ผู้เขียน หัวข้อ: ฮาวายสายพันธุ์แท้-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 899 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
จากกีฬาที่เคยเล่นกันเฉพาะในหมู่หัวหน้าเผ่า ทุกวันนี้ การโต้คลื่นคือเครื่องร้อยรัดยึดโยงชาวฮาวายเข้ากับอัตลักษณ์อันเก่าแก่ของพวกเขา

ณ หมู่เกาะอันเป็นต้นกำเนิดของการเล่นกระดานโต้คลื่น  คลื่นวันนั้นน่าผิดหวัง  ลูกคลื่นไม่เด่นชัด สูงแค่ระดับอก และนานๆมาทีอย่างน่ารำคาญ ทว่าชาวฮาวายไม่เคยต้องหาข้อแก้ตัวอะไรมากมายในการคว้ากระดานออกไปโต้คลื่น และหัวหาดหรือบริเวณที่ใช้ลอยตัวเพื่อรอคลื่น (takeoff zone) ก็แน่นขนัดไปด้วยนักโต้คลื่นหลากหลายวัย  ผมนั่งคร่อมอยู่บนกระดานโต้คลื่นในน้ำลึกข้างแนวปะการัง กวาดสายตาสำรวจฝูงชนที่อยู่รอบๆอย่างกระอักกระอ่วน เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า  มาคาฮาเป็นหาดที่พวกเฮาลีส (haoles) มาเสี่ยงดวง  คำในภาษาฮาวายนี้ใช้เรียกคนผิวขาวและคนนอก หาดมาคาฮาตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะโอวาฮู ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนปิดตัดขาดจากโลกภายนอก  เป็นถิ่นของผู้สืบเชื้อสายจากนักท่องทะเลชาวโปลินีเชียโบราณที่มาตั้งรกรากบนหมู่เกาะแห่งนี้

แม้แต่ชาวหาดมาคาฮาพวกที่ทำใจยอมรับการยึดครองฮาวายของสหรัฐฯ เมื่อปี 1898 ได้  (แม้บางส่วนยังยอมรับไม่ได้ก็ตาม) แต่พวกเขาก็ยืนหยัดที่จะปกป้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับชายหาดและลูกคลื่นที่พวกเขาหวงแหน มีเรื่อง เล่าหนาหูว่า นักโต้คลื่นที่มาที่นี่ถูกไล่ตะเพิดขึ้นจากน้ำ บางคนถึงกับจมูกหักหลังฝ่าฝืนกฎที่ไม่ได้เขียนไว้ ผมพยายามไม่ให้ตัวเองลงเอยแบบนั้น 

ผมลอยตัวใกล้บริเวณรอคลื่นอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง  ในที่สุดก็เห็นคลื่นที่น่าจะยังไม่มีใครจับจอง  ผมหมุนแผ่นกระดานหันกลับไปทางฝั่งและใช้มือพุ้ยน้ำอย่างแรง  แต่ขณะที่ผมเร่งความเร็วขึ้น หนุ่มวัยรุ่นหน้าตาบอกบุญไม่รับคนหนึ่งบนกระดานบอดี้บอร์ดก็ใช้ตีนกบพุ้ยน้ำเข้ามายังคลื่นลูกเดียวกับผม  ตะปบมือลงบนไหล่ผมแน่น  แล้วผลักผมออกจากแนวคลื่น พร้อมกับดันตัวเองเข้าไปตรงด้านหน้าคลื่นแทน  ผมถอดใจยอมพุ้ยน้ำกลับเข้าฝั่ง

แต่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่มาคาฮา  ผมเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่ดูเหมือนการพิทักษ์ปกป้องชนิดไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหมนั้น แท้จริงแล้วซับซ้อนกว่านั้นมาก  หากจะพูดไปแล้ว  ชาวฮาวายเป็นพวกคลั่งไคล้การโต้คลื่นตัวจริง พวกเขาอ้าแขนรับกีฬานี้มาตั้งแต่ราวๆยุคสงครามครูเสด  และในบางแง่มุมจะบอกว่าพวกเขาคือผู้เหลือรอดก็ว่าได้  เพราะนับตั้งแต่ชาวผิวขาวคนแรกๆมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด ประวัติศาสตร์ของชาวฮาวายก็เต็มไปด้วยความสูญเสีย แรกสุดคือการสูญเสียประชากรจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคร้ายนานาชนิดที่มาพร้อมคนขาว  ตามมาด้วยการสูญเสียดินแดน ความเป็นชาติ และวัฒนธรรม การโต้คลื่นจึงเป็นเหมือนสายใยเชื่อมโยงที่จับต้องได้กับอดีตยุคก่อนอาณานิคม และเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาออกจะฉุนเฉียวง่ายถ้าเป็นเรื่องของลูกคลื่น

“ที่นี่มีคนดีๆอยู่นะครับ แต่ถ้าคุณทำไม่ดีกับพวกเขา พวกเขาก็จะทำไม่ดีกับคุณเหมือนกัน” นี่ไม่ใช่คำพูดข่มขู่  เป็นแค่ข้อเท็จจริงธรรมดาๆ  ชายผู้กล่าวประโยคนี้นั่งอยู่บนกิ่งไม้ใหญ่ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยหาด แม้จะเลยวัยเกษียณมานานพอดูแล้ว แต่เขายังดูเหมือนคนที่คุณไม่อยากตอแยด้วย  ชายเจ้าของเรือนผมขาวดกหนาและรูปหน้าแบนๆคล้ายแผ่นหินชวนให้นึกถึง  อาลี  หรือหัวหน้าเผ่าของชาวฮาวายโบราณ  ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของเขา

เมื่อพูดถึงเรื่องมาคาฮาและวัฒนธรรมของที่นี่  ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับริชาร์ด “บัฟฟาโล” เคเอาลานา ชาวฮาวายสายเลือดบริสุทธิ์ที่หาได้ยากยิ่ง  เขาใช้ส่วนใหญ่เกือบตลอดช่วงอายุ 80 ปีอยู่ในแถบเวสต์ไซด์ของเกาะโอวาฮู  สถานภาพสูงส่งของเขาในชุมชนเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับมหาสมุทร เคเอาลานาเป็นนักโต้คลื่นผู้มีพรสวรรค์ชนิดหาตัวจับได้ยาก และ เป็นยามชายหาดเต็มเวลาคนแรกของมาคาฮา เขายังเป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างรายการ บัฟฟาโลบิกบอร์ดเซิร์ฟฟิงคลาสสิก (Buffalo Big Board Surfing Classic)  เคเอาลานาเป็นที่นับหน้าถือมากที่สุดในบรรดา “ลุงๆ” คนดังของมาคาฮา หรือผู้หลักผู้ใหญ่ชาวฮาวายอาวุโสที่คอยสอดส่องดูแลชุมชน และยังเป็นที่นับถือทั่วทั้งหมู่เกาะในฐานะ “เทพ” แห่ง “มนุษย์น้ำ” ผู้เชี่ยวชาญกิจกรรมทางน้ำทุกประเภท เป็นผู้ที่รวมไว้ซึ่งความเคารพต่อมหาสมุทรกับความรอบรู้อันลึกซึ้ง ความชำนิชำนาญ และความกล้าหาญ

คติเรื่องมนุษย์น้ำสืบย้อนไปได้ถึงชาวฮาวายกลุ่มแรกที่เชื่อกันว่า พายเรือแคนูชนิดลำเรือคู่จากหมู่เกาะมาร์เคซัสมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อราว ค.ศ. 700  ตามมาด้วยนักเดินเรือที่มาในลักษณะคล้ายคลึงกันจากตาฮีตีในอีก 500 ปีต่อมา กลุ่มคนที่มาตั้งถิ่นฐานเหล่านี้อาจนำความรู้เรื่องการโต้คลื่นมาด้วย อย่างน้อยก็ในรูปแบบง่ายๆ  แต่ที่บ้านหลังใหม่แห่งนี้เองที่กีฬาชนิดนี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม  มีวิหารของการโต้คลื่น เทพแห่งการโต้คลื่น การแข่งขันโต้คลื่นที่มีผู้ชมมากมายลงพนันขันต่อผลการแข่งขัน

ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา บรรดา “บีชบอย” หรือหนุ่มฮาวายตามชายหาดสอนวิธีโต้คลื่นหัวแตกให้นักท่องเที่ยวแถบหาดไวกีกีกันบ้างแล้ว สมัยที่เคเอาลานายังเด็ก ชาวฮาวายบางคนโต้คลื่นหัวแตกใกล้กับนานาคูลีด้วยกระดานโต้คลื่นไม้แดงที่มีบอตทอมเดกเป็นรูปตัววี (v-bottom deck)  ตัวเขาเองเรียนการโต้คลื่นโดยใช้กระดานหยาบๆ ทำจากไม้หมอนรถไฟสองชิ้นประกบกัน แต่ไม่ได้คลั่งไคล้จริงจังจนกระทั่งได้คลุกคลีกับนักโต้คลื่นรุ่นบุกเบิกกลุ่มเล็กๆซึ่งมาถึงมาคาฮาในช่วงต้นทศวรรษ 1950

ผู้มาใหม่เหล่านี้โต้คลื่นด้วยกระดานน้ำหนักเบา ทำจากไฟเบอร์กลาสและไม้บัลซา (ไม่นานจึงเปลี่ยนเป็นโฟมพอลิสไตรีน) และติดฟินหรือหางเสือที่ช่วยให้บังคับทิศทางได้ง่ายขึ้น  มาคาฮากลายเป็นสนามทดสอบเทคนิคการโต้คลื่นใหม่ๆ และการออกแบบกระดานโต้คลื่น รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานที่โฆษณาว่าเป็นการแข่งขันโต้คลื่นนานาชาติครั้งแรกเมื่อปี 1954 

กิตติศัพท์อันโด่งดังในฐานะมนุษย์น้ำผู้ช่ำชองทำให้เคเอาลานามีบทบาทสำคัญในขบวนการตื่นตัวทางวัฒนธรรมและการเมืองของชาวฮาวายซึ่งรู้จักกันในนาม สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาวายครั้งที่สอง (Second Hawaiian Renaissance) เขาริเริ่มจัดการแข่งขันโต้คลื่นที่ใช้ชื่อเดียวกับเขา [บัฟฟาโลบิกบอร์ดเซิร์ฟฟิงคลาสสิก] ในปี 1977  บรรยากาศของงานและการแข่งขันซึ่งมีหลายรายการชวนให้นึกถึงงานเทศกาลของชาวมาคาฮีกิโบราณที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพโลโนของชาวฮาวาย

ในช่วงปีหลังๆมานี้  รีสอร์ตเริ่มขยายตัวในแถบเวสต์ไซด์ และบ้านพักตากอากาศก็ผุดขึ้นท่ามกลางบ้านหลังเล็กๆที่กระจุกตัวอยู่ตรงหัวและปลายหาดสีทองของมาคาฮา  ทว่านอกนั้นแล้วก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ที่โต๊ะปิกนิกริมชายหาดใต้ร่มเงาต้น มีโล เคเอาลานากับกลุ่มลุงๆ  “พูดคุยเรื่องราวสัพเพเหระ” เพื่อฆ่าเวลาหรือไม่ก็เล่นโดมิโน  และคอยต้อนรับคนนอกอย่างระแวดระวังอย่างน้อยก็ในช่วงแรก “คุณมีบัตรประชาชนไหม” ลุงคนหนึ่งเอ่ยถาม  เมื่อผมปรากฏตัวพร้อมกับโน้ตบุ๊คและคำถามมากมาย ต่อมาผมถามลุงคนเดิมว่า เขากังวลบ้างไหมกับการที่คนนอกจะเข้ามาแย่งคลื่น เขายืนยันกับผมว่า “เรื่องนั้นเรามีกฎลงโทษขั้นเด็ดขาดอยู่แล้ว”

 เรื่องโดย จอห์น แลงคาสเตอร์
มีนาคม 2558