ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 มิ.ย.2555  (อ่าน 1094 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 มิ.ย.2555
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2012, 18:22:53 »
1. “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ปิดสมัยประชุมสภาแล้ว 19 มิ.ย. ด้าน“เพื่อไทย”หน้าแตกญัตติต้านคำสั่งศาล รธน.คว่ำกลางสภา!

           ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภายังไม่กล้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องของหลายกลุ่มบุคคลไว้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ พร้อมสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลฯ จะวินิจฉัย แต่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย พร้อมเคลื่อนไหวสอดรับกับกลุ่มเสื้อแดงด้วยการเข้าชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะที่อัยการก็ออกมาแถลงยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส.ที่เสนอเข้าสภา ไม่เข้าข่ายล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุในมาตรา 68 นั้น
       
           ปรากฏว่า ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันมติเดิมว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3ไว้ก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของประธานรัฐสภา  อย่างไรก็ตาม ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ดูจะสวนทางกับวิปรัฐบาล เพราะนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ได้ออกมาเผยท่าทีของวิปว่า เห็นว่าไม่ควรลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในช่วงนี้ เพราะยังมีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
       
           ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดประชุมร่วมรัฐสภา(12 มิ.ย.) ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ประกาศก่อนเลยว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในบรรยากาศที่ดี และเป็นที่ชัดเจนว่า จะไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในสมัยประชุมนี้ รวมทั้งจะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พร้อมแจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 19 มิ.ย.
       
       นายสมศักดิ์ยังได้ส่งสัญญาณจะขอปิดอภิปรายเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญด้วย หากไม่มีสมาชิกคัดค้าน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนไม่พอใจ จึงประท้วงและเสนอญัตติขอให้รัฐสภาพิจารณาว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงโดยชี้ว่า เรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น จะลงมติไม่ได้
       
       จากนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างคัดค้านกันไปมา กระทั่งนายสมศักดิ์ได้ใช้อำนาจตัดสินเรื่องนี้ โดยทำตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ที่ประชุมมีมติว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ แต่การจะลงมติเรื่องดังกล่าวได้ จะต้องมีสมาชิกสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด  ด้านนายอภิสิทธิ์ เมื่อไม่สามารถทักท้วงได้สำเร็จ จึงได้นำทีม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์จากที่ประชุม  จากนั้น นายสมศักดิ์ได้กดออดเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม พร้อมสั่งพักประชุม 5 นาที เพื่อรอให้สมาชิกเดินเข้าห้องประชุม
       
       เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง นายสมศักดิ์ได้ให้สมาชิกแสดงตน ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 323 เสียง เมื่อเห็นว่าสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งมา 1 เสียง นายสมศักดิ์จึงให้ลงมติว่าควรจะมีการลงมติว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ถือว่าเสียงเห็นด้วยไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถนำญัตติคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาหรือลงมติได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรู้ผล  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่วอล์กเอาต์ต่างเดินเข้าห้องประชุมอีกครั้ง พร้อมตะโกนด้วยความดีใจว่าญัตติดังกล่าวตกไปแล้ว ทั้งนี้ มีรายงานว่า สมาชิกที่ไม่เห็นด้วย 2 เสียง ก็คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา  สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 2 เสียง คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา ส่วนผู้ที่ไม่ลงคะแนน 3 เสียง คือ นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี ,นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ และนายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี  นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่า ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 7 คนที่อยู่ในสายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายเนวิน ชิดชอบ ได้ลงมติเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว
       
       หลังญัตติดังกล่าวตกไป มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่พอใจอย่างมาก โดยได้โทรศัพท์มาต่อว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยให้เกิดกรณีนี้ขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยขาดประชุมถึง 16 คน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังต่อสายไปจี้นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ชี้แจงด้วยว่าทำไม ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาจึงขาดประชุม 8 คน ซึ่งนายบรรหาร ได้ออกมายอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณโทรศัพท์มาพูดคุยเรื่องดังกล่าวจริง ซึ่งได้เคลียร์กันไปแล้วว่า เรื่องนี้เกิดความสับสน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลงมติ รับรอง ส.ส.ของพรรคไม่ขาดประชุมแน่
       
           ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ได้แสดงความไม่พอใจนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ประกาศกลางที่ประชุมว่าจะไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จึงได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวประธานรัฐสภา ขณะที่นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ได้ออกมาสวนกลับนายก่อแก้วว่า ที่นายสมศักดิ์ประกาศออกไปเช่นนั้นก็เป็นไปตามมติของพรรคเพื่อไทยที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ “การตัดสินใจของนายสมศักดิ์ถือเป็นความสง่างามของฝ่ายนิติบัญญัติ...ไม่ใช่ความด่างพร้อยและเป็นการตัดสินใจที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่การสยบยอมกับเนื้องอกของอำนาจฝ่ายตุลาการดังที่นายก่อแก้วกล่าวหา”
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า มีข่าวแพร่สะพัดว่าอาจมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้  แต่ต่อมา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ออกมาดับข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่า จะไม่มีการประชุมดังกล่าว เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า จะยังไม่มีการถอนร่างดังกล่าวออกจากสภา แต่ก็จะยังไม่มีการพิจารณา โดยระหว่างนี้จะมีการนำไปสานเสวนาก่อน พร้อมย้ำว่า การประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 1 ส.ค. ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 19 มิ.ย.แล้ว
       
       
      2.    อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง “ทักษิณ”กับพวกรวม 27 คน ต่อศาลฎีกาฯ คดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย 9 พันล้าน!

           เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด(อสส.) ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการนำสำนวนพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 27 คน กรณีทุจริตปล่อยกู้ 9,000 ล้านบาทของธนาคารกรุงไทย จำนวน 150 แฟ้ม 17 ลัง เข้ายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
       
           สำหรับคดีนี้ เริ่มมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เมื่อ คตส.หมดวาระ ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 โดยมีการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก ร่วมกันกระทำผิดกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ ต่อมา กฤษดามหานครมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า กฤษดามหานครไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูงมาก แต่ทางธนาคารกรุงไทยกลับอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี
       
           คือ 1.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำนวน 500 ล้านบาท 2.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำนวน 9,900 ล้านบาท และ 3.อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้แก่บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวน 1,185 ล้านบาท
       
           จึงถือว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ การปล่อยกู้ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนกับพวก
       
           สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา 2.กลุ่มผู้ปล่อยกู้ ได้แก่ คณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และบริษัทเอกชนผู้ขอกู้ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด ,บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์คจำกัด และ บมจ. กฤษดามหานคร และ 4.กลุ่มบุคคลที่ได้ประโยชน์จากบริษัทเอกชนดังกล่าว
       
           ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้องไว้และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00น. ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกอัยการสูงสุด รีบออกตัวว่า การยื่นฟ้องคดีนี้เป็นมติของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ซึ่งเห็นว่าพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณกับพวกรวม 27 คนเป็นความผิดตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า คดีนี้ไม่มีการยื่นฟ้องบุคคลอื่นในครอบครัวชินวัตรแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย
       
       3. ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด “ยงยุทธ” คดีอัลไพน์ ผิดทั้งวินัยร้ายแรง-อาญา ด้าน “ปุระชัย” รอด!

           เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีซื้อขายที่ดินวัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ปทุมธานีโดยมิชอบเพื่อเอาไปสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งกรณีนี้ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดนายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาก่อนแล้ว ที่ได้กระทำการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนสิทธิขายที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯ 
       
       มาคราวนี้ ป.ป.ช.พิจารณากรณีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยใช้อำนาจในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในการรับรองการซื้อขายที่ดินวัดธรรมิการามฯ กับบริษัท อัลไพน์ ว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนได้ จนกว่าจะมีการตราเป็นกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เคยระบุในขณะนั้นว่า การกระทำดังกล่าวของนายยงยุทธไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการกระทำของนายยงยุทธมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง นอกจากนี้ยังมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยของนายยงยุทธต่อไป ซึ่งผู้บังคับบัญชาก็คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะสมัยที่นายยงยุทธกระทำผิด ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องดำเนินการลงโทษภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. นอกจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินคดีอาญานายยงยุทธในศาลต่อไป  รวมทั้งส่งความเห็นไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการเพิกถอนคำสั่งของนายยงยุทธที่เคยสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม และโฉนดที่ดินเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
       
       ส่วน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มิได้เร่งรัดเพื่อดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ป.ป.ช.ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า ยังไม่ถือว่ามีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       4. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนมติเดิม “ยิ่งลักษณ์” ไม่ใช้จริยธรรมเพียงพอตั้ง “นลินี-ณัฐวุฒิ” เตรียมส่ง 2 สภาดำเนินการ!


           ความคืบหน้ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติก่อนหน้านี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เสนอชื่อแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมอย่างเพียงพอ แต่นายกรัฐมนตรีก็มิได้ทบทวนการแต่งตั้ง 2 รัฐมนตรีดังกล่าว และได้ทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้วนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดแถลงโดยยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลทั้งสองเป็นรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของนายกฯ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า กรณีนางนลินีแม้จะมีคุณสมบัติและไม่มีข้อห้ามใดใดในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย แต่การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งของรัฐบาลไทยถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อความสง่างามของรัฐบาล ซึ่งหากก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายต่อประเทศชาติตามมา นายกฯ ในฐานะที่ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
       
           ส่วนกรณีนายณัฐวุฒินั้น นายรักษ์เกชา เผยว่า นายกฯ ชี้แจงว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การที่ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งว่า การกระทำของแกนนำ นปช.และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 63 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยเดิมคือ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่  ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร
       
      5. “เพรียวพันธ์” สั่งยกเลิกสอบนายสิบตำรวจ หลังพบโกงข้อสอบทั่วประเทศ - รวบแกนนำเสื้อแดงลำปางเอี่ยว!

       เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พล.ต.ต.จักรทิพย์ โหละสุตสกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้นำทีมแถลงข่าวจับกุมขบวนการโกงสอบคัดเลือดบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นประทวน(นายสิบตำรวจ) ซึ่งเปิดสอบแข่งขันพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ผู้ต้องหา 5 ราย ประกอบด้วย นางเตือนใจ พงษ์พันธ์ ,นายปัญญาศักดิ์ นิลเพ็ชร ,นายสมชาย แสงทอง ,นายธนกร วิเศษ และนางศตพร วิเศษ ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังได้ตัวผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบตามสนามโรงเรียนต่างๆ อีก 21 ราย พร้อมของกลางชุดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 2 ชุด แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 21 แผ่น และอื่นๆ รวมทั้งเอกสารรายชื่อผู้เข้าสอบและเงินสดที่เรียกรับจากผู้สมัครเข้าสอบคัดเลือกจำนวน 10.5 ล้านบาท
       
        ทั้งนี้ หลังจากการสอบสวนขยายผล ผู้ต้องหาได้ซัดทอดถึงนายดาชัย อุชุโกศลการ แกนนำกลุ่มพลังลำปางและประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจนครราชสีมาจึงได้ขอศาลออกหมายจับ ก่อนนำกำลังไปควบคุมตัวนายดาชัยขณะหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง ที่ จ.ลำปาง ซึ่งนายดาชัยลงสมัครด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายดาชัยไปค้นสำนักงานกลุ่มพลังลำปาง สถานีวิทยุชุมชนกลุ่มพลังลำปาง รวมทั้งบ้านญาตินายดาชัยอีก 4 หลัง พบเอการประกอบใบสมัครสอบคัดเลือดตำรวจชั้นประทวนเป็นสัญญาบัตร 22 ใบ จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงสอบนายสิบตำรวจ พร้อมอ้างว่าตนถูกใส่ร้ายจากผู้ต้องหาที่ให้การซัดทอด
       
        ด้าน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนการทุจริตสอบคัดเลือกเป็นตำรวจ ก่อนเผยว่า การก่อเหตุครั้งนี้ทำกันเป็นขบวนการ ขณะนี้รู้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมดแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นขบวนการหน้ามหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่ง โดยกลุ่มคนมีความรู้ร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย และมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อตรวจสอบการทุจริตสอบคัดเลือกเป็นตำรวจแล้ว
       
        ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกการสอบครั้งนี้แล้ว เนื่องจากหลักฐานพบว่ามีการทุจริตชัดเจน และว่า “จากการสอบสวนถึงตอนนี้มีเพียงดาบตำรวจนายหนึ่งใน สภ.เมืองศรีสะเกษเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องส่วนใด”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มิถุนายน 2555