แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 461 462 [463] 464 465 ... 535
6931
นอกจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ กรมอุตุวิทยา แจ้งเตือนว่าฤดูหนาวในปีนี้กำลังจะเริ่มแล้ว ในช่วงกลางเดือน ต.ค. - เดือนก.พ.55 และจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสู้โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ พร้อมทั้งศึกษาวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง และคนในครอบครัวได้ด้วยสมุนไพรไทย
       
       ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร จากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร กล่าวว่า ทั้งจากอุทกภัยน้ำท่วมและอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง โดยให้สังเกต อาการที่เกิดกับร่างกาย โรคหวัด จะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย เบื่ออาหาร หรือ มีไข้ร่วมด้วย เราสามารถใช้สมุนไพรไทยที่หาง่ายใกล้ตัว ดังนี้ ฟ้าทะลายโจร โดยตำรับยาไทย มีขนาด และวิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษา 4 วิธี คือ ยาชง ใช้ใบ 5-7 ใบ จะเป็นใบสดหรือแห้งก็ได้ แต่ใบสดจะมีสรรพคุณดีกว่า เติมน้ำเดือดลงไปจนเกือบเต็มแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือพอให้ยาอุ่นแล้วรินน้ำกิน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร
       
       ยาต้ม ใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งต้นและใบจำนวน 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ให้เดือดนาน 10-15 นาที ถ้าต้มให้เดือดไม่นานพอ ยาจะมีกลิ่นเหม็นเขียว กินยาก ควรกินยาในขณะที่น้ำยาอุ่น กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร สามารถกลบรสขมได้ด้วยการกินของรสเปรี้ยว เค็มตาม
       
       ยาเม็ด นำมาทำเป็นยาเม็ดได้ด้วยการเด็ดใบสดมาล้างให้สะอาด ตากแดด 1-2 วัน จนใบแห้งกรอบสีเขียวเข้ม บดเป็นผงให้ละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นกินขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก กินครั้งละ 5-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร
       
       ยาแคปซูล ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากเนื่องจากสะดวก ด้วยการเอาผงยาที่ได้เหมือนยาเม็ดมาปั้นเล็กๆ ใส่แคปซูลเพื่อช่วยกันรสขมของยา แคปซูลที่ใช้ ให้ใช้ขนาดเบอร์ ๐ หรือประมาณ 400-500 มิลลิกรัมของผงแห้ง กินครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร

       การใช้ฟ้าทะลายโจรที่ให้ผลดีและออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุดในการแก้ไข้หวัดคือถ้าเริ่มรู้สึกว่าครั่นเนื้อครั่นตัวทำท่าว่าจะเป็นไข้ ให้รีบรับประทานทันที
       
       ฟ้าทะลายโจรนอกจากจะมีสรรพคุณในการลดไข้ แก้หวัดแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่สามารถรักษาอาการท้องเสียโดยไม่ทำให้หยุดถ่ายทันทีได้ วิธีใช้คือเมื่อเริ่มมีอาการให้รีบผสมผงเกลือแร่ดื่มทันทีไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาปฏิชีวนะ แล้วใช้ฟ้าทะลายโจรขนาด 2 กรัมต่อวันแบ่งให้ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน ฟ้าทะลายโจรจะทำให้การขับถ่ายเป็นปกติและมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้น ในรายที่ติดเชื้ออหิวาตกโรค ควรนำส่งโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลโดยด่วน
       
       ขิง สมุนไพรในครัว ก็นำมาใช้แก้หวัดได้ เราสามารถทำน้ำขิง พิชิตหวัด และแก้ไอ ตามตำรายาพื้นบ้านไทย ได้ไม่ยากนัก ด้วยการใช้ขิงแก่สดล้างสะอาดทุบให้พอบุบ โดยไม่ต้องขูดเปลือกทิ้ง ประมาณ 1 ถ้วย น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำสะอาด 3 ลิตร ต้มให้เดือดแล้วลดไฟลง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนน้ำขิงกลายเป็นสีเหลือง เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งตามใจชอบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณต้านหวัดได้
       
       กระเทียม สมุนไพร สารพัดประโยชน์ คู่ครัวไทยอีกหนึ่งตัว เพียงรับประทานกระเทียมสดเป็นประจำสามารถป้องกันหวัดและลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ ในฤดูกาลที่มีการระบาดของหวัดควรรับประทานกระเทียมในรูปแบบต่างๆเป็นประจำ กระเทียมช่วยทำให้การหายใจโล่งขึ้นอีกด้วย
       
       ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ยังแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคหวัดอย่างง่ายๆ ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง รวมทั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อย่าง ตระไคร้ กระเพรา บัวบก พลูคาว หรือ หอมแดง หอมใหญ่ ผักชีฝรั่ง ใบหม่อน และใบฝรั่ง ที่อุดมด้วยสาร Queritin รวมทั้งผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงๆ อย่าง มะขามป้อม มะนาว ส้ม ผลยอ หรือ ผลไม้ที่มีสีแดง เป็นสมุนไพรที่ควรจะนำมารับประทานเป็นประจำในช่วงนี้ และ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการได้รับแสงแดดบ้างจะช่วยเพิ่มวิตามินดี ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน และภูมิคุ้มกันดีขึ้น

       นอกจากนี้ยังมีการใช้สมุนไพรทาภายนอก หากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณถูกกัดต่อย ควรรีบทำความสะอาด และใช้สำลีหรือผ้าก๊อซชุบน้ำสมุนไพรที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม มะขามเปียกโปะไว้ หรือ นำส่วนที่ถูกกัดจุ่มไว้จนกว่าจะหายปวด ซึ่งพิษของสัตว์มีพิษทุกชนิดเป็นสารพวกโปรตีนจึงถูกทำลายได้ด้วยสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้เขาสัตว์ ขนเม่น เปลือกหอย หรืออะไรที่มีแคลเซียมฝนกับน้ำมะนาว ทาบ่อยๆ หรือใช้ มะขามเปียกผสมปูนแดงเล็กน้อย ทาแปะไว้ ซึ่งหลังถูกกัดต่อยควรรีบทำทันทีก่อนที่พิษจะก่อให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรืออาจใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบตำพอก เช่น ใบเสลดพังพอนทั้งตัวเมียและตัวผู้ ใบตำลึง ใบรางจืด ตำหรือปั่นให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยพอกไว้ หรือ สามารถใช้ใบรางจืดประมาณ 7-10 ใบต้มน้ำกิน แต่ถ้ามีอาการมากควรใช้การตำหรือปั่นใส่น้ำซาวข้าวกินด้วย เพื่อลดความรุนแรง
       
       สมุนไพรจำพวก ตะไคร้หอม ใบกระเพรา ใบเสลดพังพอนตัวผู้หรือตัวเมีย ตำ คั้นน้ำ หรือ นำไปตากในที่ร่มแล้วบดเป็นผง นำมาทาตัวเพื่อป้องกันยุงกัดได้ ยุง เป็นสัตว์พาหะที่มักจะมาพร้อมกับน้ำท่วมขัง หากยุงกัดเป็นตุ่ม บวม แดง ให้ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบทาบริเวณที่เป็น ที่นิยมคือ ปูนแดง ซึ่งได้จากปูนขาวผสมกับขมิ้น หรืออาจใช้ผงขมิ้นละลายน้ำ ขมิ้นเป็นสีย้อมอาจทำให้เลอะเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้ภูมิปัญญาไทยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวเบื้องต้นได้
       
       หากต้องการสอบถามเรื่องการใช้สมุนไพรเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร 037-211-288-9 ทุกวันในเวลาราชการ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 ตุลาคม 2554

6932
รมว.สธ.รับนมผงสำหรับเด็กขาดแคลนหนัก เตรียมหาวิธีแก้ปัญหาด่วน พร้อมสั่งการเสริมคันดินรอบศูนย์พักพิงชั่วคราวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังระดับน้ำล้อมรอบ ...

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เดินทางมาเยี่ยมประชาชนที่อพยพหนีตายน้ำท่วมบ้านเรือนมาพักอาศัยในบางส่วนของศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นเข้าประชุมประเมินสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมเปิดเผยว่า ต้องเร่งหาทางเจรจากับชาวบ้านปากคลองข้าวเม่าและปากคลองสาคู ในเขต ต.ธนู อ.อุทัย และ ต.หันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ติดกัน กรณีรัฐต้องการตอกชิฟพลาย เพื่อขวางทางน้ำบางส่วนในการชะลอน้ำไหลเข้าพื้นที่ อ.อุทัย ที่จะได้ไป อ.วังน้อย อ.บางปะอิน และไหลเข้าสู่ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันออก แต่ชาวบ้านคัดค้าน โดยประเมินแล้วหากตอกชิฟพลายขวางทางน้ำไหลได้ อาจทำให้น้ำที่ปากคลองในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นมาอีก 20 ซม. ชาวบ้านจะยอมรับได้หรือไม่และหากจำเป็นต้องตอกจริงๆ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตามที่ประเมินไว้แล้ว ชาวบ้านที่เสียสละจะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ ต้องเร่งเจรจาและจับมือร้องขอ เพราะเป็นวิธีการเดียวที่จะชะลอน้ำไหลเข้าพื้นที่ อ.อุทัย และ อ.วังน้อย รวมถึงพื้นที่ติดต่อข้างต้น

นายวิทยา กล่าวเพิ่มอีกว่า อีกปัญหาที่ตนหนักใจคือ คันล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย รพ.ธรรมศาสตร์รังสิต และศูนย์อพยพผู้ประสบภัย เพราะคันล้อมเท่าที่ทราบสูงไม่ถึง 2 เมตร และมีการเสริมเพิ่มไปอีก 50 ซม.เท่านั้น หากมวลน้ำมีมากเช่นนี้ เชื่อว่าจะกั้นน้ำไม่อยู่ เพราะขนาดนิคมอุตสาหกรรมเสริมคันล้อมกันสูง 4-5 เมตร ยังทนสภาพน้ำท่วมหลากสูงไม่ได้ ดังนั้น หากป้องกันพื้นที่โดยรวมของมหาวิทยาลัย และ รพ.ทั้งหมด เนื้อที่นับพันไร่ไม่ได้ ท้ายที่สุดต้องเสียสละบางพื้นที่บางส่วน และเข้าเร่งป้องกันเฉพาะจุดอาคารที่สำคัญๆในพื้นที่ โดยตักเอาดินในมหาวิทยาลัยเองมาทำคันล้อมเฉพาะจุดอาคารที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงน้ำท่วม เช่น อาคาร รพ.ธรรมศาสตร์ รังสิต หรืออาจเป็นอาคารศูนย์อพยพ หรืออาคารสำคัญของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ยอมเสียสละพื้นที่บางส่วน เพื่อรักษาพื้นที่อาคารสำคัญไว้

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับ รพ.ธรรมศาสตร์ จำเป็นต้องรอดพ้นน้ำท่วม โดยจะเร่งทำคันล้อมในส่วนของอาคารที่สำคัญๆ และทางเข้าออก เพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาล เพราะเป็น รพ.ใหญ่ของภาคกลาง ที่จำเป็นในช่วงน้ำท่วมมาก เพราะ รพ.อื่นในอำเภอต่างๆ ของหลายจังหวัดจมน้ำไปมากแล้ว นอกจากนี้ตนยังห่วงว่าในพื้นที่อพยพหลายแห่งพบว่าเด็กๆ เริ่มป่วยโรคทางเดินหายใจ ตัวร้อน และเด็กทารกขาดนมผง จึงแจ้งหน่วยงานต่างๆ หาทางช่วยเหลือด่วนเช่นกัน.

thairath.co.th

6933
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นำเสนอข่าวสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยโดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์จากรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่าสาเหตุหนึ่งของสถานการณ์น้ำท่วมมากครั้งนี้มาจากอุปกรณ์เรด้าร์พยากรณ์อากาศที่ล้าสมัยทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ความรุนแรงของพายุฝนหรือคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำได้ โดยบลูมเบิร์กยังระบุว่า มีการระบุว่าผู้รับผิดชอบละเลยที่จะปรับปรุงระบบเรด้าร์ตามการร้องขอจัดซื้อ ซึ่งนี่อาจส่งผลกระทบต่อน้ำท่วม

"งบประมาณที่กรมอุตุฯเสนอให้ปรับปรุงระบบเรดาร์ใช้งบฯราว 4,000 ล้านบาท โดยยกเครื่องระบบเรดาร์และระบบการจำลองแบบพยากรณ์อากาศซึ่งถูกเสนอต่อหน่วยงานรับผิดชอบตั้งแต่ พ.ศ.2552"นายสมชาย ใบม่วงรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งเขาระบุด้วยว่าอุปกรณ์ใหม่จะช่วยให้การพยากรณ์แม่นยำขึ้นในช่วงฤดูฝน รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลนี้กับฝ่ายรับผิดชอบเขื่อนเพื่อให้วิเคราะห์ความจำเป็นในการพิจารณาการปรับระดับน้ำในเขื่อน

"ถ้าเรา(กรมอุตุฯ)ได้ระบบใหม่นี้ มันจะช่วยผู้คนได้"นายสมชายกล่าว "ไม่มีใครคาดคิดว่าฝนที่ตกลงมาจะมากขนาดนี้ ณ เวลานี้ระบบของเรารวมถึงฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ล้าสมัย"

ความยากลำบากในการบริหารจัดการน้ำจำนวนมากจากมรสุมพายุฝนส่งผลกระทบต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลทั้งกับบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ,โซนี่ ที่ต้องปิดโรงงาน นอกจากนี้น้ำท่วมยังสร้างความเสียหายราวร้อยละ 13 ของนาข้าวในประเทศไทยที่เป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่สุดของโลก

ทั้งนี้ยังมีการรายงานสถานการณ์เขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ เขื่อนภูมิพลที่สะสมน้ำจำนวนมากจนถึงเดือนสิงหาคมเพื่อใช้ในเกษตรกรรมช่วงฤดูแล้ง

"เราเคยได้รับการเตือนว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากในปีนี้ แต่ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะมหาศาล"นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลกล่าว และว่า "เราได้พิจารณาและคำนึงในการปล่อยน้ำจำนวนหนึ่งออกโดยดูทั้งสภาพอากาศและน้ำท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเพื่อไม่ให้สถานการณ์น้ำท่วมเลวร้ายลง"

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม เขื่อนภูมิพลได้ปล่อยน้ำออกเฉลี่ย 4.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนเองก็ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 หรือมากกว่าความจุ 2 เท่าของจำนวนน้ำที่เก็บไว้ในเขื่อนช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การปล่อยน้ำที่เพิ่มขึ้นอีก 22 ล้านลบ.ม.ต่อวันในเดือนสิงหาคม และ 26 ล้านลบ.ม.ต่อวันในเดือนกันยายน กระทั่งตั้งแต่วันที่ 1 -14 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มีสถานการณ์น้ำท่วมก็ยังมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนต่อเนื่องในแต่ละวัน โดยรวมเป็นการปล่อยน้ำที่มากกว่าช่วงเดียวกัน(มิถุนายน-กรกฎาคม)ของปีก่อนถึง 17 เท่า

ขณะที่ในเขื่อนสิริกิต์ "ถ้าน้ำถูกปล่อยออกจากเขื่อนในทางที่เหมาะสม น้ำท่วมจะรุนแรงน้อยลง" ศ.ดร.สุภัทท์ วงศ์วิเศษสมใจ ผู้เชียวชาญเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัดกล่าว "พวกเขาแค่เก็บน้ำให้มากเพื่อพอให้ใช้ในช่วงฝนแล้งเหมือนกับปีก่อนๆ"

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยา และบริการน้ำกรมชลประทาน กล่าวว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน เพราะพื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งถูกน้ำท่วมไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งน้ำในเขื่อนเต็มเพราะปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือมีจำนวนมากทะลุสถิติในปีนี้ และไม่จริงที่ว่าเราลดการปล่อยน้ำ(จากเขื่อน)เพราะห่วงเรื่องภัยแล้ง คนที่พูดแค่ต้องการหาแพะรับบาป

ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า สถานการณ์พายุหนักเป็นปัญหาหนึ่งต่อน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จากพายุโซนร้อน 5 ลูก ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีประมาณ ร้อยละ 25 เฉลี่ยมากขึ้นในรอบ 30 ปี

จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา อ่างเก็บน้ำใหญ่ของประเทศต้องรับน้ำมากถึง 93 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 68

"ถ้าพวกเขารู้แน่นอนว่าฝนจะมาก่อนหน้า บางทีก็อาจจะปล่อยน้ำ(จากเขื่อน)เพิ่มขึ้นอีกนิด"นายชัยวัฒน์ ปรีชาวิทย์ อดีตรองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวและว่า "กรมอุตุฯจะได้สามารถบอกได้ว่าจะมีฝนตกในปีนี้มากกว่าทุกปี แต่เขาไม่สามารถพยากรณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยและฝนที่จะตกหนักได้"อดีตรองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ประชาชาติธุรกิจ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

6934

ภาพเปรียบเทียบการอ้างภาพถ่ายจากดาวเทียม กับ ภาพจากระบบบูรณาการข้อมูล MICT

ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ รายงานว่า ขณะนี้ทางโลกของระบบโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊กได้มีการเผยแพร่และแชร์รูปภาพที่อ้างว่าเป็นการถ่ายจากภาพดาวเทียม  วันที่ 17 ตุลาคม  โดยแสดงให้เห็นถึงภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ในสัญลักษณ์สีฟ้า   ที่เกิดขึ้นรอบบริเวณภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก  รวมถึงภาคกลาง ซึ่งหลายจังหวัดประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนักอยู่ขณะนี้  โดยมีการส่งต่อกันมาเรื่อยๆ โดยระบุข้อความว่า

 "ภาพถ่ายจากดาวเทียมล่าสุด 17 ตค. จะเห็นกลุ่มน้ำกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่มเข้าล้อมรอบกรุงเทพมหานคร เรียบร้อยแล้ว"

ทั้งนี้  เมื่อมีการโพสต์รูปภาพดังกล่าวจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ก็มีการส่งต่อรูปภาพดังกล่าวเผยแพร่(แชร์) ผ่านเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนที่ได้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว เกี่ยวกับมวลน้ำที่กำลังเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

จากการตรวจสอบที่มาที่ไปของภาพดังกล่าวก็พบว่า รูปภาพดังกล่าวน่าจะมีที่มาใกล้เคียงกับการเผยแพร่ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://ictgis.totidc.net/mict/ ซึ่งเป็นระบบบูรณาการข้อมูล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT)  ที่แสดงข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ผ่านระบบบูรณาการข้อมูล  ที่เมื่อซุมเข้าไปเราจะเห็นพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบกับภาวะน้ำท่วมในสัญลักษณ์สีฟ้า รวมถึงแสดงเส้นทางสัญจรของถนนต่างๆที่รถยนต์ไม่ว่าจะชนิดใดสามารถ หรือไม่สามารถใช้เส้นทางได้

 
มติชนออนไลน์   17 ตุลาคม พ.ศ. 2554
 

 


6935


เปิดโมเดล'River Network Model'ฝ่าวิกฤติกทม.จมน้ำ เสนอตัดถนน 8เส้นฝั่งตะวันออกจี้รัฐตัดสินใจด่วนแก้โจทย์ใหญ่สกัดน้ำ1.7หมื่นล้านลบ.ม.เข้ากรุง

      สถานการณ์น้ำท่วมยังคงวิกฤติในหลายพื้นที่ ปริมาณมวลน้ำขนาดใหญ่ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐและหน่วยงานราชการทั้งหมดต้องเร่งระดมแนวทางเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพราะมิฉนั้นกทม.(โซนเสี่ยงขั้น 2และ3 )และอีกหลายจังหวัดใกล้เคียงคงต้องจมอยู่กับน้ำ 1-2 เดือนเป็นแน่
 ในประเด็นดังกล่าว  ชวลิต  จันทรรัตน์  วิศวกรแหล่งน้ำ  บริษัททีมกรุ๊ป ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำมานาน ได้ทดลองแบบจำลองที่เรียกว่า "RIVER  NETWORK  MODEL"  เพื่อประเมินทิศทางพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและทางออกในการระบายน้ำ


   เนื่องจากในปีนี้มีฝนตกมากกกว่าปกติถึง 40% ก่อนที่จะไหลลงมายัง "ปิง- วัง- ยม-น่าน "ก่อนที่จะลงสู่เจ้าพระยา ขณะเดียวกันเขื่อนที่มีอยู่หลายแห่งก็ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มากขึ้นได้ ทำให้วันนี้มีมวลน้ำข้างอยู่1.6-1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยประมาณ 7-8 พันล้านเป็นน้ำค้างทุ่งและอีกประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาทศ์เมตรอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา

 ทั้งนี้มวลน้ำ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการคำนวณตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนี้กำลังไหลเข้ามากรุงเทพ และเมื่อนำมาคำนวณรวมกับปัจจัยน้ำทะเลหนุนเสริม และความอ่อนแอของพนังกั้นน้ำในพื้นที่ต่างๆ บริเวณแนวกันของกทม.พบว่า มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเร่งตัดสินใจเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทางออกแรกคือการให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็น  flood way หรือพื้นที่ระบายน้ำ

  ชวลิต ขยายเพิ่มเติมว่าหลังจากได้ข้อมูลจากโมเดลน้ำ  เราพบว่า  มวลน้ำทั้งหมดตั้งแต่ชัยนาท มี ประมาณ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร รวมลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำค้างทุ่งทั้งหมดจะมีน้ำไหลเข้า จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ย 600 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่หน่วยงานราชการ ได้พยายามเร่งระบายน้ำออกได้ แต่สามารถระบายลงไปได้วันละ 450 ล้านลบ.ม.เพราะฉะนั้นจะเหลือน้ำประมาณ 150 ล้านลบ.ม.ที่ไหลแทรกไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ทะลักเข้าไปในพื้นที่ปทุมธานี และ นนทบุรีในพื้นที่ ซึ่งหากไม่"หาที่ใหม่ให้น้ำ"หรือเร่งระบายออก น้ำที่สะสมเข้ามา วันละ 150 ล้านลบ.ม.ต่อวันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเชื่อว่าพนังกั้นน้ำที่ปกป้องกทม.อยู่วันนี้ ก็จะไม่สามารถรับแรงกระแทกของน้ำได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายจุดแล้ว เช่นบริเวณปทุมธานี 

     เขาได้เสนอว่าเพื่อแก้ปัญหาในปริมาณน้ำที่เหลือ 150 ล้านลบ.ม.ต่อวันระบายลงสู่อ่าวไทยได้มากที่สุด จำเป็นต้องเร่งระบายเพราะไม่อย่างนั้น จะไม่สามารถรักษาพื้นที่ กทม. เอาไว้ได้

   " สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ก็คือ การเร่งระบายน้ำ 150 ล้านลบ.ม. เพื่อไม่ให้ กทม. ต้องรับน้ำ ถ้าเป็นไปได้ ต้องเจาะทะลุพื้นที่ฝั่งตะวันออก  คือเจาะตัดขาดถนนหลายๆ สาย เพื่อให้น้ำผ่านได้เร็วขึ้น เพราะเท่าที่ประเมินตอนนี้เราเห็นว่าหากไม่เร่งระบายพนังกั้นน้ำในหลายพื้นที่อาจจะสู้ไม่ไหว"

    แม้ว่ารัฐบาลจะเลือกพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ระบายน้ำ เนื่องจากฝั่งตะวันตก แม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวทำให้ระบายได้ไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ฝั่งตะวันออก ก็มีถนน 50 สาย ที่ขวางเส้นทางน้ำ ชวลิต จึงเสนอว่า หากต้องการเร่งระบายน้ำ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การตัดถนน 8 เส้นในฝั่งตะวันออก เช่น ถนนบริเวณ ต.หนองเสือ ปทุมธานี และถนนบริเวณบางน้ำเปรี้ยวเพื่อตัดน้ำลงไปสู่ทะเลที่บริเวณคลองด่าน

      " เราได้เสนอแนวทางนี้กับกรมชลประทานไปแล้ว แต่ในรายละเอียดหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะตัดถนนสายไหนบ้าง ที่ระบายได้ดีที่สุดและผลกระทบน้อยที่สุด"

  ชวลิต บอกว่า การเจาะถนน ต้องตัดสินใจภายในวันนี้เพราะปริมาณการไหลของน้ำในปัจจุบันอยู่ที่  3 เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเร็วมากขณะที่จำนวนน้ำ 150 ล้านลบ.ม. จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มความสูงมากขึ้นตามกำแพงกั้นและที่สุดกำแพงอ่อนแอก็จะพังทลายลง

  เขาบอกว่า หากมีการตัดสินใจเจาะถนนสิ่งที่ต้องเตรียมดำเนินการ คือ การประสานกับท้องถิ่นเตรียมพื้นที่อพยพ โซนสีแดงต้องเข้าช่วยเหลือผู้อพยพ โดยหาสถานที่อพยพ เพื่อย้ายคนออกไปในพื้นที่ หากบางคนต้องการอยู่บ้านต้องแจ้งทะเบียนเพื่อสามารถแจกจ่ายอาหารได้ ส่วนโซนสีเหลืองต้องแจ้งให้เก็บของ และจอดรถในที่สูง  สิ่งเหล่านี้คือ เรื่องที่หน่วยงานราชการต้องเตรียมการทั้งหมด หากมีการตัดสินใจตัดถนนเพื่อระบายน้ำ

   ส่วนประชาชน ชวลิต บอกว่า" อย่าแตกตื่น ติดตามข่าวทางราชการให้มาก เพราะว่าข้อมูลเป็นความจริงทุกหน่วยงานกำลังช่วยกันอยู่แล้ว " อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าปีนี้ปริมาณน้ำ 5 แม่สายหลัก มีจำนวนมากกว่าทุกปี ถึง 1.4 เท่า ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ปิง  วัง ยม น่าน และ เจ้าพระยา ดังนั้นทุกคนจึงต้องช่วยกันแบ่งเบาความเดือดร้อนร่วมกัน
-----

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 14 ตุลาคม 2554

6936

เปิด!แบบจำลอง เผยความรุนแรงของน้ำ 3 ระดับในกทม. พบขั้นสามท่วมสูง1-2 เมตร อยู่ฝั่งตะวันออกและตกของกทม.และขังนับเดือน

ปัจจุบันสถานการณ์น้าท่วมกลายเป็นปัญหาสาคัญและเร่งด่วนที่ทาให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลถึงความรุนแรง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจท้ำให้ไม่สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

กทม.ก็เป็นอีกจุดที่มีการประเมินกันต่างๆนานา วันนี้จึงมีแบบจำลองให้พิจารณา บ้านที่อยู่อาศัยของแต่ละท่านนั้น ตั้งอยู่ในจุดเสี่ยงความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และหากท่วมจะสูงกี่เมตร ที่สำคัญในระดับความรุนแรงต่างๆ เราต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรบ้าง

-----------------------------------------

กลุ่มบริษัททีม ซึ่งมีประสบการณ์ความชำนาญในวิชาชีพด้านการบริหารจัดการน้ามากว่า 30 ปี กลุ่มบริษัททีม พร้อมเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รวบรวม และวิเคราะห์โดยใช้แบบจาลองคณิตศาสตร์ โดยได้จัดทาแผนที่แสดงพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้าท่วมในระดับต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ (โดยเฉพาะกทม.)เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัย

1. พื้นที่น้าท่วมปี 2554 : พื้นที่น้ำท่วมถึงวันที่ 10 ต.ค.2554 แสดงไว้ในรูป
2. พื้นที่เสี่ยงภัยน้าท่วม ซึ่งมีระดับความเสี่ยงและข้อควรปฏิบัติดังนี้


2.1 พื้นที่เสี่ยงน้าท่วม ระดับที่ 3 (สีแดง:เสี่ยงสูงสุด)
(1) เป็นพื้นที่น้ำท่วมแน่นอน พื้นที่ที่อยู่นอกคันพระราชดาริ จะมีสภาพการท่วมเช่นเดียวกับปี 2538 แต่ระดับสูงกว่า ประมาณ 0.50 เมตร น้ำจะท่วมสูงประมาณ 1- 2 เมตร จะท่วมนานประมาณ 1-2 เดือนจำเป็นต้องอยู่กับน้ำให้ได้ หรืออพยพไปอยู่ที่อื่น


(2) พื้นที่เสี่ยงระดับ 3 ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ นี้ จะเป็นทางที่น้ำจะหลากจากแม่น้าเจ้าพระยา และแม่น้าป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงสู่ทะเลโดยน้ำจะใช้เวลาในการเดินทางมาก ได้แก่ พื้นที่บริเวณอาเภอวังน้อย อำเภอหนองเสือ ทางตะวันออกของอาเภอธัญญบุรี พื้นที่ทางตะวันออกของเขตหนองจอก อาเภอบางน้ำเปรี้ยว และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของคลองพระองค์ไชยานุชิต
คันป้องกันน้ำท่วมต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ และหากมีน้ำรั่วเข้ามาในพื้นที่ใดก็จะมีระดับน้ำท่วมสูง 1.0 ถึง 2.0 เมตร แล้วแต่ความสูงต่ำของแต่ละพื้นที่


(3) พื้นที่เสี่ยงระดับ 3 ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้แก่ อาเภอลาดบัวหลวง อาเภอลาดหลุมแก้ว อาเภอสามโคก อาเภอเมืองปทุมธานี อาเภอบางใหญ่ และพื้นที่ด้านตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก ที่อยู่เหนือคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นไป และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้าท่าจีน


(4) การเตรียมตัว ให้ขนย้ายทรัพย์ขึ้นที่สูง ไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร จอดรถยนต์ไว้ในที่สูง และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

2.2 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ระดับที่ 2 (สีส้ม).. ( สนามบินสุวรรณภูมิน้ำไม่ท่วม)
(1) เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง (เป็นพื้นที่ที่น้ำเคยท่วมเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมสูงสุด) เป็นพื้นที่รัฐบาลพยายามป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วม (ต้องสู้กับน้ำ) หากป้องกันไม่ได้ คันจะพัง น้ำจะมาเร็วและแรง ดังนั้นให้ติดตามข่าว และติดตามระดับน้ำในคลองตลอดเวลา หากมีรั่วเข้ามาท่วมได้ น้ำจะท่วมสูงประมาณ 1-2 เมตร และจะท่วมนานประมาณ 1-2 เดือน


(2) พื้นที่เสี่ยงระดับ 2 ฝั่งตะวันออก ได้แก่พื้นที่ ฝั่งตะวันออกของอาเภอเมืองปทุมธานี อาเภอคลองหลวง พื้นที่ที่อยู่เหนือคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พื้นที่ที่อยู่เหนือถนนสายไหม และพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนหทัยราษฎร์ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว และพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนบางบาหรุไปบางพลี

(3) พื้นที่เสี่ยงระดับ 2 ฝั่งตะวันตกได้แก่ พื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่อยู่ทางตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก มาถึงแม่น้าเจ้าพระยา พื้นที่อาเภอสามพรานที่อยู่ใต้คลองมหาสวัสดิ์ ที่อยู่ห่างจากแม่น้าท่าจีน อาเภอกระทุ่มแบน อาเภอเมืองสมุทรสาครที่อยู่ห่างจากแม่น้าท่าจีน และพื้นที่ด้านตะวันตกของเขตจอมทอง

(3) การเตรียมตัว ให้เตรียมย้ายของมีค่าขึ้นที่สูง เตรียมวางแผนหาที่จอดรถยนต์ในที่สูงและติดตามข่าวและเฝ้าระวังใกล้ชิด

2.3 พื้นที่เสี่ยงน้าท่วม ระดับที่ 1 สีเหลือง

(1) เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงปานกลาง เป็นพื้นที่น้าไม่ท่วมในปี 2538 แต่มีความเสี่ยงที่จะท่วมได้ในปี 2554 นี้ได้แก่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดนนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงระดับ 2 และ 3 ดังกล่าวข้างต้น

(2) พื้นที่นี้หากมีการท่วม น้าจะท่วมสูงประมาณ 0.50 เมตร
(3) ในการเตรียมตัวนั้นขอให้ติดตามข่าว และเฝ้าระวัง

หมายเหตุ:เป็นงานศึกษาทางวิชาการ ชิ้นหนึ่ง ประชาชนควรพิจารณาข้อมูลที่หลากหลายก่อนตัดสินใจ
ที่มา:กลุ่มบริษัททีม

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  13 ตุลาคม 2554

6937
ผู้ว่าฯอยุธยา ปรับแผนส่ง กำนัน ผญบ. นายก อบต. ลงพื้นที่เกาะติดดูแลชาวบ้าน เร่งกู้ รพ.ศูนย์อยุธยา ขอรัฐบาลสนับสนุน เรือ รถใหญ่ อาหารน้ำดื่ม ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย ป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด...

เมื่อเวลา 11 .00 น. ของวันที่ 17 ต.ค. 2554 นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า ขณะนี้น้ำเข้าท่วมทั้ง 16 อำเภอ ส่วนอำเภอที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น มีอยู่ 2 อำเภอ คือ อ.บางปะอิน กับ อ.วังน้อย ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งทางจังหวัดได้จัดทีมช่วยเหลือประชาชน ทั้งทหารบก ทหารเรือ ตำรวจน้ำ กรมประมง และหน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ยังเดือดร้อนได้จำนวนมากพอสมควร ล่าสุดได้ปรับแผนสั่งการให้คนของทางราชการทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงนายกเทศมนตรี นายก อบต.ต่างๆ ให้ลงพื้นที่และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้าน เพื่อจะได้ร่วมแก้ปัญหาในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาให้บรรเทาลดน้อยลง

ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงความต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ว่า เรื่องของเส้นทางคมนาคม ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะมีน้ำท่วมขังถนนสูงในหลายพื้นที่ การที่ประชาชนจะเดินทางมาติดต่อ หรือมาใช้บริการเรื่องอาหาร หรือเรื่องการรักษาพยาบาลที่ศูนย์แพทย์สนามที่ศาลากลางจังหวัด ค่อนข้างที่จะลำบากมากขึ้น ส่วนทางอยุธยายังขาดแคลนในส่วนของเรือที่จะใช้ในการเดินทางไปช่วยเหลือชาวบ้านอีกมาก เพราะตอนนี้น้ำมาก รถเล็กไม่สามารถใช้การได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอสนับสนุนรถใหญ่ เพื่อใช้วิ่งรับส่งประชาชนในจุดสำคัญ แม้ว่าตอนนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางทหารและส่วนราชการที่รับส่งประชาชน แต่ยังไม่เพียงพอ หากได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนเกิดความสะดวกมากขึ้น ส่วนเรื่องอื่นที่ยังขอรับการสนับสนุน คือเรื่องอาหารการกินและน้ำดื่ม ถือเป็นปัจจัยหลักที่ประชาชนยังไม่สามารถช่วยตนเองได้ ส่วนเรื่องค่าเรือจ้างที่มีราคาสูงนั้น ตนสั่งการให้ทางกรมเจ้าท่าไปดูแลแก้ปัญหา ในส่วนนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะฉวยโอกาสเพิ่มความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ทุกคนต่างเดือดร้อนอยู่แล้ว หากผู้ใดเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม ก็ให้แจ้งความดำเนินคดีได้ทันที

นายวิทยา ผิวผ่อง กล่าวถึงเรื่องการดูแลด้านสุขอนามัยของผู้ประสบภัย ว่า ตอนนี้ทางนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ระดมแพทย์และพยาบาลจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาช่วยในพื้นที่ โดยจัดเป็นโรงพยาบาลสนามในทุกจุด ที่มีประชาชนอยู่อาศัยรวมกัน เกินกว่า 100 คน จะตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการให้ความรู้ เกี่ยวกับการป้องกันมิให้เกิดปัญหาโรคระบาด ที่อาจจะเกิดตามมาได้เช่นกัน ตรงนี้เราให้ความสำคัญ และล่าสุดทุกภาคส่วนทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และแพทย์พยาบาลได้ร่วมกันเข้ากู้สถานที่ ที่โรงพยาบาลศูนย์อยุธยา เพื่อให้สามารถเปิดบริการประชาชนในวันพรุ่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรักษาและประสานงานสั่งการเรื่องสาธารณสุขของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป

ไทยรัฐออนไลน์ 17 ตค 2554

6938
 ที่ปรึกษา กก.แพทยสภา เตรียมแก้ร่างข้อบังคับอนุญาตเด็ก 13 ปีตรวจเอดส์ หวังลดจำนวนผู้ป่วยเอดส์หน้าใหม่
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษากรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แนวทางการลดจำนวนผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ สิ่งสำคัญต้องรณรงค์ให้มีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะปัจจุบันประชาชนมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลงกว่าเดิมมาก โดยประเทศไทยนั้นพบได้ในเด็กอายุเฉลี่ย 13-14 ปี ซึ่งหากไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าวย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างแนวทางปฏิบัติแพทย์เกี่ยวกับเรื่องเอดส์ ที่มีตนเป็นประธาน จึงได้ร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พ.ศ. 2552 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21(3) (ช) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงที่แพทยสภาได้มีการร่างข้อบังคับดังกล่าวนั้น ได้ทำประชาพิจารณ์กับทั้งประชาชนทั่วไป เช่น ครู ผู้ปกครอง แพทย์ ฯลฯ อย่างรอบด้าน แต่ยังมีคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมายและวิชาชีพอื่นบางส่วนที่เห็นว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีในบุคคลดังกล่าว โดยปราศจากการยินยอมของพ่อแม่ แพทย์ผู้ตรวจอาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขร่างดังกล่าวให้สมบูรณ์ก่อน โดยต้องกำหนดอายุที่ชัดเจน ซึ่งการกำหนดอายุนั้นแทนที่จะเป็นอนุญาตให้ตรวจได้ในบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ตรวจในบุคคลอายุตั้งแต่ 13 ปี แทน แต่เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะมีการเรียกประชุมหารือเรื่องนี้อีกครั้งภายใน 1-2 เดือนก่อนเสนอคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2554 แน่นอน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ตุลาคม 2554

6939
 “วิทยา” ลั่น สธ.ยังรับมือสถานการณ์น้ำท่วมไหว โรคระบาดยังไม่น่าห่วง เน้นดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-กำชับอาหารปลอดภัย ย้ำชัด สถานบริการทุกแห่งเตรียมพร้อมเสมอ ขณะ “ต่อพงษ์” ขานรับนโยบาย ศปภ.เดินหน้าเยียวยาสุขภาพจิต เตรียมผุดโครงการ “ฮึดสู้ เดี๋ยวก็ผ่านไป” รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นกำลังใจ
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ว่า จากการประชุมศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(ศปภ.) ในส่วนของ สธ.นั้นยังต้องเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านบริการ พร้อมกับเตรียมแผนฟื้นฟูในส่วนของสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ และเรื่องการเยียวยาสุขภาพจิต โรคติดต่อ โดยต้องร่วมมือทุกกรม รวมทั้ง เตรียมเรื่องการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพ ซึ่งต้องร่วมมือกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั้งนี้ ในส่วนที่ต้องเน้นคือ เรื่องการประกอบอาหารทาง สธ.กำชับให้มีความสะอาดและปลอดภัย

   
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ในเรื่องโรคระบาดนั้นยังไม่น่าห่วงเท่าผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาตัวต่อเนื่องคือฟอกไตซึ่งขณะนี้มีเครื่องมืออย่างจำกัด และจำเป็นต้องมีบุคลากรสาธารณสุขคอยดูแลตลอดเวลา ส่วนยาและเวชภัณฑ์นั้นนอกจากจำนวนที่กระจายไปแล้วยังต้องสำรองไว้ในสต๊อกราว 5 แสนชุด ซึ่งถือว่าเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอแล้วสำหรับการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมเป็นเวลา 2 เดือนตามที่ประชุม ศปภ.ได้วางแผนไว้
       
       “สำหรับเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยนั้น สธ.ถือว่าเตรียมความพร้อมได้ดี เพราะมีสถานพยาบาลสำหรับรองรับการส่งต่ออยู่แล้ว แต่ในส่วนของ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นั้น แม้ว่าน้ำจะยังไม่เข้ามาแต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อความไม่ประมาท ขณะที่ รพ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นั้นกำลังเร่งขอกระสอบทรายมากั้นน้ำเพิ่ม” นายวิทยา กล่าว
       
       ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลการประชุมวอร์รูม สธ.นั้น รายงานว่า การออกบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ ศธ.นั้น ออกบริการไปแล้วจำนวน 5,465 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งหมด 608,372 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 307 ราย สูญหาย 3 ราย ขณะที่สถานพยาบาลสั่งกัด สธ.ที่ได้รับผลกระทบยังคงที่ คือ 463 แห่ง อย่างไรก็ตาม สถานบริการในพื้นที่ จ.นนทบุรี และปทุมธานี ยังต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมเรื่องการอพยพ ส่งต่อผู้ป่วยและปรับบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย
       
       ด้านนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การเยียวยาสุขภาพจิตผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้ประชาชนที่ประสบภัยยังคงมีความเครียดสูง และมีภาวะซึมเศร้ากันมาก ทาง ศปภ.จึงได้กำชับให้ สธ.โดยกรมสุขภาพจิต มีการเตรียมแผนเยียวยา โดยนอกจากการประสานสมาคมศิลปินตลกในการแสดงเพื่อคลายเครียดแล้ว ยังมีแผนที่จะเกิดโครงการ “ฮึดสู้ เดี๋ยวก็ผ่านไป” ซึ่งเป็นการร่วมมือของประชาชนทั่วไปกับ ผู้ประสบภัย ในการฝ่าฝันอุปสรรคไปพร้อมๆกัน รวมทั้งเร่งทำกิจกรรม Kick off แคมเปญ รณรงค์เรื่องการช่วยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันและภายใต้ความเชื่อว่า ปัญหาและอุปสรรคจะผ่านพ้นในที่สุด
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกระแสที่ระบุว่า กลุ่มประชาชนในชนชั้นแรงงานที่มีถึง 3 แสนราย จะมีความเครียดกว่าปกติ จำเป็นต้องเยียวยาพิเศษหรือไม่ นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจแล้ว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มดังกล่าวอาจเผชิญปัญหาเรื่องหนี้สินส่วนมาก ดังนั้น น่าจะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อผ่อนผันระยะเวลาการใช้หนี้ เช่น บัตรเครดิต เพื่อคลายความกังวลแก่ผู้ประสบภัย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ตุลาคม 2554

6940
  “วิทยา” ชี้ ไก่ตายนับล้านในกรุงเก่า เป็นฟาร์มปิด ไม่ลอยตามน้ำ เชื่อ ทส.จัดการสิ่งแวดล้อมได้ กรมควบคุมโรคส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่

       วันนี้ (17 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีไก่ตายในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แล้ว พบว่า ฟาร์มไก่ที่ตายเป็นการเลี้ยงแบบระบบปิด อยู่ในโรงเรือน มีเต็นท์คลุมทำให้ซากไก่ตายไม่ลอยตามน้ำ สิ่งที่น่าห่วงมีเพียงเรื่องของแก๊สที่เกิดจากซากไก่ตาย ทำให้มีกลิ่น จากนี้คาดว่า ทส.จะเข้าควบคุมโดยใช้ ลูกอีเอ็มเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมที่มีน้ำเน่า ซึ่งไม่น่าห่วงเพราะทางฟาร์มเป็นแบบฟาร์มปิด
       
       ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ส่งเจ้าหน้าที่ทีมเฝ้าระวัง สอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ที่มีไก่ตายแล้ว เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยในการจัดการซากจะมีการกันพื้นที่ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่ไก่ตาย จากนั้นกำจัดจุลินทรีย์โดยอาจจะใช้อีเอ็มหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ปูนขาวโรยบนไก่ที่ตาย เนื่องจากการจะขนย้ายไก่ตายออกจากพื้นที่เพื่อไปทำลาย หรือฝังกลบเป็นไปได้ยาก

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ตุลาคม 2554

6941
 “วิทยา” สั่งการให้ สปสช.จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 55 ให้หน่วยบริการโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างเร่งด่วน ระบุ ให้หน่วยบริการไปเกลี่ยใช้ในภาวะอุทกภัยโดยอิงการจัดสรรงบประมาณปี 2554 ไปพลางก่อน
       
       วันนี้ (11 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี งบประมาณ 2555 ให้เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับ รพ.ทั่วประเทศ ในการบรรเทาสถานการณ์ด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ สปสช.จึงได้ปรับวิธีการจ่ายเงินงบเหมาจ่ายรายหัวอย่างเร่งด่วนไปก่อนเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตขณะนี้
       
       ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในภาวะปกติสำนักงบประมาณจะจัดสรรให้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม จากนั้น สปสช.จึงได้จัดสรรให้หน่วยบริการต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 นี้ จากสถานการณ์ภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ สำนักงบประมาณจึงได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้ก่อน ซึ่งอิงจากการจัดสรรงบประมาณปี 2554 โดยเป็นการจ่ายล่วงหน้าไปก่อนในกรอบวงเงินร้อยละ 25 ซึ่ง สปสช.จะจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555 ในกรณีงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศ 76 จังหวัด ไม่รวมกทม.โดยเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
       
       นพ.วินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555 นั้น มีรายละเอียดดังนี้ คือ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 849 แห่ง จำนวน 13,782.55 ล้านบาท รพ.ของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 77 แห่ง และ รพ.เอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 56 แห่ง จำนวน 658.26 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเงินจะไปถึงรพ.ในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม นี้ เพื่อให้การจัดการด้านการเงินของ รพ.มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะรพ.ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพราะขณะนี้มีหน่วยบริการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในขณะนี้มีจำนวนมาก
       
       นอกจากนี้ สปสช.ยังได้จัดงบประมาณให้กับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยหนักโดยจัดสรรผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพิ่มเติมจำนวนอีกจำนวน 50 ล้านบาท จากกองทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยผู้ป่วยและหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประสบภาวะภัยพิบัติฉุกเฉิน และเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ตุลาคม 2554

6942
ศปภ.มั่วผ่านเฟซบุ๊ก! ประกาศโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าขออาสาสมัครเรียงกระสอบทราย จากนั้น 1 ชั่วโมงกลับสั่งยกเลิก ส่งผลให้สมาชิกของเพจหลายคนไม่พอใจเนื่องจากได้มีอาสาสมัครจำนวนมากเดินทางไกลไปช่วย แถมโดนแฉหลักฐานว่าโรงพยาบาลประกาศไม่เคยขอความช่วยเหลือ เหตุการณ์ยังปกติดี ทำให้ต้องแถกลับเพราะเป็นห่วงประชาชนเลยต้องรีบกระจายข่าว
       
       วันที่ (15 ต.ค.) เมื่อเวลา 22 .32 น. ทางเฟซบุ๊กของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) www.facebook.com/1111No5 แจ้งขอกำลังอาสาสมัคร ช่วยกรอกและจัดเรียงกระสอบทราย ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นเกรงว่าจะทะลักเข้าโรงพยาบาล แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง กลับขึ้นข้อความยกเลิกประกาศก่อนหน้านี้ ความว่า “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฝากแจ้งประกาศยกเลิกตามที่แจ้งไปก่อนหน้านี้ว่าต้องการอาสาสมัครทำแนวกั้นน้ำท้ายโรงพยาบาลขณะนี้ 11.21 น. เหตุการณ์ภายในโรงพยาบาลอยู่ในระดับปกติ”
       
       เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สมาชิกของเพจหลายคนไม่พอใจ และต่อว่า ศปภ.ว่าทางโรงพยาบาลไม่เคยประกาศขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงอยากให้ทาง ศปภ.ตรวจสอบข่าวก่อนประกาศ ไม่เช่นนั้นความน่าเชื่อถือขององค์กรจะลดลง เนื่องจากเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลต่อความรู้สึกของอาสาสมัครหลายคนที่เดินทางไกลไปช่วย
       
       ยิ่งไปกว่านั้นทาง ศปภ.ได้ชี้แจงกลับสมาชิกที่ไม่พอใจว่า “ขอชี้เเจงครับว่า ก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ต้องการอาสาสมัครในการช่วยเหลือบรรจุกระสอบทราย เเต่ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้บรรจุกระสอบทรายเสร็จเเล้ว ทางเราจึงขอยกเลิกประกาศขอรับอาสาสมัครครับ”
       
       ซึ่งทางเพจ  “อาสาสมัครเฝ้าจับตาสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ” จึงเอาหลักฐานมาโชว์ว่าในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ศปภ.ประกาศขออาสาสมัคร ทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้ประกาศขึ้นทางเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลเองว่า “ประกาศด่วน เกิดความสับสนว่าในขณะนี้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเกิดปัญหาแนวกั้นน้ำท้ายโรงพยาบาลเสียหาย จนทำให้น้ำทะลักเข้าโรงพยาบาล ขอประกาศว่าขณะนี้สถานะการณ์ภายในโรงพยาบาลยังอยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงขอประกาศให้ทุกๆ ท่านทราบโดยทั่วกัน“  และทางโรงพยาบาลก็ได้ฝากข้อความแจ้งเตือนผ่านทางหน้าเพจ “อาสาสมัครเฝ้าจับตาสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ” ว่า “อยากให้ผู้ดูแลช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนประกาศนะครับ เพราะอาจสร้างความเสียหายให้กับโรงพยาบาลได้หากเหตุการณ์นั้นไม่ใช่ความจริง”
       
       จากนั้นวันที่ 16 ต.ค. เวลา 01.23 น. ทาง ศปภ.ได้ออกคำชี้แจง เกี่ยวกับกรณีการประสานงานกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาว่า
       
       “ขอชี้แจงเกี่ยวกับควาามเข้าใจผิดในเรื่องของการประสานงานกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ ศปภ.ขอชี้แจงว่า การทำงานของเราค่อนข้างจะเร่งด่วนและเร่งรีบตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ของเราตระหนักอยู่เสมอว่า เราทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย
       
       ในแต่ละวันจะมีเคสและกรณีที่มีลักษณะเชิงปั่นป่วนและชวนแตกตื่นอยู่มาก เราพยายามที่จะคัดกรองด้วยความระมัดระวัง เพราะหากสิ่งที่แจ้งเข้ามานั้นเป็นเรื่องจริง แต่เราเพิกเฉยนั่นคือชีวิตของคนทั้งคนที่เราละเลยต่อสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ เมื่อมีเคสต่างๆ แจ้งเข้ามา เราจะเร่งดำเนินการในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน เช่น กรณีที่ SOS ANIMALS Thailand แจ้งมาว่าอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยสุนัขโดนกัดที่หมู่บ้านปาริชาต เราก็จะประสานยังเร่งด่วนทางวิทยุและติดตามผลตลอดเวลาจนอาการของอาสาสมัครรายนั้นปลอดภัย
       
       ขณะเดียวกัน หากมีประชาชนเข้ามาสอบถามเส้นทางการเดินทางไปในที่ต่างๆ ในเวลาที่พร้อมกัน แน่นอนว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแรกมากกว่าเพราะนั่นคือชีวิตของคนทั้งคน แต่เราก็ไม่ได้ละเลยกับการสอบถามเส้นทางเพียงแต่ในเวลาที่ต้องทำงานอย่างเร่งด่วนเช่นนี้เราจำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญ
       
       กรณีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เราได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่าต้องการคนจำนวนมากในการกรอกทรายและมัดกระสอบทรายจำนวนมาก เมื่อเรารับเรื่องเข้ามาแล้ว เราพยายามที่จะตรวจสอบดูจาก Social network ต่างๆ ว่าข้อมูลที่ได้ทราบมานั้นจริงเท็จแค่ไหน ส่วนนี้ศปภ.ยอมรับในความผิดพลาดทั้งหมดที่ไม่ได้เช็คข้อมูลกับทางโรงพยาบาลให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ จึงรีบประกาศออกไปเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและสถานที่นั้นคือ โรงพยาบาล เราจึงค่อนข้างมั่นใจในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นจะต้องรีบแจ้งออกไปให้ประชาชนช่วยเหลือ  ศปภ.ยอมที่จะโดยตำหนิหากเรื่องที่เราตือนแล้วไม่เกิด ดีกว่าเกิดแล้วไม่ได้เตือน จึงได้แจ้งออกไปและได้เตรียมที่จะหาอาสาสมัครจากทางดอนเมืองไปช่วยด้วยอีกแรง และเมื่อมีคนแจ้งเข้ามาว่าสถานการณ์ภายในโรงพยาบาลเป็นปกติ ศปภ.ก็รีบติดต่อกับทางโรงพยาบาลจึงได้รับการชี้แจงว่า ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ต้องการตั้งแต่เมื่อเช้าแล้วเราจึงรีบมาแจ้งยกเลิกประกาศที่แจ้งไป ตามความรับผิดชอบของเรา
       
       ศปภ.ขอยืนยันว่าเราไม่ได้มีเจตนาหรือหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูลแต่ในสถานการณเช่นนี้ที่ทั่วทั้งประเทศกำลังต้องการความช่วยเหลือ สิ่งใดที่จะกระจายข่าวไปให้ภาคประชาชนได้รับทราบได้เร็วที่สุด เราก็ต้องทำ แต่เพราะยังมีผู้ไม่หวังดีและสร้างความปั่นป่วนอยู่อย่างต่อเนื่อง ศปภ.อยากจะขอความเห็นใจแทนพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนว่า ช่วยกันสอดส่องดูแลและปกป้องบ้านหลังนี้ดีกว่าที่จะสร้างความปั่นป่วน ศปภ.ยืนยันและมั่นใจในความเป็นกลาง เพราะเราทุกคนคือประชาชนคนไทย
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่าประชาชนต้องปลอดภัย  เราได้นำพระราชดำรัสนี้มาเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเสมอมา ช่วยกันดูแลกันและกันนะครับ เรากำลังหามาตรการ การช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆให้รัดกุมกว่านี้ เมื่อได้แล้วจะแจ้งให้ทราบทันทีครับ   ขอขอบพระคุณที่ไว้วางใจเราตลอดเรา”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 ตุลาคม 2554

6943
รพ.มหาราชโคราชส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ และพนักงานกู้ชีพสองชุด ตั้งโรงพยาบาลสนามช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคกลาง ด้านน้ำใจ มทส. ร่วมแรงสร้าง เรือน้ำใจปีบทอง 50 ลำ ช่วย ...

วันที่ 16 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า รพ.มหาราชฯ ได้จัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร พนักงานกู้ชีพ และทีมสนับสนุน ซึ่งเป็นทีมปฏิบัติงานชุดที่ 1 และ 2 ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอยุธยา โดยได้ไปตั้งโรงพยาบาลสนามที่ทุ่งนเรศวร และยังส่งทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร พนักงานกู้ชีพ และทีมสนับสนุน ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัด ลพบุรี พร้อมกันนี้ได้นำชุดถุงยังชีพไปมอบให้แก่ประชาชนด้วย

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัด ซึ่งหลายพื้นที่เรือที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่เพียงพอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันมาก กลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประกอบด้วยนายวัฒนา เพชรนอก นายเดชอนันต์ กลั่นอักโขนายสราวุธ ไปแดน นายอำคา จินาวงศ์ และนายธนวัฒน์ จันทร์น้ำใส โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้คิดทำเรือน้ำใจปีบทอง เป็นเรือต้นแบบให้ชุมชนที่สนใจ นำไปสร้างเองได้ ใช้วัสดุหาง่าย ราคาไม่แพง และใช้งานได้ทันทียามฉุกเฉิน


นายวัฒนา เพชรนอก หนึ่งในทีมคิดสร้างเรือช่วยน้ำท่วม กล่าวว่า พวกเราเห็นว่าในพื้นที่น้ำท่วม เรือมีความจำเป็นมาก ไม่เพียงพอ หากจะซื้อก็ราคาแพง จึงคิดสร้างเรือผ้าใบที่สามารถทำขึ้นเองได้ เพื่อช่วยเหลือคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย มีเพียงเหล็กเส้น ผ้าใบรถบรรทุก หรือจะใช้ป้ายโฆษณาไวนิลที่มีอยู่ทั่วไปก็ได้ โดยเหล็กที่ใช้มี 3 ชนิด คือ เหล็ก 2 หุน 3 หุน และ 4 หุน ทำเป็นโครงเรือ ใช้ลวดมัดจุดเชื่อมต่อแล้วพันด้วยยางให้ยึดแน่น จากนั้นใช้ผ้าใบขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร เจาะตาไก่ร้อยเชือกผูกกับโครงเรือ ระยะเวลาในการทำก็ไม่นาน ถ้ามีความชำนาญในการเชื่อมเหล็ก เพียง 2 ชั่วโมง ก็จะได้เรือไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ขนย้ายผู้ป่วยหรือคนชรา บรรทุกสิ่งของหนีน้ำ ขนอาหาร/น้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งเรือสามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 400 กิโลกรัม จะใช้ไม้พายช่วยพาย หรือถ้าระดับน้ำไม่ลึกมากก็ลากจูงได้ เรือลำนี้เป็นต้นแบบที่สร้างขึ้นมา ต้นทุนประมาณ 2,000 บาท เป็นค่าเหล็กเส้น 500 บาท กับค่าผ้าใบอย่างดีทนทานต่อการฉีกขาด 1,500 บาท ซึ่งชุมชนหรือผู้ที่สนใจสามารถนำแบบ “เรือน้ำใจปีบทอง” ไปสร้างไว้ใช้งานเองได้ เนื่องจากวิธีการไม่ยุ่งยาก เรือมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา คล่องตัว เน้นการใช้งานง่าย และใช้งานได้ทันที

รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาและบุคลากรร่วมแรงร่วมใจช่วยกันประกอบเรือช่วยน้ำท่วม เรือน้ำใจปีบทอง จากแนวคิดและการออกแบบ ซึ่งเราได้สร้างในเบื้องต้นจำนวน 50 ลำ ด้วยเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนที่ร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ อาทิ เหล็กเส้น ให้ความอนุเคราะห์รถเทรลเลอร์สำหรับขนส่งเรือเพื่อส่งไปช่วยบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ต่างๆ แล้ว โดยมีนักศึกษาสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและสาขาวิชาต่างๆ นักศึกษาบัณฑิตศึกษา คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยกว่า 300 คน รวมตัวกันช่วยสร้างเรือ จนกระทั่งแล้วเสร็จ และได้จัดส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ไทยรัฐออนไลน์ 16 ตค 2554

6944
“ปู” นำทีมปล่อยขบวนคาราวาน อสม.200 คน พร้อมเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพ ปฏิบัติการภาคสนาม ออกช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจุดอพยพ และผู้ที่ยังอยู่ในบ้าน ใน 5 จังหวัดได้แก่ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ปทุมธานี และอ่างทอง
       
       วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รับส่งผู้ป่วย ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ท่าอากาศยานดอนเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมปล่อยขบวนคาราวานอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. จำนวน 200 คน พร้อมเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพปฏิบัติการภาคสนาม เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ปทุมธานี และอ่างทอง ซึ่งใน 5 จังหวัดนี้ จะมีอสม.ปฎิบัติงานในพื้นที่ ประมาณ 40,000 คน และจะดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด เพื่อให้การดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง รวมถึงการป้องกันควบคุมโรคระบาดที่มากับน้ำท่วมด้วย
       
       นายวิทยากล่าวว่า คาราวานของอสม.ชุดนี้ จะไปประจำการดูแลสุขภาพของประชาชน ที่จุดอพยพ ทั้งปัญหาการเจ็บป่วยทั่วๆไปและดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น และออกเยี่ยมบ้านประชาชนที่ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ หากในบ้านหลังใดมีผู้สูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรังอยู่ในบ้าน ก็จะติดธงสีเขียวไว้หน้าบ้าน เพื่อให้เป็นสัญญลักษณ์ในการให้ความช่วยเหลือก่อนเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน โดยจะออกปฏิบัติการทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้กระทรวงฯยังได้ระดมกำลังอสม.จากพื้นที่น้ำไม่ท่วม เช่น จาก จ.สมุทรสาคร กระบี่ อุดรธานี ไปช่วยพื้นที่น้ำท่วมด้วย เนื่องจากอสม.บางส่วน ถูกน้ำท่วมบ้านเช่นกัน
       
       สำหรับถุงเวชภัณฑ์ ที่อสม.ใช้ปฏิบัติงานภาคสนามครั้งนี้ ประกอบด้วย 17 รายการ อาทิ ยาแก้ปวดศีรษะ ยาแก้ท้องเสีย ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยากันยุง ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ชุดทำแผล ส่วนถุงยังชีพของอสม.ประกอบด้วย ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ไฟฉาย เชือก นกหวีด ยาหม่อง ยาดม โดยขณะนี้ได้จัดทำเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพส่งไปที่ไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว 10,000 ชุด
       
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขออกตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกวัน วันละกว่า 100 ทีม จนถึงขณะนี้รวม 4,905 ครั้ง พบผู้ป่วยสะสม 516 ,748 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด โรคผิวหนัง และปวดศีรษะ ยอดผู้รับบริการสะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จ.พิจิตร 112,524 ราย จ.นนทบุรี 82,182 ราย จ.นครสวรรค์ 60,280 ราย จ.สิงห์บุรี 44,805 ราย และ จ.นครนายก 27,753 ราย
       
       ส่วนการประเมินปัญหาสุขภาพจิต ได้ดำเนินการไปแล้วใน 35 จังหวัด เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 190 ครอบครัว มียอดรวมสะสม 88,334 ราย พบว่ามีความเครียดสูง 4,723 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,007 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 679 ราย และต้องติดตามดูแลพิเศษ 1,023 ราย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 ตุลาคม 2554

6945
รมว.สธ. รุดเยี่ยมน้ำท่วมที่ จ.นครสวรรค์ เร่งพัฒนา รพ.ตาคลีแ- ลาดยาว ให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รักษาผ่าตัดได้ รองรับผู้เจ็บป่วยในจังหวัดแทนรพ.สวรรค์ประชารักษ์
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดูแลผู้เจ็บป่วยในจังหวัดนครสวรรค์ ที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ และที่ศูนย์อพยพที่สนามกีฬากลางจังหวัด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อบ่ายวันนี้ (15 ตุลาคม 2554) ว่า ขณะนี้โรงพยาบาล (รพ.)ค่ายจิระประวัติ ซึ่งมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 90 เตียง แต่มีผู้ป่วยนอนรักษา 140 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 30 ราย ได้เร่งระบายผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นด้วย โดยระดับน้ำท่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ขณะนี้ยังสูงประมาณ 2 เมตร น้ำเริ่มทรงตัว มีศูนย์อพยพ 11 จุด รับประชาชนได้ประมาณ 8,000 คน แต่ละจุดจะมีหน่วยแพทย์ประจำ และดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ขยะ ส้วม สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด
       
       นายวิทยากล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ ได้ย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง และเปิดจุดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงที่บริเวณสี่แยกไป จ.พิษณุโลกใกล้โรงเรียนประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยวันละ 400 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบริการ โดยพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง 2 แห่งใน จ.นครสวรรค์ คือ รพ.ลาดยาว และ รพ.ตาคลี ให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป มีเตียงรับ 90-120 เตียง ทำผ่าตัดได้ เพื่อให้งานบริการสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา ระดมแพทย์เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลในจังหวัดภาคเหนือมาให้บริการ พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2554 นี้
       
       ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สภาพน้ำท่วมขังที่กระจายในวงกว้างขณะนี้ การส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยฉุกเฉินต้องใช้วิธีการขนส่งทางอากาศ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานหลัก ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจัดเครื่องบินสำรองอย่างน้อยวันละ 5 ลำ มีทีมกู้ชีพฉุกเฉินระดับสูงวันละ 10-15 ทีม ตั้งแต่วันที่ 8 -14 ตุลาคม 2554 ได้ลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ รวม 89 ราย ร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยร้อยละ 30 เป็นผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนามใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี 7 จุด คือ 1. ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด 2.ทุ่งนเรศวร 3.บางนมโค อ.เสนา 4. เทคนิคยานยนต์ อ.อุทัย 5.มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ประตูน้ำพระอินทร์ 6. หน้าห้างบิ๊กซี ถนนเอเชีย และ 7.ที่มหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัยหรือ วัดชูจิตธรรมมาราม
       
       ทั้งนี้ ทีมแพทย์ที่ประจำการในโรงพยาบาลสนาม มาจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีศักยภาพสูง ได้แก่ รพ.ราชบุรี ศิริราชพยาบาล รพ.รามาธิบดี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.อุตรดิตถ์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สุรินทร์ และ รพ.อุดรธานี ซึ่งจะสับเปลี่ยนให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 ตุลาคม 2554

หน้า: 1 ... 461 462 [463] 464 465 ... 535