ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.พี่รพ.น้อง..'ร่วมผ่าตัด' ลดแออัด-ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน  (อ่าน 957 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
รพ.พี่รพ.น้อง..'ร่วมผ่าตัด'
รพ.พี่รพ.น้อง..'ร่วมผ่าตัด' ลดแออัด-ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน : โดย... พวงชมพู ประเสริฐ
              "เมื่อก่อนต้องตื่นตี 5 ออกจากบ้านไปรอคิวฟอกเลือดที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ใช้เวลาฟอกเลือดอีก 4 ชั่วโมงต้องไปสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เสียค่าเดินทางค่ากินแต่ละครั้งจำนวนมาก แต่หลังจากเปลี่ยนการรักษามาเป็นการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเสียเวลาเป็นวันๆ ไปรอคิวฟอกเลือด ไม่เสียค่าเดินทาง สะดวกมากขึ้น สามารถทำงานบ้านต่างๆ ได้ตามปกติ ที่สำคัญ ได้รับการผ่าตัดวางสายผ่านช่องท้องไม่นาน เพราะผ่าที่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวรโดยทีมแพทย์จาก รพ.เชียงรายฯ ไม่ต้องรอเป็นเดือนๆ" นางอ่อนแก้ว มะโนวงศ์ อายุ 56 ปี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังบอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
               นางอ่อนแก้ว ป่วยไตวายเรื้อรัง ตามสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จึงสามารถรับการรักษาด้วย การล้างไตผ่านทางช่องท้องได้ แต่ต้องผ่าตัดวางสายผ่านช่องท้องก่อน ทั้งหมดผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลจะเบิกจากกองทุนโรคไต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทว่า สภาพปัจจุบัน แม้ผู้ป่วยพร้อมรับการรักษา แพทย์พร้อมให้บริการ ระบบพร้อมจ่ายเงิน แต่ผู้ป่วยต้องรอคิวห้องผ่าตัดเป็นเวลานาน เนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)มีห้องผ่าตัดที่จำกัดแต่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะที่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ไม่กล้าทำการผ่าตัดภายหลังเกิดกรณีแพทย์รพช.แห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ถูกศาลตัดสินจำคุกหลังผู้ป่วยฟ้องร้องเมื่อเกิดความผิดพลาดจากการผ่าตัดโดยไม่มีวิสัญญีแพทย์ 
               นางอ่อนแก้ว จึงเป็นหนึ่งในผู้ป่วยตาม "โครงการพัฒนาระบบบริการ เพื่อลดความแออัดของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์" ที่แพทย์ รพ.เชียงรายฯ ซึ่งเป็นรพศ.เห็นว่าสามารถผ่าตัดโดยใช้ห้องผ่าตัดของรพ.สมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย ที่เป็นรพช.ขนาด 30 เตียง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายเพียง 15 กิโลเมตร แต่ไม่ได้ใช้งานห้องผ่าตัด เพราะไม่มีวิสัญญีแพทย์ นพ.ธวัชชัย ใจคำวัง ผอ.รพ.สมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย อธิบายโครงการนี้ว่า รพ.สมเด็จฯ เริ่มเปิดห้องผ่าตัดให้แพทย์จาก รพ.เชียงรายฯ มาทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2552 โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้องได้รับการวินิจฉัยและพิจารณาจากแพทย์ รพ.เชียงรายฯ ก่อนเสมอว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดที่ รพ.สมเด็จฯ ได้ และไม่จำเพาะผู้ป่วยในเขต อ.เวียงชัย เท่านั้น เหนืออื่นใด ผู้ป่วยต้องสมัครใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดที่นี่!
               ผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด สาขาศัลยกรรม โดยเฉพาะผ่าตัดไส้เลื่อน จำนวน 323 ราย, อายุรกรรม โดยการผ่าตัดวางสายผ่านช่องท้อง จำนวน 348 ราย,จักษุวิทยา เช่น ผ่าตัดตาต้อกระจก  214 ราย ต้อเนื้อ/ติ่งเนื้อ 25 ราย, ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์(ผ่าตัดเล็ก) 147 ราย และศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ(ผ่าตัดเล็ก) 28 ราย สำหรับก้าวต่อไปของความร่วมมือ นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สมเด็จฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร ญสส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร 100 พรรษา หากอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จ คาดว่าภายในปี 2556 ศูนย์ฟอกไตของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จะย้ายมาให้บริการที่บริเวณชั้น 1 ของอาคารนี้ทั้งหมด
                "โครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก ทำให้ไม่ต้องรอคิวผ่าตัดนาน ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเร็วขึ้น และโรงพยาบาลเพิ่มปริมาณการดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ รพ.เชียงรายฯ ที่เป็นเหมือนโรงพยาบาลพี่เข้ามาช่วยเหลือโรงพยาบาลน้องอย่าง รพ.สมเด็จพระญาณสังวร โดยการให้เปล่า ด้วยการส่งแพทย์มาทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่า ขณะเดียวกันให้รพ.สมเด็จฯ เป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจากสปสช." นพ.ธวัชชัย กล่าว 
               นพ.พิชัย พงศ์มั่นจิต ศัลยแพทย์ทั่วไป รพ.เชียงรายฯ ซึ่งเดินทางมาทำการผ่าตัดผู้ป่วยที่ รพ.สมเด็จฯ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง บอกว่า ผู้ป่วยบางโรคสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้การบล็อกหลังหรือยาสลบ ใช้การฉีดยาชา จึงไม่จำเป็นต้องมีวิสัญญีแพทย์ พยาบาลวิสัญญีสามารถดำเนินการได้ แต่ผู้ป่วยกลับต้องเสียเวลาในการรอคิวห้องผ่าตัดที่มีจำนวนจำกัดที่รพศ.เป็นเวลานาน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่รอได้ แต่อาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงระหว่างรอการผ่าตัด ยกตัวอย่างเช่น  โรคไส้เลื่อน หากต้องรอการผ่าตัดนาน ทำให้เกิดลำไส้อุดกั้นได้ จากที่รักษาด้วยการผ่าตัดปกติจะกลายเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉินเสี่ยงต่อชีวิต การให้ผู้ป่วยผ่าตัดที่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวร จึงช่วยให้การรักษาผู้ป่วยทำได้เร็วขึ้นจากที่ต้องรอ 3-6 เดือน ลดเหลือไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่ห้องผ่าตัดของรพศ.ใช้สำหรับการผ่าตัดที่ซับซ้อน
                นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่รพช.อยู่ห่างจากรพศ./รพท.ไม่มาก ทิศทางการบริหารจัดการเช่นนี้จึงเป็นแบบอย่างที่ควรนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ โดยการใช้หน่วยบริการในระบบเดียวกันและให้แพทย์จากรพศ./รพท.ขยับมาให้บริการผู้ป่วยที่รพช. รอบนอก เพราะการจะย้ายศัลยแพทย์ไปรพช.เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่การให้มาผ่าตัดเป็นครั้งคราวทำได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งนี้ หากมีข้อเสนอเรื่องกลไกทางการเงินระหว่างรพศ./รพท.และรพช. สปสช.พร้อมที่จะพิจารณาและบริหารจัดการสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
               ความสำเร็จของโครงการยืนยันด้วยความพึงพอใจของ นางอ่อนแก้ว ที่ว่า "มั่นใจที่จะผ่าตัดที่ รพ.สมเด็จฯ เพราะเป็นแพทย์จาก รพ.เชียงรายฯ จึงผ่าตัดเหมือนที่ รพ.เชียงรายฯ หลังผ่าตัดมีความสุขดี"
 
...........................................
(รพ.พี่รพ.น้อง..'ร่วมผ่าตัด' ลดแออัด-ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน : โดย... พวงชมพู  ประเสริฐ )