ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-14 ก.ค.2555  (อ่าน 1191 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-14 ก.ค.2555
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2012, 18:16:01 »
1. “ในหลวง” ทรงพระประชวร เลื่อนเสด็จฯ เขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี ไม่มีกำหนด!
       
       เมื่อวันที่ 13 ก.ค.สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 52 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 12 ก.ค. หลังมีพระอาการกระตุกที่พระหัตถ์ข้างขวา พระหทัยเต้นเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ด้านคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า บริเวณใต้เยื่อหุ้มพระสมองชั้นนอกด้านซ้ายมีพระโลหิตซึมเล็กน้อย จึงได้ถวายพระโอสถทางหลอดพระโลหิต หลังจากนั้นพระอาการกระตุกของพระหัตถ์ข้างขวาได้หายไป
       
       สำหรับพระอาการช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ค.คณะแพทย์รายงานว่า พระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ไม่มีพระอาการกระตุก ขณะที่การเต้นของพระหทัยและความดันพระโลหิตเป็นปกติ ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานให้งดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง ล่าสุด(14 ก.ค.) สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ความคืบหน้าพระอาการประชวรว่า คณะแพทย์รายงานว่า พระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ คณะแพทย์ได้ขอถวายพระโอสถทางหลอดพระโลหิตต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด ส่วนพระอาการทั่วไปเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ โดยความดันพระโลหิต การเต้นของพระหทัยและการหายพระทัยเป็นปกติ รวมทั้งทรงบรรทมได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้นำแถลงการณ์ไปติดไว้บริเวณชั้น 1 ศาลาศิริราช 100 ปี ได้มีประชาชนจำนวนมากไปมุงอ่านแถลงการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว
       
       ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ได้รับการประสานจากนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนหมายกำหนดการเสด็จฯ เยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 ก.ค.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
       
       สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งเดิมพื้นที่โครงการเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ แต่ที่ดินถูกชะล้างพังทลาย ทำให้หน้าดินเสียหาย และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่สามารถปลูกพืชได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกมาช่วยในการป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ทั้งยังใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำด้วย
       
      2. ศาล รธน. ชี้ แก้ ม. 291 ไม่ล้มล้างการปกครอง แต่แก้ทั้งฉบับไม่ได้ ให้ทำประชามติก่อน ด้าน “นปช.” จี้สภาเดินหน้าลงมติวาระ 3!

       เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลซึ่งผ่านการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2 ไปแล้วนั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่างเดินทางมาร่วมฟังคำวินิจฉัยโดยพร้อมเพรียงกัน โดยผู้ร้อง ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ,นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ส่วนผู้ถูกร้อง ได้แก่ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาพูดปลุกระดมข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง พวกตนก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว และขอให้คนเสื้อแดงร่ำลาครอบครัวเอาไว้ได้เลย เพราะจะเป็นการต่อสู้แบบแตกหักอย่างแน่นอน เพราะหากศาลวินิจฉัยเช่นนั้น ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะไม่รับฟังคำตัดสินครั้งนี้ และจะดำเนินการไปสู่การจับกุมศาล หากตำรวจไม่กระทำตาม ประชาชนก็จะดำเนินการเอง
       
       ร้อนถึงผู้เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความเข้มในการรักษาความปลอดภัยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยทางตำรวจถึงกับมีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ไว้เพื่อนำตุลาการศาลฯ ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินหลังอ่านคำวินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แบ่งการวินิจฉัยเป็น 4 ประเด็น ประเด็นแรก ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลมีอำนาจในการรับคำร้องไว้วินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าวได้โดยตรง ซึ่งศาลฯ เห็นว่าการแปลความแบบนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
       
       ประเด็นที่สอง การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่ ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านการทำประชามติ จึงถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นแม้การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291 เพราะควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข
       
       ประเด็นที่สาม การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง และหากพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เห็นว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง โดยเป็นการคาดการณ์และความห่วงใยของผู้ร้องที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังห่างไกลที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับในการไต่สวน ผู้ถูกร้องได้เบิกความยืนยันว่าไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง และให้คำมั่นว่าจะดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       อย่างไรก็ตาม ศาลฯ เห็นว่า หาก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ ขณะที่ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ได้
       
       ทั้งนี้ เมื่อศาลฯ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลจึงไม่พิจารณาประเด็นที่สี่ที่ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ราย
       
       ด้านทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงในเวลาต่อมาว่า ประเด็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ เป็นมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ที่เห็นว่าศาลมีอำนาจรับคำร้อง โดยเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจรับคำร้อง คือ นายชัช ชลวร ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น เป็นมติเอกฉันท์ 8 เสียงที่เห็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
       
       หลังรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะ 1 ในผู้ร้อง บอกว่า ฝ่ายผู้ร้องพอใจกับคำวินิจฉัยของศาล เพราะเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการยับยั้งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลยังทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 3 เป็นอันตกไปด้วย ซึ่งหากรัฐบาลต้องการเดินหน้าแก้ไข ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด โดยต้องทำประชามติหรือแก้ไขเป็นรายมาตราโดยสมาชิกรัฐสภาเอง
       
       ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) บอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลเดินหน้าไม่ได้ เพราะถือว่าศาลได้สั่งให้ยุติการลงมติในวาระ 3 แล้ว
       
       ส่วนท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกปากชมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความกล้าหาญและความยุติธรรม พร้อมบอกว่า ตนมีความเชื่อมั่นมาตลอดอยู่แล้วว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม
       
       ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาคุยโวว่า คาดไว้ไม่ผิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาแบบนี้ พร้อมขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่า ฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้วยังไม่แน่ใจว่าจะให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ได้หรือไม่
       
       ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 เป็นอันตกไป และ ส.ส.ร.ก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นายอุดมเดชยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็นเท่านั้น
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนค จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ไปศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลฯ อีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่ารัฐสภาต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป พร้อมขีดเส้น ต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.นี้
       
       ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า พันธมิตรฯ เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าคดีที่พันธมิตรฯ ได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส.-ส.ว.รวม 416 คนต่อไป ตราบใดที่ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าที่ประชุมสภา
       
       ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ บอกว่า รับได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ ขณะนี้หลักเกณฑ์ได้ถูกจารึกไว้แล้วว่า หากมีใครจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองเมื่อใด ประชาชนทุกคนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดอีกต่อไป “เพราะฉะนั้นมันไม่หมูแล้วสำหรับรัฐบาลชุดนี้ ที่จะทำอะไรตามใจชอบ อยู่ๆ ฉันจะออกกฎหมายปรองดอง ฉันจะแก้รัฐธรรมนูญ มันไม่หวานหมูเหมือนที่เขาคิด... ถ้าจะแก้ตามแบบที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการก็ทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำ ก็จะไปร้องอีก หากล้มล้างมาตรา 309 จะยอมเหรอ จะฟอกผิด ให้การกระทำของ คตส.เป็นโมฆะ แล้วจะได้ไม่ต้องติดคุก 2 ปี ได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน อย่างนี้เราก็ไม่ยอม เราก็ไปค้าน”
       
       ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแถลงว่า พรรคฯ จะประชุมในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อหาทางออกหลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี 3 แนวทาง 1.เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ต่อไป 2.ทำประชามติ ซึ่งในมาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า “ควรทำประชามติ” จึงไม่แน่ใจว่าคำว่า “ควร” จะต้องทำหรือไม่ทำ และ 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่ง ส.ส.หลายคนเสนอว่า ถ้าจะแก้ ก็ควรแก้มาตรา 68 เป็นมาตราแรก โดยตนจะเสนอให้ประชาชนยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดได้เท่านั้น ไม่สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้อีกต่อไป
       
       ขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เช่น นางธิดา ถาวรเศรษฐ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ฯลฯ ได้เปิดแถลงยุให้สภาเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ต่อไป พร้อมอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมาบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ เพราะการที่ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลตามที่ประกาศว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำประชามติของประชาชนทั้งประเทศแล้ว นายจตุพร ยังขู่จะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้ด้วย “เบื้องต้นสถานการณ์รัฐบาลปลอดภัย คือพรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ แต่วาระ 3 ยังเดินต่อไม่ได้ ซึ่งแกนนำ นปช.จะต้องไปปรึกษาหารือหามาตรการดำเนินการต่อไป คาดว่าถ้ามีการนัดหมายในครั้งต่อไป จะเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมีมวลชนเข้าร่วมหลายล้านคน”
       
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปผลสอบ “ปู ว.5 โฟร์ซีซั่นส์” ไม่ส่อชู้สาว พร้อมชี้ โครงการ “บ้านหลังแรก” ไม่เอื้อ บ.เอสซีฯ

       เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงผลวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าประชุมสภา โดยเดินทางไปทำธุระส่วนตัว ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน และฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 รวมทั้งกรณีที่นายกฯ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกร้องเรียนว่าเดินทางไปพบนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในเวลาราชการ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ อันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และอาจขัดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 279 ซึ่งจากการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นายกฯ ไม่ได้ขาดประชุมสภา เพราะช่วงแรกของการประชุม ไม่มีประเด็นที่นายกฯ ต้องชี้แจง เมื่อมีงานในความรับผิดชอบที่ต้องเร่งรัดแก้ปัญหา จึงไม่ได้อยู่ร่วมประชุม แต่เมื่อเสร็จภารกิจก็กลับมาร่วมประชุมสภา จึงไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่านายกฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
       
       ส่วนข้อร้องเรียนที่ว่านายกฯ ไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พร้อมนายกิตติรัตน์ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปว่า ไม่ปรากฏหลักฐานที่นำไปสู่การได้ประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใด จึงไม่อาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเช่นกัน รวมทั้งไม่พบว่าการไปโรงแรมดังกล่าว เป็นการกระทำที่ส่อไปในทางชู้สาวตามที่มีผู้ร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
       
       สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า นโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาล นายกฯ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร ถือว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วพบว่า โครงการบ้านหลังแรกริเริ่มโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกำหนดตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนบริษัท เอสซีแอสเสทฯ จะได้ประโยชน์เพียง 9 โครงการ ที่มีราคาขายยูนิตละไม่เกิน 5 ล้านบาท 409 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 4.39 ของมูลค่าโครงการที่เปิดขายในปี 2554-2555
       
       ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือหุ้นในบริษัท เอสซีแอสเสทฯ ร้อยละ 0.85 ซึ่งไม่เกินกว่าที่ พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 ดังนั้นการถือหุ้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ ยังไม่อาจสรุปได้ว่านายกฯ มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณา โดยได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยทั้ง 2 กรณีให้นายกรัฐมนตรีและผู้ร้องทราบแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค.
       
       4. ศาล พิพากษาจำคุก “จตุพร” 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี คดีหมิ่น “อภิสิทธิ์” ตีตนเสมอเจ้า!

       เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,328 และ 332
       
        ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน โดยจำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2552 ว่า “...โจทก์ออกมานั่งทำตัวเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการใส่ความโจทก์ จึงพิพากษาจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์มติชนและผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
       ด้านนายจตุพร กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ตนน้อมรับคำพิพากษา แต่จะหารือกับทนายความเพื่อใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะคดีหมิ่นประมาทที่มีกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และไม่กังวลคดีอื่นที่ถูกนายอภิสิทธิ์ฟ้องหมิ่นประมาท เพราะตนพูดไปตามหลักฐานและเอกสาร พร้อมเชื่อว่า วันหนึ่งนายอภิสิทธิ์อาจตกเป็นจำเลยบ้างก็ได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 กรกฎาคม 2555