ผู้เขียน หัวข้อ: ไอซ์แลนด์ดินแดนแห่งความงามไม่เคยเหือดแห้ง(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1369 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ห้าวันก่อนวันคริสต์มาส  ในกระท่อมเหนือเชิงเขาด้านเหนือของภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคูตล์ที่สำแดงเดชจนทำให้เครื่องบินทั่วยุโรปไม่สามารถขึ้นบินได้เมื่อปี 2010  ซิเกอร์เทอร์ เรนีร์ กิสลาสัน     กำลังเสิร์ฟซุปปลากับปลาเฮร์ริงดอง ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า อาหารมื้อเที่ยงนี้เปรียบเสมือนของขวัญคริสต์มาส  ภูเขาไฟนิ่งสงบ เมฆหมอกคลี่ตัวห่มคลุมธารน้ำแข็ง แต่ก่อนหน้านี้  เราต้องเดินข้ามแม่น้ำอันเย็นเยียบเพื่อมาที่นี่ และรถของซิเกอร์เทอร์ก็ติดหล่มถึงสองครั้ง ด้านนอกกระท่อมอันอบอุ่น     ต้นเบิร์ชตะปุ่มตะป่ำสยายกิ่งก้านราวกับใยแมงมุมตัดกับลาดเขาห่มหิมะสีขาวโพลน “ภาพที่เห็นไม่ต่างจากตอนที่พวกไวกิ้งเดินทางมาถึงเลยค่ะ” กูทรูน น้องสาวของซิเกอร์เทอร์ เปรยขึ้น กูทรูนเป็นนักภูมิศาสตร์ ส่วนซิเกอร์เทอร์เป็น นักธรณีเคมีที่มหาวิทยาลัยเรคยาวิก ทั้งสองเล่าเรื่องราวภูมิประเทศของไอซ์แลนด์ให้ผมฟัง และถ้านับเนื้อแกะรมควันตรงหน้า ตัวละครหลักทั้งสี่ของเรื่องก็อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว

ภูเขาไฟ คือสิ่งที่รังสรรค์ไอซ์แลนด์ และปกป้องดินแดนแห่งนี้จากเกลียวคลื่นในมหาสมุทรแอตแลนติกมาอย่างน้อย 16 ล้านปีแล้ว และปัจจุบัน ทุกสองสามปีภูเขาไฟสักลูกจะปะทุขึ้น

ธารน้ำแข็ง เริ่มคืบคลานและถอยร่นเมื่อราวสามล้านปีที่แล้ว ทุกวันนี้ ธารน้ำแข็งกำลังหดหายอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ยังคงห่มคลุมกระทั่งยอดภูเขาไฟที่สูงที่สุด เมื่อภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งปะทุขึ้นจะก่อให้เกิดอุทกภัยจากการพังทลายของธารน้ำแข็ง น้ำจากหิมะละลายและน้ำแข็งที่ไหลบ่าลงสู่ทะเลจะพัดพาสะพานและท่วมทะลักพื้นที่เพาะปลูก

ผู้คน เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อคนที่เข้ามาตั้งรกรากกลุ่มแรกจากนอร์เวย์เดินทางมาถึงในปี ค.ศ. 874 หลังภูเขาไฟสองลูกเกิดการปะทุครั้งใหญ่เพียงสามปี ไอซ์แลนด์เป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า มีสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวคือสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก หากไม่นับเรื่องภูเขาไฟ ที่นี่จัดว่าเงียบสงบ มีเพียงเสียงลม เสียงคลื่น และเสียงร้องของนกทะเลเท่านั้น

แกะ ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานนำปศุสัตว์และหมูมาด้วย แต่ต่อมาอากาศกลับหนาวเย็นลงเป็นเวลาถึง 500 ปี แกะที่มีขนยาวจึงกลายเป็นสัตว์เจ้าถิ่น ในฤดูร้อน แกะหลายแสนตัวยังคงและเล็มหญ้ากลางทุ่งโล่งบนที่สูง แกะกินทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมถึงต้นเบิร์ชอ่อนๆด้วย กูทรูนบอกว่า ทุกวันนี้พื้นที่ในไอซ์แลนด์ที่มีพืชพรรณขึ้นคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีถึงสองในสาม เมื่อดินภูเขาไฟไร้พืชปกคลุม สายลมและสายน้ำก็พัดพาหน้าดินออกไป

ถ้าคุณไม่รู้เรื่องราวตื้นลึกหนาบางเหล่านี้ ก็คงหลงชื่นชมความงามอันน่าอัศจรรย์ที่หลงเหลืออยู่

วันรุ่งขึ้น หลังพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเมื่อเวลา 11.00 น. ซิเกอร์เทอร์, กูทรูน และผม พยายามเดินทางไปยังภูเขาไฟคัตลา  การปะทุของภูเขาไฟลูกนี้และอุทกภัยจากการพังทลายของธารน้ำแข็งเมื่อปี 1918 เกือบจะซัดปู่ของทั้งคู่ไป หิมะปกคลุมถนนจนเราต้องหันหลังกลับ  เราผ่านน้ำตกที่สายน้ำยังคงมีสีเทาจากขี้เถ้า ลมกรรโชกแรงจนเกือบจะพัดรถของเราตกถนน ต่อมาเราข้ามแม่น้ำธารน้ำแข็งที่ผ่านเมื่อวันก่อน บนท้องฟ้าเหนือมหาสมุทรลงไปทางใต้ เมฆคลายตัวจนเกิดช่องโหว่ ทิวเขาเหนือแม่น้ำจึงอาบไล้ด้วยแสงแดดอ่อนๆ

ไม่กี่นาทีต่อมา  เราผ่านเนินดินที่กูนนาร์ ตัวเอกในตำนานท้องถิ่น ตกจากหลังม้าระหว่างทางหลบหนีไปซ่อนตัว เมื่อเหม่อมองกลับไปทางบ้าน เขาร่ายบทกวีที่ชาวไอซ์แลนด์ทุกคนรู้จัก ซิเกอร์เทอร์แปลให้ฟังว่า “ลาดเขานั้นช่างงดงาม งามกว่าที่เคยเป็นมา ข้าจะกลับบ้านและไม่ไปไหนทั้งนั้น” ไอซ์แลนด์ยังคงเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ดังว่า ออร์โชลยาและเออร์เลนด์ ฮาร์เบิร์ก สองช่างภาพ กล่าวว่า “ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่ยังไม่มีต้นไม้คอยบดบังทัศนียภาพอันน่าอัศจรรย์อีกด้วย”

พฤษภาคม 2555