ผู้เขียน หัวข้อ: กรมแพทย์แผนไทย ตรวจสรรพคุณหญ้าหยาดน้ำค้าง  (อ่าน 974 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
กรมแพทย์แผนไทย ประสาน สสจ.ส่งหญ้าหยาดน้ำค้าง พิสูจน์สรรพคุณ-สารปนเปื้อน เผย ยุโรปใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 รักษาอาการไอ
       
       จากกรณีที่ชาวบ้าน จ.กำแพงเพชร แห่งเก็บสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า หญ้าหยาดน้ำค้าง โดยมีความเชื่อว่า สามารถใช้รักษาโรคเบาหวาน ความดัน มะเร็ง ได้นั้น วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ทางกรมฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้มีการส่งตัวอย่างสมุนไพรดังกล่าวเพื่อศึกษาสรรพคุณ โดยทาง สสจ.จะดำเนินการจัดส่งเข้ามายังกรมฯ ภายในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค.) หลังจากนั้น ให้นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาว่าเป็นพืชชนิดใด รวมทั้งขอความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้มีการศึกษาสรรพคุณทางยาด้วยว่าในอดีตมีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง รวมทั้งศึกษาด้วยว่ามีสารปนเปื้อนใดๆ หรือไม่ เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีสารเคมีอยู่ ก็เกรงว่า จะไม่ปลอดภัย เพราะหากแม้สมุนไพรจะมีประโยชน์จริง แต่หากมีสารปนเปื้อนก็ไม่เป็นผลดี
       
       นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้นนั้น พบว่า หญ้าหยาดน้ำค้างนี้ มีกลุ่มประเทศแถบยุโรปใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 อาทิ ประเทศอิตาลี เยอรมนี มีการนำมาทำเป็นชา เพื่อบริโภคบรรเทาอาการไอกรน หอบหืด ไอแห้ง หลอดลมอักเสบ และอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลอดลม ส่วนประเทศไทยนั้น หมอพื้นบ้านเคยมีความเชื่อว่า สามารถใช้รักษามะเร็ง และเบาหวานได้ โดยภูมิปัญญาเหล่านี้ ถือเป็นความเชื่อที่ต้องรอการพิสูจน์ ในทางคลินิก หรือศึกษาเชิงลึกไปก่อนว่าแท้จริงแล้วสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนใดของพืช เช่น จากราก โคน ใบ หรือดอก ไม่แน่ว่าอาจมีหญ้าหรือพืชตระกูลเดียวกันที่มีสรรพคุณคล้ายกันก็เป็นไปได้
       
       “อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นความเชื่อของชาวบ้าน ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ ซึ่งหากชาวบ้านจะบริโภคต่อไปก็ทำได้ แต่อยากให้ระวังเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ หรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงไว้บ้าง รวมทั้งระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อนให้มาก เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง” นพ.สุพรรณ กล่าว
       
       อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ คาดว่า อาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์เรื่องดังกล่าวจากผู้เชี่ยวชาณประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่ามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์จริงในอาคตก็จะมีการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ตนได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศอาเซียน เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนายาสมุนไพรเพื่อต้อนรับประชาคมอาเซียน ซึ่งในการประชุมมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการทำสาธารณสุขมูลฐานตำรับยาสมุนไพร เพื่อจะใช้ร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีตัวยาอยู่ในรายการจำนวน 62 ชนิด โดยจะเร่งแลกเปลี่ยนความรู้กันว่า ประเทศใดใช้สมุนไพรในด้านใดบ้าง รวมทั้งมีการเตรียมปรับราคากลางเพื่อให้สอดรับกับประชาคมอาเซียนด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 มีนาคม 2555