ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 ธ.ค.2557  (อ่าน 708 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 ธ.ค.2557
« เมื่อ: 28 ธันวาคม 2014, 00:04:07 »
1. สปช.-สนช.ส่งข้อเสนอปฏิรูปให้ กมธ.ยกร่างฯ แล้ว ด้าน “บวรศักดิ์” คาด ร่าง รธน.เสร็จ ส่ง สปช.ลงมติรับ-ไม่รับ 6 ส.ค.!

        เมื่อวันที่ 15-17 ธ.ค. ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.วิสามัญประจำสภา 18 คณะที่ กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ โดยการประชุมทั้ง 3 วัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอและความเห็นของ สปช.ด้วย
       
       ทั้งนี้ วันที่ 15 ธ.ค. เป็นการพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ 8 คณะ ประกอบด้วย
1.กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค
2.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา
3.กมธ.ปฏิรูปการกีฬา
4.กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
5.กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
6.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ
7.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ
8.กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ
       
       วันที่ 16 ธ.ค. เป็นการพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ 7 คณะ ประกอบด้วย
1.กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา
2.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
3.กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข
5.กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน
6.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน และ
7.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
       
       ส่วนไฮไลต์อยู่ที่วันที่ 17 ธ.ค. ซึ่งเป็นการพิจารณารายงานของ กมธ.3 คณะสุดท้าย คือ
1.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น
2.กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน และ
3.กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน

กมธ. ซึ่งได้เสนอให้ประชาชนเลือกคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยตรง ,ให้พรรคการเมืองเสนอและระบุชื่อนายกรัฐมนตรีและ ครม. ,ให้มีรัฐบาลรักษาการระหว่างมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เพื่อเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่เขตเลือกตั้งให้เป็นแบบวันแมนวันโหวต สำหรับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้มี 154 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และจากภาควิชาชีพอีก 77 คน ส่วนองค์กรอิสระทั้งหมด ให้ปรับเปลี่ยนที่มาให้ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ให้ออกกฎหมายใหม่ เช่น ป.ป.ช.ให้สามารถฟ้องคดีได้เองโดยไม่ต้องมีอัยการ ส่วนคดีทุจริตไม่มีอายุความ ขณะที่ กกต.ให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ส่วนอัยการ ห้ามดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ สำหรับพรรคการเมือง สมาชิกพรรคมีอำนาจตรวจสอบการบริหารงาน ส่วนการยุบพรรคจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความผิดร้ายแรงเท่านั้น ขณะที่ ส.ส.จะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ได้ ส่วนการสร้างความปรองดอง ห้ามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ
       
       อย่างไรก็ตาม สปช.หลายคนได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เช่น นายชัย ชิดชอบ สปช.ด้านการเมือง โดยอภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรง พร้อมบอกว่า ขนหัวลุกชันเลยเมื่อได้ยิน เพราะการเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรงไม่สามารถขจัดนายทุนพรรคและการซื้อเสียงได้ ตนเล่นการเมืองมากว่า 40 ปี ไม่เคยเห็นนักการเมืองซื้อเสียงเข้าคุก ข้อเสนอดังกล่าวนายทุนพรรคสามารถเสนอรายชื่อรัฐมนตรีลงรับสมัครเลือกตั้ง แล้วก็เรียกเก็บเงินจากคนนั้นได้เป็นร้อยเป็นพันล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุน ส.ส.เขตหาเสียงได้อีก แล้วก็เอาผิดพวกเขาไม่ได้ จะทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น จากเดิมเลือก ส.ส.จ่ายกันหัวละ 100-500 บาท แต่ถ้าเลือกรัฐมนตรี จะจ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาท
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. พร้อมด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้นำข้อเสนอแนะที่ให้คณะ กมธ.ทั้งสองสภาทำการศึกษาและรวบรวมความเห็น ส่งมอบให้กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว โดยนายเทียนฉาย กล่าวว่า จากนี้ไป ภารกิจของ สปช. จะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยนำข้อเสนอต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด โดยจะแบ่งเป็น การปฏิรูปที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฏหมาย ซึ่งเริ่มต้นจัดทำได้เลย การปฏิรูปที่จำเป็นต้องออกกฎหมายหรือแก้ไขกฏหมาย และการปฏิรูปเชิงระบบโครงสร้างระยะยาว ที่อาจทำได้ไม่แล้วเสร็จใน 1 ปี แต่สิ่งที่น่าจะทำทัน คือการวางกรอบและแนวทางให้กับการปฏิรูป นายเทียนฉาย ยังแย้มด้วยว่า สปช. จะทยอยให้ของขวัญกับประเทศไทยตลอดปีหน้า โดยจะผลักดันการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ โดยของขวัญชิ้นแรกจะออกมาในสัปดาห์หน้า
       
       ขณะที่นายพรเพชร กล่าวว่า ทาง สนช. ได้ตั้งคณะ กมธ.สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. สมาชิกได้มีมติเห็นชอบรายงานข้อเสนอที่จะมอบให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยในรายงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ข้อเสนอของคณะ กมธ.ของ สนช. 17 คณะ ข้อเสนอความเห็นของสมาชิก สนช. และข้อเสนอที่จำแนกตามกรอบที่คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
       
       ด้านนายบวรศักดิ์ ได้ขอบคุณประธาน สปช. และประธาน สนช. ที่ได้ส่งมอบความเห็นและข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยัน คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระ และไม่มีพิมพ์เขียวในการร่างรัฐธรรมนูญ มีแต่พิมพ์ชมพู ซึ่งก็คือหน้าปกข้อเสนอของ สปช.และสนช. ที่ส่งมอบให้มา ประกอบกับการรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหม และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา นายบวรศักดิ์ ยังเผยตารางเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริงตั้งแต่ช่วงปีใหม่ และหลังรับข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนแล้ว จะหารือเพื่อตกลงกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 26 ธ.ค. จากนั้นจะส่งให้อนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จัดทำประเด็น โดยคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะลงรายมาตราตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป กำหนดให้แล้วเสร็จและส่งให้ สปช. พิจารณาในวันที่ 17 เม.ย. 2558 ซึ่ง สปช. ครม. และ คสช. สามารถส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้จนถึงวันที่ 23 ก.ค. 2558 ที่จะได้ร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นในวันที่ 6 ส.ค. 2558 สปช. จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และนำขึ้นทูลเกล้าในวันที่ 4 ก.ย. 2558
       
       2. “บิ๊กตู่” เผยจำนำข้าวขาดทุน 6.8 แสนล้าน สั่งฟันผู้เกี่ยวข้องทั้งแพ่ง-อาญา ขณะที่ รบ.เซ็น MOU กับจีนแล้ว สร้างทางรถไฟ-ซื้อข้าว-ยางพารา!

        เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เพื่อวางเป้าระบายข้าวค้างสต๊อกให้หมดใน 3 ปี ทั้งนี้ หลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ เผยว่า ได้พิจารณาเรื่องข้าว โดยมองถึงสถานการณ์ข้าวโลก ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาข้าวในระยะยาวที่ต้องแก้ทั้งระบบ และการขออนุมัติระบายข้าว ซึ่งเรื่องการระบายข้าวได้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว หลังมีการปิดบัญชีข้าวครั้งสุดท้าย พบว่ามีข้าวเหลืออยู่ประมาณ 17 ล้านตัน และสามารถแบ่งข้าวออกเป็น 4 เกรด คือ ข้าวผ่านมาตรฐาน ข้าวเสื่อมสภาพ ผิดมาตรฐาน ข้าวปรับปรุงได้ และผิดชนิดข้าว โดยจะกำหนดเป็น เอ, บี, ซี ซึ่งอาจขายตามมาตรฐานบี ปรับปรุงข้าว และซี แจ้งความดำเนินคดี โดยจะดำเนินการทั้งทางอาญาและทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดได้ส่งไปยังกระบวนการยุติธรรมแล้ว และว่า ผลจากการปิดบัญชีข้าวพบว่า มีตัวเลขขาดทุนโดยประมาณ 6.8 แสนล้านบาท
       
        พล.อ.ประยุทธ์ ยังเผยด้วยว่า จีนจะรับซื้อข้าวจากไทยจำนวน 2 ล้านตัน โดยเป็นการตกลงแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในวันที่ 19 ธ.ค. รวมทั้งลงนามเรื่องรถไฟความเร็วปานกลางด้วย ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 เรื่องดังกล่าว มีขึ้นระหว่างที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(GMS SUMMIT) ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. โดยนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
       
       สำหรับบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งผู้ลงนามคือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายฉี เจ้าฉื่อ ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ลงนามโดย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายฉี เจ้าฉื่อ ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน
       
        สำหรับสาระสำคัญของร่างเอ็มโอยูดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ส่วนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรนั้น เป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าเกษตรอื่นจากไทยอย่างต่อเนื่อง
       
       3. 310 ส.ส.ยุคยิ่งลักษณ์ เฮ ไม่ถูกถอดถอนกรณีดัน กม.นิรโทษฯ เหตุไม่มี รธน.50 แล้ว ด้าน ป.ป.ช.ชี้ ต่างจากคดีแก้ที่มา ส.ว.!

        เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้แจ้งให้ที่ประชุม สนช.ทราบว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึง สนช. 2 ฉบับ ฉบับแรกคือรายงานการไต่สวนกรณีถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 จากกรณีใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่ง ป.ป.ช.พบว่า การกระทำของนายกิตติรัตน์ยังฟังไม่ได้ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
        ส่วนรายงานอีกฉบับเป็นกรณีขอให้ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 310 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 กรณีร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมืองในวาระ 3 ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นมูลฐานในการพิจารณาที่จะนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอีกต่อไป มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
       
        ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยว่า กรณีถอดถอน 310 ส.ส.นั้น เป็นกรณีที่มีผู้ยื่นถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภา ซึ่ง 1 ในผู้ที่ยื่นคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ไปรวบรวมรายชื่อประชาชนมาเข้าชื่อถอดถอน โดยร้องว่า 310 ส.ส.ที่ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 3 กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเอาไว้ แต่ต่อมา หลังจากมีการรัฐประหาร ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีสภาพบังคับใช้ ป.ป.ช.เห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นการร้องว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเดียว ไม่มีความผิดตามกฎหมายอื่น ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อได้ จึงต้องจำหน่ายคดีและรายงานให้ สนช.ทราบ
       
        นายสรรเสริญ ยังกล่าวด้วยว่า กรณียื่นถอดถอน 310 ส.ส.นี้ ต่างกับคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ ส.ส.- ส.ว.ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยมิชอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยจบไปแล้ว และส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนตามกฎหมาย ซึ่งตอนส่งไป วุฒิสภายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เรื่องยังไม่ทันเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพราะมีการรัฐประหารก่อน พอมี สนช.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. จึงต้องส่งเรื่องคืนมาให้ ป.ป.ช.ยืนยันว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันกลับไปว่าเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยเสร็จแล้ว แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ยังบังคับใช้และมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องไปให้ สนช.พิจารณา ส่วน สนช.จะพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.
       
       4. “ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์” เขียนหนังสือขอบคุณสื่อที่ห่วงใย-ติดตาม วอนขอปฏิบัติธรรมอย่างสงบในบ้าน!

        เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. กระทรวงการคลังได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์การชี้แจงของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า “ตามที่มีข่าวว่าท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ได้รับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการตามที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชประสงค์ขอรับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อพระราชทานให้ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ใช้ในการดำรงชีพ และดูแลครอบครัวต่อไปแล้ว พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังขอให้สื่อมวลชนโปรดงดการนำเอกสารใดๆ ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ลงในสื่อทุกชนิดด้วย
       
        ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงจดหมายข่าวของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการพระราชทานเงินค่าดำรงชีพแก่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ว่า กระทรวงการคลังชี้แจงแล้ว ถือว่าจบแล้ว และว่า เงินในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหลายส่วน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก็มี
       
        สำหรับบรรยากาศที่บ้านท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ใน อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ที่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์กลับไปพำนักหลังลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ปรากฏว่า ได้มีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักไปปักหลักรายงานข่าวทุกวัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ได้เขียนหนังสือด้วยลายมือแจ้งสื่อมวลชนว่า “เราขอขอบพระคุณผู้สื่อข่าวทุกท่าน ที่ให้ความเป็นห่วงเป็นใย คอยติดตามมาเสมอ เราขอความกรุณาผู้สื่อข่าวทุกท่านด้วย ช่วงนี้เราขออยู่ปฏิบัติธรรมเงียบๆ ในบ้านหลังนี้พร้อมครอบครัวด้วยความสงบค่ะ” ลงชื่อ ศรีรัศมิ์ วันที่ 17 ธ.ค.2557 หลังจากนั้นวันต่อมา(18 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวจึงไม่ได้ไปปักหลักทำข่าวที่หน้าบ้านท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์แต่อย่างใด
       
       5. หุ้นไทยดิ่งเหว 138 จุด ผวาข่าวลือ ด้าน “บิ๊กตู่” จวก “คนลงสนามบินปี’51” ปั่นหุ้น ขณะที่ “เสธ.ไก่อู” แฉ “จอม” ต้นตอข่าวลือ!

        ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ดัชนีปรับตัวลดลงเร็วและแรงผิดปกติ โดยภาคเช้าตลาดหุ้นติดลบกว่า 44 จุด ก่อนที่ช่วงบ่ายจะดิ่งลง 138.96 จุด หรือลดลง 9.17% แตะระดับต่ำสุดที่ 1,375.99 จุด ซึ่งเป็นการตกที่แรงสุดในรอบ 6 ปี ก่อนมีแรงซื้อเข้ามา ทำให้ดัชนีปรับขึ้นอย่างรวดเร็วมาปิดที่ 1,479.49 จุด ส่งผลให้ตลอดทั้งวัน ลดลง 36.46 จุด หรือ 2.41% มูลค่าการซื้อขายรวม 102,662,94 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าซื้อขายที่มากที่สุดนับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดการซื้อขายมา 39 ปี
       
        นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พูดถึงสาเหตุที่ตลาดปรับลงแรงว่า เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก และว่า ข่าวลือที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบ นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการรับข่าวสาร
       
       ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรงว่า เป็นไปตามทิศทางของต่างประเทศ ไม่ได้ลงแค่ไทยประเทศเดียว ต้องอดทนและเข้าใจสถานการณ์ เพราะดัชนีหุ้นเมื่อลงได้ ก็ขึ้นได้เช่นกัน
       
       ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดถึงกรณีที่หุ้นร่วงหลายจุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า หุ้นไม่ได้ตกเฉพาะในไทย ต่างประเทศก็ตก แต่ได้สั่งการให้รองนายกฯ ที่รับผิดชอบ(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) เข้าไปดูแลแล้ว และว่า การขึ้นลงของหุ้นไทยเป็นไปตามกลไกตลาดหุ้น อาจจะเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันโลก หรือปัญหาการเมืองและการสู้รบในต่างประเทศ
       
       วันต่อมา(16 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปล่อยข่าวลือที่ทำให้หุ้นตกอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า เป็นการลือเกี่ยวกับพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งลือส่งเดช และมีแถลงการณ์จบไปแล้ว ทั้งนี้ ช่วงค่ำวันที่ 15 ธ.ค. สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 12 เกี่ยวกับพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรุปความว่า พระอาการทั่วไปดีขึ้น เสวยได้มากขึ้น ทรงบรรทมได้ดี และพระวรกายแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่หุ้นร่วงแรงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เกิดจากมีคนปั่นหุ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดทำนองยอมรับว่ามีคนปั่นหุ้น ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ระบุชื่อบุคคลนั้น แต่หลายคนฟังแล้วก็นึกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “ไปตามมามีหลายคน พฤติกรรมปี 51 ก็มีปั่นหุ้นแบบนี้ คนที่ลงสนามบินนั่นแหละ...” ทั้งนี้ คนที่ลงสนามบินเมื่อปี ’51 น่าจะหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางกลับเข้าประเทศเมื่อปี 2551 โดยหลังจากลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้คุกเข่าและก้มลงกราบแผ่นดินทันที
       
       ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเทขายหุ้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า มีสาเหตุมาจากนายจอม เพชรประดับ พิธีกรชื่อดังที่เปิดเผยบทสัมภาษณ์อ้างแหล่งข่าวระดับสูงในราชสำนัก ทำให้เกิดข่าวลือไม่เหมาะสม ส่งผลให้ตลาดหุ้นติดดอยแดงเต็มกระดาน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงให้ประชาชนและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว
       
        ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมายอมรับแล้วว่า มีขบวนการปล่อยข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง เพื่อปั่นหุ้น “เชื่อว่ามีไอ้โม่ง พอได้จังหวะก็ทำ และกวาดหุ้นกันไป แต่ยังไม่รู้ว่ากลุ่มใหญ่หรือไม่”
       
       ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการปรับโครงสร้างและปรับลดราคาน้ำมัน โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ก่อนมีมติให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 2 บาท ส่วนดีเซลลดลง 1 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. และว่า การปรับราคาน้ำมันครั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ซึ่งหากรวมยอดปรับลดราคาน้ำมันตั้งแต่ คสช.เข้ามาทำหน้าที่ ลดราคาน้ำมันไปแล้วเกือบ 10 บาท ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ยังต้องมีไว้ เพื่อจะได้ช่วยพยุงกรณีน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
       
        นอกจากปรับลดราคาน้ำมันเบนซิและดีเซลแล้ว กพช.ยังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ให้เห็นชอบปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 2.50 บาท จาก 0.75 บาท เป็น 3.25 บาท ซึ่ง ครม.เห็นชอบตามที่เสนอ โดยการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตดีเซลครั้งนี้ จะทำให้มีเงินภาษีนำส่งเข้าคลังเดือนละประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือปีละ 72,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดได้ แม้จะขยับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ตาม นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแนวทางจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซเอ็นจีวีด้วย เพราะที่ผ่านมาได้ผ่อนปรนแล้ว จึงต้องทยอยปรับทั้งภาษีและราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนราคาต้นทุน ซึ่งปัจจุบันเอ็นจีวีราคากิโลกรัมละ 12.50 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-16 บาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กพช.ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1 บาท ปรากฏว่า ผู้ประกอบการเรือคลองแสนแสบได้ปรับลดค่าโดยสารลงระยะละ 1 บาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. โดยเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกรมเจ้าท่าว่า หากราคาน้ำมันดีเซลลดต่ำกว่าลิตรละ 29 บาท จะลดค่าโดยสารเรือคลองแสนแสบลง 1 บาท แต่ถ้าราคาน้ำมันสูงเกินลิตรละ 33 บาท จะขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาท ด้านเรือด่วนเจ้าพระยา ล่าสุด(20 ธ.ค.) ได้ประกาศลดค่าโดยสารลง 1 บาทเช่นกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.เป็นต้นไป ส่วนเรือด่วนพิเศษและเรือข้ามฟาก ยังไม่มีการปรับค่าโดยสารแต่อย่างใด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 ธันวาคม 2557