ล้านบาท งบชายแดนภาคใต้ 531.73 ล้านบาท และงบกรมการแพทย์ 2,316.63 ล้านบาท ตัดทอนจากเดิมที่วางไว้ 7.5 หมื่นล้านบาทถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท

 ทั้งที่ หากเป็นไปตามแผนเดิมที่จะได้รับจัดสรรงบฯเต็มเม็ดเต็มหน่วย 7.5 หมื่นล้านบาท จะใช้เฉพาะส่วนการก่อสร้างปรับปรุงสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ประมาณ 60% หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท, จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 27% คิดเป็นราว 1.5 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าเฉพาะงบฯก่อสร้างถูกตัดหายไปถึง 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนงบฯครุภัณฑ์หายไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

 "ในการพิจาณางบฯ มีการตัดครุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมออกไป 7 รายการ อาทิ เครื่องตรวจชีวเคมีในเลือด หรือออโต้เมท เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตระบบปิด หรือยูวีแฟน และมีการปรับราคาลง ทั้งงบฯ สิ่งก่อสร้าง และการจัดซื้อครุภัณฑ์ โดยงบฯ สิ่งก่อสร้างจะถือราคาของคณะกรรมการทบทวนฯ และสำนักงบประมาณเป็นหลัก ส่วนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ปรับราคาให้ต่ำลงจากเดิมราวร้อยละ 10-15 หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้มีการกระจายการใช้งบเพิ่ม จากเดิมกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ 11 จังหวัดเท่านั้น” นายจุรินทร์ กล่าว

 สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลจากใครหรืออะไร ท้ายที่สุด ผู้ที่เสียโอกาสและประโยชน์ที่จะได้ใช้บริการสาธารณสุขที่ดี ก็คือ ชาวบ้านตาดำๆ ที่ทุกวันนี้ยามไปโรงพยาบาลแทบจะไม่มีที่ให้นอน เตียงผู้ป่วยล้นถึงทางเดิน ไม่เว้นแม้แต่หน้าห้องน้ำ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งบางแห่งไร้การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่มานานนับสิบปี ขณะที่ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นภายหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และใช้บริการในโรงพยาบาลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นถึง 160%

7995
มติ สปสช.สำรองยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ โดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน แต่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง กลุ่มยาต้านพิษ 6 รายการ ใช้งบ 5 ล้าน เป็นทุนหมุนเวียน หลังพบผู้ป่วยรับพิษจากนิคมอุตสาหกรรม-โรงงาน
       
       วันนี้ (19 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง การเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มต้านพิษในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า
       
       “ยา กำพร้า” หมายถึง ยาที่มีอัตราการใช้ต่ำโดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน แต่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง
       
       โดยได้มีมติให้ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียน และเริ่มดำเนินการในยากลุ่มต้านพิษ 6 รายการ ในจำนวนยากำพร้ากลุ่มต้านพิษ 36 รายการ ซึ่งเป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในกรณีฉุกเฉินอย่างทันท่วงที โดยคาดว่าจะสามารถกระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ภายใน 3-6 เดือน
       
       “ปัญหาที่ผ่านมา คือ ยากลุ่มดังกล่าวบริษัทผลิตยาได้กำไรน้อย จึงมีการทยอยเลิกผลิต แต่ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการใช้ยาดังกล่าว หากไม่รับจะทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการสำรองยา โดยให้องค์การเภสัชกรรมและสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดหา โดยการผลิตหรือนำเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งในงบประมาณที่กำหนด ซึ่งนอกจากผู้ป่วยบัตรทองแล้ว ยังเป็นการสำรองเผื่อให้ผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และข้าราชการได้ใช้ด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
       
       นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ยังมีมติให้เสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติพิจารณารายการยาดัง กล่าวเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ หมวดยากำพร้า เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยา ส่งผลให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       
       ผศ.สำลี ใจดี ประธานอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึงยา กล่าวว่า ยากำพร้าที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน 6 รายการ ได้แก่
1.Dimercaprol inj (BAL)
2.Sodium nitrite inj
3.Sodium thiosulfate inj
4.Methylene blue inj
5.Glucagon inj
6.Succimer cap (DMSA)
ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยผู้ได้รับพิษในกรณีที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ประชาชนทั่วไป เช่น ในกรณีเกิดไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุในครัวเรือน ประชาชนที่เกิดพิษ หรือเป็นโรคจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม และชุมชนในเขตนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และพิษวิทยา กระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งขึ้น เนื่องจากปัญหามาบตาพุด

หน้า: 1 ... 531 532 [533] 534 535 536