แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 466 467 [468] 469 470 ... 537
7006
ชาวบ้านตื่น "แมงกะพรุน" นับล้านตัวบุกอ่าวสัตหีบ เตือนภัยนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำระวังแพ้พิษ เผยเคล็ดลับใช้ “ผักบุ้งทะเล” บดทาผิวหนังถอนพิษ หรืออาบน้ำจืดฟอกสบู่ก็หาย...

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดปรากฏการณ์ประหลาดในอ่าวสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อมีแมงกะพรุน ชนิดแมงกะพรุนถ้วย ลอยตัวกระจายในวงกว้างทั่วอ่าว ทำให้ชาวประมงน้ำตื้นจำนวนมากหวาดกลัว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำสะอาดในพื้นที่สัตหีบ โดยเฉพาะหาดกองเรือยุทธการ หาดหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน อ่าวเตยงาม และอ่าวดงตาล ไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเลกัน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่กลัว เพราะรู้ว่าแมงกะพรุนถ้วยมีพิษไม่ร้ายแรง ถ้ามีอาการแพ้พิษก็สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองได้ โดยใช้ธรรมชาติบำบัด คือ ต้นและใบของผักบุ้งทะเล ที่กองทัพเรือปลูกอนุรักษ์ไว้ตามชายทะเลทั่วไปในพื้นที่อ.สัตหีบ

ภายหลังทราบข่าวว่ามีแมงกะพรุนนับล้านตัวบุกอ่าวสัตหีบ ทำให้นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอสัตหีบ นำหัวหน้าส่วนราชการ โดยเฉพาะประมงอำเภอสัตหีบ ลงไปตรวจสอบบริเวณอ่าวดงตาล ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ และทั่วๆไป ปรากฏว่าพบแมงกะพรุนชนิดถ้วย ลอยอยู่บนผิวน้ำเต็มไปหมด กำลังไล่จับสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงช่วงระยะหนึ่งที่อ่าวสัตหีบเกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก มีแพลงตอนเข้ามาในช่วงฤดูกาลที่น้ำเปลี่ยน ทำให้เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่ง อีกทั้งสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โขดหินแนวเกาะแก่งต่างๆ ในอ่าวสัตหีบ ก็จะเข้ามากินแพลงตอนจำนวนมาก ส่งผลให้ประมงชายฝั่งหาปลาไปเป็นอาหาร จำหน่ายเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยปรากฏการณ์นี้คงใช้เวลาประมาณ 10 วัน ถ้ามีการถ่ายเทน้ำลงมาก็จะหมดไป แมงกะพรุนจะย้ายไปหากินที่อื่นต่อไป

ขณะที่ พล.ร.ท.ชุมพล วงศ์เวคิน ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ กล่าวว่า ทัพเรือภาคที่ 1 ดำเนินโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหารของพะยูนที่หมุนเวียนเข้ามาตามฤดูกาลในอ่าวสัตหีบ อีกทั้งมีกองสนับสนุนกองเรือยุทธการที่รับผิดชอบอ่าว กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ รับผิดชอบหาดแหลมเทียน, หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน รับผิดชอบอ่าวเตยงาม, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รับผิดชอบหาดเทียนทะเล ได้ร่วมกันปลูกและอนุรักษ์ผักบุ้งทะเลตามแนวชายหาดไว้จำนวนมาก เพื่อไว้แก้พิษร้ายจากแมงกะพรุนนานาชนิด โดยเฉพาะแมงกะพรุนไฟที่อันตรายที่สุด


"ผักบุ้งทะเล เป็นไม้ล้มลุกชนิดเถาเลื้อย ลำต้นทอดไปตามยาวบนพื้นดิน มักขึ้นใกล้ทะเล ผิวเถาเรียบสีเขียวและสีม่วง ใบเป็นรูปหัวใจ ปลายเว้าเข้าหากัน ตามเถาและใบมียางสีขาว ดอกจะออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 2-6 ดอก แต่จะทยอยกันบานทีละดอกเท่านั้น ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร ยาวประมาณ 2.5 นิ้ว มีสีม่วงอมชมพู ม่วงอมแดง ชมพู หรือม่วง ผักบุ้งทะเลมีพิษ ถ้ารับประทานจะเกิดอาการเมา คลื่นไส้ วิงเวียน เพราะมีสารที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน หรือแอนตี้-ฮีสตามีน แต่สามารถยับยั้งพิษแมงกะพรุนและแมลงกัดต่อยได้ โดยใช้ใบและเถาล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาทาในบริเวณที่เกิดอาการบวมแดง เพียงไม่นานก็จะหายเป็นปกติ ถ้าจะให้ดีต้องอาบน้ำจืด ฟอกด้วยสบู่ด้วยก็จะดีมาก" พล.ร.ท.ชุมพลกล่าว

ด้านนายสมชาย จิตประจง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ซอยเย็นฤดี ม.6 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ ซึ่งเป็นชาวประมงน้ำตื้นหากินแนวชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้มีเพื่อนๆบอกว่า มีปลากระบอกจำนวนมากเข้ามากินอาหารบริเวณหาดดงตาล หน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ จึงได้นำอวนมาล้อมปลา ปรากฏว่าพบแมงกะพรุนถ้วยเป็นจำนวนมาก นับแสนนับล้านตัวภายในอ่าวสัตหีบ ซึ่งไม่เคยเห็นจำนวนมากอย่างนี้มาก่อน น่าจะเป็นลางบอกเหตุหรือปรากฏการณ์ในทะเล โดยเฉพาะคลื่นลมทะเลด้านนอกอาจรุนแรง หรืออาจเกิดภัยพิบัติ ซึ่งขณะที่ลงไปล้อมปลาก็เกิดอาการคันผิวหนังไปทั้งตัว โชคดีที่ตัวเองไม่แพ้พิษแมงกะพรุนถ้วย แต่ถ้าเป็นแมงกะพรุนไฟ อาจต้องเข้าโรงพยาบาลแน่นอน

ไทยรัฐออนไลน์ 8 ตค 2554

7007
  สพศท.ลั่นรับไม่ได้ผลประเมินเลขาฯ สปสช.ผลงานดีเยี่ยม ยันโดยรวมแย่ลง ระบบการบริหารเงินก็มีปัญหาอย่างแรง ส่งผลโรงพยาบาลสธ.ขาดทุนทั่วประเทศ เสนอเปลี่ยนเลาขาฯคนใหม่
   
       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) หรือ (สพศท.) กล่าวถึงกรณีบอร์ด สป.สช.คณะเดิมได้เร่งประเมินผลงานของ นพ.วินัย สวัสดิวร เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2554 นี้ โดยได้จ้างบริษัทเอกชนทำการประเมิน สรุปว่า ผลงานดีเยี่ยม นั้น ว่า พวกเราชาว รพศ./รพท.ยอมรับไม่ได้ เพราะผลงานหลายปีที่ผ่านมาของเลขา สปสช.ท่านนี้

1.ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่แออัดกว่าเดิม ยาก็ไม่ดีขึ้น รพ.มหาวิทยาลัยก็เลิกรับคนไข้บัตรทอง ส่งต่อก็ยากขึ้น ทุกอย่างโดยรวมแย่ลง
       
2.ระบบการบริหารเงินก็มีปัญหาอย่างแรง ล้มเหลวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โดยไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจประเทศ หรือรัฐบาลเลยเป็นผลงานของท่านล้วนๆ ทำให้ รพ.ของ สธ.ขาดทุนล่มจมทั่วประเทศ มีเงินค้างท่ออยู่ใน สปสช.มากมหาศาลทุกปี อยากทำโครงการเอาหน้าอะไรก็ทำ โดยมีปัญหามากเกินบรรยายถ้าฝีมือดีเยี่ยมทำได้แค่นี้ “ไม่แก้ปัญหาชาวบ้าน สร้างแต่ปัญหาให้โรงพยาบาล” จะสนองนโยบาย “ยกเครื่อง สปสช.” ได้อย่างไร
       
       “ขอให้กำลังใจท่าน รมต.วิทยา ที่จะมายกเครื่อง สปสช.ใหม่ แต่น่าเป็นห่วงแทนท่านถ้ายังจะใช้บริการ เลขาฯ สปสช.คนเดิม ขอสนับสนุนให้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่มีคุณภาพและคุณธรรมมากกว่านี้ ระบบสาธารณสุขถึงจะรอดขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่าถ้าดีจริงควรให้บอร์ดใหม่ประเมินด้วย และถ้าให้ประชาชนและ รพ.ทั่วประเทศร่วมประเมินด้วยก็จะโปร่งใสอย่างยิ่ง ไม่น่ารีบร้อน ดูน่าเคลือบแคลงว่างุบงิบชงเองกินเองอีกหรือเปล่า” พญ.ประชุมพร กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 ตุลาคม 2554

7008
    เมื่อเวลา 03.20 น. ร.ต.อ.วินัย คำสุข พนักงานสอบสวน(สบ 1) สน.บางซื่อ รับแจ้งเหตุชายตกจากที่สูง เหตุเกิดภายใน รพ.วิชัยยุทธ ถ.พระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยแพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู
    ที่เกิดเหตุบริเวณพื้นระหว่างตัวอาคารผู้ป่วยกับอาคารจอดรถ พบศพนายรัชภาคย์ เต็มนิธิรัตน์ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 385/36 ถนนประชานฤมิตร เขตบางซื่อ กทม. สภาพศพนอนหงาย สวมชุดผู้ป่วยของ รพ.วิชัยยุทธ แขนขาหักผิดรูป ตรวจสอบตามร่างกายไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด
    จากการสอบสวนทราบว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเป็นคนไข้ประจำที่ รพ.วิชัยยุทธ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ามารักษาตัวซึ่งแพทย์ให้นอนพักที่รพ.เพื่อรอดูอาการ โดยผู้ตายพักอยู่ที่ห้อง 816 ชั้น 8 ก่อนเกิดเหตุผู้ตายตัดสินใจขึ้นไปบริเวณชั้น 15 ก่อนกระโดดลงมาเสียชีวิตดังกล่าว
    เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าผู้ตายน่าจะเกิดความเครียด เนื่องจากป่วยเป็นโรคร้าย จึงได้ตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้มอบศพให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ นำส่งชันสูตรอย่างละเอียดต่อไป

เนชั่นทันข่าว  7 ตค. 2554

7009
    ที่บริเวณสามแยกบางพาน ถนนสายเอเชีย ทางต่างระดับเข้าเมืองสิงห์บุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ได้นำบ้านน๊อกดาวน์ ทำเป็นสุขศาลาชั่วคราว ไปตั้งให้บริการผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย ซึ่งเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของประชาชนในชุมชนบ้านบางพาน อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี จำนวนประมาณ 150 ครัวเรือน ที่บ้านน้ำท่วมจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ต้องอพยพมาอยู่บนถนน
    นายแพทย์นิรันทร์รัชต์ พิชญาคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า การออกไปตั้งสุขศาลาให้บริการประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ว่า เป็นแห่งที่ 4 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดตั้งขึ้นไว้บริการประชาชนที่ประสบภัย ที่มารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ 100 ครัวเรือนขึ้นไป โดยในการสำรวจเบื้องต้นมีทั้งหมด 8 จุด ที่เป็นจุดใหญ่ที่ประชาชนอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ก็จะไปตั้งจุดบริการรักษาพยาบาลให้ครบทั้ง 8 แห่ง โดยในแต่ละสุขศาลาจะมีเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันไปประจำเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เจ็บป่วยในเบื้องต้น 24 ชั่วโมง

เนชั่นทันข่าว  6 ตค. 2554

7010
"วิทยา” ส่งหน่วยแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยที่จุดอพยพใหญ่ ที่อยุธยา และตั้งโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง ปักหลักบริการ 24 ชั่วโมง

เย็นวันนี้ (6 ตุลาคม 2554)นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งจัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ น่าห่วง โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งของกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบ เนื่องจากระดับน้ำท่วมโดยรอบโรงพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ

          นายวิทยากล่าวว่า วันนี้จังหวัดได้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่  ไปที่อาคารพาณิชย์ ต.ธนู อ.อุทัย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับประชาชนได้ประมาณ 1,000 ครอบครัว โดยมีประชาชนจาก อ.บางปะหัน อ.มหาราช อ.พระนครศรีอยุธยา อ.นครหลวง ทยอยเดินทางเข้ามาพัก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์ 1 ทีม จากโรงพยาบาลอุทัย ไปประจำการ เพื่อดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย และดูแลความสะอาดสุขาภิบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด ตลอด 24 ชั่วโมง

          สำหรับพื้นที่อ.บางปะหัน และที่มหาราช ขณะนี้พื้นที่เต็มไปด้วยน้ำ  ประชาชนเดินทางยากลำบาก  กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดโรงพยาบาลสนาม 1 จุดที่วิทยาลัยการอาชีพมหาราช ตำบลบ้านฝาน อ.มหาราช ซึ่งเป็นจุดอพยพชาวบ้านด้วย เพื่อดูแลประชาชนในอ.บางปะหันและอ.มหาราช โดยมีแพทย์ประจำการ 3 คน พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆรวมทั้งหมด 30 คน มีเตียงผู้ป่วย 10 เตียง ให้บริการเหมือนโรงพยาบาลชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้รับบริการสะดวกขึ้น คาดจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป  โดยมีรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมนำส่งผู้ป่วย 1 คัน

สำหรับโรงพยาบาลบางปะหันขณะนี้ น้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาลสูงประมาณ 2 เมตร กระแสน้ำเชี่ยว อันตรายมาก ปิดให้บริการผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในชั่วคราว คงให้บริการเฉพาะฉุกเฉิน และส่งทีมแพทย์ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังทุกวัน ส่วนที่โรงพยาบาลมหาราช  เส้นทางเข้าออกโรงพยาบาลถูกตัดขาด เพราะน้ำท่วมสูง แต่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ  มีเรือรับส่งผู้ป่วยถึงบ้าน     

          ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 3,693 ทีม มีผู้เจ็บป่วยสะสม 493,987 ราย พบโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงคือไข้หวัด ผลการตรวจสุขภาพจิตใน 33 จังหวัด พบต้องติดตามพิเศษจำนวน 812 ราย จัดส่งยาช่วยน้ำท่วมแล้ว 1,223,700 ชุด สำรองไว้อีก 500,000 ชุด สำรองเซรุ่มแก้พิษงู 3,500 ชุด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  6 ตุลาคม 2554

7011
AFP ตีข่าว ไทยแจกถุงยางอนามัยให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า

          วันนี้ ( 5 ตุลาคม) สำนักข่าวเอเอฟพีได้ตีข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้นำเฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ บรรทุกยา เสบียงอาหาร และถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้กับประชาชนใน 7 พื้นที่ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรง โดยในถุงยังชีพนั้นมีถุงยางอนามัยบรรจุอยู่ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า และจะทำให้ในอนาคตมีเด็กเกิดใหม่อีกจำนวนมาก

          โดยเอเอฟพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติคนหนึ่ง บอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า มีอาสาสมัครในพื้นที่บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ในช่วงน้ำท่วมเช่นนี้ ชาวบ้านไม่มีอะไรทำ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า จึงต้องมีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยให้กับชาวบ้านด้วย

          อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยยังไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

          ทั้งนี้ พายุฝนที่ตกกระหน่ำได้ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงซึ่งกระทบต่อพื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยด้วย โดย ณ วันที่ 5 ตุลาคมนี้ เหตุอุทกภัยได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 237 คน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

7012
ห้ามโรงพยาบาลเจ๊งและไม่ให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
หมอถูกบีบคั้นขนาดนี้ แล้วผู้ป่วยจะพึ่งใคร?
 
  จากข่าวในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ พาดหัวข่าวตัวใหญ่ว่า “วิทยา”กร้าว ปี 2555 ห้าม รพ.เจ๊ง  และให้ สสจ.คุมเข้มใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

  ในขณะที่บอร์ด สปสช.ได้รับทราบผลการดำเนินงานของเลขาธิการ สปสช.ว่าได้คะแนนในระดับดีมาก 

   สองข่าวนี้ ทำให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ช็อคไปตามๆกัน เนื่องจากว่า สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่ครบตามงบประมาณที่ สปสช.ได้รับมาจากสำนักงบประมาณ  ทำให้โรงพยาบาลเจ๊งทั้งประเทศ แต่ เลขาธิการ สปสช.กลับได้รับการประเมินว่ามีการทำงานเป็นระดับเกรดเอ (ดีเยี่ยม) สผพท. จึงใคร่ขอรายละเอียดการประเมินเลขาธิการ สปสช.จากประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (นายวิทยา บุรณศิริ)  ว่าองค์กรที่ทำการประเมินนั้นเชื่อถือได้หรือไม่  มีเกณฑ์การประเมินอย่างไร  ประเมินทุกมิติหรือไม่ ทำไมโรงพยาบาลจึงยังร้องว่าขาดทุนอยู่

  ทั้งนี้จากข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจหน้า ๑๒ วันที่ ๖ ต.ค. ๕๔ มีข่าว พาดหัวตัวใหญ่ว่า รพ.จี้ สปสช.จ่ายเงินค้างท่อ ๔,๐๐๐ ล้านบาท ( ที่จริงในรายละเอียดของข่าว เงินค้างท่อนี้เป็นจำนวนเงินเกือบ ๔๐,๐๐๐ล้านบาท)ทั้งนี้ในการประชุม  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่นายวิทยา บุรณศิริ  เป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นจาก ผอ. คุณหมอประเสริฐ ขันเงิน ผู้อำนวยการพ.พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก บอกว่า สปสช.จัดสรรเงินไม่เป็นธรรม แยกย่อยออกไปเป็นถึง ๑๒ กองทุน(ซึ่งใช้เกี่ยวกับโรคยุ่งยากราคาแพง และเงินนี้จะกองอยู่ที่สปสช.ทั้งหมด ประมาณเกือบครึ่งของเงินกองทุนทั้งหมดประมาณ ๔๕,๐๐๐ ล้านบาท มีเงินค่ารักษาผู้ป่วยส่งไปโรงพยาบาลเพียง ประมาณ ๕๓,๐๐๐ล้านบาท)เป็นเหตุให้ โรงพยาบาลได้รับเงินไม่ครบ

  ในปี ๒๕๕๔  รัฐบาลให้งบเหมาจ่ายรายหัวมาเกือบ ๒,๕๐๐ บาทต่อหัว แต่เงินค่ารักษามาถึงรพ.แค่ ๒๐๐-๑,๖๐๐บาท (ขึ้นกับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ) และเมื่อรพ.เรียกเก็บค่ารักษาไป สปสช.ก็จ่ายเงินไม่ครบทุกครั้ง ทุกแห่ง
   เช่นโรงพยาบาลพุทธชินราช เรียกเก็บเงินไป  ๙๔๘ ล้านบาท แต่ สปสช.จ่ายมา ๔๙๙ล้านบาท  ถ้าดูภาพรวมทั้งประเทศ รพศ./รพท. เรียกไป ๓๗,๐๒๖ล้านบาท  แต่ สปสช. จ่ายให้เพียง ๑๗,๖๓๖ ล้านบาท   ส่วนรพ.ชุมชนเรียกเก็บ ๓๐,๔๗๓ล้านบาทแต่สปสช.จ่ายให้เพียง ๒๓,๐๐๐ล้านบาท

   ฉะนั้นจะเห็นว่าสปสช.ค้างจ่ายเงินแก่รพ.สธ.เป็นจำนวนถึง๒๖,๘๖๓,ล้านบาท .ในเวลาเพียง ๑ ปี

ส่วน นายแพทย์ชูศักดิ์ เอื้อวิจิตรพนา ผอ. รพ.เพชรบูรณ์ รับว่า กองทุนสปสช.มีปัญหาในการเบิกจ่ายอย่างมาก ดังนั้นเห็นว่าในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ นี้ สปสช.ควรโอนเงินให้รพ.เต็มจำนวนล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาติดขัด และมองว่าที่ผ่านมา สปสช.แบ่งเงินไว้ที่สปสช.มากเกินไป ทำให้มีเงินเหลือไปถึงรพ.ไม่เพียงพอต่อการทำงาน

 แต่แทนที่รัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะไปกวดขันสปสช.และสั่งการให้สปสช.แก้ไขปัญหาการบริหารเงินให้ถูกต้องและใช้หนี้เก่าให้หมด ตามที่ควรจะเป็น แต่นายวิทยา บุรณศิริ กลับมาสั่งโรงพยาบาลห้ามเจ๊ง  ทั้งๆที่รพ.ทั้งหลายเจ๊งจนจะล้มละลายอยู่แล้ว แต่ในฐานะรัฐมนตรีมีหน้าที่แก้ปัญหารพ.เจ๊ง และลูกน้องรมว.สธ.ก็บอกสาเหตุการเจ๊งของรพ.มาแล้วว่าเป็นเพราะอะไรแทนที่จะไปจัดการกับต้นตอของปัญหา กลับมาหาว่ารพ.ฟุ่มเฟือย ขอถามรัฐมนตรีหน่อยว่ารพ.จนกรอบแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปฟุ่มเฟือย(วะ)

พวกบุคลากรลูกน้องรัฐมนตรี สงสัยว่าจะเป็นเทวดาหรือไง   เงินที่จะใช้รักษาประชาชนก็ไม่มี แถมผู้ป่วยก็ห้ามตาย ถ้าตาย จะออกพ.ร.บ.มีดหมอ มาเชือดหมอ  โรงพยาบาลเจ๊งอยู่แล้ว  ก็ยังมาบอกว่าห้ามเจ๊ง
  ......หมอที่เป็นลูกน้องรัฐมนตรี ยังถูกบีบคั้นขนาดนี้จากรัฐมนตรีแล้วผู้ป่วยจะหันหน้าไปพึ่งใคร???

สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
6 ต.ค 54

7013
ผู้สื่อข่าวรายงานสถาน​การณ์น้ำท่วม​ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ช่วง​เช้าวันนี้(6 ต.ค.) น้ำ​ได้​ไหล​เข้าบริ​เวณ​โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ​ทำ​ให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข(สธ.) ​จึงสั่ง​การ​ให้​ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ​เร่งประ​เมินสถาน​การณ์ ​และขนย้าย​ผู้ป่วยบางส่วนจาก​แล้ว รวม​ทั้ง​ให้ย้าย​เครื่องปั่น​ไฟ ​และ​เครื่องมือที่จำ​เป็นทาง​การ​แพทย์ ​เช่น ​เครื่องช่วยหาย​ใจ ​เครื่อง​เอ็กซ​เรย์ รวม​ทั้ง​เครื่อง​เอ็กซ​เรย์สมอง ขึ้น​ไปอยู่​ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม

ด้านกรมป้องกัน​และบรร​เทาสาธารณภัย(ปภ.) ​ได้ประกาศยก​เลิก​การอพยพประชาชน ​ไปยังสนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา​แล้ว ​เนื่องจากน้ำ​ไหลทะลัก​เข้าท่วมบริ​เวณรอบนอก ​และจ่อทะลัก​เข้าท่วมภาย​ในสนามกีฬา​และน้ำ​ได้​เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวด​เร็ว ​โดยพบพื้นที่​ทั้งจังหวัดถูกน้ำท่วม​ไป​แล้วกว่า 80% ขณะ​เดียวกันน้ำ​ได้​เอ่อล้นทะลัก​เข้าท่วมตลาดน้ำอ​โยธยา ​แหล่งท่อง​เที่ยวชื่อดัง ส่งผล​ให้บริ​เวณตลาด​ได้รับ​ความ​เสียหายอย่างหนัก

ขณะ​เดียวกันน้ำ​ได้​ไหล​เข้าท่วมถนนสาย​เอ​เชีย ช่วงบางปะหัน-อ่างทอง ​ทำ​ให้รถติดยาว​เหยียดหลายกิ​โล​เมตร​ทั้งขา​เข้า​และออก ล่าสุดรถติดยาวกว่า 30 กิ​โล​เมตร

​แนวหน้า  6 ตุลาคม 2554

7014
สธ.สร้างเจ้าหน้าที่-อสม.มืออาชีพ 160,000 คน พร้อมบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั่วไทย
       
       สาธารณสุขพร้อมให้การบำบัดรักษาผู้ติด ผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศแล้ว โดยสนับสนุนศูนย์บำบัดฟื้นฟูทุกอำเภอ และ กทม.ทุกเขตรวม 928 แห่ง ตั้งเป้าในปี 2555 จะบำบัดให้ได้ 400,000 คน และหลังผ่านการบำบัดแล้วจะให้พลัง อสม.160,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยาเสพติด ทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวังไม่ให้กลับมาติดยาซ้ำครอบคลุมทั้ง 84,954 หมู่บ้านทั่วไทย ชี้ขณะนี้ไทยมีผู้เสพยาสูงกว่ามาตรฐานสากลถึง 6 เท่าตัว
       
       วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี-รังสิต กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดปฏิบัติการนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลแห่งแรก ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด “เพื่อคืนบุตรหลานให้ครอบครัว คืนคนดีสู่สังคม”
       
       นายวิทยากล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศไทยได้กลับมาสู่ภาวะที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ความปลอดภัยและทรัพย์สิน โดยในปี 2554 นี้ คาดว่าไทยมีผู้เสพยาเสพติดประมาณ 1.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับสถิติประชากรทุกๆ 1,000 คน จะมีผู้เสพยา 19 คน สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 6 เท่าตัว โดยพบว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนของปัญหามากที่สุดประมาณร้อยละ 60 ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจังและถือเป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
       
       ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม พร้อมทั้งมีกลไกติดตามช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ มีแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด โดยชักชวน จูงใจผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู ในปี 2555 ไม่น้อยกว่า 400,000 คน ซึ่งวิธีการบำบัดด้วยความสมัครใจนี้ จะได้ผลดี เนื่องจากเป็นความตั้งใจของผู้เสพที่ต้องการเลิกเสพยา
       
       นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมระบบการบำบัดไว้พร้อมแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ และใน กทม.ทุกเขต รวมทั้งหมด 928 แห่ง ในการบำบัด จะมีการตรวจคัดกรองผู้เสพทุกพื้นที่ คัดแยกตามระดับรุนแรงของการติดยา เพื่อให้การบำบัดที่เหมาะสม เริ่มดำเนินการในเขต กทม.และปริมณฑลครั้งแรก ในต่างจังหวัดจะเริ่มดำเนินการวิธีเดียวกัน โดยได้จัดอบรมทีมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักอาชีวบำบัด เพื่อทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟู ครบทุกอำเภอจำนวน 5,000 คน และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.จำนวน 156,966 คน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด เพื่อทำหน้าที่ติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดและกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน 84,954 หมู่บ้านทั่วประเทศ ป้องกันไม่ให้หวนกลับไปติดยาหรือใช้ยาเสพติดซ้ำอีก
       
       สำหรับผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษา ประจำปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2553 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด 114,074 ราย เข้าบำบัดด้วยระบบสมัครใจ 28,154 ราย ระบบบังคับบำบัด 71,311 ราย และระบบต้องโทษ 14,609 ราย โดยผู้ที่เข้ารับการบำบัดมีอายุระหว่าง 8 -24 ปี มากที่สุดจำนวน 41,960 ราย รองลงมาเป็นอายุ 25-29 ปี จำนวน 23,548 ราย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 ตุลาคม 2554

7015
 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ร่วมมือ ไออาร์ดี ประชุมวิชาการ “มิติทางสังคมและนิเวศวิทยาของโรคติดเชื้อ” ร่วมนานาชาติ  ชูโรคนำโดยแมลงและโรคจากสัตว์สู่คน เป็นฐานพัฒนางานวิจัย ต้องรับมือโรคระบาด ขณะ มช.เผยไทยครองแชมป์โรคพยาธิใบไม้ตับ เร่งระดมสมองแก้ปัญหา
       
       
       วันนี้ (6 ต.ค.) รศ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเปิดประชุมวิชาการ “มิติทางสังคมและนิเวศวิทยาของโรคติดเชื้อ (Social and Ecological Dimension of Infectious Diseases)” หรือชื่อย่อว่า SEDID ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 2554 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 ปี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนา  สถานทูตฝรั่งเศส หรือ ไออาร์ดี (Institut de recherche pour le développement : IRD  ประจำประเทศไทย และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ว่า  ในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมรวมของนักวิชาการและผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อสุขภาพและการอุบัติของโรคติดเชื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญแต่ละศาสตร์สาขาเกี่ยวกับ การระบาดของโรคติดเชื้อเมื่อสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  การจัดการทรัพยากร และการศึกษาความสัมพันธ์ของโรคต่างๆที่สัมพันธ์กันระหว่าง คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการระดมสมอง ของนักวิจัยต่างสาขาและเกิดการสังเคราะห์แนวทางการทำวิจัยที่เชื่อมโยงความ รู้แขนงต่างเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน โดยมีบุคลากรจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ไทย ฝรั่งเศส ลาว อินเดีย  เวียดนาม นอร์เวย์ กัมพูชา และ บรูไน
                     
       
       รศ.ประตาป กล่าวต่อว่า  สำหรับประเด็นหลักที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด ก็คือ เรื่องของการนำเสนอวิกฤติการณ์ของโรคที่นำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และโรคจากสัตว์สู่คน เช่น ไข้สมองอักเสบ ไข้ฉี่หนู รวมทั้งไข้หวัดนกด้วย   และโรคซึ่งเกิดจากเชื้อซาโมเนลลาที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะใช้แค่ความรู้ทางการแพทย์เข้ามาป้องกันและควบคุมไม่ได้ แต่จำเป็นต้องบูรณาการหลากหลายอย่าง ทั้งด้านสัตวแพทย์ นิเวศวิทยา ระบาด และกระทั่งด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันมีทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีอัตราการป่วยทางกายที่มีสาเหตุจากสัตว์เป็นพาหะมากถึง 70-80 % และมีแนวโน้มจะเกิดโรคดังกล่าวในเขตเมืองถึง 50% ของพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นกรณีโรคฉี่หนูที่ กระทรวงสาธารณสุขประกาศเตือนบ่อยๆ ก็น่าห่วงเช่นกันโดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม
       
       “จากความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ไปฝืนธรรมชาตินั้น ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพหลายอย่าง เช่น การรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตร โอกาสที่สัตว์เลี้ยงกับสัตว์ป่าเจอกันแล้วก่อโรคก็มีอยู่มาก อย่างกรณีเชื้อนิปปาที่มีต้นกำเนิกจากมาเลเซีย ซึ่งถ่ายทดจากค้างคาวป่าสู่หมูที่เลี้ยงแล้วถ่ายทอดสู่คน ก็นับเป็นปรากฏการณ์หลากมิตติที่กระทบต่อสุขภาพประชากรโลกเช่นกัน หรือกรณีการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่พยายามจะเพิ่มผลผลิตให้มากโดยการเร่งฮอร์โมน ใช้สารเคมี ใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เลี้ยงก็ล้วนแล้วแต่ก่อเกิดเชื้อดื้อยาง่ายดาย ซึ่งส่วนนี้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง หากสามารถศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมได้ก็ย่อมจะป้องกันง่ายขึ้น”  รศ.ประตาป กล่าว
       
       รศ.ประตาป กล่าวด้วยว่า และเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีนี้องค์การ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development-USAID) ได้มอบงบประมาณให้มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)ได้พัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการป้องกันและรักษาโรคแบบบูรณาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์ สัตวศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตกำลังคนที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย ซึ่งจะจัดประชุมแผนในเดือน ธ.ค.นี้ที่เวียดนาม
       
       ด้าน รศ.น.สพ.ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงตัวอย่างพฤติกรรมของคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ว่า  สำหรับโรคที่น่าห่วงเกี่ยวกับการบรอโภคจองคนไทย ในขณะนี้นั้น คือ โรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver Fluke) ซึ่งในปี 2551 นั้นพบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน มีอัตราการเกิดโรคดังกล่าวสูงถึง 70% ขณะที่ประเทศไทยเป็นแชมป์ของโลกที่มีผู้ป่วยมะเร็งตับอันมีสาเหตุจากการกินเนื้อดิบ  ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวเกิดขึ้นในครั้งแรกที่เวียดนาม แต่อัตราการบริโภคของคนไทยกลับรุนแรงกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประชุมวางแผนการรับมืออย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงสัญญาณอันตรายของโรคที่กำลังคุกคาม 
       
       รศ.น.สพ.ดร.เลิศรัก กล่าวต่อว่า นอกจาโรคพยาธิแล้วสิ่งที่น่ากังวลว่าอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า ก็คือโรคไข้หวัดนกเพราะเพียงแค่พื้นที่เดียวใน จ.เชียงใหม่ พบว่า เกษตรกรนิยมเลี้ยงสัตว์ปีกแบบเปิดในบริเวณบ้านเรือนซึ่งมีมากกราว 25% ของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นหากโรคไข้หวัดนกมีการกลายพันธ์ก็หมายความว่า กลุ่มที่เลี้ยงในบริเวณบ้านเรือนมีโอกาสเสี่ยงที่จะรับเชื้อได้ง่าย
       
       “ขณะเดียวกัน เรื่องของการประเมินความเสี่ยงเชื้อโรคจากสุนัขก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ เพราะจากเหตุการณ์การนำสุนัขส่งขายในต่างประเทศที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เลี้ยงไม่สามารถรักษาสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยได้ บางรายเลี้ยงแล้วปล่อยอิสระจนไปเผชิญโรคภัยภายนอก ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเมื่อไม่สามารถประคองชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้มักจบลงด้วยการขาย คือ ทำลายทางอ้อม ส่วนนี้นักวิชาการกำลังเร่งศึกษาอยู่ว่า จะก่อโรคในลักษณะใดได้บ้าง ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์ในสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ  มนุษย์ก้ต้องรู้เท่าทันและเตรียมรับมือ โดยคาดว่าการประชุมวิชาการคครั้งนี้จะช่วยให้แลกเปลี่ยนความรู้การจักการสุขภาพได้ในระดับนานาชาติ” รศ.น.สพ.ดร.เลิศรัก กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 ตุลาคม 2554

7016
โรงพยาบาลบางปะหัน น้ำท่วมสูง ปิดบริการชั่วคราวทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สั่งอพยพผู้ป่วย 17 ราย พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขณะนี้วิกฤติหนัก ซึ่งผ่านขบวนการขั้นตอนบริหารจัดการของศอส. ทั้งหมด แต่เนื่องจากมาตรการเตรียมการป้องกันบางพื้นที่เป็นของภาคเอกชน  วันนี้ยังมีจุดสำคัญๆอีกหลายจุดเช่นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ คือที่ไฮเทค บางปะอิน และโรจนะ จะต้องเร่งรัดเสริมแนวป้องกันอีก รวมถึงนวนครด้วย ซึ่งได้เตือนภัยไปแล้วหลายภาคส่วนต้องระมัดระวังมีมาตรการป้องกันให้มากที่สุด

สำหรับการอพยพประชาชน ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีมาตรการในการอพยพ โดยภาคเอกชนคือนายชาตรี พูนคุปตวาณิชย์  ได้มอบอาคารพาณิชย์ประมาณ 100 คูหาอยู่ที่บริเวณหน้าศาลากลางของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดเป็นที่อพยพประชาชน รองรับได้นับ 1,000 ครอบครัว มีห้องน้ำ ห้องสุขาพร้อม  และที่ตลาดบริเวณสี่แยกวัดพยาธิ เป็นจุดดูแลอาหารสดที่จะปรุงอาหารให้ผู้อพยพรับประทาน ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรุ่งนี้จะมีเครือข่ายจากจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่นมาร่วมด้วยรวมทั้งที่จังหวัดอ่างทอง ลพบุรีด้วย  เนื่องจากขณะนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก ไม่สามารถเดินทางได้  เรือมีไม่พอ

 นายวิทยา กล่าวต่อว่า  สำหรับผลกระทบต่อสถานพยาบาล ขณะนี้ได้รับรายงานที่อ.บางปะหัน น้ำท่วมที่โรงพยาบาลบางปะหัน สูงจากพื้นที่ 30 - 40 เซนติเมตรและเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร  ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ต้องปิดให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน และผู้ป่วยในเป็นการชั่วคราว เจ้าหน้าที่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงานได้เพียง 1 ใน 3 โดยเช้ามืดวันนี้ได้ย้ายผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่ 17 ราย ซึ่งอาการทรงตัว ไปพักรักษาต่อที่รพ.อ่างทอง 2 ราย รพ.อุทัย 4 ราย รพ.สมเด็จพระสังฆราช 4 ราย  และรพ.วังน้อย 7 ราย    

ทั้งนี้ ในวันนี้ ได้ระดมหน่วยแพทย์สนามจากโรงพยาบาลวิชระภูเก็ต จำนวน 2 ทีม นำโดยนายแพทย์วิวัฒน์  ศรีตะมโนชญ์ ตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ปักหลักบริการที่ปั้มน้ำมันปตท. อยู่ระหว่างโรงพยาบาลบางปะหัน กับทางเข้าที่ว่าการอำเภอบางปะหัน จุดที่ 2 ที่ต.บางขวาง อ.มหาราช เพื่อให้บริการตรวจรักษาประชาชนเหมือนโรงพยาบาลชุมชน  ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ในจ.พระนครศรีอยุธยา เช่นบ้านแพรก มหาราช ท่าเรือ นครหลวง รวมทั้งที่โรงพยาบาลชุมแสง จ.นครสวรรค์ กำลังประสบปัญหา หากน้ำท่วมสูงขึ้นอีก อาจจะต้องปรับบริการในโรงพยาบาล  และวางแผนปรับระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก เนื่องจากหลายเส้นทางน้ำท่วมสูง รถพยาบาลวิ่งไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำรองเฮลิคอปเตอร์ไว้ให้พร้อม 24 ชั่วโมง นายวิทยากล่าว

กรุงเทพธุรกิจ 6 ตุลาคม 2554

7017
"ระบบภูมิคุ้มกัน" ถือ​เป็นกุญ​แจสำคัญของ​การมีสุขภาพดี ​เพราะมันจะ​ทำหน้าที่​เหมือนกองทัพ ที่คอยดู​แล​และปกป้องร่างกายของ​เรา​ให้รอดพ้นจาก​การบุกรุกจากภายนอก คล้ายๆ กับกองทหารที่​เข้าประจำ​การ​และพร้อมปฏิบัติหน้าที่​ได้ทันทีตามต้อง​การ นอกจากนี้ระบบภูมิคุ้มกันยังดู​แลสุขภาพของคน​เรา ​โดย​ทำหน้าที่ตรวจสอบ​การบุกรุกของ​เชื้อ​โรคต่างๆ ​ไม่ว่าจะ​เป็น​เชื้อ​ไวรัส ​แบคที​เรีย รวม​ไป​ถึงปรสิตที่​เป็นบ่อ​เกิดของ​โรคภัยต่างๆ ​และพร้อมที่จะปราบปราม​เชื้อ​โรคดังกล่าวทันทีที่​ได้รับสัญญาณจากร่างกาย

​โภชนากรซูซาน ​โบ​เวอร์​แมน ที่ปรึกษาของ​เฮอร์บา​ไลฟ์ อิน​เตอร์​เนชั่น​แนล ลิมิ​เต็ด ​เปิด​เผยว่า นอกจากผิวหนัง​ซึ่ง​เป็นหนึ่ง​ในร่างกายของคน​เรา ที่ช่วยป้องกัน​การรุกรานของ​เชื้อ​แบคที​เรีย​แล้ว ร่างกายของคน​เรายังมีอาวุธป้องกันอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด ถ้าร่างกาย​ได้รับบาด​เจ็บ ระบบภูมิคุ้มกันจะส่งสัญญาณ​เตือนภัย​ในรูปของ​การ​เกิดอา​การอัก​เสบที่มีลักษณะร้อน ปวด​และบวม​แดง ​ซึ่ง​เป็นผลจาก​การที่​เลือด​ไหล​ไปยังบริ​เวณที่​ได้รับบาด​เจ็บมากขึ้น ​ในระหว่าง​การบำบัดรักษา​โดยธรรมชาติภาย​ในร่างกาย​เอง

นอกจากนี้ ร่างกายของ​เรายังสามารถสร้าง​โปรตีน​และ​เซลล์พิ​เศษทุกชนิด ​ซึ่งจะ​ทำงาน​เสมือนอาวุธสำหรับต่อสู้กับ​ความ​เจ็บป่วยต่างๆ รวม​ถึง​เซลล์​เม็ด​เลือดขาวหลายประ​เภท ​ซึ่งล้วน​แต่มี​การ​ทำงานที่​แตกต่างกัน​ไป ​เซลล์​เม็ด​เลือดขาวบางชนิดจะ​ทำหน้าที่ "​เขมือบ" ​หรือกลืนสิ่ง​แปลกปลอมที่มาจากภายนอกร่างกาย บางชนิดจะ​ทำหน้าที่ค้นหา​เชื้อ​ไวรัส ​และมีอีกหลายชนิดที่ผลิตสารประกอบทาง​เคมีที่มีประสิทธิภาพ​ใน​การ​ทำลายปรสิต รวม​ถึง​เซลล์​เม็ด​เลือดขาวที่​ทำหน้าที่ผลิต​โปรตีนพิ​เศษที่​เรียกว่า ​แอนติบอดี้ (antibody) ​ทำหน้าที่ตรวจหา​และกำจัด​เชื้อ​ไวรัส​และ​แบคที​เรีย

​โภชนากรซูซานระบุว่า ​การรับประทานอาหารอย่างถูกหลัก​โภชนา​การ มีบทบาทสำคัญต่อ​การสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี หาก​เรารับประทานอาหารอย่างถูกหลัก​โภชนา​การ ​และดู​แลสุขภาพอย่างดี ​เรา​ก็จะมี​โอกาส​เจ็บป่วย​ได้น้อยมาก นั่นหมาย​ความว่า​เราจะลด​ความจำ​เป็น​ใน​การ​เรียก​ใช้ระบบภูมิคุ้มกันของ​เรา ​ทั้งนี้อาหารที่​เป็นประ​โยชน์ต่อ​การสร้างภูมิคุ้มกัน​ก็คือ ผัก​และผล​ไม้หลากสี ร่วมด้วย​โปรตีนสุขภาพ​ในปริมาณที่​เหมาะสม ​และที่ขาด​ไม่​ได้​ก็คือ ​โพร​ไบ​โอติกส์ (probiotics) ​หรือที่​เรารู้จักกันดี​ในชื่อของ​แบคที​เรียสุขภาพ ​ซึ่ง​เป็นจุลินทรีย์​แบคที​เรียที่มีชีวิต ​เมื่อรับประทาน​เสริม​เข้า​ไป​ในร่างกาย​ในปริมาณที่​เพียงพอ ​ก็จะก่อ​ให้​เกิดผลดีต่อระบบย่อยอาหาร​ในร่างกาย

ผล​ไม้​และผักหลากหลายสีจะ​ให้ "สาร​ไฟ​โตนิว​เทรียนท์" ที่มีปริมาณสูง สาร​ไฟ​โตนิว ​เทรียนท์​เป็นสารประกอบธรรมชาติที่พบ​ในอาหารจำพวกพืชทุกชนิด มีคุณสมบัติ​ใน​การสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ​ซึ่งจะช่วย​เสริมสร้างสุขภาพ​ให้​แข็ง​แรง พืชอาหารทุกชนิด​ซึ่ง​ได้​แก่ ผล​ไม้ ผัก ธัญพืชประ​เภท​โฮล​เกรน (Whole grain) ถั่ว สมุน​ไพร ​และ​เครื่อง​เทศ ​เป็น​แหล่งสร้าง "สารต้านอนุมูลอิสระ" อาหารพืช​แต่ละชนิดมีสารประกอบจากพืชธรรมชาติ ดังนั้น​เรา ​จึงควรบริ​โภคอาหารพืชหลากหลายประ​เภท ​ซึ่งจะ​ทำ​ให้​เรา​ได้รับประ​โยชน์จากสาร​ไฟ​โตนิว ​เทรียนท์จากธรรมชาติหลากชนิด นอกจากนั้นสาร​แอนติบอดี้ (Antibody) ​โปรตีนชนิดพิ​เศษที่ผลิต​โดย​เซลล์​เม็ด​เลือดขาว​เพื่อ​ทำหน้าที่คุ้มกันร่างกายของ​เรา ​การบริ​โภคอาหารที่มี​โปรตีน​ในปริมาณที่มากพอต่อ​ความต้อง​การของร่างกาย จะ​ทำ​ให้​เราสามารถผลิตสาร​แอนติบอดี้​ได้ตามต้อง​การ ​ซึ่ง​ได้​แก่ ปลา, สัตว์น้ำชนิดมี​เปลือก อาทิ หอย กุ้ง ปู, หมู ​เนื้อ​ไม่ติดมัน, อาหารที่​ทำจากถั่ว​เหลือง ​และผลิตภัณฑ์นม​ไขมันต่ำ.

​ไทย​โพสต์  6 ตุลาคม 2554

7018
ผอ.รพ. โวยวิธีบริหารงบฯ สปสช. ที่จัดงบแบบแยกย่อยกองทุน ทำให้ได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% เบิกจ่ายยุ่งยาก ส่งผลมีเงินค้างท่อตั้งแต่ปี 51 กว่า 4,000 ล้านบาท หวั่นปีหน้าสถานการณ์ย่ำแย่กว่านี้ เพราะเจอนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท และค่าแรง 300 บาท ซ้ำเติมทำให้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น “วิทยา” ย้ำ พ.ย.นี้เดินหน้าเก็บ 30 บาทแน่ 
    นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเรื่อง “การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ ปีงบประมาณ 2555” ให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ ผอ.เขต สปสช. กว่า 400 คน พร้อมกับกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมบอร์ด สปสช. เพื่อเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ภายในเดือนต.ค.นี้ และเดือน พ.ย. จะเริ่มเก็บเงิน 30 บาทได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดเก็บ 30 บาท จะไม่กระทบต่อคะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้พรรคได้มีการประกาศเป็นนโยบายอยู่แล้ว สำหรับงบฯ ที่จัดเก็บนี้จะนำไปพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะ รพ.ส่งสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อลดความแออัดของ รพ. โดยใน 6 เดือน จะลดความแออัดของผู้มาใช้บริการใน รพ.ขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ส่วนกองทุน สปสช. ปี 2555 มีจำนวน 114,527 ล้านบาท ขอให้ สสจ.ดูแลการใช้เงินของ รพ.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
    นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หากบอร์ด สปสช.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการเก็บเงิน 30 บาท ได้ทันทีในเดือน พ.ย. จากข้อมูลคาดว่า จะมีประชาชนที่มีสิทธิ์ในบัตรทองประมาณ 24 ล้านคน ที่จะต้องร่วมจ่ายเงิน 30 บาท
    ในช่วงการประชุมเปิดรับฟังความเห็น นพ.ประเสริฐ ขันเงิน ผอ.รพ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การจัดสรรงบฯ สปสช.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่เป็นธรรมกับ รพ.อย่างมาก โดยเฉพาะการจัดสรรงบที่ถูกแยกย่อยออกไปถึง 12 กองทุน ทั้งการจ่ายเงินตามเฉพาะโรค และการส่งเสริมป้องกัน เป็นเหตุให้ รพ.ได้รับงบฯ ไม่ครบ อย่างในปี 2554 รัฐบาลให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,500 บาท แต่เงินที่ส่งมาถึง รพ.กลับไม่ได้รับตามนั้น ซึ่งนอกจากถูกกันไว้เพื่อจ่ายเงินข้าราชการ 40% แล้ว ยังต้องถูกหักเพื่อไว้ใช้ในกองทุนย่อยเหล่านี้อีก   
    "การเบิกจ่ายเงินกองทุนย่อยยังเป็นเรื่องยุ่งยากมาก หลาย รพ.ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน เนื่องจาก รพ.ต้องส่งข้อมูลรายละเอียดตามที่ สปสช.กำหนดอย่างครบถ้วน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้มี รพ.หลายแห่งไม่ได้เบิกจ่ายเงินก้อนนี้ ทั้งที่ควรจะได้ ที่ผ่านมา สปสช.จึงมีเงินค้างท่อที่ยังไม่จ่ายให้กับ รพ.จำนวนนับหมื่นล้านบาท แต่ในช่วงที่เกิดปัญหา รพ.ขาดทุน  สปสช.จึงได้เร่งทยอยจ่ายคืนเงินก้อนนี้ให้กับทาง รพ.เพื่อบรรเทาสถานการณ์ โดยในปี 2554 นี้ ยังมีเงินค้างท่อที่ สปสช.อีก 4,000 ล้านบาท" นพ.ประเสริฐกล่าว
    นอกจากนี้ ในการเรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยใน ทาง สปสช.เองยังจ่ายไม่ครบตามที่ รพ.เรียกเก็บอีกเช่นกัน โดยในส่วนของ รพ.พระพุทธชินราช ในปี 2553 ทาง รพ.ได้เรียกเก็บจาก สปสช. 948 ล้านบาท แต่ทาง สปสช.กลับจ่ายเพียงแค่ 499 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อดูภาพรวมการจ่ายเงินทั้งประเทศ โดยในส่วนของ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป มีการเรียกเก็บเงินค่ารักษาเพิ่ม 37,026 ล้านบาท แต่ สปสช.จ่ายคืนเพียง 17,636 ล้านบาท ขณะที่ รพ.ชุมชน เรียกเก็บที่ 30,473 ล้านบาท แต่ สปสช.จ่ายให้เพียงแค่ 23,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ รพ.ต้องเป็นผู้แบกรับภาระเงินส่วนเกิน และเมื่อเปรียบเทียบกับการเรียกเก็บเงินจากสิทธิ์รักษาพยาบาลในกองทุนอื่น อย่างสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม ที่เรียกเก็บไม่ได้มีเพียงแค่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ สปสช.เรียกเก็บไม่ได้ถึงร้อยละ 40
    ผอ.รพ.พระพุทธชินราชย้ำว่า ถ้า สปสช.ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร รพ.แย่แน่ และในปี 2555 นี้ รัฐบาลยังมีนโยบายค่าแรง 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่ รพ.ต้องปฏิบัติตาม แต่หากไม่มีงบประมาณจากรัฐมาอุดหนุนเพิ่ม สถานการณ์การเงินของ รพ.จะยิ่งเป็นปัญหาลงไปอีก เพราะบุคลากรใน รพ.มีจำนวนมากที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว จ้างด้วยเงินบำรุงของ รพ.เอง
    ขณะที่ผู้บริหาร รพ.อื่นๆ อาทิ นพ.ชูศักดิ์ เอื้อวิจิตรพนา ผอ.รพ.เพชรบูรณ์ และ นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ ผอ.รพ.เชียงคำ ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า กองทุนย่อยมีปัญหาเบิกจ่ายอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาเงินค้างท่อที่ สปสช.จำนวนมาก และตั้งคำถามว่าเงินค้างท่องนั้น สปสช.นำไปใช้ทำอะไร.

ไทยโพสต์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

7019
 แนะวิธี “ออกเจ” อย่างถูกต้อง   ควรเริ่มจากโปรตีนย่อยง่ายอย่าง ปลา ไข่ นม เลี่ยงสเต๊กชิ้นใหญ่ เนื้อติดมัน   ชี้ข้อดีของการกินเจช่วยคนไทยสร้างนิสัยกินผัก
       
       วันนี้ (5 ต.ค.) นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการรับประทานอาหารในช่วงเลิกเทศกาลถือศีลกินเจว่า  จากการที่หลายๆ คนพยายามทานผักและแป้งมาตลอดนั้น ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด ทำให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยเพื่อย่อยเนื้อสัตว์ลดลง ฉะนั้น หลังหมดเทศกาลกินเจจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวและกลับมาทำงานตามปกติ
       
       โดยมีวิธีง่ายๆ ในการปรับตัว คือ

1.ไม่ควรหักดิบเลิกทานผักโดยสิ้นเชิงแล้วโหมทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก ทางที่ดีต่อสุขภาพยังควรทานผักผลไม้ให้ได้วันละขนาด 5 กำมือ ส่วนโปรตีนควรเลือกจากอาหารที่ย่อยง่ายๆ เช่น ปลา ไข่ ไก่ นม ถือเป็นโปรตีนคุณภาพสูง ปริมาณที่ควรทานอยู่ที่มื้อละประมาณ 6 ช้อนโต๊ะ ก็ถือว่าเพียงพอ

2.ไม่ควรทานเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยยาก เช่น สเต๊กชิ้นใหญ่ เนื้อติดมันมากๆ

3.ไม่ดื่มนมในขณะที่ท้องว่าง เพราะระหว่างที่ทานเจ น้ำย่อยแล็กโทสจะน้อยลง และร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ ทำให้เมื่อดื่มนมขณะท้องว่างจะเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารทำให้ท้องอืด หรือท้องเสียได้
       
4.ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ง่ายขึ้น และ

5.หลีกเลี่ยงอาหารประเภท ผัด ทอด แม้ในช่วงพ้นการกินเจแล้ว  และควรทานอาหารประเภท นึ่ง ต้ม ตุ๋น แทนเพื่อลดปริมาณไขมันส่วนเกิน ซึ่งหากทำได้ตามคำแนะนำดังกล่าว จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเดิน ท้องอืด ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่เลิกกินเจ และหันกลับมากินเนื้อสัตว์ตามปกติ
       
       นายสง่ากล่าวต่อว่า  การกินเจเป็นผลดีที่ส่งเสริมให้คนไทยได้หันมาทานผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง และธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น ซึ่งอาหารประเภทนี้ควรทานอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการทานง่ายๆ คือ 1.เลือกทานผักให้หลากหลาย ทุกมื้อควรทานผักให้ได้หลายๆ สี และ2.ล้างผักให้สะอาดด้วยการแช่น้ำผสมเกลือทิ้งไว้ 10-15 นาที ก่อนนำมาล้างผ่านน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าผักไม่มีสารปนเปื้อน  นอกจากนี้ หลังเทศกาลกินเจให้ลองชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นลองหาสาเหตุจากการทานว่า ในช่วงทานเจนั้นเน้นอาหารประเภทไหน เช่น แป้ง ของมัน ของทอด จะได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกทานอาหารทั้งในช่วงเทศกาลเจในปีต่อไป และการทานอาหารหลังจากนี้ เช่น ลดแป้ง ลดของทอดลง เป็นต้น  แต่ถ้าน้ำหนักคงที่ หมายถึงทานอาหารเป็นและถูกหลักโภชนาการ       


ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 ตุลาคม 2554

7020
สธ.ปล่อยคาราวานเฮลิคอปเตอร์ ลำเลียงยา-เวชภัณฑ์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เข้าถึงลำบาก นำร่องลพบุรีจังหวัดแรก 7 จุด
       
        วันนี้ (5 ต.ค. ) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานการปล่อยคาราวานลำเลียงยาและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำท่วมทางเฮลิคอปเตอร์ไปยังจังหวัดลพบุรี  โดยมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข   นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมด้วย 
       
       โดย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง แผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีที่เร่งให้จัดหาปัจจัยสี่กระจายสู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่  ส่งไปยัง 7 จุดในจังหวัดลพบุรี ที่จำเป็นต้องได้รับยาและเวชภัณฑ์โดยด่วน อาทิ อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่ โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประสานเฮลิคอปเตอร์เพื่อลำเลียงส่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก หรือไม่สามารถนำส่งทางเรือได้ นอกจากนี้ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขประเมินพื้นที่จัดส่งเพิ่มเติมด้วย
       
       สำหรับสิ่งของที่จะลำเลียงส่งให้พื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก ประกอบด้วย ยาและเวชภัณฑ์ อาหารและน้ำดื่ม รวม 50 กล่อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยหลังจากลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ครั้งแรกแล้วจะเตรียมการสำหรับการลำเลียงส่งให้พื้นที่ที่เข้าถึงลำบากในจังหวัดอื่นๆต่อไป
       
        นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.ลพบุรี มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและเข้าถึงลำบาก ถึง 7 จุด จึงได้มอบให้นายแพทย์ศิริชัย ลิ้มสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เตรียมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จัดระบบการรองรับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ที่จะจัดส่งโดยเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขในจังหวัดที่มีน้ำท่วม ให้สำรวจพื้นที่เข้าถึงลำบาก เพื่อจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ต่อไปด่วย
       
       ขณะที่ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า ได้ประสานเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานที่ได้ลงนามความร่วมมือไว้ คือ เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และลำเลียงยา เวชภัณฑ์จัดส่งให้ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมและเข้าถึงลำบาก เนื่องจากหากผู้ประสบภัยขาดยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นจะนำไปสู่การเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นการลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าวจึงถือเป็นการป้องกัน
       
        “วันนี้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเริ่มลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ส่งให้จังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดแรก โดยขึ้นจากกระทรวงสาธารณสุขและจะลงจอดที่สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยาศูนย์สงครามพิเศษ (พัน.ปจว.ศสพ.) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เพื่อรับยาและเวชภัณฑ์สมทบจากจังหวัดลพบุรี และนำส่งให้พื้นที่ 7 จุดที่เข้าถึงลำบากต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นผู้รับมอบและกระจายต่อให้ผู้ประสบภัยพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ประสบอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลได้ สามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 ได้” นายแพทย์ชาตรีกล่าว
       
       อนึ่ง พื้นที่ที่จะมีการนำส่งยาและเวชภัณฑ์  ได้แก่
1.โรงเรียนบ้านข่อยวิทยา ตำบลบ้านข่อย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
2.รพ.สต.สี่คลอง (ใกล้ ร.ร./วัดคุ้งนาบุญ) ตำบลสี่คลอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
3.รพ.สต.หนองปลาดุก ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
4.รพ.สต.บางลี่ ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
5. หมู่ 8 (มีเสา TOT)ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
6.หมู่ 11 เขาปกล้น ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี 
7.หมู่ 12 เขาตีหิน (ห่างจากวัดเกริ่นกฐิน 3 กม.) ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 ตุลาคม 2554

หน้า: 1 ... 466 467 [468] 469 470 ... 537