ผู้เขียน หัวข้อ: “คัมภีร์ธาตุวินิจฉัย” ความรู้การแพทย์แผนไทยที่เกือบสูญหายไป  (อ่าน 63 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ในการแพทย์แผนไทยในปัจจุบันได้แบ่งการประกอบวิชาชีพออกเป็น 3 ส่วนสำคัญคือ ใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยทั้งประเภทเรียนในมหาวิทยาลัย กับเรียนฝากตัวเป็นศิษย์ในคลินิกของสำนักต่างๆ และใบประกอบวิชาชีพการแพทย์พื้นบ้าน

แต่การเรียนการสอนของการแพทย์แผนไทยในเรื่องเภสัชกรรมหรือเวชกรรม ที่จะต้องมีการกล่าวถึงของธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุไฟ(เตโชธาตุ) ธาตุดิน(ปถวีธาตุ) ธาตุลม(วาโยธาตุ) และธาตุน้ำ(อาโปธาตุ) เป็นธาตุที่ถูกกำหนดเอาไว้ตามแนวทางของ พระไตรปิฎกเล่มที่ 12 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 ว่าด้วยมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก

ส่วนวิธีการรักษาก็ได้ใช้  ทฤษฎีรสยา 9 รส (หรือ 10 รส รวมรสจืด) รวมถึงสรรพคุณเภสัชของสมุนไพรในการปรุงเป็นตำรับยา เพื่อแก้ไขให้ธาตุทั้งหลายที่ผิดปกติ ทั้งกำเริบ หย่อน หรือพิการ ให้กลับมาเป็นปกติ

อิทธิพลของธาตุของมนุษย์แต่ละคนที่มีมาแต่กำเนิด(ธาตุสมุฏฐาน) อิทธิพลของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีผลต่อมนุษย์(ฤดูสมุฏฐาน) อายุของวัยที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีผลต่อมนุษย์(อายุสมุฏฐาน) และช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีผลต่อมนุษย์(กาลสมุฏฐาน) นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ ที่มีผลต่อมนุษย์ เช่น อิทธิพลของแต่ละประเทศและลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อมนุษย์ การดำเนินเคลื่อนไปของพระอาทิตย์และพระจันทร์ในแต่ละราศีที่มีผลต่อมนุษย์ ฯลฯ

แต่ความเป็นจริงแล้ว  มหาภูตรูป 4  คือ ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุลม และธาตุน้ำ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่รวมไปถึงสิ่งไม่มีชีวิตด้วย การกล่าวถึงการแพทย์แผนไทยที่กล่าวอย่างจำกัดด้วยมหาภูตรูป 4 เพื่ออธิบายทฤษฎีกับการเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือมหาภูตรูป 4 แต่เพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอที่อ้างอิงว่าการแพทย์แผนไทยมาจากพุทธศาสนาได้

เพราะความเจ็บป่วยในมิติของ “ที่ตั้งแห่งโรคในมนุษย์” ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน่าจะมีขอบเขตที่ลึกไปกว่า  รูปขันธ์ ที่เรียกว่า ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุลม และธาตุน้ำ

โดยพุทธธรรมนั้นมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของกระแสที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน หรือมาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี แต่อยู่ในรูปของ “เบญจขันธ์”หรือ “ขันธ์ 5 ”

 โดยเบญขันธ์ หรือ ขันธ์ 5 หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ได้แก่ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร และ วิญญาณ ดังนั้นมหาภูตรูป 4 (ธาตุไฟ, ธาตุดิน, ธาตุลม, ธาตุน้ำ) ที่อยู่ภายใต้รูปขันธ์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของกองโรคความเป็นมนุษย์

ต่อมากระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศกำหนดให้คัมภีร์ธาตุวินิจฉัย เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติและตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2561 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนพิเศษ 20 ง วันที่ 22 มกราคม 2562


ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2562 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยฉบับอนุรักษ์ ในเรื่องคัมภีร์ธาตุวินิจฉัย โดยเป็นตำราที่ถอดความจากต้นฉบับหรือสมุดไทยดำ คัดและเขียนด้วยลายมือสมัยเก่า เนื้อหาในเล่มมีอายุ 100 ปีขึ้นไปเนื่องจากเป็นตำราแพทย์แผนไทยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ยังไม่มีการเผยแพร่เท่าที่ควร ทั้งที่ภูมิปัญญาไทยด้านการแพทย์แผนไทยได้อยู่คู่กับคนไทยตลอดมา
อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ธาตุวินิจฉัยแม้จะมีสถานภาพเป็นตำราแผนไทยของชาติ ซึ่งเป็นพระคัมภีร์เดียวที่แสดงให้เห็นว่า  “ที่ตั้งแห่งโรค” การแพทย์แผนไทยจะต้องพิจารณาไปในอีกหลายมิติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างลุ่มลึก และรวมถึงมิติอิทธิพลอันเนื่องมาจากผลกระทบต่อธาตุต่างๆ จากโหราศาสตร์อย่างเป็นระบบด้วย

โดยพระคัมภีร์ธาตุวินิจฉัย ได้กำหนดเอาถึงลักษณะกองโรคมีองค์ประกอบไปด้วยเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5), อายตนะ 6, คติดำเนินแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ไปตามจักราศี (ซึ่งกล่าวครอบคลุมถึงดาวอื่นๆ ด้วย), ธาตุอภิญญาณ, จตุธาตุสมาสรรพ, ธาตุแตกให้โทษ, ธาตุกำเริบให้โทษ, ธาตุถดถอย

 การแพทย์แผนไทยจึงไม่ใช่สนใจเพียงแค่ “กาย” หรือ ธาตุรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “ใจ” ด้วย

คัมภีร์ธาตุวินิจฉัยนี้ น่าจะเป็น “คัมภีร์เดียว” ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับหลักพุทธธรรมเรื่อง “ขันธ์ 5” และ “อายาตนะ 6” เพื่ออธิบายประกอบกับเรื่อง  “มหาภูตรูป4”(หรือธาตุ 4)

โดยให้ศึกษารายละเอียดในคัมภีร์ปรมัตถ์ ดังกล่าวไว้ชัดเจนในหน้าที่ 5-6 ว่า

“ในคัมภีร์แพทยานี้ ส่วนหนึ่งอยู่ในพระคัมภีร์ปรมัตถ์โน้นแล้ว”

คัมภีร์ปรมัตถ์นั้นแท้ที่จริงแล้ว หมายถึงคัมภีร์พระอภิธรรม โดยหลักพุทธธรรมนั้นขันธ์ทั้ง 5 อาศัยซึ่งกันและกัน รูปขันธ์เป็นส่วนกาย นามขันธ์ทั้งสี่เป็นส่วนใจ มีทั้งกายและใจจึงจะเป็นชีวิต กายกับใจทำหน้าที่เป็นปกติและประสานสอดคล้องกันชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ….ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งต้องกาย(สัมผัส) ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อารมณ์ทั้ง 5 ก็ดี ตา หู จมูก ลิ้นกายก็ดี (อินทรีย์ 5)ต่างก็เป็นรูปธรรม อยู่ในรูปขันธ์ คือ เป็นฝ่ายกาย

โดยอายตนะ 6 ประกอบไปด้วย จักขุวายตนะ(ตา), โสตายตนะ(หู), ฆายตนะ(กลิ่น),ชิวหาอายตนะ(ลิ้น), กายายตนะ(กาย), มนายตนะ(ใจ)

ในขณะเดียวกันรูปขันธ์ ได้แก่ นิปผันนพรูป 18 ประการ คือมหาภูตรูป 4, ประสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1, อาหารรูป 1 รวมกันเป็นรูป 18 ประการ

ในพระคัมภีร์ธาตุวินิจฉัยที่นอกจากจะพิจารณาจากธาตุกำเนิด ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป อิทธิพลของการดำเนินไปของพระอาทิตย์และพระจันทร์แล้ว ยังได้พิจารณาไปถึงอิทธิพลทางโหราศาสตร์ของดาวแต่ละดวงที่มีผลกระทบในมิติของธาตุ ซึ่งรวมถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู ที่เคลื่อนไปตามแต่ราศี โดยอ้างอิงคัมภีร์จันทรสุริยาคติทีปนี พระคัมภีร์สาระสังคหะ พระคัมภีร์โลกสรรฐาน อีกด้วย

แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำคัมภีร์เล่มสำคัญนี้ขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาแล้วยังอาจจะต้องมีการสังคยานาความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

เพราะยังมีข้อความที่สูญหายไปตามกาลเวลาของสมุดไทยต้นฉบับ รวมถึงยังมีบางข้อความที่มีการเขียนเนื้อหาสาระที่ผิดพลาดอยู่ตั้งแต่ต้นฉบับ รวมถึงจะต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้เพิ่มความสามารถของการแพทย์แผนไทยที่ไปในทิศทางรากฐานของพระพุทธศาสนาด้วย
อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์ธาตุวินิจฉัย ยังไม่ใช่พระคัมภีร์ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในการเรียนการสอนและการสอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย จึงมีผู้ให้ความสนใจอยู่ในวงจำกัด

แต่ถึงกระนั้นก็เป็นการยืนยันได้ว่าการแพทย์แผนไทยมีรากฐานจาการวิเคราะห์เหตุปัจจัยอย่างเป็นระบบตามแนวทางพระพุทธศาสนาทั้งในมิติของกายและใจ

 การยืนยันในความสำคัญของการแพทย์แผนไทยว่ามีรากฐานอย่างเป็นระบบมาจากพระพุทธศาสนาที่บันทึกเอาไว้ตามพระไตรปิฎกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 เพราะการแพทย์ดั้งเดิมของอินเดียที่เรียกว่า “อายุรเวท” ซึ่งแปลว่า ศาสตร์แห่งการมีอายุยืนนั้น “เค็นเน็ธ จี ซิสค์” ได้เขียนหนังสืองานสำรวจสำคัญชื่อ “Aceticism and Healing in Ancient India: Medicine in the Buddhist Monastery“ แปลเป็นหนังสือภาษาไทยชื่อ ลัทธินักพรต และการเยียวยาในอินเดียโบราณ:ระบบการแพทย์ในพุทธาราม (แปลโดย ธีรเดช อุวิทยารัตน์, 2551, 2552)

งานเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวพบว่า อายุรเวท ซึ่งเป็นการแพทย์ดั้งเดิมที่เป็นระบบของอินเดียนั้น เมื่อนำเสนอการสำรวจทางประวัติศาสตร์กลับพบความจริงว่ามาจากพระพุทธศาสนา ไม่ใช่อินดู

โดยบันทึกและหลักฐานการเกิดรูปร่างของประวัติศาสตร์การแพทย์อินเดียพบว่าการอ้างอิงส่วนใหญ่มาจากบันทึกในพุทธศาสนา และยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างการเติบโตของวัฒนธรรมแบบศรมัณโดยเฉพาะพุทธศาสนากับการพัฒนาระบบการแพทย์อินเดีย ซึ่งไม่เป็นที่รับรู้มาก่อน

เพียงแต่อายุรเวทซึ่งมีรากฐานทางการแพทย์จากพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นของฮินดูนั้น แท้ที่จริงเป็นการแพทย์ที่มาจากพระพุทธศาสนาและพระพุทธศาสนาที่ถูกผลกระทบทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินดู(Hinduization)ที่เกิดในช่วงหลังในอินเดีย

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงตามหนังสือการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ของอินเดียเป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงว่าการแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ครบส่วนของพระพุทธศาสนาดังปรากฏหลักฐานตามตัวอย่างของพระคัมภีร์ธาตุวินิจฉัย ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยเป็นอายุรเวทเช่นเดียวกัน

คงเหลือแต่ความท้าทายที่จะทำให้ความรู้การแพทย์ในพระพุทธศาสนาของไทยและอายุรเวทอินเดียที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาว่าจะสามารถบูรณาการเชื่อมโยงได้อย่างไร

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต

4 ส.ค. 2566 ผู้จัดการออนไลน์