ผู้เขียน หัวข้อ: ชงบอร์ดอีอีซีเคาะงบแปลงน้ำเค็มเป็นจืด  (อ่าน 304 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
“โควิด” ฉุดแผนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลลากยาวต้นปี’65 สทนช.ชี้ต้องผ่านประชาพิจารณ์สิ่งแวดล้อม ประเมินความต้องการใช้น้ำอีกรอบ จ่อเร่งของบฯอีอีซี 22 ล้านบาท ศึกษารูปแบบลงทุนก่อนเปิดทางเอกชนปักหมุด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นต้องปรับประเมินความต้องการใช้น้ำโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อรองรับความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอนาคตอย่างรอบคอบอีกครั้ง

พร้อมทั้งต้องผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน (ประชาพิจารณ์) และจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่และงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการบอร์ดอีอีซี มูลค่า 22 ล้านบาทที่ไม่ได้รับงบฯกลาง ปี 2564 ตามที่เสนอ

“โควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถสรุปผลศึกษาได้ เพราะความต้องการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้จึงยังเป็นผลสรุปการศึกษาเชิงเทคนิค และอยู่ระหว่างของบประมาณ 22 ล้านบาท จากบอร์ดอีอีซี เพื่อเร่งรัดโครงการเร็วขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ของบฯกลางแล้วแต่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำไปจัดสรรเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ และเราต้องทำแผนประชาพิจารณ์ให้สอดคล้องกันหลาย ๆ ฝ่ายก่อน แต่ทำแล้วจะเคาะรูปแบบไหนต้องรอ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ และเปิดโอกาสเอกชนหรือผู้สนใจพร้อมลงทุนได้ในช่วงปลายปี หรือไม่เกินต้นปีหน้า”

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
เหตุที่จะสรุปผลศึกษารูปแบบความเหมาะสม ความคุ้มค่าการลงทุนล่าช้าไปถึงปี 2564 เนื่องจากต้องพิจารณาความต้องการใช้น้ำเป็นหลัก หากลงทุนรูปแบบโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในระยะยาวอาจต้องกำหนดให้เป็นน้ำต้นทุนอีกประเภทที่นำมาอุปโภคบริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ นอกเหนือน้ำต้นทุนจากน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงกำหนดนโยบายสนับสนุนค่าน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อให้ต้นทุนการผลิตในระบบนี้ใกล้เคียงต้นทุนน้ำประปา และน้ำภาคอุตสาหกรรม

รายงานข่าวระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ได้พิจารณาแนวทางและกรอบการดำเนินโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (roadmap) ปี 2564-2567 อาทิ การศึกษาโครงการการจัดทำนโยบายราคา การเตรียมการลงทุน การก่อสร้างระบบต่าง ๆ และร่างขอบเขตโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี

โดยเบื้องต้นประเมินว่า หากมีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน จะทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม 2.20% ของปริมาณน้ำทั้งหมด และหากดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในอีอีซี 38 โครงการ ตามแผนของ สทนช. คาดว่าในปี 2580 จะมีปริมาณน้ำ 3,484 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอรองรับการเติบโตพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำ 3,019 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 1,368 ล้าน ลบ.ม./ปี และมีความต้องการใช้น้ำ 2,419 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

ประชาชาติธุรกิจ
31มค2564