ผู้เขียน หัวข้อ: เร่งตรวจสอบเชิงลึกทุจริต สปสช.10 จังหวัด วงเงิน 2 พันล้าน  (อ่าน 636 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
รมว.ยธ.ยืนยันพบความเสียหายใน สปสช.10 จังหวัด วงเงินกว่า 2 พันล้าน เร่งตรวจสอบเชิงลึกโดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนผูกขาดจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์
      
       วันนี้ (20 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีมีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณภายในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค ในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนผูกขาดจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ หรือการนำงบประมาณไปปรับเพิ่มเงินเดือนจนส่งผลกระทบต่อการบริหารงานโรงพยาบาลของรัฐ
      
       ทั้งนี้ ในการตรวจสอบเป็นไปในนามศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไม่ใช่ในนามของกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อดำเนินการปราบปรามการทุจริตทั่วประเทศ
      
       จากการตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณ สปสช. โดย สตง.พบว่ามีความเสียหายใน10 จังหวัด วงเงินกว่า 2 พันล้านบาท เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพียงพบว่ามีความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบต่อไป โดยทาง ศอตช.จะเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดเชิงลึกว่าช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร
      
       พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ทาง สตง.มีข้อมูลทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่ทราบว่ามีความเสียหายอย่างไร ซึ่งจะต้องดูระบบบริหาร การใช้จ่ายเงินว่าเป็นอย่างไร
      
       ส่วนกรณี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่า นพ.ณรงค์ยังคงเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งตั้งกรรมการสอบสวน โดยจะต้องให้ผลออกมารวดเร็วชัดเจน และต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้
      
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 5 ประเด็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบ สปสช.ได้แก่ 1. คณะกรรมการ สปสช.บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในด้านต่างๆ และมีกรรมการ สปสช.เป็นประธานอนุกรรมการหรืออนุกรรมการใช้กระบวนการออกระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุน 30 บาท รักษาทุกโรค ไปใช้โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นในกรณี ให้มูลนิธิ ชมรม หรือบุคคล ซึ่งคณะกรรมการ สปสช.บางคนหรืออนุกรรมการบางคนใน สปสช.เป็นประธานมูลนิธิ หรือคณะกรรมการมูลนิธิ มูลนิธิ ชมรม ทั้งที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่สามารถรับเงินจาก สปสช.ได้
      
       2. คณะกรรมการ สปสช.ได้นำเงินไปใช้ในโครงการต่างๆ ในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย สปสช. ที่สามารถรับเงินจากกองทุนได้ อันเป็นการบริหารงานที่เป็นลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่สนับสนุนหน่วยบริการของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรง หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาพยาบาลโดยตรง อีกทั้ง ไม่มีหลักเกณฑ์ในการรับรองประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยจากโรคเฉพาะทางตามโครงการ แต่เป็นการนำเงินกองทุนไปทำให้เอกชนได้ประโยชน์และเกิดรายได้จากโครงการที่สนับสนุนโดยไม่ชอบ ซึ่งมีการเสนอขอแก้มติและระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินได้
      
       3. คณะกรรมการ สปสช.ทำหน้าที่ในการดูแลประสานภาพรวมของเงินกองทุน 30 บาททั่วประเทศ โดยได้มีการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางแพทย์ ในลักษณะผูกขาด วงเงินปีละกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นหน่วยที่ใช้ยาจริงไม่ได้กำหนด ทั้งยังปรากฏ มีเงินตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่นประมาณ 10% จากวงเงินดังกล่าว ประมาณ 600 ล้านบาท คืนกลับไปยังสวัสดิการของ สปสช. แทนที่สปสช.จะคืนเงินกลับเข้ากองทุน 30 บาท หรือโรงพยาบาลที่ใช้ยาจริง แต่กลับนำเงินตอบแทนไปใช้ประโยชน์เพื่อพวกพ้อง เช่น การนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลร่วมคณะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ
      
       4. มีลักษณะการกระทำเป็นการตกแต่งบัญชีเพื่อให้เข้าใจว่า สปสช.สามารถบริหารเงินกองทุนที่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้งบประมาณหมด) โดยวิธีการโอนงบประมาณไปให้โรงพยาบาลต่างๆ จำนวน 250 โรงพยาบาล กว่า 2,000 ล้านบาท เมื่อมีการพิจารณาจากโบนัสให้กับพนักงาน และได้รับงบประมาณก้อนใหม่ สปสช.จะเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลโดยอาจเป็นการโอนผิด ซึ่งอาจมีลักษณะเกี่ยวโยงถึงการประเมินผลงานและโบนัสประจำปีของสำนักงาน และ 5. เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบ การปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการ หรือเลขาธิการ สปสช.ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ ใช้ในอัตราสูงสุดที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น หรือแม้แต่ค่าตอบแทนเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการมีอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน



ทีมข่าวอาชญากรรม    20 มีนาคม 2558
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000032798