ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย  (อ่าน 5256 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
« เมื่อ: 30 กันยายน 2012, 21:55:04 »

24  กันยายน  วันมหิดลเวียนมาบรรจบครั้งใด  สิ่งที่คนไทยมักระลึกถึงเป็นอันดับแรก คือ พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมฯ  พระบรมราชชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  เนื่องจากทรงเป็นผู้ที่มีคุณูปการ แก่กิจการแพทย์ของไทย กล่าวคือ พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ นั้น นอกจากจะทำให้ ร.พ.ศิริราช สามารถยืนหยัดให้บริการด้านสุขภาพแก่คนไทยได้ในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นรากฐานของความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ  พระบรมราชชนกทรงผ่านการศึกษาวิชาทหารมาจากประเทศเยอรมัน  ทรงศึกษาทั้งวิชาทหารบกและทหารเรือ ทั้งยังเคยเข้าปฏิบัติงานในราชนาวีเยอรมันมาก่อนด้วยพระยศนายเรือตรี  เมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ปี พ.ศ. 2460 ก็เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโทแห่งสยามราชนาวี แต่ก็ทรงมีความสนพระทัยในวิชาโภชนาการอยู่ด้วย   เหตุที่ทรงหันมาให้ความสนพระทัยในเรื่องของการแพทย์-สาธารณสุขนั้นมี เนื่องมาจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  ขณะนั้น ร.พ.ศิริราช ก่อตั้งมา 30 ปี และกำลังอยู่ในสภาพลำบาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร “เสด็จในกรม” ผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัย  มีพระดำริต้องกันกับหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม  เกษมศรี  ว่าควรจะมีผู้อุปถัมภ์โรงเรียนแพทย์ที่พร้อมด้วยกำลังทรัพย์และอิทธิพล และทรงเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้  “สมเด็จพระราชบิดา” ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์ จึงกราบทูลเชิญให้เสด็จประพาสทางชลมารค โดยประทับเรือยนต์ไปตามคลองบางกอกน้อย  พักเสวยพระ-กระยาหารใต้ร่มไม้ริมคลอง  เป็นที่สบายพระทัยแล้ว เมื่อเสด็จกลับ จึงกราบทูลเชิญให้เสด็จศิริราช   ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพเรือนคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจาก  คนป่วยนอนอยู่อย่างหมดที่พึ่ง ใต้ร่มไม้ บ้างในสนามบ้าง   ทรงสลดพระทัย มีพระปรารภว่า เรือนคนไข้  “เหมือนโรงม้า”    เสด็จในกรมได้ถือโอกาสกราบทูลถึงความขาดแคลนต่าง ๆ พร้อมทั้งขอประทานพระอุปถัมภ์ ซึ่งทรงเห็นพ้องด้วยว่ามีช่องทางที่จะทำประโยชน์ใหญ่ยิ่ง ได้แก่ ประเทศด้านนี้  จึงตัดสินพระทัยไปเข้าเรียนวิชาสาธารณสุข และก็เรียนวิชาแพทย์ที่อเมริกา และทรงรับหน้าที่ติดต่อมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์สืบต่อ จากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงริเริ่มติดต่อไว้ก่อนบ้างแล้ว   นับเป็นมูลเหตุสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสมเด็จพระ-มหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนกมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้เป็นไปอย่างดี  เกิดผลเป็นประโยชน์ต่อกิจการแพทย์ของประเทศไทย

ศจ.นพ. สุด  แสงวิเชียร  ผู้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์มากมายได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าศิริราชได้พุ่งตัวขึ้นไปสู่ความเจริญชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นผลแห่งการทุ่มเทพระสติปัญญา ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ อีกทั้งเพราะทรงมีพระราชหฤทัยเล็งผลเลิศในการปฏิบัติ โดยถูกต้องด้วยหลักของเหตุและผล หากจะกล่าวว่าศิริราชได้มีตัวตนขึ้นก่อนแล้ว แต่ทูลกระหม่อมทรงพระกรุณาประทานชีวิตให้ก็เห็นจะไม่ผิดไปจากความจริงเลย”  นอกจากนั้น ศจ.นพ. สุดฯ     ยังได้สรุปพระกรณียกิจ ในพระองค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก เฉพาะที่เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1. ทรงส่ง นักเรียนทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาวิชา ณ.ต่างประเทศ เนื่องจากทรงมีพระดำริว่า  การสร้างหรือปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นั้นจำต้องเริ่มด้วยการจัดให้มีครูดีและเพียงพอเสียก่อน  พระองค์เองก็ยังทรงพร่ำสอนศิษย์ให้เป็นตัวอย่างอีกด้วย

2. ประทานทุน “วิทยาศาสตร์ การแพทย์”  เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี จำนวน 2 แสนบาท

3. ประทานทุน “เพื่อการสืบค้นคว้าและการสอนในโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงประจักษ์ในความจริงที่ว่า การค้นคว้าวิจัยและการสอน เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่งในการจรรโลงวิชาแพทย์

4. ทรงจัดหาที่ดิน และสร้างอาคารเพิ่มเติมให้กับ ร.พ.ศิริราช ซึ่งแต่เดิมมีเพียงตึกเล็ก ๆ สี่ ห้าหลัง นอกนั้นเป็นโรงไม้หลังคามุงจากที่คับแคบทั้งสิ้น การประทานเงินส่วนพระองค์ไม่ว่าเพื่อซื้อที่ดิน, สร้างตึกคนไข้, หรือซ่อมแซม-สร้างบ้านอาจารย์ผู้ปกครองทั้งนี้  ไม่ทรงปรารถนาให้อัญเชิญพระนามเป็นชื่อตึกเลย  นอกจากนี้ด้วยพระบารมี  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้าได้พระราชทานเงินค่าก่อสร้างวางท่อประปาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังได้ทรงชักชวนให้พระญาติจัดสรรเงินส่วนพระองค์หรือจากกองมรดกสร้างตึกต่าง ๆ หลายตึก เช่นตึก อัษฎางค์ , ตึกตรีเพ็ชร และตึกจุฑาธุช เป็นต้น ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร บันทึกไว้ว่า “ทูลกระหม่อมทรงมีพระทัยนิสัยละเอียดละออ รักษาผลประโยชน์ในสิ่งอันไม่ควรจะเสียเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงคราวควรจะเสีย พระองค์ทรงสละได้อย่างมากมายและเต็มพระทัย   ครั้งหนึ่งขณะที่เสด็จออกทรงตรวจคนไข้ตามตึก ทอดพระเนตรพบน้ำประปาที่อ่างล้างมือลืมปิด ปล่อยน้ำทิ้งไว้เฉย ๆ ได้เสด็จเข้าไปปิดเองด้วยพระหัตถ์ และรับสั่งว่า  “ระวังหน่อย เงินของประชาชนเขา”  “พระอัธยาศัยของทูลกระหม่อมนั้น ทรงเกลียดการเกียจคร้าน มุ่งหน้าเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว เมื่อใครทำอะไรให้ไม่ทรงรับเปล่า แต่ประทานตอบแทนให้คุ้มค่าหรือสูงกว่า ดังเช่นเมื่อเสด็จมาพบสภาพอันน่าเวทนาของห้องทดลอง มีพระดำรัสว่าจะประทานตึกสำหรับแผนกพยาธิวิทยาและห้องทดลอง ถ้าทางรัฐบาลจะออกค่าเครื่องตกแต่งให้ ในทัศนะของพระองค์นั้นกิจการแพทย์เป็นเรื่องของรัฐโดยตรง ก็เหตุไฉนรัฐจะไม่ยอมเสียสละตอบแทนแม้เพียงส่วนน้อย  เป็นการแสดงออกโดยถ่องแท้ในความดำริถึงการควรมิควร เมื่อจะต้องเสียสละ”

ศจ.นพ.เอลลิส  ชาวอเมริกันที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ส่งมาประจำในประเทศไทยก็เคยบันทึกไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างตึกว่า  “ในตอนต้นปี พ.ศ. 2467 ได้ตกลงที่จะสร้างตึกสำหรับแผนกกายวิภาควิทยา และสรีรวิทยาของโรงเรียนแพทย์ ทุนในการก่อสร้างนี้ ร็อกกี้เฟลเลอร์มูลนิธิจะเป็นผู้ออก ได้ทรงแนะนำและเป็นที่ตกลงตามพระดำริว่า ให้กระทรวงธรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้าง แทนที่จะให้หานายช่างนอกกระทรวงออกแบบ ได้ตั้งกรรมการขึ้นไว้สำหรับตรวจจัดการเรื่องนี้โดยตลอด ทั้งในเวลาประชุมและนอกเวลาประชุมได้รับสั่งยืนยันเสมอว่า ตึกสำหรับโรงเรียนและโรงพยาบาลนั้นไม่ให้มีลวดลายและเครื่องประดับที่ไม่จำเป็น ให้เป็นแต่เพียงที่ทำงานและบ้านอย่างเรียบ ๆ ไม่ให้มีลวดลายสลักและเครื่องประดับประดาที่แพง และใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทั้งนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจของนายช่างออกแบบ เพราะเหตุว่านายช่างทุกคนเห็นว่ารูปร่างความสวยงามเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก่อสร้างแต่พระองค์ทรงคอยระวังไม่ให้มีการประดับประดาอย่าง “หรูแฟ่” ตามที่ทรงเรียกนั้นเลย ทรงระวังให้ประหยัดทุนในการก่อสร้างตึกนี้เสมอเพื่อให้ราคาต่ำ เหมือนกับว่าเป็นทุนของพระองค์เอง และบางทีจะยิ่งกว่าด้วยซ้ำ”

5. ทรงทำความตกลงเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เป็นผลสำเร็จ มีการทำสัญญาให้ความช่วยเหลือกำหนด 6 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2466-2472 และมีการต่อสัญญาอีก 6 ปี ก่อนจะพ้นความช่วยเหลือของมูลนิธิ ในปี พ.ศ. 2478

สำหรับจำนวนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ได้สละเพื่อเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์นั้น นพ.เอลลิสฯได้ประมาณการไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท และถ้ารวมมรดกครั้งสุดท้ายเข้าด้วยจะเป็นเงิน 1.2-1.3 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะหวังได้ว่าผู้ใดจะกล้าบริจาคได้ปานนั้น  ทั้งยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า  “เรื่องที่ได้เคยสนทนากับพระองค์ท่านมาในระหว่างเก้าปี ข้าพเจ้าได้ทำงานร่วมกับพระองค์ท่าน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์นี้ไม่ได้รับสั่งถึงเรื่องอื่น นอกจากเรื่องการศึกษา การศึกษาวิชาแพทย์ การศึกษาวิชาพยาบาล การสาธารณสุข การทารกสงเคราะห์  สิ่งเหล่านี้ได้ทรงศึกษามา  ได้ทรงทำนุบำรุงมา ได้ทรงเอาพระทัยใส่สอดส่องตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงติดอยู่กับพระองค์ท่าน จนกระทั่งถึงเวลาที่ เสด็จทิ้งพวกเราไปเสีย และเสด็จขึ้นสู่ปรโลก เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472…”

แม้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก จะทรงมีพระชนม์ชีพสั้นเพียง 38 พรรษา แต่พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินั้น แผ่ไพศาล ให้ความสุข  ปลดเปลื้องความทุกข์ แก่ประชาชนคนไทยมาอย่างเอนกอนันต์ และเมื่อวันที่ 24 กันยายน เวียนมาถึง จึงควรที่ทุกคนจักได้ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณและเพียรปฎิบัติสิ่งใดก็ตามเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเท่าที่กำลังความสามารถจักอำนวย ก็เท่ากับได้สืบสานสิ่งดีงามตามพระปณิธานแห่งพระองค์ให้ยั่งยืนตลอดไป



เรียบเรียงจาก - สารคดีพิเศษเนื่องในวันมหิดล:สกุลไทย: ก.ย. 34



บทย่อ

24 กันยายน เป็นวันมหิดล วันที่ ประชาชนทั่วไปมักน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมฯ พระบรมราชชนก เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู้แก่ ร.พ.ศิริราช ที่ขาดแคลนไปเสียทุกอย่างในเบื้องต้น โดยได้ทรงทุ่มเททั้งพระกำลังสติปัญญาและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จนศิริราชมีความเจริญก้าวหน้าเป็นพื้นฐานของความเจริญทางการแพทย์ สามารถให้บริการแก่ประชาชนที่ป่วยเจ็บได้เต็มศักยภาพเช่น ที่เห็นในปัจจุบัน

- สมเด็จพระราชบิดา ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารและรับราชการทหารเรือมาก่อน

- ทรงหันมาสนพระทัย ในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการ  ร.ร.แพทยาลัย กับ มจ.พูนศรีเกษม  เกษมศรี นำเสด็จให้ได้ทรงพบเห็นสภาพเรือนคนไข้ และคนป่วยเจ็บที่นอนรอรับการรักษาอยู่อย่างยากลำบาก  ทรงสลดพระทัยและเห็นว่าจะทำประโยชน์ทางด้านนี้ให้แก่บ้านเมืองได้ จึงรับอุปถัมภ์ตามคำทูลเชิญของเสด็จในกรมฯ และไปทรงเข้าเรียนวิชาสาธารณสุข วิชาแพทย์ที่อเมริกาตามลำดับ ทั้งยังทรงรับหน้าที่ติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอความช่วยเหลือต่าง ๆ สืบต่อจากที่เสด็จในกรมฯ ริเริ่มไว้ด้วย

- ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร  บันทึกสรุปพระกรณียกิจในพระองค์เฉพาะที่เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ และ ศิริราชพยาบาลไว้ 5 ประการด้วยกัน พอสรุปได้ว่า

1. ทรงส่งนักเรียนทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาวิชา ณ.ต่างประเทศ เพื่อให้มีครูที่ดีและพอเพียงสำหรับการสร้างหรือปรับปรุง  รร.แพทย์

2. ประทานทุนวิทยาศาสตร์การแพทย์

3. “ประทานพระราชทรัพย์ เพื่อการสืบค้นคว้าและการสอนใน รพ.ศิริราช”  เนื่องจากเห็นความสำคัญของการค้นคว้าวิจัยและการสอน

4. จัดหาที่ดิน  สร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่ม  ซ่อมแซมบ้านอาจารย์ผู้ปกครอง โดยไม่มีพระประสงค์ให้ใช้พระนามเป็นชื่อตึก ทั้งยังชักชวนพระญาติให้จัดสรรเงินมา สร้างตึกได้อีก หลายตึก  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ได้พระราชทานเงินค่าก่อสร้างวางท่อประปาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้ด้วย

5. ทรงทำความตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปรีชาญาณ จนกระทั่ง มีการทำสัญญาให้ความช่วยเหลือครั้งแรกกำหนด 6 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2472 และยังได้ต่อสัญญาอีก 6 ปี ด้วย

- ศจ.นพ.สุด  แสงวิเชียร มีบันทึกว่า ศจ.นพ.เอลลิสฯ  ได้ประมาณไว้ว่า  สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์แก่วงการแพทย์ ไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท โดยถ้ารวมกับมรดกครั้งสุดท้ายจะเป็นเงินราว 1.2 – 1.3 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นเงินจำนวนเงินที่มากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะหวังว่าผู้ใดจะบริจาคได้ถึงเพียงนี้


ข้อมูลจาก  บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 กันยายน 2012, 21:59:41 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
Re: สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30 กันยายน 2012, 21:58:36 »
คำสอนของ“พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

24  กันยายน ของทุกปี คือ วันมหิดล เป็นวันที่น้อมรำลึกถึง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”  พระราชดำรัสของพระองค์รวมทั้งพระกรณียกิจมุ่งประโยชน์ส่วนรวมและมนุษยชาติ   มีคำสอนของพระองค์อีกมากมายที่ยังไม่ได้อ่านที่ไหน  เมื่อได้อ่านเจอคำสอนของพระองค์ที่ให้ข้อคิด เตือนสติ เน้นย้ำในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและมนุษยชาติ

 1. ความสำเร็จที่แท้จริงมิได้ขึ้นอยู่กับการเรียนเพียงเพื่อรู้  แต่อยู่กับการนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ

      2. ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง  ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

      3. เวลาเป็นของมีค่า  เมื่อมันล่วงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้วเราไม่ใช้มัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย

     4. พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี  การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ แต่การที่จะให้ดีกว่านั้นคือคนที่เรียนก็ดีเล่นก็ดีด้วย

     5. เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน  หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎร  เขาจ้างให้ฉันออกมาเรียน  ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี  ให้สำเร็จ

     6. ท่านควรยกย่องคณะที่ให้การศึกษาแก่ท่าน  ท่านควรมีความภูมิใจในคณะของท่าน และท่านไม่ควรเรียนวิชาขึ้นใจและใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น  ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม

     7. การศึกษาเป็นงานที่มี “คน” เป็นหัวใจหรือปัจจัยสำคัญ  การจัดการศึกษาจึงต้องเน้นคุณค่าของความเป็นคนให้เป็นคนก่อนที่จะเข้าสู่อาชีพ

     8. การศึกษาสิ่งใด ๆ ก็ตามจะต้องศึกษาให้รู้จริงถึงแก่นแท้  ด้วยการฝึกหัดและปฏิบัติ  จึงจะถือว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริง

     9. การศึกษานั้น  เป็นสิ่งควรซื้อด้วยทุนทรัพย์อันมีค่า เหมือนอาหารหรือเครื่องแต่งกาย

    10. เรื่องตำแหน่งการงานนี้ก็เหมือนหมวก  จะหาหมวกให้เหมาะกับหัวคนนั้นไม่ยาก แต่เรื่องที่จะหาหัวคนมาให้เหมาะกับหมวกนี่ซิยากนักหนา

    11. เราไม่ควรขอยืมความคิดของเขามาคิด  เราควรมีสิ่งที่เกิดจากสมองของเราเองมาแสดงในภาษาของเรา

    12. ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอมีความรู้แต่ทางแพทย์อย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย

    13. การสาธารณสุขนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง  ทั้งเป็นเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย  และเป็นสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย

    14. คนที่ไปถึงเมืองไหนแล้วไม่ไปดูมิวเซียม คน ๆ นั้นไม่ศิวิไลซ์

 

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
Re: สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 30 กันยายน 2012, 21:59:22 »
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน  เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศ  จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ ให้บริสุทธิ์”

   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว
ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมแล้วด้วย
I don’t want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.
หมายความว่า ฉันต้องการให้พวกเธอ เป็นทั้งนายแพทย์และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและศีลธรรมอันดีด้วย
จึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้”

   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ  แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย
ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์
อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่น ในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”

   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"การที่จะได้รับความไว้ใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า
ใจเขาใจเรา ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ท่านอย่างไร
ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น ความตั้งใจจริงเป็นยาประเสร็ฐ
ได้ผลคือความเชื่อ และเมื่อคนไข้เชื่อท่านแล้ว เขาจะทำตามทุกอย่าง"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"ท่านควรมีความเชื่อใจตนเอง ไม่ใช่อวดดี ท่านต้องรู้สึกความรับผิดชอบ และทำไปด้วยความตั้งใจ"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“การเรียนจบหลักสูตรแพทย์ที่กำหนดนั้นไม่ได้หมายความว่านักเรียนได้เรียนรู้จบหมด
ในทางการแพทย์ การได้รับปริญญาบัตรเป็นเพียงแค่ก้าวหนึ่งเท่านั้นคือแสดงว่า
นักเรียนได้จบการฝึกทางทฤษฎี และอยู่ในฐานะเหมาะที่จะออกไปรับผิดชอบทางการปฏิบัติโดยลำพัง
เกี่ยวกับปัญหาป่วยไข้ ซึ่งจะเป็นแพทย์ที่ก้าวหน้าต่อไปได้
แพทย์ที่สำเร็จจะต้องยึดอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นนักศึกษาอยู่ตลอดชีวิตของอาชีพ”

   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“คุณลักษณะสำคัญสำหรับการเป็นแพทย์นั้นคือความเชื่อถือไว้ใจได้
๑.ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตน คือ มีความมั่นใจ
๒.ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น
๓.ท่านต้องได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือ ความไว้ใจของคณะชน
คุณสมบัติสามประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์"

   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันไม่กลับมาอีก
ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันเป็นประโยชน์แล้วเราไม่ใช้มัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

“พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี
การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ
แต่การที่จะให้ดีกว่านั้น คือ คนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"ท่านควรยกย่องคณะที่ให้การศึกษาท่าน ท่านควรมีความภูมิใจในคณะของท่าน
และท่านไม่ควรเรียนวิชาขึ้นใจและใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น
ควรเก็บคำสอน ใส่ใจและประพฤติตาม
ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติ ซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ
แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนคนไข้แล้ว จะหาความไว้ใจจากคนไข้ได้อย่างไร"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"ความลับของคนไข้ นั้นคือ ความรักคนไข้"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
______________________________________________________________

"การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์นั้น ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์หมดแล้ว
แต่เป็นการตรงกันข้าม การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เีพียงขั้นหนึ่งของวิชาการศึกษาทางการแพทย์ คือว่า
ความจริงนักเรียนผู้นั้นได้เรียนจบตามตำรา และบัดนี้ เป็นผู้ที่สมควร และสามารถรับผิดชอบ
ในการเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนที่ไม่สมบูรณ์ โดยวิธีการทำจริงและโดยลำพังตนเองได้เท่านั้น
เป็นการเรียนวิชาแพทย์ต่อ แต่เป็นโดยวิธีที่ต่างกับวิธีเดิมบ้างเล็กน้อย
จะเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในภายภาคหน้าไม่ได้ นอกจากแพทย์ผู้นั้น เมื่อสำเร็จวิชามาใหม่ๆ
จะรู้สึกตนว่าตนจะยังคงเป็นนักเรียนอยู่ต่อไปอีกตลอดเวลาที่ทำการแพทย์นั้น"

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
Re: สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 30 กันยายน 2012, 22:07:53 »
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
“พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”

วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศต้องน้อมรำลึกถึง เนื่องจากพระองค์ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะที่ทรงเป็นผู้สนับสนุนและสนพระทัยในการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จนพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านในด้านนี้ได้แผ่ไพศาลตลอดไปในนานาประเทศ นอกจากในเรื่องดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชโอรสไว้เป็นศรีแห่งพระบรมราชวงศ์จักรีถึง ๒ พระองค์ด้วยกัน คือ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ และพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักของพสกนิกรชาวไทย

 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ และพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๓๔ พระองค์มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช หรือมีพระนามที่เรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า ทูลกระหม่อมแดง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงสถาปนาพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ออกไปศึกษาในต่างประเทศ ในชั้นต้นได้เสด็จไปทรงศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ประเทศเยอรมนี หลังจากที่ทรงศึกษาวิชาทหารไปได้สักระยะหนึ่ง พระองค์ทรงพบว่าไม่โปรดวิชาทหาร และทรงมีพระราชประสงค์จะเปลี่ยนไปศึกษาวิชาด้านช่างเขียนและวิจิตรศิลป์ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงสอบไล่วิชาทหารบกได้คะแนนสูงสุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงย้ายไปเข้าโรงเรียนนายเรือเยอรมัน

 แม้ว่าพระองค์ไม่ทรงโปรดวิชาการทหาร และทรงประชวรหลายครั้งระหว่างการศึกษา แต่ก็มิได้ทรงย่อท้อ ด้วยทรงมีพระอุปนิสัยมานะพยายาม ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเต็มพระปรีชาสามารถ ทำให้การสิ่งใดที่ทรงตั้งพระทัยไว้มักจะสัมฤทธิผลดังพระราชประสงค์เสมอ

 เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะเข้ารับราชการในกองทัพเรือเยอรมัน แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้วยความตั้งพระทัยยิ่ง พระองค์ทรงรับราชการในกองทัพเรือประมาณ ๘ – ๙ เดือน ก็ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาออกจากราชการ ด้วยสาเหตุเนื่องจากทรงมีพระประสงคจะเป็นผู้บังคับการเรือตอร์ปิโดและได้ทรงออกทะเลบ่อยๆ แต่ทางกองทัพเรือเห็นว่า ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงมิสมควรที่จะต้องเสด็จลงเรือรบออกทะเลบ่อยๆ จึงจัดให้พระองค์เป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนและทรงงานในสำนักงาน ทำให้เสียพระทัยอย่างมาก ประกอบกับทรงมีพระราชดำริเรื่องนโยบายจัดกองทัพเรือต่างจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ คือ ทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ขณะนั้นยังไม่มีฐานทัพเรือและอู่เรือขนาดใหญ่ จึงควรใช้เรือเล็กๆ ที่เข้าแม่น้ำได้สะดวก เช่น เรือตอร์ปิโดและเรือดำน้ำ แทนที่จะใช้เรือรบขนาดใหญ่ตามความเห็นของฝ่ายผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ เมื่อพระราชดำริไม่ได้รับการตอบสนองทรงรู้สึกน้อยพระทัยอย่างมาก ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละอาชีพทหารเรือที่ทรงศึกษามา

 หลังจากที่มิได้ไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเชษฐาที่ทรงคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้บังคับบัญชาโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ทรงเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรโรงพยาบาลศิริราช (หนังสือประวัติและวิวัฒนาการ ศิริราชร้อยปี ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์ ได้บันทึกเรื่องที่สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ไว้ว่า) “ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์มาทอดพระเนตรศิริราช เสด็จในกรมฯ นำเสด็จทอดพระเนตรโรงคนไข้ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจากมีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนรออยู่ตามโคนต้นไม้ อุปกรณ์การรักษาพยาบาลขาดแคลน โรงเรียนแพทย์มีเครื่องมือในการเรียนไม่เพียงพอ แล้วกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ เสด็จในกรมฯ ได้กราบทูลเหตุผลที่ทรงทำเช่นนั้นว่า เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น อนึ่งทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงตกลงพระทัยที่จะจัดการเรื่องการแพทย์ ทูลกระหม่อมฯ มิได้ทรงตอบรับในทันที โดยทรงอ้างว่าพระองค์ท่านมิใช่แพทย์ แต่ในที่สุดก็ตกลงพระทัยจะทรงงานในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยเสด็จไปทรงศึกษาแพทย์เสียก่อน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์จึงกราบบังคมลาไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปีต่อมา และได้พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้นักเรียนแพทย์ ๒ คน คือ นายนิตย์ เปาเวทย์ และนายลิ ศรีพยัตต์ ไปเรียนแพทย์ต่อในสหรัฐอเมริกาพร้อมกับขอพระราชทานทุนเสด็จพระบรมราชเทวีให้พยาบาล ๒ คน คือ นางสาวสังวาล ตะละภัฏ และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ไปศึกษาวิชาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้เป็นนิมิตหมายของรุ่งอรุณแห่งความเจริญของการแพทย์ของประเทศไทยและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”

 พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หลังจากทรงเรียนวิชาแพทย์ไปได้ครึ่งหนึ่งของหลักสูตรแล้ว ก็ทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาสาธารณสุข ซึ่งจะทรงเรียนจบได้เร็วกว่าวิชาแพทย์ที่มีหลักสูตรนานกว่า และขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงสนพระทัยในการเรียนและความเป็นอยู่ของนักเรียนไทยมาก แม้แต่ในเรื่องของสุขภาพ ความประพฤติ และความสามัคคี ทรงส่งเสริมให้จัดตั้งสมาคมสยาม ณ สหรัฐอเมริกา ในพระราชอุปถัมภ์ ที่เมืองบอสตัน มักทรงกำชับให้นักเรียนไทยตั้งใจเรียน เล่นกีฬา รู้จักคบหาเพื่อน และช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งหนึ่งที่ทรงเตือนนักเรียนไทยอยู่เสมอคือ ให้อยู่ด้วยความประหยัด เป็นพลเมืองที่ดี ให้นึกถึงการรับใช้ประเทศชาติและประชาชน พระองค์มิได้ทรงดูแลเพียงแค่นักเรียนทุนส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ทรงดูแลนักเรียนทุนจากกระทรวงต่างๆ หรือนักเรียนทุนส่วนตัวด้วย จนนักเรียนไทยขนานพระนามว่า ทูลกระหม่อม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางของนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่ๆ ใครๆ ต่างมุ่งหน้ามาหา ด้วยพระพักตร์ พระอิริยาบถ พระราชดำรัส และพระอัธยาศัย อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อม ชวนให้ผู้จากบ้านมาไกลรู้สึกอบอุ่นและปลื้มปิติที่ได้อยู่ใกล้พระองค์ และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ทรงเปลี่ยนวิถีชีวิตของสุภาพสตรีสาวผู้หนึ่ง คือนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักเรียนพยาบาลผู้เพิ่งมาถึงบอสตัน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ทรงเลือกเป็นคู่ชีวิตของพระองค์ในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมราชชนกและนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็เสด็จกลับประเทศไทย ระหว่างที่ทรงเดินทางผ่านทางยุโรป รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นผู้แทนเพื่อเจรจากับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ ทำให้ต้องเสด็จไปประชุมตามเมืองต่างๆ ในยุโรป ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงเสียสละความสุขและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมมือกับมูลนิธินี้ พระองค์ก็ทรงชนะจิตใจเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิตกลงยินยอมให้ความช่วยเหลือการแพทย์ของเมืองไทย

 เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่ทรงทิ้งเจตนาเดิมเรื่องการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ เพื่อจะได้แพทย์ที่มีคุณภาพดี การทรงงานของพระองค์มีปัญหาบ้าง เนื่องจากที่พระองค์ไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้ด้านแพทย์โดยตรง ก็ทรงแก้ปัญหานั้นด้วยการเสด็จไปเรียนวิชาแพทย์เสียเอง เพื่อสร้างความเจริญให้แก่การแพทย์ของไทยตามที่ทรงตั้งปณิธานไว้ โดยทรงเสด็จไปศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงอุทิศพระวรกายให้แก่การศึกษาอย่างเต็มที่ จนโรคพระวักกะพิการแต่เดิมนั้นกำเริบอีกครั้ง เมื่อถึงใกล้สอบไล่ขั้นสุดท้ายทรงประชวรโรคไส้ติ่งอักเสบจึงต้องผ่าตัด แต่ก็ทรงสอบได้ในระดับเกียรตินิยม

 เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้ง ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่การนี้ไม่สำเร็จด้วยพระอิสริยยศของพระองค์เป็นอุปสรรค จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ทรงประทับกับหมอคอร์ต ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาทรงตั้งพระทัยหาบ้านไว้ให้เหมาะก่อนแล้วจึงจะให้ครอบครัวของพระองค์ตามไป ทรงทำหน้าที่แพทย์ได้เพียง ๒๑ วัน ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากทรงประชวร ต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่วังสระปทุม แพทย์ผู้ชำนาญทั้งไทยและต่างประเทศได้พยายามรักษาอย่างสุดความสามารถตลอดระยะเวลา ๔ เดือน ถึงแม้ว่าพระหฤทัยจะเข้มแข็งและมุ่งมั่นแต่พระวรกายต่อสู้กับพระโรคไม่ไหว พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ สิริรวมพระชนมายุเพียง ๓๗ พรรษา หลังจากนั้นในวงการแพทย์และผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติให้พระองค์เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” ของไทย

 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวันที่ ๑ มกราคม นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนไทย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของสมเด็จพระมหิตลา ธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกายในการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 
สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
เรียบเรียงจากหนังสือพระร่มเกล้าของชาวไทย

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
Re: สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 30 กันยายน 2012, 22:09:41 »
จดหมายของสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 4 กพ. 2471 ซึ่งที่มีไปถึงสมาชิกสโมสรแพทย์จุฬาฯ ดังนี้

“...ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่อง มือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจ ะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร

แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะ ต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี ในขณะที่ท่านประกอบกิจแพทย์ อย่านึกว่าท่านตัวคนเดียว จงนึกว่าท่านเป็นสมาชิกของ “สงฆ์” คณะหนึ่ง คือคณะแพทย์ ท่านทำดีหรือร้าย ได้ความเชื่อถือหรือความดูถูก เพื่อนแพทย์อื่นๆจะพลอยยินดีเจ็บร้อนอับอายด้วย...”