ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ก.ย.2555  (อ่าน 1002 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ก.ย.2555
« เมื่อ: 16 กันยายน 2012, 22:15:20 »
 1. แกนนำอาร์เคเคนับร้อย เข้าเจรจาแม่ทัพภาค 4 ประกาศยุติต่อสู้ พร้อมยื่น 3 เงื่อนไข ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เชิญทุกฝ่ายถกแก้ไฟใต้ 18 ก.ย.!

       เมื่อวันที่ 11 ก.ย. พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เป็นประธานเปิดโครงการประสานใจเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ได้มีแกนนำและเครือข่ายอาร์เคเคที่ถูกออกหมายจับในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส มาลงทะเบียนขอเข้าร่วมโครงการรวม 93 คน นำโดยนายแวอาลี คอปเตอร์ หรือ “เจ๊ะอาลี” ที่ทางการเคยตั้งรางวัลนำจับ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นแกนนำในการร่วมวางแผนและสั่งการให้แกนนำระดับปฏิบัติการนำกำลังบุกปล้นปืนที่กองพันพัฒนา 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
       
       พล.ท.อุดมชัย พูดถึงแกนนำอาร์เคเคกลุ่มนี้ว่า ถือเป็นผู้กล้าที่เป็นนักรบ ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ พร้อมยืนยันว่า การพูดคุยกับอาร์เคเคครั้งนี้ไม่มีการต่อรองใดใด เป็นการคุยเพื่อนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ มีการทำความเข้าใจกันว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และว่า หลังจากนี้ หากในพื้นที่มีความสงบสุข อาจจะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนผู้ที่ถูกออกหมายจับ ก็จะถูกยกเลิกไปด้วย
       
       ด้านนายมุคตาร์ ซีกะจิ ในนามกลุ่มความร่วมมือเพื่อวิสัยทัศน์ใหม่มาลายูปัตตานี เผยถึงการเข้าเจรจากับแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า เป็นการแสดงเจตจำนงของกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เพราะมีหมายจับ และไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากไม่มั่นใจในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล นายมุคตาร์ ยังพูดถึงความต้องการของกลุ่มด้วยว่า “กลุ่มที่มาพบปะ ขอให้รัฐบาลร่วมกันคิดเพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ประสงค์ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับ หมายเรียก หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ รวมถึงความมั่นใจในการที่จะดูแลความปลอดภัยให้”
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า แกนนำอาร์เคเคที่เข้ามาเจรจา มีการยื่นเงื่อนไขต่อรัฐ 3 ข้อ คือ 1.รัฐมีมาตรการต่อผู้ที่ยุติความรุนแรงต่อรัฐอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับ 2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นการเจรจา แกนนำอาร์เคเคทั้ง 93 คน ได้ถ่ายรูปกับ พล.ท.อุดมชัย ก่อนจะแยกย้ายกันไป
       
       ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงการเข้าเจรจาของแกนนำอาร์เคเคว่า ไม่ได้เป็นการพูดคุย แต่เป็นการเข้าแสดงตัวของคนที่เป็นกลาง เพื่อจัดตั้งคณะทำงานและประสานเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานแล้ว พร้อมเผยว่า จะมีคนเข้ามาเจรจาเพิ่มอีกนับพันคน “ยืนยันว่า หากการเจรจาเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นยืนยันว่า จะนำคนในกลุ่มมาเข้าร่วมพูดคุยเจรจากับรัฐอีกเกือบ 1,000 คน โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เรียกร้องเรื่องความปลอดภัย และเมื่อมีการมอบตัวแล้ว ขอให้รัฐช่วยดูแลเรื่องของการประกอบอาชีพด้วย”
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงกรณีที่บางฝ่ายสงสัยว่า แกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบที่เข้าเจรจากับแม่ทัพภาคที่ 4 ป็นตัวจริงหรือไม่ โดยยืนยันว่า ทั้งหมดมีรายชื่อในทำเนียบกำลังรบผู้ก่อความไม่สงบที่กองทัพได้จัดทำขึ้น ถ้าไม่ใช่ กลุ่มคนเหล่านี้จะมาให้จับทำไม
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวทีสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้วิธีเชิญนายอภิสิทธิ์และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ทำเนียบรัฐบาลแทนในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. โดยได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหนังสือเชิญนายอภิสิทธิ์และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ในการหารือวันดังกล่าว จะมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ แม้จะยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าพร้อมร่วมมือแก้ปัญหา และไม่ติดใจที่นายกฯ ไม่ใช้เวทีสภาในการหารือแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรัฐบาลอาจเห็นว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน “เมื่อได้พบกับนายกฯ จะได้เสนอในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาทของนายกฯ การป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขใหม่ที่จะทำให้เกิดปัญหา”
       
       ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 คาดหวังว่า หลังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาเจรจา น่าจะเกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเร็ววันนี้ โดยกำลังเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อยกเลิกแล้ว จะมีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้ออกมารายงานตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “เมื่อมวลชนของเขาเองปฏิเสธความรุนแรง คนกลุ่มนี้ก็อยู่ไม่ได้ คนกลุ่มนี้เมื่อไม่มีมวลชนรองรับก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าใครยังต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นักวิชาการบางส่วนยังเคลือบแคลงการเข้ามอบตัวของแกนนำอาร์เคเคเกือบร้อยคน โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า เป็นเรื่องดีที่แกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าแสดงตัว แต่การเข้ามอบตัวแบบไม่มีที่มาที่ไป ไม่เคยมีข่าวการพูดคุยหรือเตรียมการใดใด จู่ๆ กลับมีแกนนำและนักรบเดินเข้ามามอบตัวเกือบ 100 คน ทำให้สังคมเคลือบแคลงใจกันอยู่
       
       2. ศาล ปค.ระงับคำสั่ง “สุกำพล” โยก “ชาตรี”ช่วยราชการ ด้าน “เสถียร” แห้ว เหตุเผยความลับแต่งตั้งนายทหาร!

       ความคืบหน้ากรณี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งให้ตนและ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 27 ส.ค. โดยไม่เป็นธรรม หลัง พล.อ.อ.สุกำพลไม่พอใจที่ พล.อ.เสถียรได้ทำหนังสือขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมประจำปี 2555 โดยเฉพาะการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ พล.อ.เสถียร ได้ขอให้ศาลฯ ทุเลาการบังคับคำสั่งย้ายของ พล.อ.อ.สุกำพล ด้วย เพื่อให้ตนและ พล.อ.ชาตรี ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ศาลปกครองได้มีคำสั่งกรณีดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของ พล.อ.เสถียร ศาลฯ ให้ยกคำขอทุเลา ทำให้ พล.อ.เสถียรต้องไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตามคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจาก พล.อ.เสถียร เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การพิจารณาแต่งตั้งดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงถือว่าเป็นความลับของราชการ ไม่สามารถนำไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกได้
       
       นอกจากนี้ การที่สื่อลงข่าวว่า พล.อ.เสถียร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เดินทางไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนำสำเนาบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งทหารชั้นนายพลไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ถ้าข่าวดังกล่าวไม่จริง พล.อ.เสถียรต้องแก้ข่าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดใด อีกทั้ง พล.อ.เสถียร ยังยอมรับว่าได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบและชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ พล.อ.เสถียรไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เพื่อยับยั้งไม่ให้ พล.อ.เสถียรเผยแพร่ความลับของราชการต่อไป และป้องกันไม่ให้เกิดความแตกความสามัคคีในทหาร จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พล.อ.ชาตรี นั้น ศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดี ส่งผลให้ พล.อ.ชาตรี ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ต้องไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดใดที่ฟังได้ว่า พล.อ.ชาตรีมีส่วนรู้เห็นการนำความลับของราชการในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงไปเปิดเผย มีเพียงคำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่อ้างว่า พล.อ.ชาตรีไม่ได้ยับยั้งกรณีที่ พล.อ.เสถียร และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ได้ทำหนังสือสือถึงนายกรัฐมนตรี และเข้าพบองคมนตรี เกี่ยวกับการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล ซึ่ง พล.อ.ชาตรี ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหมกำหนดหรือมอบหมายเท่านั้น
       
       ประกอบกับการจะสั่งให้ข้าราชการไปช่วยราชการหรือพ้นจากตำแหน่งเดิมจะต้องเป็นเหตุผลพิเศษเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือหากให้ข้าราชการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป อาจเกิดความเสียหายกับทางราชการได้ แต่กรณี พล.อ.ชาตรี ศาลเห็นว่า ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว “การให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง การให้ พล.อ.ชาตรี กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หรือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด”
       
       ส่วนที่ พล.อ.ชาตรี ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกระทำการใดใดเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลนั้น ศาลบอกว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งห้ามได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
       
       ด้านนายธนพนธ์ ชูชยานนท์ ผู้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี บอกว่า ได้รายงานคำสั่งของศาลปกครองให้บุคคลทั้งสองทราบแล้ว โดยในส่วนของ พล.อ.เสถียรจะสู้คดีต่อไป ซึ่งทีมทนายผู้รับมอบอำนาจจะปรึกษาหารือกันว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่ระงับคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ต่อไป
       
       ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกอาการไม่อยากพูดถึงคำสั่งของศาลปกครองที่สั่งทุเลาการบังคับคดีในส่วนของ พล.อ.ชาตรี โดยอ้างว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร “เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพูด ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้แล้ว เพราะพูดมากไปจะทำให้ทหารเสื่อมเสียหมด ปล่อยให้มันจบไป เมื่อศาลพิจารณาอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารดังกล่าวหยุดชะงักแต่อย่างใด โดยได้ผ่านขั้นตอนจากกระทรวงกลาโหมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ลงนามเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว
       
       โดยมีรายงานว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.อ.สุกำพลสนับสนุน แต่ พล.อ.เสถียรไม่เห็นด้วย และมองว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงกลาโหม เพราะยังมีคนที่อาวุโสกว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ ขณะที่ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็น 1 ในแคนดิเดตตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และถูก พล.อ.อ.สุกำพล สั่งให้ไปช่วยราชการ แต่ศาลปกครองสั่งระงับคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกเด้งเข้ากรุ เป็นจเรทหารทั่วไป ส่วน พล.อ.พิณพาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ที่ได้เข้าขอขมา พล.อ.อ.สุกำพล ก่อนหน้านี้ ถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
       
       สำหรับตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก มีรายงานว่า พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ขณะที่ พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 เพื่อจ่อเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ในเดือน เม.ย.2556 ฯลฯ
       
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้ กต.ถอนพาสปอร์ต “ทักษิณ” ชี้ ผิดระเบียบ ด้าน “สุรพงษ์”ยัน ทำทุกอย่างถูกต้อง!

       เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้เดินทางไปสอบถามผู้ตรวจการแผ่นดินถึงความคืบหน้ากรณีได้ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่ร่วมกันออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ เมื่อปลายปี 2554 ว่า เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
       
       ด้านนายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนกรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ถูกต้องตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2548 ข้อ 21(2) (3) โดยข้อ 21 ระบุเกี่ยวกับการปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง (2) ระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่กำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ และ (3) ระบุว่า เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอื่น สั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงเข้าข่ายผิดระเบียบดังกล่าว
       
       นายรักษ์เกชา บอกด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ไปทบทวนการออกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน หากไม่ยอมส่งกลับมาภายในเวลาที่กำหนด ผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และถ้ารัฐมนตรีไม่สนใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
       
       ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า หนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้ว และตนได้อ่านสำเนาแล้ว พร้อมยืนยัน การอนุมัติให้หนังสือเดินทาง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน อย่างไรก็ตาม จะให้ปลัดกระทรวงไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ถ้ามีสิ่งใดทำได้ ก็จะดำเนินการ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็จะชี้แจงให้เข้าใจว่าขั้นตอนการปฏิบัติเป็นอย่างไร
       
       ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาโวยว่า ข้อสรุปของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่น่าจะถูกต้อง พร้อมอ้างว่า การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปตามระเบียบ และเป็นการเยียวยา-คืนความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการเพิกถอนหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อขจัดศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
       
       4. ปภ.สรุป 10 จังหวัดยังจมน้ำ ขณะที่ “สุโขทัย” อ่วม ท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี!

       สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด เช่น สุโขทัย ,แพร่ ,อุตรดิตถ์ ฯลฯ โดยเฉพาะที่สุโขทัยที่น้ำได้รั่วซึมจากผนังกั้นน้ำแม่น้ำยมที่ถูกน้ำเซาะ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยสูงกว่า 1 เมตร นับว่าท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี ร้อนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)เป็นการด่วนเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ก่อนสั่งให้กองทัพเข้าไปซ่อมแซมผนังกั้นน้ำที่สุโขทัย พร้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้า กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าไปดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ
       
        ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.พูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่สุโขทัยว่า ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่คิดว่าน่าจะเป็นโครงสร้างของระบบรับน้ำที่เก่า จึงได้ให้รองอธิบดีกรมชลประทานไปตรวจสอบแล้ว พร้อมขอโทษชาวสุโขทัยที่ต้องประสบภาวะน้ำท่วม “ที่สุโขทัยผมก็ต้องขอโทษ ขอแสดงความเห็นใจอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่อาจรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นใต้เขื่อน เพราะสร้างมาตั้งแต่ปี 2544”
       
        ด้านนายรอยล จิตรดอน กรรมการ กบอ.ยืนยันว่า น้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือและภาคกลาง เป็นน้ำฝนที่ท่วมขังและระบายไม่ทัน ไม่ใช่น้ำท่วมเพราะน้ำเหนือหลากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ขณะที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาชี้ว่า เอ็นจีโอเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำยม โดยบอก แม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำเดียวที่มีปัญหา เพราะไม่มีเขื่อนกักเก็บหรือชะลอน้ำ พยายามสร้างเขื่อนก็ถูกเอ็นจีโอคัดค้านมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ยืนยันว่า ภาวะน้ำท่วมที่สุโขทัยจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ หรือปลายน้ำอย่างแน่นอน
       
        ขณะที่นายวีระ วงษ์แสงนาค อดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ยังวางใจไม่ได้ จนกว่าจะผ่านพ้นเดือน ต.ค.นี้ไปก่อน เพราะ ในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย.จะมีการก่อตัวของพายุอีก 2 ลูกในกลางมหาสมุทรแปซิฟิก หากเคลื่อนตัวไปทางจีนก็หายห่วง แต่หากมาทางเวียดนามหรือไทย ก็ต้องลุ้นว่าปริมาณน้ำจะมากน้อยเพียงใด
       
        ด้านนายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ก็เตือนเช่นกันว่า จากนี้ไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. ประเทศไทยจะยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมอีกหลายครั้ง ส่วนช่วง 14-18 ก.ย.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่แทบทุกภาค ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศ
       
        ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขามีระดับสูงขึ้น 25-50 ซม.และอาจเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำได้ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา
       
        ทั้งนี้ ปภ.ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมจนถึงวันที่ 15 ก.ย. ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ ลำปาง และระนอง มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 1.3 แสนคน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 1.6 แสนไร่


ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 กันยายน 2555