ผู้เขียน หัวข้อ: พ.สุราษฎร์ฯขอทุนเพิ่มหนุนเด็กซีเพิร์ด-โอดอด หวังรั้งหมอประจำพื้นที่  (อ่าน 951 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
พ.สุราษฎร์ฯขอทุนเพิ่มหนุนเด็กซีเพิร์ด-โอดอด หวังรั้งหมอประจำพื้นที่

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   23 กรกฎาคม 2556 14:29 น.   

   


       ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาฯ รพ.สุราษฎร์ธานี ฟุ้ง เด็กโครงการซีเพิร์ดและโอดอด ไม่ลาออก หลังเรียนจบหมอ 3 ปีแรก สูงถึง 80-90% โอดโควตาทุนเรียนต่อเฉพาะทางไม่เพียงพอ ได้ปีละ 20 ทุน แต่มีนักศึกษาแพทย์ 2 โครงการ จบปีละ 30 คน เล็งขอเพิ่มอีก 10 ทุน หวังสกัดแพทย์ขอทุนอื่น จนไหลออกนอกพื้นที่

       พญ.วิญญู กิ่งวงษา ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ชั้นคลินิก รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รพ.สุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับนักเรียนตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือซีเพิร์ด (CPIRD) ซึ่งเป็นเด็กมีภูมิลำเนาในชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี และโครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 คน หรือโอดอด (ODOD) เป็นเด็กจากอำเภอต่างๆ ในสุราษฎร์ธานี มาเรียนแพทยศาสตร์ชั้นคลินิก หรือชั้นปี 4-6 ส่วนชั้นปีที่ 1-3 เรียนที่ มธ.ซึ่งแต่ละปีจะมีนักศึกษาแพทย์ 2 โครงการ รวมกัน 30 คน แต่ รพ.สุราษฎร์ธานีจะมีทุนเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาต่างๆ เช่น กุมารแพทย์ อายุรกรรมหัวใจ อายุรกรรมโรคปอด เป็นต้น ให้แพทย์จากโครงการดังกล่าวไม่เกินปีละ 20 ทุน ทำให้เกิดปัญหานักศึกษาที่ต้องการได้ทุนเรียนต่อของ รพ.สุราษฏร์ธานี แล้วไม่ได้ ต้องไปหาทุนจากที่อื่น ซึ่งเชื่อว่าในพื้นที่อื่นๆ น่าจะมีปัญหาคล้ายกัน
       
       “เด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด และมีโอกาสได้ทุนจากในพื้นที่ เมื่อจบเป็นแพทย์เฉพาะทางก็จะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอยู่ในพื้นที่ ทำให้โอกาสที่แพทย์จะทำงานอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาสูง การเคลื่อนย้ายน้อย แต่หากได้ทุนเฉพาะทางในพื้นที่จังหวัดอื่น เมื่อจบก็ต้องไปใช้ทุนในพื้นที่ที่ได้ทุน โอกาสกลับมาทำงานในภูมิลำเนาก็จะน้อย” พญ.วิญญู กล่าว
       
       พญ.วิญญู กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาคือต้องขอเพิ่มทุนเรียนต่อเฉพาะทางอีก 10 ทุน เพื่อให้พอดีกับจำนวนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากทั้ง 2 โครงการ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจต่อหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เพราะเป็นภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ การจะขอทุนเพิ่ม รพ.สุราษฎร์ธานี ต้องดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ยกระดับเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นสูง ความต้องการแพทย์ก็จะมากขึ้น และ 2.รพ.มีระบบอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (Trainin Residency) ความต้องการอาจารย์แพทย์จะมากขึ้น โอกาสขอทุนก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจากการประเมินแพทย์ตามโครงการนี้พบว่า อัตราการคงอยู่ในพื้นที่ของแพทย์จบใหม่ 3 ปีแรกสูงถึง 80-90% ส่วนในระยะยาวหากแพทย์เรียนจบเฉพาะแล้วจะยังคงอยู่พื้นที่ในอัตราเท่าไรยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะศูนย์เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2547 ขณะนี้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษารุ่นแรกยังเรียนต่อเฉพาะทางไม่จบ
       
       พญ.วิญญู กล่าวด้วยว่า แต่ละปีมีนักเรียนจากชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี สอบแข่งขันโครงการซีเพิร์ดของศูนย์แพทยศาสตร์ฯ รพ.สุราษฎร์ธานี ราว 300 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 10 ถือเป็นการแข่งขันกันเองในพื้นที่ดีกว่าไปแข่งระดับประเทศ ซึ่งโครงการซีเพิร์ดและโอดอดมีความแตกต่างกัน คือ 1.ที่มาของนักศึกษา โครงการซีเพิร์ดจะเป็นนักเรียนจากพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวเมื่อจบเป็นแพทย์ใช้ทุนในพื้นที่ใดของ 3 จังหวัดก็ได้ ส่วนโอดอดเป็นเด็กจากอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อจบต้องใช้ทุนในอำเภอบ้านเกิดของตัวเอง 2.ระหว่างเรียนโครงการโอดอดจะมีค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าที่พักให้นักศึกษา และ 3.ระยะเวลาใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษา โครงการซีเพิร์ดจะใช้ทุน 3 ปี แล้วมีสิทธิ์เรียนต่อเฉพาะ โครงการโอดอดใช้ทุน 12 ปี จะเรียนต่อเฉพาะทางได้ต้องใช้ทุนแล้ว 4 ปี