ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาอินเทอร์เน็ต 'วิบัติ' หรือ 'วิวัฒน์'  (อ่าน 2145 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ภาษาอินเทอร์เน็ต 'วิบัติ' หรือ 'วิวัฒน์'
« เมื่อ: 04 กุมภาพันธ์ 2011, 08:19:16 »
เรื่องแนวโน้มของการใช้ภาษาไทยแบบ “อิสระ” เพื่อแสดงออกถึงตัวตนหรือสภาวะต่าง ๆ ทางอารมณ์ หรือ กลบความไม่รู้ของผู้ใช้นั้น เหตุการณ์เช่นนี้ถือว่าพัฒนาภาษาหรือทำให้ภาษาวิบัติ ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน บ้างก็ว่าเป็นศิลปะในการใช้ภาษา บ้างก็ว่าเป็นการทำให้เรียบง่าย เข้ากับตนเอง เข้ากับกลุ่ม ชมรม หรือสังคมของตน เข้ากับกาลเทศะ ว่าเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน
   
ในมุมมองของวงการไอที การใช้ภาษานั้นเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นฐาน รากของการต่อยอดในหลาย ๆ วงการ เทคโนโลยีที่ว่าก็คือเรื่องของการค้นคืนสารสนเทศ เช่นการค้นคืนเอกสาร ข้อความ ที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลหรือเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาศัยการเปรียบเทียบแบบจำลองข้อมูลที่แทนภาษาที่เราใช้ในการสื่อสาร แปลงออกมาเป็นค่าคะแนนความคล้าย เพื่อระบุข้อมูล หรือเอกสารที่ใกล้กับสิ่งที่เราต้องการค้นหาออกมาจากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่
   
การใช้ภาษาที่ส่งผลต่อการค้นคืนนั้น หมายถึงตั้งแต่การพิมพ์หรือเขียนผิดเกิดการสลับที่ การสะกดคำที่ไม่ถูกต้องมีตัวอักษรหรือสระ เกิน ขาด หรือใช้ตัวอักษรอื่นแทนคำที่ถูกต้อง หรือนิยามไว้ เป็นต้น การใช้ภาษาสะกดคำที่ถูกต้องนั้นมีงานวิจัยของภาษาอังกฤษได้แสดงผลการทดสอบ เกี่ยวกับผลของการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องทำให้การค้นคืนถึงร้อยละ 25 ไม่พบข้อมูลที่ต้องการอีกทั้งทำให้การค้นคืนพบว่าทำให้เสียเวลาในการประมวล ผลเพิ่มเติมขึ้นอีกร้อยละ 20 นับเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานของการใช้เทคโนโลยีค้นคืนอย่างมาก แม้ว่ามีความพยายามในการนำเสนอขั้นตอนวิธีในการปรับแก้อัตโนมัติ ก็ยังต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการประมวลผลและไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมดทุก กรณีอยู่ดี
   
ในส่วนของภาษาไทย การสะกดคำในภาษาไทยเป็นระบบที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีทั้งตัวสะกดตรงและไม่ ตรงมาตรา การใช้ตัวการันต์ ซึ่งต้องอาศัยความจำประกอบกับความรู้เบื้องต้นในการสะกดคำ  โดยเฉพาะคำที่ต้องการเขียนทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศซึ่งมีมากมายโดยเฉพาะใน วงการไอที จะมีการออกเสียงที่ไม่สามารถสะกดได้ตรงตามเสียงดั้งเดิม จึงมีความพยายามในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทับศัพท์โดยราชบัณฑิตและกลุ่มเฉพาะทางวิชาการต่าง ๆ รวมถึงการบัญญัติศัพท์ตามคำแปล และบันทึกเพื่อสืบค้น เทียบเคียงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องการนำไปต่อยอดด้านเทคโนโลยี การค้นคืนสารสนเทศเบื้องต้น โดยวัตถุประสงค์ก็ไม่ได้เพื่อเป็นการไปจำกัดอิสระทางภาษาแต่อย่างใด เพราะการใช้ภาษานั้นเป็นศิลปะดั้งเดิมที่มีมากับภาษาไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องมีการบันทึก อ้างอิง ก็จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานบางอย่างโดยเฉพาะบทความหรือข้อความที่ต้องการส่ง สารในโลกไอที และให้ผู้อื่นได้เข้าถึงโดยสืบค้นได้จากการเปรียบเทียบคำนั้น ก็สมควรอย่างยิ่งที่ต้องใช้การสะกดคำที่ช่วยลดความสิ้นเปลืองพลังงานและส่ง เสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ภาษาไทย
   
ตัวอย่างของคำศัพท์ที่พบบ่อยว่ามีการสะกดคำหลากหลายในวงการไอที เช่น แอพพลิเคชัน ที่ต้องใช้ ป.ปลา ตรงกับคำทับศัพท์เช่น แอปเปิ้ล หรือคำอื่น ๆ ที่ลงท้ายด้วย ชัน มาจาก –tion ซึ่งไม่ต้องใช้ไม้เอก เช่น แอนิเมชัน ฟังก์ชัน หรือคำที่ใช้บ่อย อย่างอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ ซึ่งมักใช้สลับวรรณยุกต์ และสลับระหว่าง ต.เต่า และ ท.ทหาร วิธีสังเกตง่าย ๆ คือศัพท์บัญญัติที่เป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษนั้นหากตัว t ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดแล้ว ในภาษาไทยจะใช้ ต เสมอ ส่วนตัว c หรือ k หรือ ck หรือ g ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดแล้ว จะในภาษาไทยจะใช้ ก เสมอ เป็นต้น เช่น กราฟิก ต่างจาก เทคนิค ซึ่งลงท้ายด้วย ค.ควาย
   
สาเหตุของความหลากหลายของการใช้ภาษาในการสะกดคำนั้น ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะจำการใช้งานจากสื่อเช่น หนังสือพิมพ์ โฆษณาโทรทัศน์ หรือ ป้ายโฆษณาต่าง ๆ ทำให้เกิดการใช้ภาษาหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถใช้สื่อสารได้แต่อาจจะเกิดปัญหาเวลาใช้งานด้านอื่น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพื่อความสนุกสนานเช่น กรณีอย่าง ละมุนพรรณ กับ แท่งหรรษา ซึ่งจริง ๆ แล้วบัญญัติไว้ว่า ซอฟต์แวร์ และ ก้านควบคุม ตามลำดับ ทำให้เกิดกระแสความไม่เข้าใจและต่อต้านการใช้คำที่บัญญัติไว้ในที่สุด โดยปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตเอง อีกทั้งสามารถเสนอความเห็นเพิ่มเติมได้หากพบการบัญญัติที่ไม่สมบูรณ์ซึ่ง เป็นการช่วยเหลือการพัฒนาภาษาไทยของเราให้เป็นภาษาวิวัฒน์
   
นอกเหนือจากภาษาพูด ภาษาเขียน ปัจจุบันคงต้องยอมรับภาษาอินเทอร์เน็ตคือเป็นภาษาเขียนแทนภาษาพูดเนื่องจาก ปัจจุบันเราไม่ได้มีแค่พูดในการสื่อสาร ซึ่งต้องมองประโยชน์ใช้สอยทั้งสองด้านนอกจากจะใช้สื่อสารได้ตามอารมณ์ของผู้ ใช้เช่นเดียวกับภาษาพูดแต่ยังมีการบันทึก จัดเก็บ สืบค้นได้อย่างภาษาเขียน การกำหนดเกณฑ์ หรือ บัญญัติมาตรฐานบางความก็มีความจำเป็นเพื่อให้ภาษาไทยของเรามีการพัฒนาในด้าน ดีเหมาะกับการเป็นภาษาที่จะอยู่คู่โลกของเราต่อไปครับ.

เดลินิวส์
4 กุมภาพันธ์ 2554