ผู้เขียน หัวข้อ: พยาบาล ขอสะท้อน หลัง สธ. จ่อให้ ป.ตรีทุกสาขา เรียน 2 ปีครึ่ง แก้ปัญหาคนขาดแคลน  (อ่าน 65 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า สธ.จ่อเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา สามารถมาเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ไขปัญหา “พยาบาล” ขาดแคลนนั้น
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor” โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าด้วยพยบ 2.5ปี”

พร้อมกับแนบแชตที่พยาบาลรายหนึ่ง เข้ามาทักข้อความหาเพจ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอนักศึกษาพยาบาลที่เรียนลักษณะนี้ มาฝึกงานในโรงพยาบาลที่เธออยู่ โดยระบุว่า

อยากเล่าเรื่องนี้มาก แต่ไม่อยากเม้นในโพสต์เพราะเดี๋ยวคนที่ทำงานจำได้ค่ะ

พูดไปจะหาว่าดราม่ามั้ย จะบอกว่ามีมหาลัยนึงเปิดหลักสูตรนี้แล้วค่ะ น้องเป็นรุ่น 1 เลย แต่ยังเรียนไม่จบ เพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดใหม่ๆ
มาฝึกงานวอร์ดเรา…น้องแทบไม่มีความรู้ในหัวเลย ต้องมาสอนกันใหม่หมด ยาอะไรก็ไม่รู้จักสักตัวคนหน้างานก็สอนยาก ไม่ใช่ว่าไม่ยาก

สอน…แต่ถ้าน้องไม่มีองค์ความรู้ประมาณนึง จะไปกล้าให้น้องทำหัตถการกับคนไข้ได้ยังไงความเสี่ยงก็เยอะ แล้วน้องไม่มี

อาจารย์มาคุมด้วย พยาบาลในวอร์ดเองก็งานล้น จะมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอนเด็กที่ไม่รู้พื้นฐานอะไรเลยมันก็ยาก

พอมาเจอกันอีกที่น้องก็มาฝึกปี 3 คราวนี้น้องบอกว่ารอบนี้ผ่านห้องคลอดมาแล้ว แต่รับเด็กไม่เป็น ไม่รู้ว่าเด็กคลอดแล้วต้องตรวจเด็กยังไง ไม่รู้ว่าต้องตรวจเด็กด้วยซ้ำ แค่ไปให้พี่พยาบาลจับมือเอาเด็กออกมา แล้วเค้าก็ให้ผ่านๆ ไปก่อน

เนี่ยแหละเลยคิด ว่าเราจะกล้าฝากชีวิตคนไข้ไว้กับพยาบาลหลักสูตรนี้จริงๆ เหรอ?

มติชน
22 กพ 2567

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่า วาระพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายของ สธ. โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน หรือ ควิกวิน (Quick Win) เพื่อประเมินผลนโยบายไตรมาส 2 กลางปี (Midyear Success) ส่วนประเด็นที่น่าสนใจอื่น ได้แก่
1.ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหารจนได้รับการรับรอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน

2.ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน โดยสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในการผลิตพยาบาลใน 2 ปี 6 เดือน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขความขาดแคลนพยาบาลอยู่ประมาณ 50,000 คน ทั้งนี้ การผลิตพยาบาลในโครงการดังกล่าวจะใช้วิธีการออกหลักสูตรเร่งรัดที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาศึกษา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีทุกสาขาแล้วไปต่อยอดให้เป็นพยาบาล แต่หากเป็นสาขาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็จะเป็นต้นทุนที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่ให้ข้อสังเกตเรื่องของกระบวนการผลิตหลักสูตรและการรับรอง ไปจนถึงเรื่องของงบประมาณ จึงมอบหมายให้ สบช. ไปผู้ดูแลโครงการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

3.กรณีที่มีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาอนุมัติยารักษาโรคจิตเวชชนิดฉีด (LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness: SMI) ที่ไม่ยอมรับประทานยา ซึ่งมีจำนวน 42,000 คน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และ V4 ที่ทำร้ายสังคม เบื้องต้นให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน แต่ด้วยยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน

4.การขับเคลื่อนงานในไตรมาสที่ 2 ในโครงการพาหมอไปหาประชาชน ที่ดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 14 ม.ค. รวม 16 จังหวัด ให้การดูแลประชาชน 70,683 ราย, โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่จะเริ่มเปิดโครงการในวันที่ 29 ก.พ.นี้ โดยจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งจะมีงานที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเชิญ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิกฤติพยาบาลขาดแคลน ณ ขณะนี้คืออะไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า วิกฤตที่เจอคือ ความขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน อย่างแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่พยาบาลเรามีสัดส่วนดูแลประชาชนเฉลี่ยเพียง 1 ต่อ 300 กว่าคน มีเพียงบางพื้นที่อยู่ 1 ต่อ 700 คน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ 51,420 คน นี่คือเฉพาะภาครัฐ ไม่ได้รวมเอกชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องผลิตเพิ่ม แม้ที่ผ่านมาจะประสานภาคเอกชนที่ผลิตว่า จบมาแล้วจะดึงเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่พอ

“การขาดแคลนพยาบาล และปัญหาการกระจายกำลังคนด้านบริการสุขภาพตามภูมิภาคนั้น สัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 270 คน โดยไทยมีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 400 และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 500 โดยสัดส่วนประชากรต่อพยาบาลสูงสุดใน 5 จังหวัดแรก คือ 1.หนองบัวลำภู สัดส่วน 1 ต่อ 712 คน 2.บึงกาฬ สัดส่วน 1 ต่อ 608 คน 3.เพชรบูรณ์ สัดส่วน 1 ต่อ 572 4.กำแพงเพชร สัดส่วน 1 ต่อ 571 และ 5.ศรีสะเกษ สัดส่วน 1 ต่อ 569” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา หรือ 9 หมอ ลงไปในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีจะสร้างแรงจูงใจคนมาเรียนทีมหมอครอบครัว โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านมาคนเรียนน้อย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ได้วางแนวทางเพื่อรองรับให้กับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายแนวทาง ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆ นี้ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

“สธ.กำลังเสนอเรื่องอายุงาน อย่างหากเรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิจริง เราจะทำความตกลงกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า จะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่เริ่มเรียน ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ แต่เวลาจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายขณะเรียน ต้องทำงานก่อน แต่นับอายุงานย้อนหลังให้ ซึ่งเป็นสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเนื้องาน เช่น สามารถจัดเม็ดเงินลงไปลักษณะเหมาจ่ายรายหัวแบบแยกเรื่องของบริการผู้ป่วยนอก หรือส่งเสริมสุขภาพเฉพาะปฐมภูมิได้หรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอที่กำลังหารือกันอยู่” นพ.ชลน่านกล่าว

มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2567