ผู้เขียน หัวข้อ: “นักวิจัยดีเด่น” เผยอีก 100 ปีน้ำไม่ท่วมชายฝั่งแต่กัดเซาะมาแค่ 5-6 ก.ม.  (อ่าน 1996 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
วช.ประกาศ รายชื่อ “นักวิจัยดีเด่น” ใน 8 สาขา ทั้งนักวิจัยแบบจำลองการกัดเซาะชายฝั่งที่ช่วยให้สังคมไม่ตื่นตระหนกเกี่ยว กับข่าวลือเรื่องน้ำท่วม นักวิจัยผู้เพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา นักวิจัยผู้นำโปรติโอมิกส์ศาสตร์มาศึกษาโรคในคน พร้อมนักวิจัยคนอื่นๆ ที่ร่วมรับรางวัลเดียวกันทั้งหมด 12 คน เตรียมรับรางวัล “วันนักประดิษฐ์” พร้อมเงินรางวัลสาขาละ 500,000 บาท
       
       ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศผล “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.53 ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยปีนี้มีนักวิจัย 12 คน ได้รับรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ใน 8 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สาขาปรัชญา สาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ โดยผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติมีดังนี้
       
       1.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จาก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยและสร้างแบบจำลองการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยนำร่องศึกษาใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยเขาอธิบายว่างานที่ทำนั้นช่วยให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกกับข่าวลือ โดยเป็นการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ซึ่งระยะหลังมีข่าวลือตลอดว่าน้ำจะท่วมสูง 6-7 เมตร แต่จากการศึกษามากว่า 20 ปี พบ 3-4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งคือ ดินทรุด น้ำทะเลกัดเซาะ ขาดตะกอนดิน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในอีก 100 ปีน้ำจะกัดเซาะเข้ามาแค่ 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น
       
      รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้วิจัยและศึกษาเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ และเป็นผู้ริเริ่มและขยายขอบเขตการวิจัยด้านการเตรียมวัสดุยางเทอร์โม พลาสติก ที่ใช้ยางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในประเทศไทย โดยเขากล่าวว่างานที่ทำมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา โดยพยายามบูรณาการวิชาความรู้ทั้งหมดด้วยกัน และได้ดัดแปลงโมเลกุลเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้น้ำยาง และได้พัฒนาออกมาเป็น “วัสดุยางเทอร์โมพลาสติก” ซึ่งเป็นน้ำยางข้นชนิดใหม่
       
       2.สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ จาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก โดยปัจจุบันกำลังศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งด้านสุขภาพของแม่และเด็ก และ

นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด คณะ แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำเทคโนโลยีด้านโปรติโอมิกส์มาใช้ศึกษาโรคในคน ซึ่งเขาอธิบายว่าโปรตีนนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกับการทำงานของโรคมากที่สุด ดังนั้นการศึกษาด้านโปรติโอมิกส์จะเป็นกุญแจในการไขปริศนาโรค รวมถึงการหาวิธีรักษาและป้องกันโรคให้ดีขึ้น
       
       3.สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ได้แก่ รศ.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาอธิบายว่างานที่ทำนั้นเกี่ยวกับเคมีสังเคราะห์ โดยหลักๆ คือการสังเคราะห์สารเลียนแบบพันธุกรรมเพื่อเป็นตัวกำหนดเบสของสารพันธุกรรม และเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสตร์ทางด้านจีโนมิกส์ในอนาคต โดยได้สังเคราะห์โมเลกุลที่มีสมบัติน่าสนใจแต่ไม่มีในธรรมชาติ นั่นคือ “เปปไทด์นิวคลีอิคแอซิด” หรือ “พีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นสารประกอบเปปไทด์ที่มีความสามารถในการจับยืดกับสารพันธุกรรมได้ อย่างจำเพาะเจาะจง
       
       ศ.ดร.วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผลงานสำคัญๆ เช่น การพัฒนาโปรตีนและเอนไซม์ลูกผสมเพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์และ การเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ การพัฒนาโปรตีนลูกผสมเพื่อนำไปพัฒนาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ประเมินไอออนของ โลหะ เป็นต้น
       
       4.สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ได้แก่ ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร จาก ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูชีววิทยาและจีโนมกุ้ง ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ศาสตร์ทางด้านจีโนมและชีววิทยาโมเลกุลศึกษายีนโปรตีนในกุ้งกุลาดำ เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ตลอดจนปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง และยังได้พบโปรตีนบางตัวที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคกุ้งได้โดยตรง
       
       5.สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ได้แก่ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งวิจัยและพัฒนาระบบที่ให้ความร้อนโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ การพัฒนาสายอากาศสำหรับระบบสื่อสารไร้สาย และการวิจัยพัฒนาระบบการวัดคุณสมบัติของไดอิเล็กทริกโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ อย่างต่อเนื่อง และ

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ จากคณะ พลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้วิจัยการผลิตและวิศวกรรมขึ้นรูปพอลิเมอร์ และผลิตสูตรวัสดุและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้เทียม เป็นต้น
       
       สำหรับนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในสาขาที่เหลือคือ
สาขาปรัชญา ได้แก่ รศ.ดร.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขานิติศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
       ทั้งนี้ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะได้รับเงินรางวัลในสาขาละ 500,000 บาท พร้อมเหรียญนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2554 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.54 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 ธันวาคม 2553