ผู้เขียน หัวข้อ: ความอัปยศของวงการสาธารณสุขไทย  (อ่าน 3879 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
ความอัปยศของวงการสาธารณสุขไทย
« เมื่อ: 23 ตุลาคม 2013, 22:46:24 »
จากข่าวที่พบเห็นในสังคมon line เร็วๆนี้ คงไม่มีข่าวใดที่ทำให้ผู้คนเกิดความเศร้าสลดใจมากไปกว่าข่าวที่ว่าหญิงคนหนึ่งเจ็บท้องคลอด ไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แต่สิทธิประกันสังคมบอกว่าเธอต้องจ่ายเงินก่อนจึงจะรับไว้ทำคลอดได้ เมื่อเธอไม่มีเงินจ่ายให้โรงพยาบาล เธอจึงจำใจกลับไปบ้าน และได้คลอดลูกอย่างเดียวดายภายในห้องพัก จนทากรที่คลอดใหม่เสียชีวิต และตัวแม่เองก็นอนอยู่คนเดียว ไม่สามารถจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้ จนเพื่อนบ้านมาเห็นเข้าและนำส่งโรงพยาบาล แม่จึงยังมีชีวิตรอดมาได้

คนที่อ่านข่าวนี้ ก็คงต้องก่นด่าหมอที่โรงพยาบาลนั้นว่า ทำไมจึงไม่มีความเมตตากรุณา และรับผู้หญิงคนนี้ไว้ หรือส่งเธอต่อไปยังโรงพยาบาลของทางราชการ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใช่คิดแต่จะเรียกร้องเงินก่อนอื่นใด

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ยากจน เมื่อเจ็บป่วยแล้วและบากหน้าไปถึงโรงพยาบาลเพื่อขอความรับการรักษาพยาบาลและความช่วยเหลือ แต่นอกจากผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเพราะไม่มีเงินมาให้ล่วงหน้า ก่อนที่หมอจะลงมือรักษาแล้ว ก็อาจจะต้องผิดหวังที่จะไม่ได้รับการแนะนำหรือส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นอีกด้วย

เรื่องการปฏิเสธไม่รักษาผู้ป่วยนี้ นอกจากจะเป็นความอัปยศในวงการแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆแล้ว มันยังเป็นการประจานความล้มเหลวในการบริหารจัดการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าให้ประชาชนที่อยู่นอกแวดวงสาธารณสุขได้รับทราบดังนี้
เมื่อก่อนหน้าที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพ.ศ. 2545 นี้ โรงพยาบาลของทางราชการทุกแห่ง จะรับรักษาผู้ป่วยทุกคน โดยไม่ต้องถามว่ามีเงินจ่ายค่ารักษาหรือไม่ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไปแล้วแต่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาและค่ายา ก็ยังจะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดสำหรับการเจ็บป่วยนั้นๆตามศักยภาพ(หรือขีดความสามารถของแพทย์ เครื่องมือ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี)ของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณพิเศษให้โรงพยาบาลไว้รักษาผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย และถ้างบประมาณนี้มีไม่พอที่จะรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลต่างๆก็มักจะมีเงินกองทุนหรือมีเงินจากมูลนิธิคอยให้การช่วยเหลือด้านการเงินของโรงพยาบาล มีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ที่คอยพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจน ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนให้ค่ายา เสื้อผ้า และค่ารถกลับบ้านอีกด้วย

แต่หลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ประชาชนได้รับการบอกกล่าวจากการประกาศโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของรัฐบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ทำให้ประชาชนดีอกดีใจและให้ความนิยมชมชื่นต่อทักษิณ ชินวัตร ผู้ทำให้เกิดระบบ 30 บาท และประชาชนยังให้ความนิยมชมชอบต่อสปสช.มาก

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวออกมาโดยทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งประชาชนส่วนมากก็รับรู้กันอย่างแพร่หลายว่า “พวกหมอไม่ชอบนโยบาย 30 บาท” ประชาชนและนักการเมืองต่างคิดว่า เพราะนโยบาย 30 บาท ทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น หมอต้องทำงานมากขึ้น ประชาชนเรียกร้องมากขึ้น จึงทำให้พวกหมอพากันไม่ชอบและต่อต้านนโยบาย 30 บาท และมีผลให้หมอลาออกจากราชการและไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น

แต่ความจริงนั้น เหตุผลสำคัญที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์แสดงออกว่า “ไม่ชอบระบบ 30 บาท”นั้น มีสาเหตุที่นอกเหนือจากมีผู้ป่วยมากขึ้นหลายเท่าตัวแล้ว แต่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้หมอไม่ชอบนโยบาย 30 บาทคือ “ข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วย” ที่ผู้บริหารของสปสช.ไม่ยอมบอกให้ประชาชนรับรู้ แต่”สปสช.สั่ง” มายังโรงพยาบาลว่า ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท จะ”มีสิทธิ์” ได้รับการรักษาในโรคใดบ้าง และมีสิทธิ์ได้รับยาอะไรบ้าง ถ้าหมอรักษาผู้ป่วยนอกเหนือจากที่สปสช.กำหนดแล้วสปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาล

จึงเป็นสาเหตุให้หมอมีความอึดอัดคับข้องใจ เพราะไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้ตามความรู้และมาตรฐานที่ครูอาจารย์สั่งสอนมา(รวมทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว) มารักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุดตามที่ครูอาจารย์สั่งสอนมาได้ ทำให้หมอ “เสียใจและเสียดายโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอาการป่วยของตน” เหมือนกับหมอยอมจำใจขาด “จรรยาแพทย์” เพราะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐาน

ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือถ้าหมอสั่งการรักษาและสั่งยานอกเหนือจากที่สปสช.กำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบที่สปสช.กำหนดไว้ไว้ สปสช.ก็จะไม่ยอมจ่ายเงินให้โรงพยาบาล หมอที่รักษาผู้ป่วยก็จะถูกผู้อำนวยการโรงพยาบาล “ไล่เบี้ย” ให้จ่ายเงินให้รพ.แทน

ซึ่งหมอเองก็ทำงานในราชการ เงินเดือนน้อย ย่อมไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษาแทนผู้ป่วยอยู่ได้ตลอดไปเพราะถ้าหมอไม่ยอมจ่ายเงินแทนผุ้ป่วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็จะสั่งไว้เลยว่า เมื่อมีผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แทนที่จะถามว่าเจ็บป่วยตรงไหนอย่างไร? กลับต้องถามว่า “ใช้สิทธิอะไร?” มีบัตรรับรองสิทธิ์ไหม? ถ้าไม่มีสิทธ์ ไม่มีบัตร ต้องรับรองว่าจะจ่ายเงินเองเป็นราคาเท่านั้นเท่านี้บาท และถ้ามากสุดๆก็คือต้องเอาเงินมาจ่ายก่อนจึงจะเริ่มรักษา
จนผู้ป่วยต้องซมซานกลับไปตาย(รัง)ที่บ้านก็มีข่าวให้เห็น(และไม่เป็นข่าวอีกมากมาย)อยู่เสมอ

นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่เป็นที่ปรึกษาของระบบ 30 บาทเอง ก็เคยพูดว่า เขาเองไม่กล้าไปรับการรักษาที่รพ.ทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข เพราะกลัวว่าจะได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานและ ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ สปสช.ยังเอาไป”โม้” (โอ้อวดเกินจริง) ว่าสปสช.บริหารดี ประสบความสำเร็จ ประชาชนชื่นชอบและ “เข้าถึง” บริการมากขึ้น ควรเป็นแบบอย่างให้กองทุนต่างๆ(ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) บริหารงบประมาณตามแบบสปสช.สิ จะได้ “ไม่เปลือง” งบประมาณ
การ “โม้”ของสปสช. มีผลให้สปส.(ประกันสังคม) และสวัสดิการข้าราชการ ต่างก็หันมา “ลดรายการยา” และลดการรักษาหรือลดจ่ายค่าเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ป่วยต้องใช้ลงมากมาย

ทำให้กระบวนการรักษาของไทยในทุกระบบ ไม่ว่า บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ตกต่ำอยู่ในมาตรฐานเลวสุดเท่าเทียมกันทุกระบบ
คนจน ข้าราชการชั้นผุ้น้อย แก่ชรา รับบำนาญมานาน รวมทั้งลูกจ้างที่ต้องจ่ายเงินตนเองเข้ากองทุนประกันสังคม (ที่ไม่จ่ายให้ทุกโรค แม้แต่ไปคลอดก็ไม่จ่ายให้ก่อน” จึงต้องประสบชะตากรรมอัปยศของวงการสาธารณสุขไทย “ คือมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้รับการดูแลรักษาหรือบริการทางการแพทย์ที่ตกต่ำสุดๆ หรือได้รับเชิญให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น

ประชาชนที่ยากจนทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิเสธจากโรงพยาบาลทั้งรพ.รัฐ และเอกชน ถ้าไม่มีเงินไปจ่ายล่วงหน้า เพราะผู้บริหารโรงพยาบาลก็ต้อง “เอาตัวเองให้รอด”จากการล้มละลายทางการเงิน แต่รัฐบาล “ได้หน้า” และได้รับ”ความนิยมจากประชาชนไปตลอดกาล”จากนโยบายประชานิยมนี้ไป และสปสช.ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึงมากกว่า 300% มีเงินใช้ตามตามสบาย(เพราะเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบในการใช้เงินเอง โดยกรรมการบอร์ดเองก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน) สปสช.จึงมีเงินบริหารมากมาย จ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นมากมาย จ้างNGO เอาไว้เรียกร้องงบประมาณเพื่อสำนักงานมากขึ้น แต่จ่ายให้รพ.น้อยลง จนรพ.ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาผู้ป่วย เพราะได้รับงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมา 11-12 ปีแล้ว

จะเห็นได้ว่า แม้รพ.ระดับชาติ(ชั้นหนึ่งของไทย) เช่น ศิริราช จุฬา รามา ต่างก็ต้องหาทาง “เพิ่มรายได้ให้โรงพยาบาล” ด้วยการเปิด “คลินิกหรือโรงพยาบาลพิเศษ” เช่นรพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หรือคลินิกพรีเมี่ยมของรพ.รามา คลินิกนอกเวลาของรพ.จุฬา ฯลฯ เพื่อให้คลินิกพิเศษเหล่านี้ ทำตัวเหมือนโรบินฮู้ด คือเอารายได้จากคลินิกพิเศษนี้ ไปช่วยรักษาคนจน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา”ในการต้องจำใจไล่ผู้ป่วยที่ไม่มีเงินกลับบ้าน”

ความอัปยศในวงการแพทย์ และสาธารณสุขจะยิ่งมากขึ้น ถ้าไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่ อ้างว่า “รักษาทุกโรค”แบบนี้ และไม่ยุตินโยบายที่ให้ฟรีทั้งคนรวยคนจน จนมีการให้ยามากเกินไปสำหรับบางคน จนเอามาแลกไข่ไปกินได้

มันเหมือนกับรัฐบาลโฆษณาว่าจะเลี้ยงอาหารโต๊ะจีนฟรี ให้ประชาชนมากินได้ แต่เงินหมดแล้ว โรงพยาบาลไม่มีเงินจ่ายค่าอาหารโต๊ะจีน จึงต้องขอเก็บเงินก่อน ไม่เช่นนั้นไม่ให้กิน
นี่คือความเป็นจริง ที่รัฐบาลไปตรวจสอบได้เดี๋ยวนี้ ทันที ถ้าไม่รีบแก้ไข จะเกิดความอัปยศมากกว่านี้ และคนจนจะตกเป็นเหยื่อรายแรกๆ และตลอดไป


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย (สผพท.)
 October 16