ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 มิ.ย.2555  (อ่าน 1132 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 มิ.ย.2555
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2012, 18:25:20 »
1.    อัยการสูงสุด รีบฟันธง ร่างแก้ รธน.ไม่ล้มการปกครอง ด้านศาล รธน.ยัน มีอำนาจรับคำร้อง ไม่หวั่นถูกข่มขู่!

           หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติ 7 ต่อ 1 รับวินิจฉัยกรณีมีผู้ร้องว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จัดทำโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ มีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ พร้อมมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย
       
           ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย-กลุ่มเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ออกมาโจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก โดยอ้างว่าประชาชนไม่สามารถร้องเรื่องดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด แล้วให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย  ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้มีมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไว้ก่อน นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังได้เข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งด้วย
       
           ด้านกลุ่มเสื้อแดง ได้ประกาศล่าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ขณะที่แกนนำเสื้อแดงบางส่วนได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       ส่วนกลุ่มนิติราษฎร์ อ้างว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันให้รัฐสภาต้องชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ด้วยว่า หากรัฐสภายอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
       
           อย่างไรก็ตาม นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมายืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าวระบุว่า การยื่นคำร้องของประชาชนทำได้ 2 ทาง 1.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และ 2.ยื่นต่ออัยการสูงสุด
       
           ด้านนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกอาการมึน ไม่กล้าฟันธงว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้กับรัฐสภาได้หรือไม่ โดยบอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในโลกนี้ก็ไม่เคยมี  ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
       
           ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้ออกมาจี้ให้ประธานรัฐสภา ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไว้ก่อน หากประธานรัฐสภายังดึงดัน วิปฝ่ายค้านจะไม่ร่วมลงมติ
       
           ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนว่า ใครฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระวังจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังอาจถูกถอดถอนได้ฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญ  ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เตือนว่า หากรัฐบาลไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วสุดท้ายถูกลงโทษหรือถูกยุบพรรค จะมาโทษว่าองค์กรอิสระหรืออำมาตย์ไปกลั่นแกล้งไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ชี้แจงแล้วกลับไม่พูด กลับโมโหและจะเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ
       
           ด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลง(6 มิ.ย.) ยืนยันว่า การยื่นคำร้องของประชาชนตามมาตรา 68 สามารถทำได้ 2 ทาง คือ 1.ยื่นต่ออัยการสูงสุด และ 2.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง  เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังแถลงข่าวเสร็จ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาเผยว่า “หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีโทรศัพท์จากผู้ที่ไม่หวังดีมาหาผมและข่มขู่ต่างๆ นานา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะปลงกับเรื่องพวกนี้เสียแล้ว”
       
           ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายุให้อัยการสูงสุดฟันธงว่า ผู้ที่จะร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้ต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป  ด้านอัยการสูงสุด(อสส.) รับลูกทันควัน โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีบุคคลร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดมาตรา 68 หรือไม่ ได้เปิดแถลงยืนยันว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส. เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด 15 มาตรา 291 ไม่ได้มีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด
       
           หลังคำแถลงของอัยการสูงสุดเข้าทางพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง ปรากฏว่า กลุ่มเสื้อแดงได้ไปยื่นหนังสือจี้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คนที่มีมติรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัย ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันกลุ่มเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเสื้อแดงเพื่อยื่นถอดตุลาการทั้ง 7 ต่อประธานวุฒิสภา  ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ประกาศว่า หาก นปช.รวบรวมรายชื่อได้ 1 ล้านคนเมื่อใด อยากรู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยังอยู่ต่อไปได้หรือไม่
       
       ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ก็เตรียมเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการตัดงบประมาณในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่และปัญหาเรื่องความโปร่งใส
       
       ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงอีกครั้ง(8 มิ.ย.)ว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ทำได้ 2 ทาง คือยื่นต่ออัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดก็เป็นคนละส่วนกับศาล และไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลในการที่จะรับคำร้องของผู้ยื่นไว้วินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ หลังอัยการสูงสุดชี้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส.ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาบอกว่า ไม่แปลกใจ เพราะตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา การทำงานของอัยการสูงสุดสอดคล้องกับธงของรัฐบาลตลอด เมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นอย่างนี้ ก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการต่อไป นายอภิสิทธิ์ ยังตำหนินายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่นิ่งดูดายกับกรณีที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำคนเสื้อแดง ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเวทีเสื้อแดงปราศรัยโจมตีพร้อมแจกเบอร์โทรศัพท์ของตุลการศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกในครอบครัว
       
       ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่ประธานรัฐสภาสั่งงดประชุมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เพราะไม่กล้าขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอออกไปจนกว่าจะทราบคำวินิจฉัยของศาลนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ก็มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยระหว่างประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างอภิปรายโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แต่อย่างใด เนื่องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมร่วมรัฐสภาครั้งต่อไปในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งต้องจับตาว่าฝ่ายรัฐบาลจะขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือไม่
       
      2.    พันธมิตรฯ ใช้ กม.จัดการพวกล้ม รธน. พร้อมลั่น ชุมนุมใหญ่ทันทีที่ กม.ปรองดองเข้าสภา!

       เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “เคารพและรอผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนักการเมืองกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และเคลื่อนไหว พ.ร.บ.ล้างผิดให้ทักษิณและพวกอย่างถึงที่สุด” โดยยืนยันว่า การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ เป็นสิ่งจำเป็น และจะชุมนุมภายใต้ 3 เงื่อนไขที่ว่า มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก นอกจากนี้ยังพร้อมชุมนุมใหญ่ หากสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่จุดที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่
                     
       สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนี้ แม้พันธมิตรฯ จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การลบล้างความผิดให้กับ นช.ทักษิณกับพวก แต่ยังเป็นเพียงแค่การวิเคราะห์และประเมินเหตุการณ์ สถานการณ์จึงยังไม่สุกงอมพอที่จะเข้าเงื่อนไขชุมนุม ทั้งนี้ พันธมิตรฯ เห็นว่า ควรใช้กฎหมายจัดการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ ไปดำเนินคดีอาญาและยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 416 คน ทั้ง ส.ส.-ส.ว.-คณะรัฐมนตรี รวมทั้งยื่นยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยได้ยื่นต่ออัยการสูงสุด-คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหากมีความผิดจริง จะมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
                     
              ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยแล้ว พร้อมสั่งให้นักการเมืองในรัฐสภาชะลอการลงมติฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในวาระ 3 นั้น พันธมิตรฯ เห็นว่า คดีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้นพันธมิตรฯ จึงขอแสดงความเคารพและสนับสนุนกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้นหากสมาชิกรัฐสภายังดึงดันที่จะลงมติฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในวาระ 3 ต่อไป ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการต่อไป
             
              ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังย้ำด้วยว่า หากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสภาฯ เมื่อใด พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด และพร้อมจะยกระดับการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบทันที
       
       3.คอป.จี้ รบ.หยุดเร่งรัดออก กม.ปรองดอง หวั่นนองเลือด ด้าน ปธ.วิปรัฐบาล ยัน เลิกชงเข้าสภาสมัยประชุมนี้!

ป้ายรณรงค์ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ คาดว่าจัดทำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดทั่ว กทม. แต่ถูกพรรคเพื่อไทยแจ้งตำรวจสั่งเก็บและดำเนินคดี อ้างว่า เข้าข่ายปลุกปั่นให้บ้านเมืองปั่นป่วน
           ความคืบหน้ากรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) , รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติเข้าสภา  แต่สุดท้าย หลังประชุมสภาทั้ง 3 วัน(30 พ.ค.-1 มิ.ย.) ก็ไม่สามารถลงมติรับหลักการในวาระ 1 ได้ เนื่องจากนอกสภาฯ ก็มีการชุมนุมต่อต้านโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่ในสภาก็เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จากกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ พยายามรวบรัดให้มีการลงมติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ มีการขว้างปาเอกสารใส่บัลลังก์ประธานสภาฯ บ้าง ขณะที่ ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์บางคนพยายามไปเคลื่อนย้ายเก้าอี้ประธานสภาฯ  แต่ถูก ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยมายื้อแย่งคืน สุดท้าย ประธานสภาฯ ได้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไป และยังไม่มีกำหนดว่าจะประชุมอีกหรือไม่ในสมัยประชุมนี้
       
           ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา และถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เพราะการเสนอร่างดังกล่าวเข้าสภา ทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรจัดเวทีสานเสวนาให้เกิดความปรองดองก่อน ซึ่งการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ก็มีการจัดสรรงบเพื่อสร้างความปรองดองไว้แล้ว
       
           ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตรา พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภาอีก ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ได้มอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับวิปรัฐบาลถึงเวลาที่เหมาะสมในการปิดสมัยประชุมสภา พร้อมยืนยันว่า ทั้งหมดอยู่ที่สภา หากยืนยันว่าไม่มีอะไร ก็ปิดประชุมสภาได้ ส่วนท่าทีของรัฐบาลต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องของสภาเช่นกัน รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ
       
           ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ผลการสำรวจเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของเอแบคโพลล์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 ไม่มีความหวังว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะนำไปสู่ความสุขของบ้านเมือง ขณะที่ร้อยละ 89 ต้องการให้ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหาค่าครองชีพก่อนออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ นอกจากนี้ร้อยละ 80 ยังมองว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทำให้ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์
       
           นายชวนนท์ ยังเผยด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำหนังสือ “ต้านกฎหมาย ล้างผิดคนโกง” เพื่อแจกจ่ายทั่วประเทศ โดยเนื้อหามี 4 ประเด็น ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคในการต้านการออกกฎหมายปรองดอง คือ 1.ต่อต้านการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำผิดกฎหมาย 2.ไม่ให้มีการคืนทรัพย์สิน 3.ไม่ให้มีการฟอกตัวของนักการเมือง และ 4. ไม่ให้ย่ำยีกระบวนการยุติธรรม โดยเบื้องต้นจะแจก 4 แสนเล่ม
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากหนังสือ “ต้านกฎหมาย ล้างผิดคนโกง” ที่พรรคประชาธิปัตย์จัดทำแล้ว ในหลายพื้นที่ของ กทม.ยังพบป้ายรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ด้วย โดยมีข้อความว่า “หยุดกฎหมายล้างผิด โกงชาติ หมิ่นสถาบัน”
       
           แต่หลังจากมีการติดตั้งป้ายดังกล่าวไม่นาน ทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจท้องที่ที่มีการติดตั้งป้ายดังกล่าว เพื่อให้เก็บป้ายออก พร้อมทั้งให้เอาผิดผู้ที่ติดตั้งป้าย ข้อหาติดป้ายโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
       
           ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้นำใบแจ้งความไปร้องเรียนต่อ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลด้วย ซึ่ง พล.ต.ต.คำรณวิทย์ บอกว่า จะพิจารณาว่าป้ายดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการโดยไม่กลั่นแกล้งฝ่ายใดทั้งสิ้น
       
           ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตำหนิตำรวจหลังมีการออกเก็บป้าย “หยุดกฎหมายล้างผิด โกงชาติ หมิ่นสถาบัน” โดยอ้างว่าเป็นป้ายที่นำไปสู่ความแตกแยก โดยถามตำรวจว่า ใช้อำนาจอะไรในการเก็บป้ายเหล่านั้น กรณีหมู่บ้านเสื้อแดงและป้ายที่กระทบสถาบัน ทำไมตำรวจนครบาลไปเห็นกล้าไปทำอะไร ซึ่งฝ่ายค้านจะตรวจสอบว่าตำรวจมีอำนาจหรือไม่ พร้อมย้ำว่า นี่ไม่ใช่รัฐตำรวจ
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดีแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังไปยื่นหนังสือจี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ให้เก็บแผ่นป้ายดังกล่าวออกจากเสาไฟฟ้าหรือสถานที่สาธารณะทั้ง 50 เขตของ กทม.ด้วย
       
           ไม่เท่านั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ ยังได้ไปแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ดำเนินคดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5 คน ข้อหาขัดขวางการประชุมสภาฯ ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ พร้อมอ้างว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ด้วย 
       
       ขณะที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้สอบสวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานขัดขวางการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ โดยขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
       
       ด้านนายธาริต บอกว่า หากสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีการกระทำผิด จะเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษที่จะประชุมวันที่ 27 มิ.ย.นี้ รับเป็นคดีพิเศษต่อไป พร้อมส่งสัญญาณว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องเป็นผู้มีอิทธิพลตามกฎหมายคดีพิเศษ
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกต่อกรณีที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ผ่านสภา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทบทวนการเร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการประชุมสภาฯ ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คอป.เห็นว่า หากกระบวนการสร้างความปรองดองดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม และไม่คำนึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง สถานการณ์อาจบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้   
       
       ทั้งนี้ เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในสมัยประชุมนี้ โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ได้ออกมายืนยัน(6 มิ.ย.)ว่า ในสมัยประชุมนี้ จะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แน่นอน เวลาการประชุมที่เหลืออยู่ จะเป็นเพียงการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการฟอกเงิน และกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนเท่านั้น
       
      4.    ศาล พิพากษาจำคุก “ราเกซ” พ่อมดการเงิน 10 ปี พร้อมสั่งชดใช้เงิน “บีบีซี” พันกว่าล้าน!

       เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายราเกซ สักเสนา อายุ 60 ปี สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายาพ่อมดการเงิน อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด(มหาชน) หรือบีบีซี ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 นายราเกซ ได้ร่วมกับนายเกริกเกียรติและพวกที่ยังหลบหนี ยื่นขอสินเชื่อกู้ยืมเงินในนามบริษัท ซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 2 พันล้านบาท จากบีบีซี ผู้เสียหาย โดยอ้างวัตถุประสงค์การกู้และมีการนำหลักทรัพย์ใบหุ้นและที่ดินมาเป็นหลักประกัน โดยนายราเกซเป็นผู้ทำเอกสารเสนอนายเกริกเกียรติ ซึ่งพบว่า ความจริงแล้วจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติไม่มีเจตนาที่จะเอาใบหุ้นมาใช้เป็นหลักประกัน นอกจากนี้ที่ดินที่นำมาเป็นหลักประกัน ก็มีราคาประเมินที่แท้จริงแค่ 26.9 ล้านบาท ไม่ใช่ 1,350 ล้านบาทตามที่จำเลยกับพวกได้ทำหลักฐานขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์สินของบีบีซีไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติเป็นเงินทั้งสิ้น 1,657 ล้านบาท อัยการจึงขอให้ศาลสั่งให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
       
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานแน่นหนาและเบิกความสอดคล้องกัน รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุก 10 ปี และปรับ 1 ล้านบาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินผู้เสียหายจำนวน 1,657 ล้านบาทนั้น ศาลเห็นว่าการกู้เงิน มีการชำระเงิน 525 ล้านบาท จึงให้จำเลยชดใช้เงินคืนจำนวน 1,132 ล้านบาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า นายราเกซ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ถูกนำตัวขึ้นรถของเรือนจำเดินทางมาศาลฯ เพื่อฟังคำพิพากษา โดยนายราเกซมีอาการป่วย ไม่สามารถเดินได้ เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงนำตัวขึ้นนั่งรถเข็นแล้วพาเข้าห้องพิจารณา หลังฟังคำพิพากษา นายราเกซ ยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์คดี ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายราเกซได้ถูกอัยการยื่นฟ้องในความผิดลักษณะเดียวกันนี้ต่อศาลอาญาอีก 4 คดี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มิถุนายน 2555