แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 459 460 [461] 462 463 ... 536
6901

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม จากสถานการณ์มวลน้ำระลอกล่าสุด คาดว่ามีปริมาณราว 400 ล้านลูกบาศก์เมตร บริเวณพื้นที่รังสิต-ดอนเมือง กำลังจ่อทะลักเข้าพื้นที่ใจกลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ การค้า และการบริหารราชการของประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เร่งผันน้ำลงสู่อ่าวไทย 3 เส้นทางหลัก คือ 1.แม่น้ำเจ้าพระยา 2.ฝั่งตะวันตกด้านแม่น้ำท่าจีน 3.ฝั่งตะวันออกด้านแม่น้ำบางปะกง

ทีมข่าว "มติชน" เกาะติดการแก้วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 5 ทศวรรษ ด้วยการตะลุยดูเส้นทางผันมวลน้ำก้อนมหึมาที่จ่ออยู่เหนือกรุงเทพมหานครทางด้านประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางการระบายน้ำไปยังแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลด้าน จ.สมุทรสาคร

ทีมข่าว "มติชน" ใช้เส้นทางด่วนพระราม 2 เข้าถนนเอกชัย สู่ตัวเมืองมหาชัย ผู้คนที่นั่นยังใช้ชีวิตเป็นปกติ ตลาดอาหารทะเลยังคงเปิดขาย โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเดินเครื่องผลิตสินค้า ไม่พบเห็นการก่อกระสอบทรายหรือคันดินกั้นบ้านเรือนเหมือนชาว กทม.

สอบถาม "จรินทร์ สงวนทรัพย์" ชาวมหาชัย ได้ความว่า รู้ข่าวจะมีการผันน้ำมาทางสมุทรสาคร คิดว่าถ้าน้ำมาคงต้องยอม เพราะจะให้น้ำท่วมกรุงเทพฯไม่ได้

"ถ้าน้ำท่วมที่มหาชัยอาจสูงแค่ระดับหัวเข่าหรือน่อง ไม่นานก็ลดลง เพราะอยู่ติดทะเลระบายน้ำได้ง่าย ผมคิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับตัวเองไม่ได้ตื่นตัวหรือกลัวอะไรแต่ก็ไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือโดยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงประมาณ 1 เมตร สำหรับน้ำท่วมเมืองมหาชัย เกิดขึ้นเป็นปกติตามสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลง แต่ท่วมขังไม่นานเท่าไหร่" จรินทร์กล่าว

ทีมข่าว "มติชน" สำรวจประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย ซึ่งมีประตู 6 บานสำหรับระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง

จากนั้นเดินทางทวนแม่น้ำท่าจีน โดยใช้ถนนสวนส้มเลียบคลองสวนส้ม มาถึงตัว อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำคลองภาษีเจริญ พบว่าเจ้าหน้าที่กำลังประชุมอย่างเคร่งเครียดเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และจากการสำรวจพบว่าน้ำในคลองภาษีเจริญตอนนี้ยังอยู่ในระดับปกติ ต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 เมตร เนื่องจากน้ำทางเหนือยังผันมาไม่ถึง อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมพร้อมผันน้ำออกแม่น้ำท่าจีน มีเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง และติดตั้งเพิ่มอีก 5 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 11 เครื่อง

"พิสิษฐ์ พิบูลย์สิริ" ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในสมุทรสาครตอนนี้ ประเมินสถานการณ์เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง-รับฟังข่าวสาร 2.ยกของขึ้นที่สูง และ 3.การอพยพ สำหรับในพื้นที่คลองภาษีเจริญ ช่วง อ.กระทุ่มแบน ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ 2 โดยเริ่มมีการผันน้ำจากทางเหนือเข้าสู่คลองแล้ว เป็นน้ำที่รับออกมาจากคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านคลองทวีวัฒนา โดยจะผันน้ำออกได้หลายเส้นทาง อาทิ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน, คลองสี่วาตากล่อม, คลองแคลาย, คลองบางน้ำจืด, คลองน้อย, คลองมะเดื่อ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 30 สายที่จะลงสู่คลองมหาชัย และจะผันออกสู่แม่น้ำท่าจีนตรงปากคลองมหาชัยอีกที

"สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ชาวกระทุ่มแบนเป็นห่วง ตอนนี้ได้ประสานงานกับทางเทศบาลรายงานให้ทราบ คิดว่าน่าจะระบายน้ำทั้งระบบได้ทัน แต่อยากให้ประชาชนช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ ขอความร่วมมือละเว้นการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลอง เพราะอาจขวางทางน้ำ หากน้ำท่วมจริงคิดว่าสามารถระบายน้ำได้เร็ว เพราะว่าอยู่ติดปากอ่าวไทย" พิสิษฐ์กล่าว

ทีมข่าว "มติชน" สำรวจในตัว อ.กระทุ่มแบน พบว่าที่ทำการเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน มีประชาชนและเจ้าหน้าที่กำลังกรอกทรายใส่กระสอบ สำหรับเตรียมรับน้ำท่วม นอกจากนี้ ในตลาดกระทุ่มแบน ยังพบว่าร้านค้าหลายร้านการก่อกำแพงอิฐบล็อก และกระสอบทรายสูงเกือบ 50 เซนติเมตร เพื่อปิดทางน้ำ ชาวกระทุ่มแบนตื่นตัวกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสอบถามจาก "พยงค์ เข็มวัน" ชาวสวนในกระทุ่มแบน กล่าวว่า ติดตามข่าวสารน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง รู้สึกกลัวมาก เนื่องจากเป็นบ้านสวนชั้นเดียวอยู่ติดคลอง จึงทำแนวกระสอบทรายกั้นรอบบ้านและยกของขึ้นที่สูง นอกจากนี้ยังมีเรือเตรียมไว้ด้วย ที่บ้านอยู่กันสามคน พ่อ แม่ ลูกวัย 5 ขวบ มีการตุนอาหารไว้เหมือนกัน นอกจากนี้เริ่มมีการฝากสิ่งของไว้ที่โรงเรียนต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าทรัพย์สินให้ และทางเทศบาลยังประกาศสถานการณ์น้ำให้ทราบทุกวันๆ ละ 3 รอบ ทั้งยังเดินเคาะบอกถึงประตูบ้านอีกด้วย

"สำหรับตัวเอง รู้สึกกลัวมาก เพราะเป็นบ้านชั้นเดียว ก็คุยกันกับแฟนว่าถ้าน้ำสูงมากก็คงเอาชีวิตรอดไว้ก่อน" พยงค์กล่าวด้วยสีหน้าเศร้าสลด

ขณะที่ทีมข่าว "มติชน" กำลังเดินทางออกจากกระทุ่มแบน ปรากฏว่ามีฝนตกหนัก โดยใช้เส้นทางถนนพุทธมณฑลสาย 4 ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายศาลายา พบว่าบนถนนมีน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยสร้างคันดินกั้นโดยรอบพื้นที่มหาวิทยาลัยสูงกว่า 2 เมตร

ทีมข่าว "มติชน" เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ของคลองมหาสวัสดิ์ โดยใช้ถนนเลียบทางรถไฟ ซึ่งก่อนเข้าสู่โครงการมีน้ำขังถนนความสูง 30 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาว

"ชัยพร พรหมสุวรรณ" ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล เปิดเผยว่า ระดับน้ำในพื้นที่ของโครงการ โดยเฉพาะในคลองมหาสวัสดิ์ตอนนี้ เป็นมวลน้ำที่เอ่อล้นมาจาก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไหลมารวมกันเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา และระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 15 เซนติเมตร กระทั่งตอนนี้ ระดับน้ำสูงเท่ากับคันกั้นน้ำของ กทม.แล้ว อีกทั้งมวลน้ำนี้ยังทำให้คันกั้นน้ำแตก 2 จุดตามที่เป็นข่าวคือ บริเวณสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ และวัดปุรณาวาส จนทำให้ชุมชนแถวนั้นได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม

"สำหรับน้ำจากฝั่งตะวันตกของ กทม. ที่อยู่เหนือคลองมหาสวัสดิ์ตอนนี้ สามารถระบายออกสู่ทะเลได้ 3 ทาง คือ 1.ลงสู่แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีสูบแห่งนี้ ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม/วินาที จำนวน 6 เครื่อง และติดตั้งเพิ่มอีก 5 เครื่อง 2.เปิดประตูระบายน้ำฉิมพลี เพื่อให้น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ไหลลงสู่คลองทวีวัฒนา ไหลต่อสู่คลองภาษีเจริญ แล้วระบายให้ทางมหาชัยทำการผันน้ำลงสู่อ่าวไทยต่อไป โดยตอนนี้เปิดประตูสูง 1.8 เมตรแล้ว และน้ำไหลแรงมาก เพราะระดับต่างกันกว่า 1 เมตร และ 3.ทางแม่น้ำเจ้าพระยา" ชัยพรกล่าว

ชัยพรกล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ระบายจากคลองมหาสวัสดิ์สู่คลองทวีวัฒนาและสู่คลองภาษีเจริญ ตอนนี้มีการเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ด้วยการติดเครื่องผลักดันน้ำ 4 จุด และเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรืออีก 2 ลำ ช่วยดันน้ำ สำหรับ แนวคันกั้นน้ำของคลองมหาสวัสดิ์ที่พังลงตอนนี้ ทางเจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมอย่างเต็มที่ เพื่อให้น้ำกลับมาไหลตามระบบ แต่เนื่องจากมีมวลน้ำปริมาณมากเหลือเกิน

สถานการณ์น้ำตอนนี้ ชัยพรคาดว่าจะกลับมาเป็นปกติหลังจากผ่านปีใหม่ไปแล้ว

ระบบระบายน้ำทางด้านตะวันตก มีปัญหาหลายประการ เช่น น้ำที่ผันลงสู่แม่น้ำท่าจีนไม่สามารถระบายสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเเม่น้ำท่าจีนมีความคดเคี้ยวมาก อีกทั้งบางตอนยังตื้นเขิน นอกจากนี้ยังไม่มีคลองระบายน้ำที่เชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ ดึงน้ำลงไปทางใต้ มีคลองเพียงเส้นเดียวเท่านั้นคือ คลองทวีวัฒนา แต่ก็พบปัญหาอีกว่า ตอนปลายของคลองทวีวัฒนาที่เชื่อมกับคลองภาษีเจริญที่อยู่ในเขต กทม.นั้น มีประชาชนรุกล้ำพื้นที่คลองจนทำให้ปลายทางของคลองแคบและตื้นเขิน น้ำไม่สามารถระบายได้อย่างที่ต้องการ ต่างกับช่วงต้นและกลางของคลองมหาสวัสดิ์ที่มีความกว้างค่อนข้างมาก

ชัยพรกล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้ทุกคนได้คิดถึงระบบการระบายน้ำและความสำคัญของคลองสาขาต่างๆ ที่สามารถช่วยผันน้ำ ปกติน้ำทางแม่น้ำท่าจีนไม่เคยเอ่อท่วมอย่างนี้ เพราะสามารถไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ตอนนี้ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่างสร้างขวางทางน้ำ จึงเกิดสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่

สำหรับการผันน้ำออกสู่ทะเลทางฝั่งตะวันตกของ กทม. มวลน้ำที่อยู่ทางเหนือ กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งปทุมธานีและนนทบุรีมีประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. จากเว็บไซต์ของกรมชลประทานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ระบุไว้ว่า ศักยภาพในการผันน้ำลงสู่อ่าวไทยทั้งระบบทางฝั่งตะวันตกทั้งลงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 32.18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

"ชาว กทม.นนทบุรี-ปทุมธานี ที่จมมิดใต้บาดาลอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งคนกรุงฝั่งธนบุรีที่น้ำกำลังจ่อคิวท่วม ลองบวกลบคูณหารเอาเองแล้วกันว่าจะต้องใช้เวลาผันน้ำก้อนใหญ่ขนาดนี้กี่วัน!"

หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม  2554

6902

ช่วงเช้าที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่รังสิตบริเวณคลอง 9-10  เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ว่า วันนี้ได้สั่งให้คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องการระบายน้ำและกรมชลประทาน ไปสำรวจ 5 จุดที่มีข้อเสนอให้เจาะถนนเพื่อระบายน้ำ และจะมีการทดลองเจาะ 1 จุด

เบื้องหลังแนวคิดเจาะถนนระบายน้ำ มีที่มาอย่างไร ?

เมื่อวันที่27 ตุลาคม  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและทรัพยากรน้ำชาวไทย นำโดยนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานบริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ขอให้เจาะถนนขวางทางน้ำก้อนมหึมาจ่ออยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร 6 สาย

1.ถนนนิมิตใหม่

2.ถนนประชาร่วมใจ

3.ถนนราษฎร์อุทิศ

4.ถนนสุวินทวงศ์

5.ถนนเชื่อมสัมพันธ์

6.ถนนร่วมพัฒนา

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยระบายน้ำออกจาก กทม.ราว 120 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน มากกว่าการระบายผ่านระบบการระบายน้ำผ่านคลองกรุงเทพฯทั้งหมดถึง 4 เท่า

1.ข้อมูลสำคัญ

ปี 2554 มีปริมาณมวลน้ำคลอดฤดูฝน 36,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่เคยทุกปี ปี 2538 เท่ากับ 25,000 ล้าน ลบ.ม.

2.ปัญหาเฉพาะหน้า

ทางตอนเหนือกรุงเทพฯจมน้ำไปแล้ว น้ำรอท่วมเข้ากรุงเทพฯอีก 12,000 ล้าน ลบ.ม.

3.การแก้ไขที่เสี่ยงต่อเกิดวิกฤตการณ์ในกรุงเทพฯ

การแก้ปัญหามีเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ คือ นำน้ำเข้ากลางกรุงเทพฯแล้วสูบออกลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะ

การระบายของสถานีสูบน้ำในกรุงเทพฯทั้งหมดของสถานีสูบน้ำ พระโขนง พระรามเก้า บางเขน บางซื่อ มีจำนวนเพียง 30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อีกทั้งยังเเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เพราะหากจะให้มีน้ำเพียงพอต่อการสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำเป็นการยากที่จะควบคุมผ่านระบบคลองของกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยทำงานลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากการเร่งสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ระบายน้ำเต็มกำลังอยู่แล้ว กรณีนี้ปริมาณน้ำจะรวมสะสมยกตัวมากทางตอนเหนือคลองของกรุงเทพฯ นั่นคือพื้นที่บริเวณต้นคลองจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ หากควบคุมไม่ได้เขตเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดจะเสียหายอย่างคาดการณ์ไม่ได้

4.แนวทางที่เป็นทางแก้ปัญหาที่นำเสนอ

ต้องผันน้ำออกไปทางบริเวณทุ่งตะวันออกเป็นบริเวณฟลัดโฟล์ว ( FLOOD FLOW) ปกติของการตั้งรับน้ำท่วมของกรุงเทพฯ

นั่นคือเร่งการระบายน้ำให้ออกทุ่งตะวันออก เพราะมีสถานีสูบน้ำลงคลองชายทะเลรวมกับการระบายผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตลงแม่น้ำบางปะกงและการระบายผ่านสถานีสูบน้ำลงแม่น้ำนครนายก รวมคลองสูบน้ำนครนายก รวมคลองสูบน้ำสุวรรณภูมิสามารถระบายผ่านเครื่องสูบน้ำได้ปริมาณน้ำถึง 60 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน รวมปริมาณน้ำที่ไหลลงทะเลตามแนวฟลัดโฟล์วปกติ จะสามารถระบายได้มากกว่า 120 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อัตราการระบายต่อวันมากกว่าการระบายผ่านระบบการระบายน้ำผ่านคลองกรุงเทพฯทั้งหมดถึง 4 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการเสียหายทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจสำคัญ

5.การดำเนินการให้สัมฤทธิผลคือ

5.1 จัดการการป้อนน้ำให้กับระบบระบายน้ำของคลองเลียบชายทะเลตลอดแนว เนื่องจากเมื่อวานวันที่ 26 ตุลาคม 2554 การสุ่มตรวจการทำงานเครื่องสูบน้ำจำนวน 89 เครื่อง บริเวณดังกล่าวพบว่ามีการสูบน้ำเพียง 29 เครื่อง หรือร้อยละ 30 เท่านั้น และเดินเครื่องไม่เต็มกำลัง เนื่องจากไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอในการสูบน้ำ จากการสะสมของน้ำที่รอท่วมกรุงเทพฯ บริเวณเหนือเขตสายไหมและถนนหทัยราษฎร์ และถนนร่มเกล้า

ดังนั้น ต้องเร่งระบายน้ำออกแนวทุ่งตะวันออก โดยการที่เร่งระบายปริมาณน้ำมหาศาลที่คาดว่าจะเอ่อท่วมในเร็ววันนี้ ข้ามถนนเข้าสู่เขตรามอินทรา ลาดพร้าว วังทองหลาง ที่มีน้ำท่วมเป็นหย่อมๆ อยู่แล้ว (จะทำให้น้ำที่ท่วมดอนเมืองอยู่ขณะนี้ลดความรุนแรงลงทันทีด้วย) การนี้จักทำให้น้ำเดินทางออกไปทางทุ่งตะวันออกลงคลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เข้าสู่ระบบคลองของคลองเลียบชายทะเลที่เป็นที่ตั้งของเครื่องสูบน้ำและแนวฟลัดโฟล์วจัดการระบายน้ำในแนวนี้จะยังเป็นการเบี่ยงน้ำหลบนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังด้วย

5.2 การระบายน้ำโดยคลองระบายสุวรรณภูมิ เมื่อน้ำมาถึงถนนบางนา-ตราดเปิดน้ำให้ลงสู่คลองที่ 26 แทน การบังคับน้ำเช่นนี้จะทำให้สามารถควบคุมการไหลไม่ให้ทำความเสียหายให้นิคมอุตสาหกรรมบางพลีได้ดีกว่าปล่อยให้เอ่อล้นแบบควบคุมทิศทางไม่ได้

5.3 ขอรับการสนับสนุนยืมรถขุดดินหรือแบ๊กโฮขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในภาคเอกชน เช่น อิตาเลียนไทย ช.การช่าง ซีพโก้ โดยยินยอมให้ขยายระยะในสัญญางานที่ทำอยู่กับภาครัฐและเชิญชวนภาคเอกชนสนับสนุนขยายสัญญาก่อสร้างสำหรับบริษัทที่ให้ความร่วมมือแนวทางนี้

มติชนออนไลน์ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

6903

...

ภาพเปรียบเทียบ อยุธยาก่อนและหลังน้ำท่วม
โดย EO-1, Advanced Land Image [ NASA Earth Observatory ]
By Holli A. Riebeek and her team at NASA-Earth Observatory, Steve Chein,
David Mclaren, Daniel Tran and Joshua Doubleday at NASA-JPL

http://www.thaiflood.com/ 28 ตค 2554

6904


1...กรุงเทพ
2...สมุทรปราการ
3...สมุทรสาคร
4...สมุทรสงคราม
5...นครปฐม
6...นนทบุรี
7...ปทุมธานี
8...พระนครศรีอยุธยา
9...สุพรรณบุรี
10..อ่างทอง
11..สิงห์บุรี

เสียชีวิต 377 ราย สูญหาย 2 คน กระทบ 63 จังหวัด 641 อําเภอ
ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,942,190 ครัวเรือน 9,556,462 คน

ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย - 28 ต.ค. 54

http://bangkok.thaiflood.com/

6905

กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ให้ความช่วยเหลือผู้มีสิทธิตามกฎหมาย อาทิ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และบุคคลในครอบครัว ให้สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชนได้นอกเหนือจากสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระหว่างเกิดเหตุอุทกภัย         
                                                                                                                                           
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้น ทำให้สถานพยาบาลของรัฐหลายแห่งไม่สามารถให้บริการได้ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจึงได้ขอ          ความร่วมมือไปยัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด/บำนาญ และบุคคลในครอบครัว ที่เป็นผู้ประสบภัย สามารถเข้ารักษาและเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนในเครือข่ายของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 57 แห่ง เพื่อมิให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข  สำหรับหลักเกณฑ์ที่ให้ความคุ้มครอง คือ สามารถเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในได้ทุกโรค โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วยระบบเหมาจ่ายตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) เช่นเดียวกับ สปสช.

“เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยและสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่เกิดปัญหาอุทกภัย ซึ่งมีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปรักษาหรือเจ็บป่วยกระทันหัน หรือในกรณีที่เป็นอันตรายถึงชีวิตต้องได้รับการส่งต่อให้เข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนก็ให้อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน” นายวิรุฬ กล่าว

โซน จังหวัด โรงพยาบาล โทรศัพท์

โซน 1
นนทบุรี
รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ 02-594-0020-6     
รพ.วิภาราม - ปากเกร็ด 02-960-9655   
ปทุมธานี
รพ.แพทย์รังสิต 02-531-2151-60     
รพ.ภัทร-ธนบุรี 02-901-8400-8     
รพ.เอกปทุม 02-996-2211-15     
รพ.นวนคร 02-529-4533     
รพ.ปทุมเวช 02-567-1991-9   
อยุธยา
รพ.ราชธานี 035-335-555   
รพ.ศุภมิตรเสนา 035-289-572-7     
รพ.นวนคร อยุธยา 035-315-100-99   
สระบุรี
รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี 036-315-555

โซน 2
ฉะเชิงเทรา
รพ.จุฬารัตน์ 11 038-538-511-3     
รพ.โสธราเวช 038-812-702-19   
กรุงเทพตะวันออก
รพ.สายไหม 02-991-8999     
รพ.นวมินทร์ 1 02-918-7604-8     
รพ.นวมินทร์ 9 02-518-1818   
รพ.บี.แคร์ 02-523-3359-71     
รพ.ลาดพร้าว 02-530-2244     
รพ.วิภาราม 02-722-2500     
รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 02-729-3000     
รพ.จุฬารัตน์ 3 02-769-2900     
รพ.จุฬารัตน์ 9 02-738-9900-9     
รพ.บางนา 2 02-740-1800-6     
รพ.รวมชัยประชารักษ์ 02-708-7500-10

โซน 3
แถบตะวันตก
รพ.มหาชัย 1 034-424-990     
รพ.มหาชัย 2 02-810-3442     
รพ.แม่กลอง 034-715-001-5     
รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย 02-431-0070     
รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร 034-826-708     
รพ.เกษมราษฎร์ บางแค 02-454-1915-8     
รพ.บางไผ่ 02-457-0086     
รพ.นครธน 02-416-5454     
รพ.บางมด 02-416-0049     
รพ.บางปะกอก 9 02-877-1111     
รพ.พระราม 2 02-451-4920

โซน 4
สมุทรปราการ
รพ.สำโรงการแพทย์ 02-361-0070-9     
รพ.เมืองสมุทร 02-173-7772     
รพ.เมืองสมุทรปูเจ้า 02-754-2800-9     
รพ.เปาโลสมุทรปราการ 02-389-2555     
รพ.รัทรินทร์ 02-323-2991-9     
รพ.ศิครินทร์ 02-366-9900     
รพ.บางนา 1 02-393-8534     
รพ.เซ็นทรัลปาร์ค 02-312-7261-9

โซน 5
กรุงเทพชั้นใน
รพ.กล้วยน้ำไท 02-769-2000     
รพ.คามิลเลียน 02-391-0136     
รพ.แพทย์ปัญญา 02-314-0726-9     
รพ.เปาโลเมโมเรียล 02-271-7000     
รพ.เพชรเวช 02-318-0080-1     
รพ.มเหสักข์ 02-635-7123-7     
รพ.เดชา 02-246-0137     
รพ.เปาโล เมโมเรียล โชคชัย 4 02-514-2273-5     
รพ.ราษฎร์บูรณะ 02-427-0175-9   
รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น 02-910-1600     
รพ.มิชชั่น 02-281-1422   
รพ.ยันฮี 02-879-0300     
รพ.หัวเฉียว 02-223-1351     
รพ.มงกุฎวัฒนะ 02-574-5000-9 

ข่าวกรมบัญชีกลาง 26  ตุลาคม  2554

6906
    เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ต.ค. นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.กระทรวงสาธารณสุข และคณะได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลราชบุรี โดยมีนายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีที่เกษียณอายุราชการ และนายแพทย์สมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผอ.การโรงพยาบาลราชบุรี คอยต้อนรับและเข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ของการรับผู้ป่วยต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ภาคกลาง และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 76 ราย โดยอยู่ที่
โรงพยาบาลราชบุรี จำนวน 36 ราย
โรงพยาบาลบ้านโป่ง 13 ราย
โรงพยาบาลดำเนินสะดวก 13 ราย
โรงพยาบาลโพธาราม 13 ราย
และโรงพยาบาลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม อีกจำนวน 1 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยหนัก โดยให้นโยบายว่าขอให้ช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และทางกระทรวงฯนั้นก็จะสนับสนุนงบประมาณมาให้

    จากนั้นได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยตามอาคารที่ผู้ป่วยรับการรักษาอยู่พร้อมกับให้กำลังใจญาติๆ ของผู้ป่วยที่มาคอยเฝ้าดูแล ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่ได้ทอดทิ้งและจะคอยติดตามสถานการณ์ตลอด รวมทั้งให้ทางจังหวัดราชบุรีได้ช่วยจัดการเรื่องที่พักให้กับญาติของผู้ป่วยที่ต้องมาคอยเฝ้าดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ พร้อมกับเดินทางไปเยี่ยมผู้อพยพที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย ที่สถาบันสังฆาธิการ ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อให้กำลังใจและดูสภาพความเป็นอยู่ด้วย

เนชั่นทันข่าว 28 ตค. 2554

6907
โรงพยาบาลภูมิพลเร่งส่งต่อผู้ป่วยหนัก 52 รายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งโรงพยาบาลอุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก เพราะขณะนี้ออกซิเจนเริ่มหมด เนื่องจากน้ำเข้าท่วมภายในโรงพยาบาล อาจส่งผลต่อเครื่องผลิตออกซิเจนใต้อาคาร
        ขณะที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลยังพร้อมรับรักษาผู้ป่วย ขณะนี้เตรียมแผนสูบน้ำ และทำแนวกระสอบทรายป้องกัน แต่ที่น่าห่วงคือ บุคลากรในโรงพยาบาลเริ่มอ่อนล้า

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ตุลาคม 2554

6908
รับมือน้ำท่วมกรุง มติ ครม.ให้หน่วยงานราชการหยุดวันที่ 27,28,31 ต.ค. แต่ต้องเป็นข้าราชการต่ำกว่าซี 9 ที่เหลือให้ทำงานช่วยประชาชน ส่วนแบงก์-ตลาดหุ้นไม่มีวันหยุดพิเศษ
       
       นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 27,28, และ 31 ตุลาคมนี้เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งหากรวมวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 29 และ 30 จะทำให้หยุดยาว 5 วันในพื้นที่ 21 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม กำแพงเพชร ตาก และกรุงเทพมหานคร
       
       ในส่วนของข้าราชการที่ต่ำกว่าซี 9 สามารถหยุดได้ แต่หากคนใดทำหน้าที่ดูแลผู้ประสบอุทกภัยก็ขอให้มาทำงาน ขณะที่ผู้บริหารระดับซี 9 ขึ้นไปจะต้องอยู่ช่วยงานของรัฐบาล ด้านพนักงานการไฟฟ้าและประปา ต้องทำงานเกี่ยวกับน้ำนั้นต้องทำงานต่อ
       
       พร้อมกันนี้ ครม.ขอความร่วมมือบริษัทที่ผลิตอาหาร และของอุปโภคที่จำเป็นไม่ให้หยุดงาน เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ส่วนสถานที่พักพิงประชาชนที่อพยพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเตรียมพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถรองรับประชาชนได้ 10,000 ครอบครัว ทั้งนี้รายละเอียดให้สอบถามมายังสายด่วน หมายเลข 1111 กด 5 ส่วนกระทรวงแรงงานแจ้งว่า พื้นที่วัดไร่ขิง รองรับประชาชนได้ 1,000 คน เป็นต้น
       โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า จากสภาวการณ์ที่ลมใต้พัดเข้าสู่ฝั่งทำให้น้ำทะเลหนุนอีก 30-50 เซนติเมตร ในแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ปรับแผนให้เร่งระบายน้ำ โดย นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปิดประตูระบายน้ำพระราม 6 เพื่อให้น้ำเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยที่สุด และต้องทำความเข้าใจกับชาวชัยนาทในเรื่องนี้ด้วย ส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที แจ้งให้การไฟฟ้าฯ เร่งตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วม เพราะมีชาวบ้านหลายรายโทรศัพท์แจ้งให้ตัดไฟ
       
       ***แบงก์-ตลาดหุ้นไม่มีวันหยุดพิเศษ
       นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังหารือกับตัวแทนธนาคารพาณิชย์ทั้งไทย และต่างประเทศ ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 27-31 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการใน 21 จังหวัดที่เกิดอุทกภัย รวมถึง กทม.เนื่องจากคาดว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงดังกล่าว ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีการประกาศวันหยุดสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษช่วง 27-31 ต.ค.แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ
       
       "ธปท.จะพยายามพิจารณาให้การปิดทำการธนาคารทั้งหมดเป็นด่านสุดท้าย เพราะเกรงว่าจะกระทบการค้าระหว่างประเทศ และที่ผ่านมาสาขาธนาคารที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมก็ได้ปิดทำการไปแล้ว ขณะที่ระบบโดยรวมยังทำงานอยู่ตามปกติ" นายประสารกล่าว.
       
       ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอแจ้งว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ตามปกติในวันที่ 26 - 28 และวันที่ 31 ตุลาคม 2554

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 ตุลาคม 2554
...........................................................................
ความคิดเห็นที่ 6    
ขอถามหน่อยเหอะว่า ไอ้ซี9 ขึ้นไปเนี่ยมันมีปัญญาทำอะไรได้ ถ้าไม่มีลูกน้องคอยรับคำสั่งดำเนินการ
..........................................................................
ความคิดเห็นที่ 30          
รับราชการแบบปกติ ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ มีโอกาสได้ ซี 8 เป็นปกติ แต่ ซี 9 เป็นตำแหน่งของนักการเมือง ได้มาต้องแลกเปลี่ยน ดังนั้นช่วงนี้ก็สั่งได้แต่ ซี 9 ขอคืนจากซี 9 เท่านั้น

อ้อ ดูเหมือนอาจจะมีกระทรวงสาธารณสุขที่พวกหมอๆ ตำแหน่งลื่นไหลไป ซี 9 ได้ อาจจะ 10 เป็นผู้ทรงด้วย แต่กระทรวงอื่นๆ ไม่มีทาง ซี 9 ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนทั้งนั้น
.........................................................................
ความคิดเห็นที่ 27    
ซี 9 ในจังหวัดที่สั่งให้เป็นวันหยุด งงจนต้องเกาไข่แกรกๆ เหลือกรูคนเดียวทำไรได้วะ
กาแฟกรูก็ชงเองไม่เป็น เปิดปิดคอมพ์กรูก็ไม่เคยทำ สวิทช์ไฟอยู่ไหนบ้างกรูไม่เคยรู้ ภารโรงไม่มาแล้วกรูเข้าออฟฟิสยังไง
........................................................................
ความคิดเห็นที่ 10       
แล้วพนักงานเอกชนล่ะครับ มันไม่ใช่คนเหมือนกับ ข้าราชการเหรอครับ
พนักงานเอกชน อาศัยอยู่ในซิมการ์ดเหรอครับ ถึงหยุดไปเตรียมพร้อมมั่งไม่ได้

ไม่ใช่อยากจะหยุด แต่มันจำเป็นต้องหยุด แต่พอหยุดไปแล้ว นายจ้างมันหักเงิน ..

ปล่อยน้ำท่วมบ้าน แล้วมาทำงาน ก็เสียเงินซ่อมบ้าน
อยู่กับบ้าน ซ่อมบ้าน เสียเงิน โดนหักเงินเดือน เสียเงิน 2 เด้ง !!

มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
........................................................................

6909
  “การขุดคลองเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินไทยนิยมทำมาตั้งแต่ครั้งโบราณ”
       
       ในอดีตนับ 100 กว่าปีมาแล้ว คนกรุงเทพฯ จะไปไหนต้องใช้เรือเป็นพาหนะทั้งสิ้น เพราะสมัยนั้นกรุงเทพฯ ไม่มีถนน มีแต่คลอง จึงพูดได้ว่า “คืบก็คลอง ศอกก็คลอง” จนกรุงเทพฯได้รับการขนานนามว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ล้วนแต่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรไปมา ที่คลาคล่ำไปด้วยเรือแพนานาชนิดแล่นกันขวักไขว่ในท้องน้ำ เช่นเดียวกับ “เมืองเวนิส” ในประเทศอิตาลี
       
       มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า เป็นผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางน้ำหรือทางบก และภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีแบบเบาริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา สถานกงสุลต่าง ๆ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการติดต่อหรือเดินทางสัญจร ไปมาระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการคมนาคม จึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นหลายคลองด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “คลองมหาสวัสดิ์”
       
       โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุด คือ “คลองมหาสวัสดิ์” ขึ้น เพื่อเชื่อมระหว่างแม่น้ำนครชัยศรีและแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งอ้อยและน้ำตาลจากนครชัยศรีมาสู่โรงงาน โดยให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุนนาค) และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุด และเริ่มลงมือขุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2402 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2403 พร้อมพระราชทานนามว่า "คลองมหาสวัสดิ์"

       “คลองมหาสวัสดิ์” หรือ “คลองชัยพฤกษ์” เป็นคลองที่เริ่มต้นจากคลองลัดบางกรวย หรือคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดชัยพฤกษมาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอพุทธมณฑล ไปสิ้นสุดที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมความยาว 28 กิโลเมตร
       
       เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้ให้สร้างศาลาสำหรับประชาชนพักเป็นระยะไปตามริมคลองทุก 4 กิโลเมตร จำนวน 7 ศาลา จนเป็นที่มาของชื่อศาลาต่างๆในปัจจุบัน เช่น ศาลาหลังหนึ่งให้เขียนตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ติดไว้เป็นการกุศล ต่อมาเรียกกันว่า "ศาลายา" ได้กลายเป็นชื่อตำบลและสถานีรถไฟ และศาลาอีกแห่งหนึ่งสร้างในการกุศลปลงศพคนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกกันว่า "ศาลาทำศพ" ปัจจุบันกลายเป็น "ศาลาธรรมสพน์" และเป็นชื่อตำบลกับสถานีรถไฟในเขตตลิ่งชัน ธนบุรี
       
       ในคลองมหาสวัสดิ์ยังมีประตูน้ำที่กรมชลประทานสร้างไว้ 2 ประตู เพื่อให้ระดับน้ำในคลองสูงพอแก่การเดินเรือได้ตลอดปี คือ “ประตูน้ำมหาสวัสดิ์” อยู่ทางด้านที่จะออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีน ห่างจากสถานีงิ้วรายประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างในปีพ.ศ. 2494 และ “ประตูน้ำฉิมพลี” ที่อยู่ด้านคลองบางกอกน้อยห่างจากปากคลองทางด้านวัดชัยพฤกษมาลา ประมาณ 8 กิโลเมตร

       ซึ่งในปัจจุบัน “คลองมหาสวัสดิ์” นอกเหนือจากเป็นคลองประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน มีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระดับน้ำในทุกฤดูกาลแล้ว ยังเป็นคลองที่ใช้น้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาของกรุงเทพฯ จึงนับได้ว่าเป็นคลองที่ยังคงสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ระบบนิเวศน์ทางน้ำที่สมบูรณ์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญด้วย
       
       ไม่เพียงเท่านั้น ที่ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ หมู่ที่ 1 บ้านสุวรรณาราม ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน-เชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐม จนเมื่อปี 2550 สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรคลองมหาสวัสดิ์แห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards 2007) เป็นการการันตีในคุณภาพ

การเตรียมรับมือกับน้ำที่เอ่อล้นริมคลองมหาสวัสดิ์
       แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ คลองมหาสวัสดิ์ที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนชื่อดัง ก็กลับกลายเป็นคลองที่ต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยหลังจากที่คันกั้นน้ำริมคลองพังเสียหายหลายจุด ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอก และบ้านเรือนชาวบางกรวย และชาวศาลายาเสียหาย
       
       มนูญ นราสดใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ศาลายา และประธานวิสาหกิจชุมชนล่องเรือชมสวนคลองมหาสวัสดิ์ เล่าให้ฉันฟังว่า ในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนล่องเรือคลองมหาสวัสดิ์นี้ ได้มีการชะลอตั้งแต่เดือนที่แล้ว ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาเมื่อประมาณวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นกลุ่มของฝรั่งที่ซื้อทัวร์ไว้นานแล้ว แม้ช่วงนั้นน้ำจะยังไม่ท่วมมาก แต่ก็ต้องมีการลุยน้ำกันไป เที่ยวได้บางส่วน เหมือนเป็นการมาดูระดับน้ำมากกว่า

       “เรามีการวางแผนรับมือก่อนหน้านี้ในภาคการเกษตร ตั้งคันดินในไร่สวน เวลานั่งรถอีแต๋นไปจะเห็นว่าเป็นเหมือนเขื่อนอีกชั้นหนึ่ง ป้องกันหมู่1 โดยแจ้งเตือนชาวบ้านตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทำกระสอบทรายป้องพื้นที่อยู่อาศัย แต่บ้านเรือนส่วนมากอยู่ริมคลองไม่สามารถป้องกันได้”
       
       ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า “ตอนนี้น้ำท่วมเต็มพื้นที่ ทั้งที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและพื้นที่สวน โดยเฉพาะที่บ้านสุวรรณารามระดับน้ำสูงมาก บางพื้นที่อยู่ระดับเอวบางพื้นที่อยู่ระดับอก เทียบได้กับช่วงน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ.2538 เลยก็ว่าได้”

       “แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นความเดือนร้อนโดยทั่วไป หลายพื้นที่หลายจังหวัดโดนเหมือนกัน แม้ว่าเราจะป้องแล้วทั้งกระสอบทรายในส่วนที่อยู่อาศัย และทำคันดินป่องพืชสวนไร่นา แต่ระดับน้ำขนาดนี้ก็ต้านไม่ไหวจริงๆ ส่วนไหนที่พอประคองได้ไม่เสียหายมากนักก็ต้องประคองเต็มที่”
       
       ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวทิ้งทายไว้ว่า “หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยคลี่คลาย อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาชาวบ้านหลังจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าเราสามารถประคองสวนต่างๆให้อยู่ได้ ไม่เสียหายมากนัก ก็จะต้องฟื้นฟูให้เกิดการท่องเที่ยวต่อไป เพราะชาวบ้านที่อยู่แถบนี้ทำสวนเป็นอาชีพหลักก็จริง แต่ก็มีการท่องเที่ยวชุมชนเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ทั้งทางตรง เช่น การบริการเรือ และโดยการดึงเงินเข้ามาหมุนเวียนในชุมชน ก็ต้องเร่งฟื้นฟูทั้งหมด”
       
       นี่คือสถานการณ์ส่วนหนึ่งของคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งในขณะนี้ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเป็นพื้นที่ผันน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ในส่วนของศาลายา พุทธมณฑล บางกรวย ได้ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมอย่างหนัก และยังคงเร่งเสริมแนวกระสอบทรายริมคลองมหาสวัสดิ์ในช่วงวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา อีกทั้งยังมีปัญหาที่โรงสูบน้ำดิบที่คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งรับน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำแม่กลองมีปัญหาพบสารปนเปื้อนไหลลงมาที่โรงสูบน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาจ่ายไปยังเขตฝั่งธนบุรี ส่งผลให้น้ำมีกลิ่นและสีผิดปกติทำให้คุณภาพน้ำดิบด้อยลง
       
       สำหรับมหาอุทกภัยในวันนี้ที่บานปลายไปหลายจังหวัด แม้กระทั่งในกรุงเทพฯที่รัฐบาลมั่นใจหนักหนาว่าจะ “เอาอยู่” และ “ไม่ท่วมอย่างแน่นอน” แต่ในหลายพื้นที่กลับกลายเป็นคลองอย่างรวดเร็ว ถนนหนทาง บ้านพักอาศัยต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถอยู่ได้จนต้องอพยพหนีตายไปอาศัยศูนย์อพยพพักพิงผู้ประสบภัยกันอย่างเนืองแน่น วิกฤตนี้จะคลี่คลายไปในทางใด ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ฉันว่า ณ จุดนี้ เราชาวบ้านพึ่งพากันเองดูเหมือนจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุด
       
       สุดท้ายนี้ตัวฉันที่ถูกน้ำท่วมบ้านเหมือนกัน ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ อย่าท้อถอย ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะหนักหนาสาหัส แต่หากเราไม่ย่นย่อท้อแท้สิ้นหวัง ต้องมีวันที่จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 ตุลาคม 2554

6910
โหรชื่อดังฟันธง!คนไทยยังคงทุกข์ระดมต่อ ระบุหลังอุทกภัยคลี่คลายเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหว - ดินถล่มเหตุเพราะเดือน พ.ย.- ธ.ค.จะเกิดอุปราคาในแนวราศีธาตุดิน พร้อมเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกหากต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้นำพระพุทธรูป “ปางห้ามสมุทร” มาบูชาได้ ขณะที่พระครูวามเทพมุนี ระบุพิธีไล่น้ำของ กทม.เป็นแค่การขอพรพระแม่คงคา แต่พิธีกรรมจริงๆต้องเป็น “พระราชพิธีไล่เรือ” ชี้เป็นพระราชพิธีโบราณที่สำคัญที่เคยทำมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 3
       
       การเกิดอุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดมาแล้วทุกปีแต่ปีนี้มีความหนักหนาสาหัสมากกว่าและขยายวงกว้างออกไปในหลายจังหวัด กรณีนี้ตามหลักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดอากาศวิปริตแปรปรวน ในขณะที่ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการโคจรของดาวบาปเคราะห์ เช่น ดาวพุธ ดาวมฤตยู ดาวราหูโคจรเข้ามาอยู่ในราศี กรกฏซึ่งเป็นราศีธาตุน้ำพร้อมกัน
       
       เตือนให้ระวัง
       “แผ่นดินไหว-ดินถล่ม”
       
       อาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ บอกว่า เคยทำนายเรื่องอุทกภัยครั้งใหญ่มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและมันก็เกิดขึ้นจริงๆสาเหตุสำคัญเพราะดาวบาปเคราะห์ เช่น ดาวพุธ ดาวราหู ดาวมฤตยู ได้โคจรเข้าสู่ราศีธาตุน้ำนั่นคือราศีกรกฏ และราศีมีน ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมาซึ่งมาถึงวันนี้จะมีอิทธิพลทำให้มีน้ำมากตามราศี
       
       นอกจากนี้ดาวอังคารซึ่งเป็นดาวใหญ่มีอิทธิพลมากได้โคจรเข้ามาร่วมในราศีกรกฏอีกดวงยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นจนกว่าจะถึงวันที่ 31 ต.ค.2554 จึงจะย้ายจากราศีธาตุน้ำนั่นแสดงว่าเหตุการณ์นี้จะยังคงอยู่และอาจจะมี่ความรุนแรงไปจนถึงสิ้นเดือนนี้แน่นอน
       
       อย่างไรก็ตามแม้ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้จะทุเลาลงไปแต่จะยังคงเกิดปัญหานี้ขึ้นมาซ้ำๆแต่จะเปลี่ยนพื้นที่เกิดโดยจะย้ายจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ไปเป็นภาคใต้ตอนบนไล่ลงไปเรื่อยๆเพราะหลังจากเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปดาวอังคารซึ่งเป็นดาวธาตุลมจะย้ายไปทำมุมสามเหลี่ยมกับดาวราหูและดาวมฤตยูในราศีตุลย์ ซึ่งเป็นราศีธาตุลมประกอบกับจะเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 13.10 น.ในราศีพิจิกอาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)จะก่อให้เกิดปัญหาวาตภัยและอุทกภัยที่รุนแรง หรืออาจจะเกิดสึนามิ เกิดพายุหมุนและฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง บางพื้นที่เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมาก มีการตายจากการจมน้ำ เกิดอุบัติภัยในแม่น้ำทะเลมหาสมุทร
       
       “ไม่ใช่เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเท่านั้นที่เกิดอุปราคา ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2554 เวลา 21.38 น.ยังจะเกิดจันทรุปราคาในราศีพฤษภ ซึ่งเป็นปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) เหตุการร์นี้จะเตือนให้ระมัดระวังเรื่องดิน ความเสียหายเกี่ยวกับแผ่นดิน การสูญเสียที่ดิน แผ่นดินทรุด แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม การพังทลายของดิน อาคารตึกรามบ้านช่องสิ่งก่อสร้างพังทลาย ทำให้เกิดผลเสียหายกับพืชผลทางการเกษตรอย่างหนัก แต่จะเปลี่ยนพื้นที่จากตอนบนไปยังตอนใต้ของประเทศ”

       แนะบูชาปางห้ามสมุทร
       สวด 'อภยปริตร'ทุกบ้าน
       
       โดยปกติแล้วคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธส่วนมากจะมีพระพุทธรูปบูชาไว้ทุกบ้านแต่จะมีน้อยคนที่รู้ว่าพระพุทธรูปปางต่างๆที่นำมาบูชานั้นนอกเหนือจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวแล้วยังสามารถป้องกันภัยอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งจากน้ำมือมนุษย์และภัยจากธรรมชาติได้เช่นกัน
       
       อาจารย์ภิญโญ บอกว่า คนเราปกติจะมีการบูชาพระพุทธรูปอยู่แล้วแต่ในกรณีที่เกิดเหตุจากภัยธรรมชาติ เช่นแผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย คนโบราณได้ถ่ายทอดความเชื่อต่อๆกันมาว่าให้บูชาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรและสวดพระคาถาในบทอภยปริต ซึ่งจะสามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เรื่องนี้คนสมัยใหม่อาจจะไม่เชื่อแต่ในเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วเราจะทำก็ไม่ได้เสียหายอะไร โดยเฉพาะการสวดอภยปริตรนั้นเป็นบทสวดที่ป้องกันและต้านทานภัยจากธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ
       
       “เรื่องนี้เป็นเรื่องของนามธรรมคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เห็นแต่การบูชาพระพุทธรูปและการสวดพระปริตรในบทต่างๆนั้นทำมากันตั้งแต่สมัยโบราณพระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์ก็ทำมาตลอดจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติแต่หากจะให้ได้ผลดีประชาชนคนไทยควรจะทำกันให้ได้ทุกบ้านเพื่อการผ่อนหนักเป็นเบา”
       
       พระราชพิธี “ไล่น้ำ” มีจริง
       
       อย่างไรก็ดีวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ในส่วนของกทม.โดยม.ร.ว สุขุมพันธ์ บริพัทธ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครก็ได้ประกอบพิธีไล่น้ำเพื่อปลุกขวัญกำลังใจให้กับคน กทม. ซี่งในเรื่องนี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ขณะที่อีกกลุ่มก็มองว่าเป็นการปลอบขวัญให้คนไม่รู้สึกหวาดวิตกกับเหตุการณ์น้ำท่วมได้เช่นกัน
       
       สำหรับในเรื่องนี้พระราชครูสามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำสำนักพระราชวัง บอกว่า ที่ กทม.ทำพิธีไล่น้ำนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย แต่คงจะทำเพื่อขอพรจากพระแม่คงคาเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการปลุกปลอบขวัญให้คนไทยส่วนหนึ่งได้สู้กับอุทกภัยครั้งนี้อย่างมีสติ ซึ่งการประกอบพิธีในลักษณะดังกล่าวนี้มีอยู่จริงๆเรียกว่า “พระราชพิธีไล่เรือ” ซึ่งพิธีนี้จะเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจนเกิดน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา จนไม่สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้คนสมัยก่อนเขาก็จะมีประเพณีที่จะทำให้ น้ำลดหรือให้น้ำไหลออกไปจากไร่นาเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งเขาจะเรียกพิธีนี้ว่า “การไล่เรือหรือพิธีไล่น้ำ” ซึ่งนับว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างมาก
       
       โดยขั้นตอนของการประกอบพิธีไล่น้ำที่สมบูรณ์และถูกต้องตามโบราณราชประเพณี นั้นพระราชครูสามเทพมุนี บอกว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องประทับเรือพระที่นั่ง และขุนนางผู้ใหญ่ตามเสด็จเป็นขบวนใหญ่ โดยขบวนเสด็จพยุหยาตราชลมารคจากพระนครศรีอยุธยาแล้วล่องตามลำแม่น้ำลงไปทางทิศใต้ เมื่อล่องเรือไปถึงสถานที่ที่กำหนดก็ทำพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาก่อน เช่น ตั้งเครื่องบัดพลีทำพิธีเรียกขวัญสู่ขวัญแม่พระคงคา มีการร้องลำนำเห่กล่อม
       
       หลังจากนั้นพระเจ้าแผ่นดิน “เสด็จออกยืน” กลางเรือพระที่นั่ง แล้ว “ทรงพัชนี” ซึ่งก็คือการถือพัดศักดิ์สิทธิ์โบกไปมาเหนือน้ำ โดยจะโบกในลักษณะจากเหนือลงใต้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้พัดที่ทรงถือและโบกนั้น ขอให้เกิดลมมาพัดกระแสน้ำให้ไหลลงเร็วๆ น้ำจะได้ลดลงนอกจากนี้แล้วในการประกอบพิธีก็อาจจะมีการใช้ดาบศักดิ์สิทธิ์ ฟันสายน้ำให้ขาดเพื่อเร่งรัดให้น้ำลดลงอีกด้วย
       
       “พิธีการไล่ชลหรือไล่เรือนี้เป็นพระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์มาก ตามหลักฐานพบว่าทำครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นพิธีนี้ก็ไม่ได้จัดขึ้นมาอีกเลย”พระครูวามเทพมุนีกล่าวในที่สุด

ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์    13 ตุลาคม 2554

6911
อาสาสมัครอิสระเตือนผู้ประสบภัย พื้นที่ กทม.ไม่มีสถานที่ไหนปลอดภัยอีกแล้ว ระบุทั่วทุกเขตเป็นเสี่ยงทั้งหมด เตรียมเสนอย้ายศูนย์พักพิงอพยพไป 5 จว.รอบนอก เตรียมเสนอ “มธ.โมเดล”เป็นต้นแบบการบริหารจัดการสำหรับอนาคต
       
       อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองไทยทำให้เราได้เห็นความสับสนอลหม่านในการอพยพผู้คนจำนวนนับแสนคนเพื่อไปพักอาศัยในศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งในขณะนี้ศูนย์พักพิงหลายแห่งก็กลายเป็นแหล่งรวมผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน
       
       เปิดศูนย์แต่ขาดความพร้อม
       
       วิลาวัณย์ บุญอินทร์ อาสาสมัครอิสระ บอกว่า ในขณะนี้ศูนย์พักพิงหลักหลายแห่งโดยเฉพาะศูนย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบปัญหาน้ำท่วมด้วยทำให้เกิดความลำบากในการอพยพผู้ประสบอุทกภัย เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะหลายฝ่ายไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
       
       จากการที่ได้ลงพื้นที่ทำงานมาตลอดหลังเกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและหลายหน่วยงานได้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อรองรับผู้ประสบภัยพบว่าแต่ละแห่งขาดความพร้อมเรื่องการจัดการทั้งนี้เพราะการอพยพเข้ามาของประชาชนเป็นจำนวนมากในขณะที่ศูนย์พักพิงแต่ละแห่งเกิดขึ้นเพราะ “คำสั่งของผู้บังคับบัญชา”ของแต่ละหน่วยงานเมื่อตั้งขึ้นแล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่
       
       ประการสำคัญการขาดการบริหารจัดการที่ดีก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกในศูนย์พักพิง ต่างคนต่างทำหน้าที่กันแต่ขาดการประสานงานกันเพื่อให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกันทำให้เกิดปัญหาชุลมุนอย่างที่เห็นอยู่ เช่นบางแห่งรับผู้อพยพได้ 100 คนแต่ปรากฏว่ามีผู้อพยพเกินจริง ขณะที่บางศูนย์เปิดรับผู้อพยพแต่กลับไม่มีผู้อพยพเข้าไปนั่นแสดงถึงการขาดการประสานงานกันของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบแต่ละศูนย์ซึ่งควรจะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
       
       “ความจริงการเปิดศูนย์รองรับผู้อพยพของแต่ละหน่วยงานเป็นความตั้งใจที่ดีมากแต่เราก็ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเราไม่เคยประสบเหตุการณ์ใหญ่ๆอย่างนี้มาก่อนอาจจะทำให้ขาดประสบการร์ตรงแต่นับจากนี้ไปเชื่อว่าหากเกิดเหตุการณืในลักษณะนี้อีกเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนที่ดี แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย”
       
       ตั้งศูนย์ฯ ในพื้นที่เสี่ยง
       
       สำหรับการเปิดศูนย์รองรับผู้ประสบภัยในครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีบางหน่วยงานที่ทำได้ดีมาก เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นต้นแบบที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะที่นี่มีการบริหารจัดการที่ดีมากๆ ในช่วงแรกๆทำได้ดีเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเพราะที่แห่งนี้มีความพร้อมทั้งความปลอดภัย มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแต่เนื่องจากไม่คาดว่าเหตุการร์จะลุกลามมาจนเป็นอย่างที่เห็นเลยทำให้เกิดความโกลาหลขึ้น
       
       “ มธ.โมเดลจะเป็นแบบอย่างในการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบเหตุภัยพิบัติทุกประเภทในอนาคตและหลายๆฝ่ายที่ทำงานด้านนี้เห็นพ้องต้องกันว่าจะนำเสนอโมเดลของที่นี่เป็นแบบอย่างในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต”
       
       อย่างไรก็ตามเราต้องถอดบทเรียนจากการตั้งศูนย์พักพิงในปีนี้ให้ดีเพราะที่ผ่านมาเราได้จัดตั้งศูนย์แต่ละแห่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือเปิดในสถานที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติและก็อาศัยการเคลื่อนย้ายอพยพไปที่ต่างๆหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเพราะเท่ากับเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจของผู้อพยพที่ต้องคอยหวาดระแวงว่าสถานที่ที่ตั้งศูนย์ที่ตนเองอยู่นั้นปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งในอนาคตเราควรจะหาสถานที่นอกเขตภัยพิบัติ แทนที่จะเปิดศูนย์ในพื้นที่เสี่ยง เช่นหากเกิดเหตุในพื้นที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งควรจะอพยพผู้คนไปในจังหวัดรอบๆที่ไม่ประสบเหตุจะทำให้ผู้อพยพรู้สึกปลอดภัยกว่า
       
       “เหตุการณ์ในตอนนี้ต้องยอมรับว่าพื้นที่ที่ตั้งศูนย์อพยพในพื้นที่ กทม.ทั้งหมดไม่มีที่ไหนปลอดภัยอีกต่อไปพวกเราจึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้เพื่อที่จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจะจัดทำศูนย์พักพิงที่มีความปลอดภัยมากที่สุดคือเมื่อย้ายเข้าไปยังศูนย์แล้วมั่นใจได้ว่าจะไม่ต้องย้ายอีก โดยเสนอในจังหวัดรอบนอก กทม. 5 จังหวัด คือ นครนายก สระบุรีตอนบน ชลบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแน่นอน”
       
       แนะวิธีให้ความรู้แก่ประชาชน
       
       สำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตนั้น วิลาวัณย์ บอกว่า การจัดตั้งศูนย์พักพิงควรจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบโดยตรงพร้อมกับให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชนต่างๆเพื่อให้เขามีความรู้ในการบริหารจัดการเพราะเท่าที่ดูในปัจจุบันปรากฏว่าผู้นำชุมชนมีบทบาทมากในการช่วยเจ้าหน้าที่บริหารจัดการ ต่อไปเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทุกประเภทซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเน้นให้ประชาชนเข้าใจและเตรียมรับมือกับเหตุการณืที่ไม่คาดฝันคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกก็ให้เตรียมตัวไปพักผ่อนคือรู้ว่าน้ำจะท่วมก็ควรจะพาคนในครอบครัวย้ายไปในพื้นที่ที่ปลอดภัยโดยถือโอกาสพักผ่อนไปด้วย ส่วนคนที่ตั้งรับไม่ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องกลายเป็นผู้อพยพก็จะอาศัยศูนย์พักพิงต้องเตรียมตัวให้พร้อมโดยขั้นต้นต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน เมื่อช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
       
       ส่วนพักยาวนั้นจะใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการร์แล้วและประชาชนกลุ่มนี้ไม่สนใจที่จะไปพักผ่อน หรือพักพิง เขาก็จะมีโอกาสได้พักยาวเพราะอย่าลืมว่าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ทุกคนต้องช่วยตัวเองและต้องไม่ทำตัวเป็นภาระของคนอื่นเพราะคน 3 กลุ่มในสังคมคือ คนป่วย คนแก่ เด็ก จะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งอยู่แล้วและคนสามกลุ่มนี้จะถูกช่วยเหลือก่อนแต่คนที่แข็งแรงก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด
       
       “ความจริงไม่อยากเห็นเหตุการณ์อย่านี้อีกแต่อนาคตเป็นของไม่แน่นอนจึงควรมีการเตรียมการให้พร้อมเพื่ออนาคตจจะได้ไม่ลำบากโดยหากหน่วยงานใดคิดจะตั้งศูนย์พักพิงควรคำนึงถึงปัจจัยหลัก 2 ประการคือ
1.ต้องมีความปลอดภัยคือสถานที่ตั้งต้องอยู่ในพื้นที่ปลอด
2.ต้องใช้ระบบการบริหารจัดการแบบมืออาชีพเข้ามาช่วย
คือ ต้องจัดระบบให้ครบคือ
1.ต้องมีที่นอนที่พอเพียง
2.ต้องมีโรงครัวที่พร้อม
3. ต้องมีห้องน้ำที่ต้องมีทั้งสถานที่อาบน้ำและสถานจที่ขับถ่าย
4.ต้องมีลานเอนกประสงค์เพื่อให้ผู้อพยพได้ใช้เป็นที่พักผ่อนและสุดท้ายต้องมีสถานพยาบาลเพื่อรองรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งทั้ง 5 ประการนั้นต้องทำให้ศูนย์อพยพเป็นเหมือนบ้านหรือชุมชนนั่นเอง”

ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์    27 ตุลาคม 2554

6912
นายกฯลุยตรวจคันกั้นน้ำ"ศิริราช-ท่าราชวรดิฐ" คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช เผยรพ.เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยทางน้ำไป4รพ.ไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 14.30 น. วันนี้(26 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ  มาตรวจระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าราชวรดิฐ และรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์ จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปตรวจระดับน้ำและคะนกั้นน้ำที่ท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช โดยมี ศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช รายงานสถานการณ์ให้ทราบ และยังมี พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. มาร่วมตรวจด้วย

โดยช่วงหนึ่งคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช  รายงานว่า ได้เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยหนักออกจากโรงพยาบาล หากมีน้ำท่วม ก็จะอพยพผู้ป่วยทางน้ำไปยังโรงพยาบาล 4 แห่งคือ รพ.สิริกิติ์  ร.พ.หัวหิน รพ.กาญจนบุรี และรพ.ราชบุรี

สำหรับบรรยากาศที่ท่าราชวรดิฐนั้น ขณะนี้ได้มีน้ำท่วมบริเวณท่าน้ำ แต่ยังไม่ล้นขึ้นมาบนตลิ่ง เนื่องจากมีแนวคันกั้นค่อนข้างสูง  ส่วนบริเวณรพ.ศิริราช ก็ยังไม่มีน้ำท่วมเข้ามา ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงจากเมื่อวานนี้ มั่นใจว่าน้ำจะไม่ล้นแนวคันกั้นอย่างแน่นอน เพราะในขณะนี้ได้มีทหารเรือเร่งเสริมแนวกั้นให้สูงขึ้นไปอีก

กรุงเทพธุรกิจ 26 ตุลาคม 2554

6914
TEAM GROUP เตือนภัยน้ำท่วม (ฉบับที่ 3)
วันที่ 22 ตุลาคม 2554

สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางยังไม่ดีขึ้น แม้ระดับน้ำที่อยุธยาจะลดลง 2 ซม. และระดับน้ำที่บางไทรได้เริ่มคงที่ ทั้งนี้จากปริมาณน้ำในทุ่งเจ้าพระยาที่ยังมีมากกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เปรียบเสมือนมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลอีก 1 อ่าง อยู่ที่บางไทร และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยา แม้จะลดลงแต่ยังมีปริมาณมากกว่าน้ำที่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ เช่น เมื่อ 21 ต.ค. มีน้ำไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยาวันละ 419 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลทั้งที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และทางทุ่งและคลองฝั่งตะวันออกรวมทั้งสิ้นได้วันละ 403 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำเหลือสะสมเพิ่มเติมในทุ่งเจ้าพระยาอีกวันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้ระดับน้ำในทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ นครชัยศรี บางเลน บางใหญ่ เมืองนนทบุรี ปากเกร็ด ลาดหลุมแก้ว เมืองปทุมธานี คลองหลวง ธัญบุรี สายไหม ลำลูกกา หนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง บางเสาธง และบางบ่อ

หากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้มากกว่านี้ จะมีผลทำให้พนังกั้นน้ำที่อ่อนแอกว่าพังลง น้ำจะไหลพุ่งเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และพนังกั้นน้ำที่ไม่แข็งแรงหรือความสูงไม่เพียงพอ ก็จะพังลงเรื่อยๆ ตามลำดับ นอกจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไป น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปหนุนสูงสุดในวันที่ 31 ต.ค. ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพุทธฯ อยู่ที่ +2.45 เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง (สูงกว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ประมาณ 15 ซ.ม.) ซึ่งจะมีผลเสริมทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำและมีคลองเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน หลังจากนั้นระดับน้ำจะทรงตัว และจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ จนถึงหลังวันที่ 15 พ.ย.ไปแล้ว ระดับน้ำในพื้นที่ อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี จึงจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในพื้นที่ บางไทร ปทุมธานี นนทบุรี นครชัยศรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ระดับน้ำจะลดลงอย่างช้าๆ

ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วม (ดูจาก TEAM Group เตือนภัยน้ำท่วมฉบับที่ 1) จะต้องเสริมความแข็งแรงให้พนังกั้นน้ำต่างๆ และเสริมเพิ่มความสูงให้เพียงพอ และให้คงทนอยู่ได้ถึงหลังวันที่ 15 พ.ย. ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูง โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องป้องกันน้ำท่วมเป็นพิเศษที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนหทัยราษฎร์ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว และฝั่งตะวันออกของถนนบางพลี-บางตำรุ ควรเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำให้มั่นคง และให้มีระดับความสูงไม่น้อยกว่า +3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง

แผนที่แสดงระดับความเสี่ยง และระดับน้ำท่วม ของพื้นที่ต่างๆ แสดงไว้ในรูปที่แนบท้ายนี้

ด้วยความปรารถนาดี
กลุ่มบริษัททีม ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและสื่อสารองค์กร
Tel. 0 2519 5665 Fax.0 2509 9096 www.teamgroup.co.th
......................................................................................


.....................................................................................
TEAM GROUP เตือนภัยน้ำท่วม (ฉบับที่ 1)
วันที่ 12 ตุลาคม 2554 เวลา 12.30 น.

ปัจจุบันสถานการณ์น้าท่วมกลายเป็นปัญหาสาคัญและเร่งด่วนที่ทาให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลถึงความรุนแรง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจทาให้ไม่สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
ด้วยประสบการณ์ความชานาญในวิชาชีพด้านการบริหารจัดการน้ามากว่า 30 ปี กลุ่มบริษัททีม พร้อมเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รวบรวม และวิเคราะห์โดยใช้แบบจาลองคณิตศาสตร์ โดยได้จัดทาแผนที่แสดงพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้าท่วมในระดับต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสาหรับการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัยดังนี้
1. พื้นที่น้าท่วมปี 2554 : พื้นที่น้าท่วมถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2554 แสดงไว้ในรูปที่ 1


2. พื้นที่เสี่ยงภัยน้าท่วม ซึ่งมีระดับความเสี่ยงและข้อควรปฏิบัติดังนี้

2.1 พื้นที่เสี่ยงน้าท่วม ระดับที่ 3 (เสี่ยงสูงสุด)
(1) เป็นพื้นที่น้าท่วมแน่นอน พื้นที่ที่อยู่นอกคันพระราชดาริ จะมีสภาพการท่วมเช่นเดียวกับปี 2538 แต่ระดับสูงกว่า ประมาณ 0.50 เมตร น้าจะท่วมสูงประมาณ 1- 2 เมตร จะท่วมนานประมาณ 1-2 เดือนจาเป็นต้องอยู่กับน้าให้ได้ หรืออพยพไปอยู่ที่อื่น
(2) พื้นที่เสี่ยงระดับ 3 ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ นี้ จะเป็นทางที่น้าจะหลากจากแม่น้าเจ้าพระยา และแม่น้าป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงสู่ทะเลโดยน้าจะใช้เวลาในการเดินทางมาก ได้แก่ พื้นที่บริเวณอาเภอวังน้อย อาเภอหนองเสือ ทางตะวันออกของอาเภอธัญญบุรี พื้นที่ทางตะวันออกของเขตหนองจอก อาเภอบางน้าเปรี้ยว และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของคลองพระองค์ไชยานุชิต คันป้องกันน้าท่วมต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ และหากมีน้ารั่วเข้ามาในพื้นที่ใดก็จะมีระดับน้าท่วมสูง 1.0 ถึง 2.0 เมตร แล้วแต่ความสูงต่าของแต่ละพื้นที่
(3) พื้นที่เสี่ยงระดับ 3 ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้แก่ อาเภอลาดบัวหลวง อาเภอลาดหลุมแก้ว อาเภอสามโคก อาเภอเมืองปทุมธานี อาเภอบางใหญ่ และพื้นที่ด้านตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก ที่อยู่เหนือคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นไป และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้าท่าจีน
(4) การเตรียมตัว ให้ขนย้ายทรัพย์ขึ้นที่สูง ไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร จอดรถยนต์ไว้ในที่สูง และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัททีม

2.2 พื้นที่เสี่ยงน้าท่วม ระดับที่ 2 ( สนามบินสุวรรณภูมิน้าไม่ท่วม)
(1) เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง (เป็นพื้นที่ที่น้าเคยท่วมเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นปีน้าท่วมสูงสุด) เป็นพื้นที่รัฐบาลพยายามป้องกันไม่ให้น้าเข้าท่วม (ต้องสู้กับน้า) หากป้องกันไม่ได้ คันจะพัง น้าจะมาเร็วและแรง ดังนั้นให้ติดตามข่าว และติดตามระดับน้าในคลองตลอดเวลา หากมีรั่วเข้ามาท่วมได้ น้าจะท่วมสูงประมาณ 1-2 เมตร และจะท่วมนานประมาณ 1-2 เดือน
(2) พื้นที่เสี่ยงระดับ 2 ฝั่งตะวันออก ได้แก่พื้นที่ ฝั่งตะวันออกของอาเภอเมืองปทุมธานี อาเภอคลองหลวง พื้นที่ที่อยู่เหนือคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พื้นที่ที่อยู่เหนือถนนสายไหม และพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนหทัยราษฎร์ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว และพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนบางบาหรุไปบางพลี
(3) พื้นที่เสี่ยงระดับ 2 ฝั่งตะวันตกได้แก่ พื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่อยู่ทางตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก มาถึงแม่น้าเจ้าพระยา พื้นที่อาเภอสามพรานที่อยู่ใต้คลองมหาสวัสดิ์ ที่อยู่ห่างจากแม่น้าท่าจีน อาเภอกระทุ่มแบน อาเภอเมืองสมุทรสาครที่อยู่ห่างจากแม่น้าท่าจีน และพื้นที่ด้านตะวันตกของเขตจอมทอง
(3) การเตรียมตัว ให้เตรียมย้ายของมีค่าขึ้นที่สูง เตรียมวางแผนหาที่จอดรถยนต์ในที่สูงและติดตามข่าวและเฝ้าระวังใกล้ชิด

2.3 พื้นที่เสี่ยงน้าท่วม ระดับที่ 1
(1) เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงปานกลาง เป็นพื้นที่น้าไม่ท่วมในปี 2538 แต่มีความเสี่ยงที่จะท่วมได้ในปี 2554 นี้ได้แก่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดนนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงระดับ 2 และ 3 ดังกล่าวข้างต้น
(2) พื้นที่นี้หากมีการท่วม น้าจะท่วมสูงประมาณ 0.50 เมตร
(3) ในการเตรียมตัวนั้นขอให้ติดตามข่าว และเฝ้าระวัง
+++++++++++++++++++++++++++++++++

...

6915
อย. ยัน ระบบกระจายยา ยังไม่สะดุด ห่วงน้ำเกลือ ขาดแคลน เร่งอภ.สั่งนำเข้า ให้บริษัทที่เหลือ เร่งการผลิต
       
       นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้โรงงานผลิตยาไม่สามารถเดินสายการผลิตเหมือนเดิมได้ กำลังผลิตหายไปบางส่วน แต่อย.ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการ องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อร่วมแก้ปัญหาการกระจายยาแล้ว โดยขณะนี้พบว่า โรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน 13 โรง โรงงานผลิตยาสำหรับสัตว์ 7 โรง และโรงงานผลิตยาแผนโบราณ 33 โรง ซึ่งเวชภัณฑ์ที่อย.ให้ความเป็นห่วงและต้องเร่งแก้ปัญหา คือ น้ำเกลือ โดยโรงงานที่ผลิตน้ำเกลือมีทั้งสิ้น 4 โรงงาน แต่โรงงานที่จมน้ำมีกำลังการผลิตคิดเป็น 1 ใน 3 แต่ได้เร่งแก้ปัญหาโดยให้ อภ.เป็นผู้สั่งน้ำเข้าเพื่อทดแทน และโรงงานที่เหลือเพิ่มกำลังการผลิตอีกร้อยละ 20 เพื่อทดแทนน้ำเกลือที่หายไปประมาณ 1 ล้านลิตรต่อเดือน คาดว่า จะได้นำเข้ามาในช่วง 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอีกแห่ง คือ บ.โอลิค (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานรับผลิตยากว่า 200 ทะเบียน ส่วนโรงงานผลิตน้ำยาล้างไต ผ่านหน้าท้อง พบว่าได้รับผลกระทบพอสมควร แต่โรงงานที่เหลือยังสามารถเร่งกำลังการผลิตชดเชยได้

       นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างนี้อย.จะแก้ปัญหาโดย ให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบ จับคู่กับบริษัทที่มีใบอนุญาติประเภทเดียวกัน เพื่อเดินการผลิตทดแทน และให้ อภ. เป็นผู้นำเข้าทดแทน และส่งมอบยาให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นผู้ทำการตลาด และส่งต่อให้กับโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้ประสานงานเพื่อนำเข้ายาบางส่วนแล้ว โดยเฉพาะน้ำเกลือ และจะอนุญาติให้บริษัทยาขอทะเบียนการนำเข้าชั่วคราวเพื่อนำเข้ายาที่ได้รับผลกระทบให้เพียงพอ ซึ่งจะให้อนุญาติชั่วคราว 1 ปี โดยบริษัทผู้ผลิต ยืนยันว่า จะไม่เพิ่มภาระให้ผู้ใช้ยาแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาการกระจายยา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอในการช่วยเหลือกระจายยาที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้พื้นที่ต่างๆ ตามปกติ จึงขอให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล อย่าตระหนก ซึ่งจะเร่งแก้ปัญหาการกระจายยาให้ได้เป็นปกติ
       
       นพ.พิพัฒน กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานอาหารที่ได้รับผลกระทบมีทั้ง น้ำดื่ม นมเปรี้ยว นมพาสเจอร์ไรซ์ นมข้น หัวเชื้อผลิตน้ำอัดลม ผงชูรส ซึ่งอย.จะเพิ่มช่องทางให้ผู้ผลิต สามารถขออนุญาตในการนำเข้าได้ในช่วงที่ยังไม่สามารถเดินการผลิตได้ สำหรับเครื่องมือแพทย์ บางส่วนพบว่าโรงงานที่ได้รับผลกระทบเป็นโรงงานผลิตสายยางสำหรับน้ำเกลือ น้ำยาล้างไต และยังมีวัตถุอันตราย เช่น ยากันยุง ยาฆ่าแมลง โดยอย.จะพิจารณาอนุญาติให้นำเข้า ในสินค้าที่จำเป็นต่อการยังชีพ ส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้า ถือเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตต้องแสดงจริยธรรมในช่วงเวลานี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 ตุลาคม 2554

หน้า: 1 ... 459 460 [461] 462 463 ... 536