ผู้เขียน หัวข้อ: พยานโลกร้อน-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2675 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

เมื่อมองแวบแรกจาก เบื้องบน กรีนแลนด์คือผืนแผ่นดินกว้างใหญ่สีขาวโพลน แต่เมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่ผมนั่งมาด้วยโฉบลงใกล้เกาะ สีสันต่างๆก็ผุดโผล่ขึ้นมา  ทางน้ำสีน้ำเงินที่เกิด จากน้ำแข็งละลายลัดเลาะไปตามขอบพืดน้ำแข็งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ทุ่งน้ำแข็งสีขาวมีแม่น้ำไหลคดเคี้ยวและหุบเหวแทรกตัวอยู่เป็นระยะๆ บางช่วงเกิดเป็นทะเลสาบน้อยใหญ่ แล้วยังมีน้ำแข็งที่ดูจะไม่ใช่ทั้งสีขาวและสีน้ำเงิน แต่ออกไปทางสีน้ำตาลหรือกระทั่งกะดำกะด่างจากสารไครโอโคไนต์ (cryoconite) น้ำแข็งสีตุ่นๆนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางมาศึกษาหาคำ ตอบของเพื่อนร่วมทีมสำรวจ ทั้ง 4 คนของผม อันได้แก่ เจมส์ บาลอก ช่างภาพ กับแอดัม เลอวินเทอร์ ผู้ช่วย และมาร์โก เตเดสโก นักธรณีฟิสิกส์ กับนิก สไตเนอร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สองคนหลังนี้มาจากวิทยาลัยซิตีคอลเลจออฟนิวยอร์ก

บาลอกถ่ายภาพน้ำแข็งและ สภาพซึ่งไร้น้ำแข็ง เขาเป็นผู้ก่อตั้งโครงการสำรวจน้ำแข็งสุดขั้ว หรืออีไอเอส (Extreme Ice Survey: EIS) ขึ้นเมื่อปี 2006 โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อสร้างความทรงจำของสิ่งที่กำลังลบเลือนไป” ที่ผ่านมา อีไอเอสได้ติดตั้งกล้องถ่ายภาพมากกว่า 35 ตัวที่ทำงานโดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์และสามารถปฏิบัติงาน ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายอย่างพายุหิมะ เพื่อบันทึกภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลับธารน้ำแข็งใน อะแลสกา มอนแทนา ไอซ์แลนด์ และกรีนแลนด์ กล้องเหล่านี้จะเก็บภาพอย่างช้าๆและต่อเนื่อง (time-lapse) โดยทำหน้าที่ “เหมือนดวงตาเล็กๆที่คอยจับตาดูโลกแทนเรา” บาลอกเปรียบเปรย

เราตั้งแคมป์บนผืนแผ่นดิน ห่างจากหมู่บ้านอีลูลิสแซตบนชายฝั่งตะวันออกไป 70 กิโลเมตร ในบริเวณที่เป็นส่วนหนึ่งของเขตน้ำแข็งละลาย (melt zone) ของกรีนแลนด์ ที่ซึ่งการละลายของพืดน้ำแข็งชั้นบนสุดเผยให้เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า น้ำแข็งสีน้ำเงิน (blue ice) น้ำแข็งเก่าแก่นี้ถูกบีบอัดจนถึงจุดที่ฟองอากาศส่วนใหญ่ถูกบีบออกมา เมื่อมีฟองอากาศน้อยลง น้ำแข็งก็จะดูดซับแสงสีแดงตรงปลายสเปกตรัม เหลือไว้แต่แสงสีน้ำเงินสะท้อนออกมา

แคมป์ของเราตั้งอยู่ข้าง ทะเลสาบน้ำหิมะละลาย (meltwater lake) ขนาดใหญ่ เตเดสโกและสไตเนอร์ศึกษาระดับความลึกของทะเลสาบ เพื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับค่าระดับความลึกของทะเลสาบเหนือธารน้ำแข็ง (supraglacial lake) ในกรีนแลนด์ที่ได้จากดาวเทียม ทุกๆเช้าทั้งสองจะนำเรือเล็กออกไปเก็บข้อมูล เรือลำนี้ติดตั้งอุปกรณ์อย่างเครื่องควบคุมจากระยะไกล โซนาร์ สเปกโทรมิเตอร์ที่สั่งงานผ่านแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ จีพีเอส เทอร์โมมิเตอร์ และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ

ทะเลสาบน้ำหิมะละลาย ของกรีนแลนด์อาจมีระดับน้ำลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้เป็นครั้ง คราว บาลอกเองเคยเห็นทะเลสาบลดระดับลงชั่วข้ามคืน เมื่อก้นปล่องน้ำแข็งหรือที่เรียกว่าระแหงน้ำธารน้ำแข็ง (moulin – รอยแตกระแหงบนผิวธารน้ำแข็ง) แยกตัวออกพร้อมกับดูดน้ำทะเลสาบลงสู่ก้นธารน้ำแข็ง

เมื่อปี 2006 ทีมนักวิทยาศาสตร์บันทึกการลดระดับลงของทะเลสาบเหนือธารน้ำแข็งขนาด 5 ตารางกิโลเมตรไว้ได้ เมื่อน้ำปริมาตรมากกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตรอันตรธานไปในระแหงน้ำธารน้ำแข็งภายในเวลา 84 นาที ซึ่งเป็นอัตราการไหลที่เร็วยิ่งกว่าน้ำตกไนแอการาเสียอีก

ทะเลสาบน้ำหิมะละลายที่เต เดสโกศึกษาอยู่มีทางระบายน้ำไปสู่ระแหงน้ำธารน้ำแข็ง เลอวินเทอร์กับผมตั้งใจว่าเราต้องหาระแหงน้ำธารน้ำแข็งที่ว่านี้ให้พบ พวกเราออกสำรวจพร้อมขวานเจาะน้ำแข็ง สกรูเจาะน้ำแข็ง และเชือกจำนวนหนึ่ง เรายังเดินทางไปได้ไม่ถึงครึ่งกิโลเมตรดีตอนที่พบหลุมในน้ำแข็งขวางทางไว้ จนเราต้องกระโดดข้ามหลุมที่มีเพียงขอบน้ำแข็งบางๆคั่นไว้

เราตัดสินใจใช้อีกเส้นทาง หนึ่ง ถึงตอนนี้ เราเดินทางข้ามพืดน้ำแข็งมาได้หลายกิโลเมตรแล้ว แต่ก็ยังหาระแหงน้ำธารน้ำแข็งไม่พบ ทว่าเราสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่น่าทึ่ง นั่นคือในตอนขามานั้น หลุมหลายหลุมที่เรากระโดดข้ามมีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ แยกตัวไม่ติดกัน แต่เพียงครึ่งวันให้หลัง น้ำแข็งละลายมากพอจนทำให้หลุมเหล่านั้นเชื่อมต่อกันด้วยธารน้ำไหลรี่และกลาย เป็นแอ่งขนาดใหญ่

พอกลับถึงแคมป์ในคืนวัน นั้น เราก็พบสิ่งที่เตเดสโกและสไตเนอร์ยืนยันว่าอยู่ตรงก้นทะเลสาบน้ำหิมะ ละลาย นั่นคือชั้นไครโอโคไนต์ที่ปกคลุมอยู่อย่างไม่สม่ำเสมอ

ไครโอโคไนต์กำเนิดจาก ตะกอนที่ลมพัดพามาและแพร่กระจายอยู่บนน้ำแข็ง องค์ประกอบมีทั้งฝุ่นแร่ (mineral dust) ที่ลอยมาไกลจากทะเลทรายในแถบเอเชียกลาง อนุภาคจากการระเบิดของภูเขาไฟ และเขม่าควัน อนุภาคของเขม่านั้นมาจากทั้งไฟป่าตามธรรมชาติและไฟที่มนุษย์ก่อขึ้น เครื่องยนต์ดีเซล และโรงไฟฟ้าถ่านหิน นักสำรวจอาร์กติกนาม นิลส์ เอ. อี. นูร์เดนเชิลด์ เป็นผู้ค้นพบและตั้งชื่อให้กับฝุ่นผงละเอียดสีน้ำตาลเหล่านี้ระหว่างไปเยือน พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์เมื่อปี 1870 กิจกรรมของมนุษย์ทำให้ปริมาณเขม่าสีดำในไครโอโคไนต์เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ยุค ของนูร์เดนเชิลด์เป็นต้นมา และภาวะโลกร้อนก็ทำให้การศึกษาเรื่องไครโอโคไนต์มีความสำคัญมากขึ้น

คาร์ล เอเย บอกกิลด์ เป็นชาวกรีนแลนด์โดยกำเนิด และนักธรณีฟิสิกส์ผู้ศึกษาพืดน้ำแข็งที่นี่มาตลอด 28 ปีที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้ เขาหันมาสนใจไครโอโคไนต์เป็นพิเศษ โดยบอกว่า “ถึงแม้ว่าไครโอโคไนต์จะมีเขม่าเป็นองค์ประกอบไม่ถึงร้อยละห้า แต่เขม่าพวกนี้แหละครับที่ทำให้มันกลายเป็นสีดำ” สีที่เข้มดำส่งผลให้อัตราส่วนรังสีสะท้อน (albedo) หรือ การสะท้อนแสงของน้ำแข็งลดลง ทำให้น้ำแข็งดูดซับความร้อนได้มากขึ้นจึงละลายเร็วขึ้น

แต่ละปีมีทั้งหิมะและ ละอองไครโอโคไนต์ที่ตกลงบนพืดน้ำแข็ง เมื่อหิมะทับถมและแข็งตัว มันจะดักจับฝุ่นละอองไว้ ในช่วงที่ฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นกว่าปกติเช่นหลายปีที่ผ่านมา ชั้นน้ำแข็งละลายที่ทับถมกันหลายชั้นจะปลดปล่อยไครโอโคไนต์ที่ถูกดักจับไว้ ออกมามากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดชั้นไครโอโคไนต์ที่หนาแน่นและมีสีเข้มมากขึ้นบนพื้นผิวน้ำแข็ง บอกกิลด์บอกว่า “สิ่งที่เกิดตามมาคือวัฏจักรการละลายที่เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

แม้เราจะออกสำรวจเป็นเวลา สั้นๆ แต่ดูเหมือนว่าเราได้เห็นผลกระทบนั้นกับตา ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว น้ำแข็งละลายทำให้แคมป์ของเราแปรสภาพเป็นพรุที่เจิ่งนองไปด้วยหิมะละลาย ไกลออกไป ทะเลสาบน้ำหิมะละลายไหลลงสู่ระแหงน้ำธารน้ำแข็งที่เรามองหาอยู่ กล้องถ่ายภาพที่บาลอกติดตั้งไว้จับภาพปรากฏการณ์นี้ไว้ได้ทั้งหมด

ก่อนที่การสำรวจจะสิ้นสุด ลง บาลอกชักชวนผมให้ไต่ลงไปยังระแหงน้ำธารน้ำแข็งที่อยู่ถัดจากแคมป์ของเราซึ่ง เป็นระแหงน้ำธารน้ำแข็งใหญ่พอที่จะกลืนกินขบวนรถขนสินค้าได้ทั้งขบวน แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะไต่ลงไปตามปากหุบเหวที่บาลอกตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าสัตว์ร้าย”

ผมหย่อนตัวลงไปตามเชือก ที่มีน้ำแข็งเกาะ ลึกลงไป 30 เมตรในปล่อง ผนังน้ำแข็งสีน้ำเงินโอบล้อมผมไว้ และเนื้อตัวผมก็เปียกโชกด้วยละอองน้ำเย็นเฉียบ ท้องฟ้าสีครามเบื้องบนของอาร์กติกมีน้ำแข็งย้อยเป็นหยักๆสูงเท่าตึกสามชั้น ล้อมกรอบไว้ เบื้องล่างคือน้ำตกที่ถั่งโถมครืนครั่นลงสู่ก้นเหวลึกสุดหยั่ง

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ ทดลองหย่อนเป็ดยางสีเหลืองหลายตัว ลูกบอลติดเซนเซอร์ และสีย้อมปริมาณมากลงไปในระแหงน้ำธารน้ำแข็ง เพื่อตามรอยการเดินทางของพวกมันและค้นหาว่า ระแหงน้ำธารน้ำแข็งสิ้นสุดตรงจุดใดตามแนวชายฝั่งกรีนแลนด์ ลูกบอลและสีย้อมยังมีผู้พบเห็นบ้าง แต่เป็ดยางนั้นหายลับ ผมอยากจะหย่อนตัวลงไปอีกสักหน่อยเพื่อสำรวจลึกลงไป แต่ก็ยับยั้งชั่งใจไว้ และแล้วหลังจากห้อยโหนอยู่บนเชือกนาน 20 นาที ผมก็ตัดสินใจปีนกลับขึ้นมา
มิถุนายน 2553