ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ไว้ป้องกัน 18 สถิติภัยพิบัติที่คนไทยต้องผจญ !  (อ่าน 1217 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
หลายปีมานี้มนุษย์ต้องประสบ“ภัยพิบัติ”บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ทั้งภัยธรรมชาติและภัยมนุษย์ที่ย้อนกลับมาทำร้ายกันเอง...มาย้อนทศวรรษ 18 ภัยพิบัติที่คนไทยต้องเจอ…

เร็วๆนี้ รายการเรื่องจริงผ่านจอร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเสวนา “2012! 18 ภัยพิบัติที่คนไทยต้องเจอ” รวบรวมข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และกรมทรัพยากรธรณี สรุปเป็นเป็นสถิติสถานการณ์สาธารณภัยของประเทศไทยที่เกิดขึ้นและผลกระทบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ อุทกภัย, ดินโคลนถล่ม, วาตภัย, สึนามิ, แผ่นดินไหวและอาคารถล่ม, ภัยแล้ง, ภัยหนาว, อัคคีภัย, ไฟป่า, โรคระบาดในมนุษย์, โรคแมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด, โรคระบาดสัตว์และพืช, การรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย, ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ, ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง, ภาวะฉุกเฉินที่เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ เช่น น้ำมันรั่วในทะเล, การแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสี, การชุมนุมประท้วงและการก่อจลาจล

อุทกภัย – “ร่นรอบจาก 100 เป็น 4 ปี”

อุกภัยซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด คือ ภัยพิบัติอันดับ 1 ที่ประเทศไทยประสบทุกปี โดยระยะหลังมีความรุนแรงและก่อความเสียหายมากขึ้นและร่นรอบความเสี่ยงจาก 100 ปี เป็น4ปี จากสถิติปี 2532 – 2552 พบว่าไทยประสบอุทกภัยรวม 213 ครั้ง มีคนบาดเจ็บ 7,896 คน เสียชีวิต 2,938 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 115,786.67 ล้านบาท โดยในปี 2532 มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด 5,495 คน ผู้เสียชีวิต 602 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท (ทั้งนี้ไม่นับรวมเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งธนาคารโลก (World Bank) ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงสุดไว้ถึง 1.44 ล้านล้านบาท โดยปภ.ระบุว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายใน 65 จังหวัด  ประชาชนเดือดร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือน 13.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 813 ราย)

ภัยจากดินโคลนถล่ม – “เหตุเกษตรกรรมพื้นที่ลาดชันทำลายหน้าดิน”

โดยทั่วไปมักเกิดหลังน้ำป่าไหลหลากอันเนื่องมาจากฝนตกหนักส่งผลให้มวลดินและหินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ปัจจุบันปัญหาดินโคลนถล่มในไทยเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้มีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า การทำลายหน้าดินด้วยการทำเกษตรในพื้นที่ลาดชัน  โดยสถิติปี 2531-2552 พบว่าภัยดังกล่าวทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 500 คน เสียชีวิต 541 คน และมูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 2 พันล้านบาท โดยมักเกิดในจังหวัดนครศรีธรรมราช นราธิวาส แพร่ เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์

วาตภัย – “เกิดขึ้นกว่า 3 หมื่นครั้ง ในรอบ 20 ปี ”

วาตภัยเกิดขึ้นเมื่อพายุมีกำลังแรงในชั้นดีเปรสชั่นทำให้เกิดฝนตกหนักและหากพายุมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น จะก่อให้เกิดภัยหลายอย่างพร้อมกันทั้งวาตภัย อุกภัยและคลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งเป็นอันตรายเสียหายรุนแรง จากสถิติปี 2532–2552 ประเทศไทยเกิดวาตภัยรวม 36,024 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 842 คน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5 พันล้านบาท โดยในปี 2547 เกิดวาตภัยบ่อยครั้งมากที่สุด 3,834 ครั้ง ครอบคลุม 76 จังหวัด ทำให้เกิดมูลค่าความเสียเกือบ 4 ร้อยล้านบาท

 อัคคีภัย –  “สาเหตุส่วนใหญ่เพราะความประมาท”

โดยมากมีสาเหตุจากความประมาท เช่น การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร การลุกไหม้จากการปรุงอาหารหรือการลอบวางเพลิง สถิติปี 2531-2552 พบว่าประเทศไทยเกิดอัคคีภัยรวม 46,986 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3,775 คน เสียชีวิต 1,639 คน มูลค่าความเสียหายรวม 28,418 ล้านบาท โดยในปี 2539 เกิดอัคคีภัยมากที่สุดถึง 3,622 ครั้ง

ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย – “รั่วไหลจากโรงงานอุตสาหกรรมกระทบสุขภาพชุมชน”

มักเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการรั่วไหลของสารเคมีซึ่งกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม บางครั้งก่อให้เกิดเพลิงไหม้ โดยสถิติปี 2540-2552 พบว่ามีภัยดังกล่าวเกิดขึ้นรวม 347 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 1,844 คน เสียชีวิต 169 คน มูลค่าความเสียหายรวม 1,610 ล้านบาท โดยในปี 2552 เกิดการรั่วไหลของสารเคมีบ่อยที่สุดถึง 75 ครั้ง

ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง – “20 ปี อุบัติเหตุเหยียบ 2 ล้านครั้ง”

อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งร้อยละ 90 เกิดจากการใช้รถใช้ถนนโดยประมาท การทำผิดกฎจราจรและเมาสุรา จากสถิติปี 2532-2552 พบว่ามีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 1,771,018 ครั้ง บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน และเสียชีวิต 248,357 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 39,762 ล้านบาท โดยปีที่ประสบภัยมากที่สุดคือปี 2547 จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 124,530 ครั้ง

ภัยหนาว – “ต้นเหตุโรคระบาดจากอากาศหนาว”

ช่วง เดือนต.ค. – ก.พ.ของทุกปีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่มาปกคลุมประเทศไทยส่งผลให้เกิด ความหนาวเย็นทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่สูง ส่งผลให้เกิดโรคระบาดที่มีสาเหตุมากจากอากาศหนาว เช่น โรคทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ โรคระบาดสัตว์เป็นต้น โดยในปี 2543-2552 ภัยหนาวได้ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายมากกว่า 325 ล้านบาท โดยในปี 2552 มีประชาชนเดือดร้อนมากสุด 10.5 ล้านคน 4.9 ครัวเรือน

ภัยแล้ง – “เสียหายรุนแรงพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน”

ภาวะขาดแคลนน้ำซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากสถิติปี 2532-2552 พบว่าภัยแล้งในรอบ 21 ปีคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อประเทศ 13,314 ล้านบาท โดยในปี 2548 ภัยแล้งก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงสุดถึง 7,565 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อประชาชน กว่า11ล้านคน 2.7 ล้านครัวเรือน  พื้นที่การเกษตร 13.7 ล้านไร่

ภัยจากไฟป่า – “สูญเสียป่ากว่า 3 แสนไร่”

ส่วนใหญ่มักเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น เผาป่าทำการเกษตรและล่าสัตว์ ซึ่งสถิติไฟไหม้ป่าในประเทศไทยแต่ละปีมีความถี่ค่อนข้างสูงและมีพื้นที่ได้รับความเสียหายมาก จากสถิติปี 2541-2552 พบว่าไฟป่าทำให้มีพื้นที่ป่าเสียหายรวม 1,027,288 ไร่ จากการเกิดภัยรวม 60,307 ครั้ง โดยในปี 2547 มีพื้นที่เสียหายมากสุด 323,940 ไร่

 ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม – “รุนแรงระดับกลางเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง”

ประเทศไทยยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่แผ่นดินไหวรุนแรงมักเกิดในประเทศข้างเคียง เช่น พม่า จีน อินโดนีเซีย สำหรับไทยมีเพียงการเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง เช่นในพื้นที่ภาคเหนือ ขนาด 5.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2518 ที่อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และในพื้นที่ภาคตะวันตก ขนาด 5.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2526 บริเวณแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นอกนั้นเกิดในบริเวณภาคตะวันตกและภาคเหนือ  ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ที่ประเทศพม่า ซึ่งทำให้รู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างและอันตรายจากการตกหล่นของวัตถุในที่สูง

 ภัยจากคลื่นสึนามิ – “ธ.ค.47 ครั้งแรกของไทยเสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน”103

ไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 เนื่องมาจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลครั้งใหญ่ 9.3 ริกเตอร์ ที่หมู่เกาะสุมาตรา ส่งผลให้ 11 ประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกาใต้ได้รับผลกระทบรุนแรง มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคน โดยประเทศไทยได้รับผลกระทบในเขต 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง และสตูล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5,401 คน บาดเจ็บ 11,775 คน สูญหาย 2,921 คน ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ – “ไข้หวัดใหญ่โรคระบาดรวดเร็ว”

ประเทศไทยมีโรคระบาดที่สำคัญ เช่น โรคไข้หวัดนก ระบาดในปี 2547-2549  ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน, โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดในปี 2461-2462 มีจำนวนผู้ป่วยร้อยละ 27.32 ของประชากรทั้งประเทศ และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.95 ปี 2521 มีจำนวนผู้ป่วย กว่า 3 แสนคน และปี 2528 มีจำนวนผู้ป่วยกว่า 9 หมื่นคน ผู้เสียชีวิต 40 คน และโรคระบาดสำคัญล่าสุด คือ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ระบาดในปี 2552 ทำให้มีผู้ป่วยกว่า 1 หมื่นคน และเสียชีวิต 81 คน

ภัยจากโรคแมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด  - "คร่าชีวิตสัตว์เศรษฐกิจ"

เช่น การเกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ เช่น โค กระบือ สุกร ไก่ และเป็ด โดยมีสถิติสัตว์ที่ตายจากโรคระบาดที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ปี 2536-2552 รวม 2.4 ล้านตัว

ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ – “ภัยใหม่โลกไซเบอร์”

ภัยรูปแบบใหม่ที่ก้าวมาพร้อมระบบการสื่อสารที่พัฒนา ปัจจุบันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นและพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ เช่น การโจมตีระบบฮาร์ดแวร์ การโจรกรรมข้อมูลผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์ การล่อลวงหรือทำลายชื่อเสียงในโซเชี่ยลมีเดีย ฯลฯ ซึ่งก่อใหเกิดผลกระทบตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งทำให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของเจ้าของตกอยู่ในความเสี่ยง โดยจากสถิติการแพร่กระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์ปี 2544-2545 พบว่ามีภัยคุกคามจากไวรัสในอินเตอร์เน็ตประมาณ 2 หมื่นตัว และในปี 2551 มีไวรัสเกิดขึ้นมากกว่า 1.6 ล้านตัว นอกจากนี้ยังพบการเจาะเข้าระบบเพื่อขโมยข้อมูลเพิ่มมากขึ้นทุกวันในประเทศไทย

ภัยจากการก่อวินาศกรรม – “ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้”

ตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยมีการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น โดยเกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ สังคมและศาสนา รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับภูมิภาค ทำให้เกิดการก่อวินาศกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง การทหารและสังคมจิตวิทยา  ทั้งนี้ในปี 2550 ไทยได้รับความเสียหายจากการก่อวินาศกรรมมากที่สุด  โดยมีผู้เสียชีวิต 592 คน บาดเจ็บ 1,209 คน มูลค่าความเสียหาย 76 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ประสบภัย ได้แก่ กรุงเทพฯ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา

 ภัยจากการชุมนุมประท้วงและการก่อจลาจล – “พฤษภา 53 เสียหายหลายแสนล้าน”

ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด คือ การก่อจลาจลในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการทำลายสถานที่ราชการ วางเพลิงแหล่งธุรกิจหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีการสลายการชุมนุมและเกิดความรุนแรงตามมา โดยจากผลสำรวจความเสียหายของระบบเศรษฐกิจ โดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีมูลค่าความเสียหายโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวสูงถึง 1.5-3 แสนล้านบาท และทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต สะท้อนถึงความสำคัญของกระบวนการ้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านความมั่นคง

………….

แท้จริงแล้ว...ภัยมนุษย์และภัยจากธรรมชาติ ต้นตอล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ย้อนมาทำร้ายตนเอง วันนี้แม้เรามิอาจย้อนไปแก้ไขอดีต แต่หากได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ก็ยังมีโอกาสเตรียมตัวตั้งรับ-รับมือมหันตภัยพิบัติเหล่านี้ได้….ถึงเวลาแล้ว!!

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2012 เวลา 12:55 น.เขียนโดย วสี ภูเต็มเกียรติ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา