ผู้เขียน หัวข้อ: อภ.ตั้งเป้าปี 56 "สำรองน้ำเกลือ-ผลิตยาสามัญ"  (อ่าน 845 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   1 มกราคม 2556 18:20 น.   

   


       อภ.ตั้งเป้าปี 2556 จะสำรองน้ำเกลือเพิ่ม 5 ล้านถุง เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลน พร้อมผลิตยาชื่อสามัญหลายรายการที่ประชาชนนิยมใช้ ชี้เพิ่มการเข้าถึงยา ลดค่าใช้จ่ายด้านยา และราคายาถูกลง ยก "ซิเดกร้า" ช่วยตัดราคายาแก้เซ็กซ์เสื่อมได้ถึง 20-30%


       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า อภ.มีแผนดำเนินการในปี 2556 ดังนี้ 1.พัฒนาการผลิตน้ำเกลือ เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำเกลือ ภายหลังโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 จนต้องนำเข้าน้ำเกลือจากประเทศเพื่อนบ้านเดือนละประมาณ 1 ล้านถุง แม้ขณะนี้โรงงานต่างๆ จะสามารถกลับมาผลิตได้เกือบ 100% แล้วก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาทและลดการนำเข้าน้ำเกลือ อภ.จะทำการผลิตน้ำเกลือสำรองเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งจะสำรองไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านถุง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาอีก ซึ่งขณะนี้ผลิตได้แล้วกว่า 1 ล้านถุง ส่วนปริมาณน้ำเกลือที่จะผลิตตั้งเป้าว่าจะผลิตขนาดตั้งแต่ 100 - 1,000 ซีซี อย่างไรก็ตาม อภ.จะมีการตรวจทานระบบการผลิตน้ำเกลือควบคู่ไปด้วย
       
       นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า 2.การผลิตยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตยาในกลุ่มที่ประชาชนมีการใช้เป็นจำนวนมาก เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูง และยาเอดส์ เป็นต้น เพื่อให้ราคายาถูกลง อาทิ จาก 100 บาท ก็จะทำให้ราคาลดลงจากเดิมประมาณ 70-80% คือเหลือประมาณ 20 - 30 บาท โดยการผลิตยาชื่อสามัญนั้นจะเริ่มต้นที่ยาเอดส์ก่อนและถ้าผลักดันยาเอดส์สำเร็จ ก็จะผลักดันยาเบาหวานต่อ และตามด้วยยาชนิดอื่นๆ ตามลำดับ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและทำให้มีการเข้าถึงยามากขึ้น สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งนี้ หาก อภ.สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ ประชาชนและประเทศจะประหยัดค่าจ่ายได้มาก สังเกตได้จากการที่ อภ.ผลิตยาซิเดกร้าหรือยาแก้ปัญหาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ส่งผลให้ยากลุ่มเดียวกับซิเดกร้ามีราคาถูกลงจากเดิมประมาณ 20-30%
       
       “ในปี 2558 ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น เราจึงควรใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้น เพราะว่าจะต้องมีการแข่งขันกัน ไทยจึงต้องลดการนำเข้ายาดังกล่าวซึ่งขณะนี้มีมากถึงร้อยละ 70 เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนสมดุลให้เป็นยาในประเทศร้อยละ 50-60 ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กับการควบคุมคุณภาพและราคาที่เหมาะสม” ผอ.อภ. กล่าว