ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิจัยไทยเจ๋ง! พัฒนาเซลล์ตับคนได้สำเร็จ  (อ่าน 1231 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
ดทึ่ง! นักวิจัยไทยพัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนหนูทดลอง เป็นเซลล์ตับของคนได้สำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คาดอีก 10 ปี จะพัฒนาจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ และร่างกายเป็นเซลล์ตับใหม่ให้กับคนได้อย่างสมบูรณ์ สามารถช่วยปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรคตับได้....

รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาสามารถทำได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะ

อย่างไรก็ตามยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนถ่ายตับ เช่น ภาวะร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย (Rejection) นอกจากนั้นยังพบปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคตับจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ล่าสุด มทส. ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบด้วยดร.กาญจนา ธรรมนู และ รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ พัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับของมนุษย์ได้สำเร็จ และได้ทำการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในระดับชีวโมเลกุล พร้อมทั้งทดสอบเทคโนโลยีการแยกเซลล์อย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด

ทั้งนี้ การพัฒนาเซลล์ต้นแบบจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากการปฏิสนธิ และมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตเป็นอวัยวะต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นให้พัฒนาเป็น เซลล์ตับนั้นจำเป็นต้องทราบการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เดี่ยว เพื่อให้รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์นี้อาจทำให้เราทราบได้ถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติอื่นใดที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพัฒนาเซลล์ และที่สำคัญเมื่อเซลล์ถูกการกระตุ้นให้เป็นเซลล์ตับในระยะสุดท้ายแล้วนั้น เซลล์ตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งเทคนิคการวิเคราะห์จาก กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดโดยใช้แสงซินโครตรอนสามารถแสดงผลการพัฒนาไปสู่เซลล์ตับได้อย่างชัดเจนเป็นที่น่าพอใจมาก และคิดว่าจากนี้ไปจะทดลองในสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์  หรือด้วยสเต็มเซลล์ร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต และคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณกว่า 10 ปีจะสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเซลล์ตับใหม่ให้กับมนุษย์ได้

ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างฐานข้อมูลในการตรวจ หรือจัดจำแนกเซลล์ตับที่ถูกต้อง และสมบูรณ์จากเซลล์ตั้งต้นได้รวดเร็วขึ้นกว่าวิธีปกติทั่วไป และช่วยลดข้อจำกัดในของการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้นกว่า และมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมีใด ๆ จะช่วยให้การทำงานของนักวิจัยรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทย

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ธค 2554