แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 486 487 [488] 489 490 ... 535
7306
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการกล่าวหาตนโดยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการปปช. เพื่อไต่สวนในขณะดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและรองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับพวกเมื่อปี 2547 โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในการทำสัญญารับทุนแผนวิจัยและสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร งบประมาณ 265 ล้านบาทกับมูลนิธิรามาธิบดีว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำสัญญากับมูลนิธิรามาธิบดี โดยขัดมติคณะกรรมการกองทุน สสส.  และการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรในราคาสูงผิดปกตินั้น ล่าสุดตนได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เลขที่ ปช 0032/0077 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว เห็นว่า จากพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามมาตรา 91 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542


“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนกังขามาโดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะผู้กล่าวหาเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ผู้คนเชื่อถือว่าเป็นคนตรงไปตรงมา โดยเริ่มต้นกล่าวหาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จน ครม. มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ปลดผมจากตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ และยังถูกคณะกรรมการไต่สวนถึง 4 ชุดด้วยกัน ทั้งจากอนุกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการที่ตั้งโดยสสส. คณะกรรมการจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตั้งโดยรองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการที่ตั้งโดยกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา ทำให้ผมและครอบครัวได้รับความกดดันและเป็นทุกข์มาตลอด เพราะผู้คนในสังคมจำนวนมากได้พิพากษาไปแล้วว่า ผมกระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา เรื่องนี้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงและวงศ์ตระกูล รวมถึงหน่วยงานทั้งมูลนิธิรามาธิบดี และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างไม่เป็นธรรม และได้รอคอยคำตัดสินของป.ป.ช. ด้วยความอดทน จนได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากป.ป.ช.” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภาก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และมีข้อสรุปตั้งแต่ พ.ศ.2547 ว่า ราคาเครื่องตรวจจับความเร็วที่ทางสสส.จัดซื้อนั้น เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะคุณภาพเครื่องดีกว่าที่กรมบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจัดซื้อ และคณะกรรมการจากสำนักนายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงต่อกรรมาธิการวุฒิสภาว่า กรณีเครื่องตรวจจับความเร็วที่ สสส. จัดซื้อนั้น ตรวจสอบแล้วระบุไม่ได้มีราคาแพงแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการบริหารจัดการที่มีการกล่าวหาว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว จากการตรวจสอบไม่พบการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวตามที่ถูกกล่าวหา แต่ก็ยังมีการส่งข้อกล่าวหาต่อไปยัง ปปช. อันทำให้เรื่องยืดเยื้อต่ออีกถึงเจ็ดปี

มติชนออนไลน์ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

7307
    นางต้อย ธรรมมะลี อายุ 51 ปี อยู่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ร้องทุกข์กับผู้สื่อข่าว ว่าถูกคนร้ายเข้าไปขโมยเงินในกระเป๋า ขณะนอนเฝ้าดูอาการแม่ ที่ป่วยอยู่ในห้องพิเศษ หมาย 512 โรงพยาบาลอำนาจเจริญ สูญเงินไป 12,000 บาท อีกทั้งเอกสารสำคัญหายไป ซึ่งเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองอำนาจเจริญ แต่คดียังไม่คืบ โดย นางต้อย กล่าวว่า แม่อายุ 70 ปีป่วยเป็นโรคไต เข้าพักรักษาตัวที่ รพ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.54 หมอให้นอน ที่ห้องพิเศษ 512 เพื่อดูอาการ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 15 มิ.ย เวลาประมาณ 02.00 น.ไม่รู้คนร้ายเป็นชายหรือหญิง แอบเข้าไปขโมยกระเป๋าสตางค์ในกระเป๋ามีเงินสด 12,000 บาท เอกสารทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวทุกอย่าง พร้อมบัตรเอทีเอ็มธนาคารไปหมด คนร้ายน่าจะเข้ามาตอนหลับ หลังเกิดเหตุเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เอาไว้เป็นที่เรียบร้อย ตำรวจได้มาสอบสวนหาคนร้ายแล้ว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
    เจ้าหน้าที่ รพ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า กำลังตรวจสอบหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิด และทราบว่า มีขโมยเข้าไปลักทรัพย์สินของคนป่วยบ่อยมาก โรงพยาบาลกำลังสงสัย ว่าเกลืออาจเป็นหนอนหรือมีคนในเป็นรู้เห็นเป็นใจ เพราะปกติประตูใหญ่หน้าตึกชั้น 5 ปิดเวลา 10.00 น.ทุกวัน ในวันเกิดเหตุทำไมคนภายนอกจึงเข้าไปข้างในได้ น่าจะมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่

เนชั่นทันข่าว 18 มิย. 2554

7308
เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสบช่องกระแสนิยมสมุนไพรแรงไม่ตก ทุ่มงบฯซื้อที่สร้างโรงงาน-เครื่องจักรใหม่เพิ่มกำลังการผลิต เตรียมทยอยส่งผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรลงตลาดเพียบ เผยอยู่ระหว่างเจรจาร่วมมือจีน-อังกฤษพัฒนาแบรนด์ใหม่เจาะตลาดไฮเอนด์


นายแพทย์เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จาก สมุนไพรมีแนวโน้มการขยายตัวดี เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าวและให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการส่งเสริม การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 10% ของยาทั้งหมด จึงได้เตรียมเพิ่มกำลังการผลิต ด้วยการลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ ตั้งอยู่พื้นที่เดิมและซื้อที่ดินใกล้เคียงเพิ่ม โดยการลงทุน 100 ล้านบาท ขณะนี้เปิดใช้งานได้ 2 เดือนแล้ว พร้อมทั้งซื้อเครื่องจักรใหม่อีกกว่า 60 ล้านบาท ควบคู่กันนี้ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งในกลุ่มยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง อาหารและของใช้สำหรับสัตว์ โดยภายในปีนี้จะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาทิ ยาแต้มสิว ยาระบายแบบผงชง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบน้ำ ยาสามัญประจำบ้าน คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ตามช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ

นายแพทย์เปรมกล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยต่าง ๆ โรงพยาบาลมีกระบานการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมเกษตรปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายจังหวัด ที่สำคัญการได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้า ต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ฮ่องกง จอร์แดน อินเดีย ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศในลักษณะลูกค้าซื้อเพื่อนำไปจำหน่าย เช่น ญี่ปุ่น ที่มีลูกค้าเปิดร้านจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์อภัยภูเบศร ขณะเดียวกันก็มีการโรดโชว์ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกและการขยายเข้า ช่องทางสปา เพื่อทำให้ลูกค้าต่างชาติมีประสบการณ์ทดลองใช้

"ที่ผ่านมาต่างชาติสนใจติดต่อเข้ามาให้ผลิตเป็นแบรนด์และสูตรของเขาหลายราย แต่เราไม่รับจ้างผลิต ถ้าสนใจที่จะเป็นพันธมิตรร่วมมือกัน ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรจีนและอังกฤษพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ ลูกค้าต่างชาติมองว่าชื่ออภัยภูเบศรยาวและออกเสียงยาก ทำตลาดยาก ก็อยู่ระหว่างหาชื่อแบรนด์ 2 แบรนด์ แบรนด์ที่ขายเฉพาะในตลาดจีน และอีกแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรอังกฤษขายเฉพาะในกลุ่มประเทศอียู"

นายแพทย์เปรมกล่าวว่า จากแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว บวกกับกระแสความนิยมของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์อภัยภูเบศร ในสิ้นปีนี้ เพิ่มเป็น 260 ล้านบาท จาก 200 กว่าล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา

16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ประชาชาติธุรกิจ

7309
แม้ว่าการเรียนแพทย์นั้น จะไม่ได้รับทุนที่เป็นตัวเงินเหมือนทุนของโรงเรียนนายร้อยหรือโรงเรียนพยาบาล เพราะการเรียนแพทย์นั้น ค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ ค่าอาหาร สารพัดค่าใช้จ่ายทางตรงล้วนต้องจ่ายเองทั้งสิ้น         

เหตุที่เรียกว่าแพทย์ใช้ทุนก็เพราะ...การเรียนแพทย์เป็นการเรียนการสอนที่ใช้ทรัพยากรของหลวงอย่างมาก ทั้งอาคารสถานที่ อาจารย์แพทย์ก็ได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน การสั่งใช้ยา การสั่งตรวจเลือด การทำหัตถการต่างๆ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นในการเรียนการสอนทั้งสิ้น

ต้นทุนในการเรียนแพทย์ที่สำคัญที่สุด...ไม่ใช่เงิน  แต่คือผู้ป่วยหลายร้อยหลายพันคนที่ยอมให้นักศึกษาแพทย์เย็บแผลทั้งๆ ที่มือยังสั่นอยู่ ทำคลอดลูกสุดที่รักของเขาโดยไร้ประสบการณ์ ผ่าตัดด้วยระยะเวลาการผ่าตัดยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น หรือเจาะเลือด เจาะชิ้นเนื้อ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน เพื่อการเรียนรู้ทั้งๆ ที่อาจเกินจำเป็น รวมทั้งการสั่งใช้ยาโดยที่ยังอ่อนประสบการณ์         

แม้ทั้งหมดนี้จะมีอาจารย์แพทย์ช่วยดูแลร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยที่ยอมอุทิศร่างกายมาให้แพทย์ฝึกหัด ล้วนแต่เป็นผู้ป่วยที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ส่วนคนมีฐานะที่พักในห้องพิเศษหรือคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชน แทบจะหาไม่ได้ที่จะยอมมาเป็นครูให้นักศึกษาแพทย์เด็กๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝน ลองผิดลองถูกจนจบปริญญา และสิ่งนี้คือต้นทุนมูลค่ามหาศาล จนไม่อาจตีค่าเป็นเงินได้         

เมื่อใช้ทรัพยากรหลวงอย่างมหาศาลในการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา จากเด็กมัธยมกะโปโลจนได้เป็นนายแพทย์ ควรต้องกลับไปรับใช้สังคม ดูแลประชาชนด้วย         

จึงมีการกำหนดกติกาให้แพทย์ต้องใช้ทุน 3 ปีหลังเรียนจบ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา       

การใช้ทุนของแพทย์ จึงเป็นหัวใจของการคืนทุนเพื่อตอบแทนผู้ป่วย ตอบแทนประชาชนและสังคม ที่ได้อนุเคราะห์ให้แพทย์ได้เรียนรู้ ใช้ทรัพยากรในการฝึกฝน จนมีวิชาชีพที่จะสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นคนมีฐานะมีเกียรติในสังคม           

แม้แพทย์ส่วนใหญ่จะมีสำนึกของการใช้ทุนอยู่แล้วโดยไม่ต้องบังคับ
         
 แต่แพทย์อีกกลุ่มใหญ่กลับไม่คิดเช่นนั้น ต้องการไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ตามวิถีทุนนิยมและบริโภคนิยมต่อไป       

การบังคับให้แพทย์ต้องใช้ทุน จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสมองไหลและขาดแคลนแพทย์ในชนบทของประเทศไทย หากไม่ใช้ทุนก็ต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 400,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง และทำให้แพทย์กระจายไปในพื้นที่ชนบทรวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐในต่างจังหวัด ขยับดีขึ้นตามลำดับ         

 แต่ปัจจุบัน เงินค่าปรับ 400,000 บาท “น้อย” เกินกว่าที่จะหยุดยั้งแพทย์ให้ใช้ทุนนาน 3 ปีอีกต่อไปแล้ว         

แพทย์เกือบ 1 ใน 3 ที่ลาออกจากราชการก่อนใช้ทุนครบ ก็เพราะค่าปรับใช้ทุนเพียง 4 แสนบาทนั้น “เล็กน้อย” จนแทบจะซื้อรถยนต์คันเล็กๆ สักคันยังไม่ได้       

มีความเห็นพ้องต้องกันว่า...ควรขึ้นค่าปรับสำหรับแพทย์ที่ไม่ประสงค์จะใช้ทุน แต่ตัวเลขเงินค่าปรับที่จะกำหนดขึ้นมาใหม่แทนตัวเลข 400,000 บาทที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2516 ยังมีการถกเถียงกันอยู่ ว่าตัวเลขใหม่ควรเป็นเท่าใด และเอาหลักเกณฑ์อะไรมาคิด         

 ในขณะนี้ตัวเลขที่เป็นทางการและถูกพูดถึงมี 2 ตัวเลขคือ

1. ค่าเทอมตลอด 6 ปีของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์เอกชนแห่งเดียว โดยค่าเทอมแพทย์รังสิต 350,000 บาท/ปี รวม 6 ปี เป็นเงิน 2,100,000 บาท...เมื่อเทียบกับเงิน 400,000 บาทที่ต้องใช้ทุนเดิม ก็จะเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 5.25 เท่า

2. งบประมาณรายหัวของนักศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายหัวๆ ละ 300,000 บาท/ปี รวม 6 ปี เป็นเงิน 1,800,000 บาท...เมื่อเทียบกับเงิน 400,000 บาทที่ต้องใช้ทุนเดิม ก็จะเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 4.5 เท่า         

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปมองจำนวนเงิน 400,000 บาทในอดีตเมื่อ 38 ปีที่แล้ว เงินจำนวนนี้มีค่ามากมายเพียงใด ดัชนีชาวบ้านที่ง่ายที่สุดได้แก่...

-ราคาทองคำในปี 2516 บาทละ 400 บาท ปัจจุบันทองคำราคาบาทละกว่า 20,000 บาท เพิ่มขึ้น 50 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 20 ล้านบาท

-ราคาน้ำมันดิบในปี 2516 บาร์เรลละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราคาประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 16 ล้านบาท

 - ราคาก๋วยเตี๋ยวในปี 2516 ชามละ 3 บาท ปัจจุบันชามละ 30-40 บาท เพิ่มขึ้น 10-13เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 4-5 ล้านบาท

- และที่สำคัญ ปี 2516 เป็นปีแรกที่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนค่าเงินที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับแรก เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศฉบับที่ 1 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516 ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี กำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 12 บาท ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ประกาศใช้ 1 มกราคม 2554 อยู่ที่  215 บาท เพิ่มขึ้น 18 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 7.2 ล้านบาทจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะนำฐานคิดใดเข้ามาอ้างอิง ตัวเลขค่าปรับการไม่ใช้ทุนต้องเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน         

 แต่หากนำมูลค่าตามเจตนารมณ์เดิมของการกำหนดให้แพทย์ต้องมีการใช้ทุน ก็ควรเพิ่มค่าปรับอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท หรืออาจสูงถึง 10 ล้านบาทก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
         
 เพราะหากแพทย์จบใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 24 ปี ออกไปปฏิบัติงานใช้ทุนครบ 3 ปี ก็ไม่ต้องเสียเงินค่าปรับแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเมื่อครบใช้ทุนก็มีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น ยังมีพลังอีกมากมายในการกลับมาศึกษาต่อหรือย้ายเข้ามาทำงานใกล้ครอบครัวต่อไป
         
ปัจจุบัน กระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมที่รุนแรงถั่งโถมเข้าท้าทายอุดมการณ์และจิตสำนึกในการรับใช้สังคมของวิชาชีพแพทย์มากพอสมควร การลาออกของแพทย์ไปอยู่ภาคเอกชน สร้างเนื้อสร้างตัว ทอดทิ้งคนชนบทให้ขาดแคลนแพทย์นั้น...มีให้เห็นมากขึ้น
         
กระทรวงสาธารณสุขจึงควรทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่เล่นบทเดียวกับองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ปกป้องแพทย์ด้วยการพยายามยกเลิกการใช้ทุน หรือยื้อที่จะไม่ปรับเพิ่มค่าปรับการใช้ทุน หรือเพิ่มให้เพียงเล็กน้อย
         
กระทรวงสาธารณสุขต้องมีจุดยืนที่จะกำหนดค่าปรับในการไม่ใช้ทุนให้สูงมากพอที่จะทำให้แพทย์เกือบทุกคนยินดีไปใช้ทุน เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินกันอย่างถ้วนหน้า
         
ซึ่งค่าปรับที่มากกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้นที่จะเป็นยาแรง ช่วยลดการลาออกระหว่างการชดใช้ทุนได้อย่างเห็นผล เพราะลำพังการเพิ่มค่าปรับจาก 4 แสนบาทมาเป็น 1.8 ล้านบาทหรือ 2.1 ล้านบาท ยังถือว่า “ไม่สูงพอ” ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคในการใช้ทุนเพื่อรับใช้ประเทศชาติในการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยโดยเฉพาะในชนบท         

ทุกวันนี้ รายได้ของแพทย์ที่ไปใช้ทุนในชนบทนั้น แม้จะไม่มากเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน แต่ถ้ารวมกับการอยู่เวรนอกเวลาราชการด้วยแล้ว บางคนอาจมีรายได้เข้าใกล้หลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งไม่เอาเปรียบแพทย์ใช้ทุนจนเกินไปนัก         

ที่ผ่านมา ทั่วโลกชื่นชมประเทศไทยที่ใช้มาตรการบังคับใช้ทุนของแพทย์เป็นเวลา 3 ปีหลังจบการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อยู่ห่างไกล

 แต่ภาวะสมองไหลของแพทย์ “หนี” การใช้ทุน ที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องหาคำตอบว่า...ค่าปรับ 10 หรือ 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการใช้ทุนของแพทย์นาน 3 ปี โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว คำตอบไหนที่สังคมไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด ก่อนที่การขาดแคลนแพทย์ภาครัฐจะวิกฤตมากกว่านี้

โดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
มติชนออนไลน์ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

7310
พบวัยรุ่นเข้ารักษาพยาบาล ด้วยปัญหาท้อง-แท้ง มากสุด แพทย์ใช้ช่องทางซักประวัติปัญหาวัยรุ่น หวังแก้ปัญหาเชิงรุก เชื่อ ลดปัญหาสุขภาพระยะยาว
       
       
       
       ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงการดูแลสุขภาพวัยรุ่น ในการประชุมวิชาการคณะแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า จากการศึกษา พบว่า วัยรุ่นไทยมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตอย่างมาก โดยรายงานปี 2546 พบว่า วัยรุ่นไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุร้อยละ 19.6 รองลงมาเป็นการเสียชีวิตจากโรคเอดส์และเอชไอวี ร้อยละ 13.7 ฆ่าตัวตาย ร้อยละ 8.0 ถูกฆาตกรรมร้อยละ 2.4 ขณะที่ปัญหาสุขภาพซึ่งมีการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากข้อมูลปี 2550 ที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาท้องและแท้ง พบร้อยละ 29 ในช่วงอายุ 13- 18 ปี ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ปัญหาด้านสุขภาพของวัยรุ่นนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านสาธารณสุข อย่างเดียว แต่หมายถึงปัญหาภาพรวมที่เชื่อมทั้ง สังคม ครอบครัว ด้วย สะท้อน ให้เห็นว่า การพัฒนาด้านการแพทย์และการบริการสาธารณสุขที่จำกัดแค่การตั้งรับปัญหา หรือจะมาเร่งรักษาอย่างเดียว ภายหลังพบการเจ็บป่วยในวัยรุ่นไม่ได้ผลที่ดีแน่นอน จึง จำเป็นอย่างยิ่งที่วงการแพทย์ต้องรู้เท่าทันสาเหตุของปัญหาด้านอื่นด้วย เพื่อเร่งพัฒนาด้านสุขภาพและสาธารณสุข ในเชิงรุกให้ทันต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น
       
       ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพของวัยรุ่นในเชิงรุก ซึ่ง รพ.รามาธิบดี ได้ทำในขณะนี้ คือ การดำเนินงานในรูปแบบคลินิกวัยรุ่นตามสถาบันการศึกษา นำร่อง 10 แห่ง ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จ.เพชรบุรี สุรินทร์ เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งมุ่งเน้นการตรวจคัดกรองเกี่ยวกับสุขภาพวัยรุ่นอย่างรอบด้าน รวมทั้งบริการรับปรึกษาปัญหาทั่วไปด้วย โดยคลินิกดังกล่าวจะมีการตั้งวิทยากรต้นแบบที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ นักกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักโภชนาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษา และใช้ช่องทางการสื่อสารต่อสู่ครอบครัวของวัยรุ่น เพื่อให้เข้าใจบริบทของปัญหาในภาพรวม และร่วมมือการป้องกัน และคิดว่าการประชุมวิชาการร่วม 3 สถาบัน นั้นช่วยให้สามารถกระจายแนวทางในการป้องกันปัญหาได้ดีในวงการแพทย์
       
       “ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับแพทย์ในปัจจุบัน คือ เทคนิคการซักประวัติของผู้ป่วยวัยรุ่น ที่มารับบริการสาธารณสุข ที่จำเป็นต้องรู้พื้นฐานครอบครัว การศึกษา กิจกรรม การใช้ยา พฤติกรรมทางเพศ สุขภาพ อารมณ์และความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคในวัยรุ่นทั้งสิ้น เช่น การซักประวัติในผู้ป่วย 1 ราย อาจพบว่า ฐานะครอบครัวยากจน จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องโภชนาการที่ไม่เหมาะสม, ปัญหาเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ อาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งหากแพทย์พบว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะสามารถให้คำแนะนำได้ เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการปฏิบัติในคลินิกวัยรุ่นก็ใช้เทคนิคเดียวกัน ในการถ่ายทอดความรู้สู่บุคคลที่แวดล้อม จะได้แก้ปัญหาระบะยาวและลดปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาแม่วัยรุ่น ท้องและการทำแท้ง” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มิถุนายน 2554

7311
สธ.พัฒนาระบบบริการผู้ป่วย-และระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก 14 จังหวัดใต้ ตั้ง รพ.สุราษฏ์ธานี และ รพ.หาดใหญ่ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญ

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ โรงแรมหาดยาวเบย์วิว รีสอร์ท เกาะพงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 นายแพทย์วิรัช เกียรติเมธา สาธารณสุขนิเทศก์ปฎิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 7 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 8 และ นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดประชุมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้  โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับเข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย และระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก

โดย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล พบว่า ในปี 2552 ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุดร้อยละ 65 หรือประมาณ 2 ใน 3 รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 24 และสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยร้อยละ 4 ในภาพรวมอัตราการรักษาผู้ป่วยในในปี 2552 ร้อยละ 13 เพิ่มจากปี 2538 ซึ่งมีร้อยละ 10 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มสูงที่สุดในประเทศร้อยละ 16 เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่จะจัดบริการสุขภาพให้มีมาตรฐาน และรวดเร็วขึ้น ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต  ร่วมกับผู้บริหารในระดับจังหวัด วางแผนการจัดบริการในแต่ละเขต และภายในภาค โดยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ได้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตที่ 6, 7 และ8 เพื่อร่วมกันจัดบริการ และจัดระบบการเชื่อมประสานการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ตามข้อตกลงดังกล่าว ได้กำหนดให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ 2 แห่ง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย โดยให้โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี ดูแล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ส่วนที่เหลืออีก 7 จังหวัดตอนล่าง ให้โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ดูแล คือ พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่วนระบบการส่งต่อผู้ป่วยจะใช้ลักษณะไร้ขอบเขตจังหวัด ใกล้ที่ไหนเข้าที่นั่น รักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุด จะยึดตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความสะดวกของผู้รับบริการเป็นหลัก

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคของภาคใต้นั้น ได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ โดยโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ด้านทารกแรกเกิด และศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์อีก 6 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ วชิระภูเก็ต มหาราชนครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง ยะลา และนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยรุนแรง ป่วยหนัก และพัฒนาโรงพยาบาลทั่วไป 12 แห่ง ได้แก่ ระนอง เกาะสมุย พังงา ตะกั่วป่า กระบี่ ทุ่งสง พัทลุง สงขลา สตูล เบตง ปัตตานีและสุไหงโก-ลก เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะสาขาดูแล เป็นเครือข่ายรองรับผู้ป่วยภายใน 14 จังหวัดภาคใต้ มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ อยู่ใกล้ที่ไหนเดินทางไปใช้บริการที่นั่นได้ เนื่องจากอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน.


เดลินิวส์ 17 มิถุนายน 2554

7312
    นายแพทย์สุรินทร์ สุมนาพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีโครงการจัดสร้างวิทยาลัยพยาบาลจังหวัดแพร่นั้น ขณะนี้ได้รับพิจารณางบประมาณทั้งหมดจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้จังหวัดแพร่เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งเรื่องแบบในการก่อสร้าง ขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งได้มีการประมูลราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท ตึกเหลืองค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลจัดสร้างวิทยาลัยพยาบาลจังหวัดแพร่ได้ ตอนนี้รอเพียงขั้นตอนการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข ให้อำนาจในการเซ็นสัญญา งบประมาณจึงจะสามารถจัดสร้างได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 2 ปี หรือแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2556 สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างวิทยาลัยพยายาลจังหวัดแพร่นั้นทั้งหมดมีมูลค่า 230 ล้านบาท
    ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2555-2556 รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และงบประมาณสนับสนุนประจำปี 2554 จากสำนักงบประมาณมูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวแล้ว โดยจะใช้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และน้ำประปา
    นายแพทย์สุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับนักศึกษานั้นคาดว่าจะรับสมัครได้รุ่นละ 40 คน แต่อาจรับได้มากสุดรุ่น 80 คน ขึ้นกับความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม นักศึกษารุ่นแรกอาจต้องมีการส่งไปปรับพื้นฐาน เรียนรู้การทำงาน และการอยู่ร่วมกัน ที่วิทยาลัยพยาบาลจังหวัดลำปาง เนื่องจากต้องมีการเรียนรู้ประเพณี การทำงาน ดูแลน้อง

เนชั่นทันข่าว
16 มิย. 2554

7313
หนุ่มกู้ภัยช่วยเหลือชาวบ้าน ตัวเองรับเคราะห์งูกัดแขนเจ็บสาหัส ส่งโรงบาลรัฐแพทย์ไม่เหลียวแล แจกแค่พารา 2 เม็ด กว่า 2 ชั่วโมง จึงจำต้องย้ายส่งโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ระบุมาช้าไปต้องกีดแขน รักษาหายได้แต่ใช้ไม่เหมือนเดิม

พัทยา-วานนี้(11 มิ.ย. 54) ภาพอาสาสมัครสว่างบริบูรณ์เมืองพัทยานอนในห้องไอซียูโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา หลังเข้าช่วยเหลือชาวบ้านจนถูกงูกะปะกัดได้รับบาดเจ็บสาหัส รายนี้เปิดเผยเมื่อเวลา 11.30 น.( 11 มิ.ย.54 )นายประสิทธิ์ ทองทิศเจริญ ประธานกู้ภัยมูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยา นายธนวัฒน์ สุระแสงญากรณ์ กรรมการมูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยาพร้อมเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าเยี่ยม นายจักรพันธ์ มีแก้ว อายุ 19 ปี อาสาสมัครกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ จุดพัทยาใต้ได้รับบาดเจ็บงูกะปะกัดหลังเดินทางไปช่วยเหลือชาวบ้านที่แจ้งขอความช่วยเหลือจากงูเข้าบ้านพร้อมเพื่อนอาสาสมัครอีก 2 คน

ด้านนายตรีเพ็ชร ภักดี อายุ 18 ปี อาสาสมัครที่เดินทางไปช่วยและนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า พวกตนได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่ามีชาวบ้านของความช่วยเหลือจากงูเข้าไปในบ้านบริเวณริมทางรถไฟ ภายในซอยสนามกอล์ฟ พัทยากลาง เกิดเหตุเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง( 10 มิ.ย.) หลังรับแจ้ง ตนพร้อมคนเจ็บและอาสาอีก 1 คนจึงเดินทางไปตรวจสอบ ซึ่งพวกตนได้ช่วยเหลือชาวบ้านโดยการจับงูซึ่งเป็นงูกะปะ และนำใส่ถุงปุ๋ยเพื่อเตรียมไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ระหว่างคนเจ็บหยิบถุงเพื่อขึ้นรถงูกะปะได้พุ่งเข้ากัด จนคนเจ็บได้รับบาดเจ็บตนเองจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลบางละมุง

ในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลบางละมุงซึ่งช่วงนำส่งประมาณ 01.00 น. ตนได้นำงูไปให้แพทย์ดูด้วยว่าเป็นงูชนิดได้ แต่คณะแพทย์ได้เจาะเลือดแล้วให้กินยาพาราแก้ปวด 2 เม็ด จากนั้นก็ให้นั่งรอทั้งที่มีงูตัวที่กัดว่าเป็นชนิดใด และทั้งๆที่คนเจ็บบอกว่ามีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ้าหน้าที่และพยาบาลไม่สนใจเอาแต่นั่งอ่านนิตยสาร จนเวลาผ่านไป 2 ชม.ตนเองเห็นอาการคนเจ็บไม่ดีจึงรีบย้ายส่งโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งทางมูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยาและหัวหน้าจุดเกี่ยวกับการรักษาแล้ว

ด้านนายประสิทธิ์ ประธานกู้ภัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มาดูอาการหลังทราบข่าว ส่วนค่ารักษาทางมูลนิธิจะออกให้ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บในหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวบ้าน อีกทั้งทราบว่าคนเจ็บมีความประพฤติในการปฎิบัติหน้าที่ที่ดี ร่วมทั้งครอบครัวไม่มีฐานะและยังมีลูกเล็กอายุ 2 เดือนอีก 1 คน

ด้านคณะแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เผยเกี่ยวกับอาการคนเจ็บว่า คนเจ็บถูกนำส่งมาช้าไปเสียแล้วหากส่งเร็วจะทำการช่วยเหลือได้ดีกว่านี้ ซึ่งในเบื้องต้นคนเจ็บถูกพิษของงูไปทำร้ายเซลเส้นเลือดจนแขนบวม ทางแพทย์จึงทำการกีดผิวหนังเพื่อเอาเลือดเสียออก เพื่อไม่ให้เกิดการบวมแล้วไปกดทับส่วนอื่นๆของแขน ซึ่งปัจจุบันอาการดีขึ้นแต่ต้องนอนดูอาการในห้องไอซียูก่อน แต่หากรักษาหายแขนก็อาจจะกลับมาใช้ไม่ได้ดังเดิม
..........................

ปธ.กู้ภัยสว่างฯพัทยา พาลูกน้องเหยื่องูกัด เคลียร์ใจ รพ.รัฐ หลังไม่เอาใจใส่รักษา หวิดแขนพิการ ขณะ ผอ.โรงพยาบาล ยัน ดูแลตามขั้นตอน ยอมรับ จนท.บกพร่อง พร้อมปรับปรุงบุคคลากร

 จากกรณีเมื่อ วันที่ 11 มิ.ย.54 ที่หนุ่มกู้ภัยได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านจับงู แต่ตนเองกลับรับเคราะห์แทน ถูกงูกะปะกัดแขนเจ็บสาหัสปางตาย ส่งรักษาโรงบาลรัฐแต่ จนท.ไม่สนใจ รอเกือบ 2 ชม.จำต้องย้ายส่งโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ระบุมาช้ารักษาหายได้แต่แขนอาจใช้งานได้ไม่ 100%

โดยตลอดช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐประจำเมืองพัทยาแห่งนี้มักจะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการหลายรายด้วยกัน บางรายก็ปรากฏเป็นข่าว ฟ้องร้องกันไป หรือบางรายก็ร้องทุกข์ผ่านเวปหรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ออกมาชี้แจงเรื่องต่างๆ พร้อมยอมรับในความบกพร่อง อาจมี จนท.บางคนที่เอาใจใส่คนไข้ไม่ดีพอ และพร้อมที่จะเร่งปรับปรุง แก้ไขพัฒนาบุคคลากรของโรงพยาบาลให้มีประประสิทธิภาพยิ่งๆขึ้นไป จนล่าสุด มาเกิดเหตุการณ์หนุ่มอาสากู้ภัยที่ถูกงูกะปะกัด แต่ทางโรงพยาบาลล่าช้า จนคนไข้ทนไม่ไหวกลัวตาย ร้องขอย้ายไปโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียง

ซึ่งเรื่องนี้ ทาง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ เอกวัฒนกุล ได้ชี้แจงว่า ในคืนวันนั้น ประมาณ ตี1 คนไข้ถูกงูกะปะกัดเข้ามารักษาที่ห้องฉุกเฉิน มีพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 1 คน ซึ่งก็ได้ทำการรักษาตามขั้นตอน โดยการล้างแผล พันแผล ให้ยาแก้ปวด พร้อมกับพาไปเจาะเลือดเพื่อตรวจหาว่าเป็นพิษชนิดใด ปริมาณของพิษมีมากน้อยแค่ไหนที่เข้าสู้กระแสเลือด เพื่อจะได้ฉีดเซรุ่ม หรือจะได้ให้ยาประเภทอื่นๆได้ถูกต้องตามอาการ ซึ่งถ้าไม่ตรวจชนิด หรือระดับพิษในเลือด หากฉีดเซรุ่มในชนิดและขนาดมี่ไม่ถูกต้องอาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ และในกระบวนการตรวจสอบเลือดต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งในระหว่างที่คนไข้รอผลเลือดอยู่นั้น พิษของงูกะปะเริ่มเข้ากระแสเลือดและกำเริบทำให้แขนค่อยๆบวม พร้อมกับความเจ็บปวดที่มากขึ้น และในระหว่างนี้ ทางจนท.ของโรงพยาบาลไม่ได้อธิบายขั้นตอนต่างๆของการรักษาให้คนไข้ฟัง และยังอาจไม่มีความเข้าใจอย่างท่องแท้ในกรณีนี้ว่าควรทำอย่างไร ฉุกเฉินแค่ไหน จึงไม่ได้เอาใจใส่ต่ออาการของคนไข้เท่าที่ควร ซึ่งเมื่อคนไข้รอไม่ไหว อีกทั้งอาการบาดเจ็บที่เริ่มแย่ลง จึงขอย้ายไปโรงพยาบาลอื่นซึ่งทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะเป็นความต้องการของคนไข้

ด้าน นาย นายจักรพันธ์ มีแก้ว อายุ 19 ปี อาสาสมัครกู้ภัยสว่างบริบูรณ์พัทยา เหยื่องูกัด เปิดเผยขณะที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนในเมืองพัทยาว่า ในระหว่างที่ตนนั่งรอผลตรวจเลือดที่โรงพยาบาลแห่งแรกนั้นนานมาก (พร้อมรากเสียงยาว) รู้สึกปวดแผลตรงฝ่ามือที่โดนงูกัด และท่อนแขนไปจนถึงไหล่ปวดบวมเป็นอย่างมาก ซึ่งพยาบาลที่ประจำอยู่ไม่ได้สนใจตนเลย ดังนั้นตนและเพื่อนอาสาที่มาด้วยกันจึงปรึกษากันว่าควรจะย้ายโรงพยาบาลรักษา ดีกว่านั่งรอความตายอยู่โรงพยาบาลรัฐแห่งนี้ เพราะอาการกำเริบมากแล้ว ปวดจนทนไม่ไหว พร้อมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเมื่อมาถึงโรงพยาบาลอีกแห่ง แพทย์ได้ทำการกรีดบริเวณท่อนแขนที่บวมเพื่อนำพิษงู และเลือดที่แข็งตัวออกมา ช่วยลดอาการบวม พร้อมกับการโทรไปขอผลเลือดที่โรงพยาบาลแห่งแรก แล้วฉีดเซรุ่มให้ ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้บอกเล่าถึงขั้นตอนต่างในการรักษาให้ตนเข้าใจและเอาใจใส่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตามหลังการส่งรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ต่างๆที่สูงมาก ซึ่งเกินกว่ากำลังที่คนหาเช้ากินค่ำ หรือเจ้าหน้าที่อาสาคนหนึ่งที่มีลูกยังเล็ก แค่ 2 เดือนจะจ่ายได้

ดังนั้น นายประสิทธิ์ ทองทิศเจริญ ประธานมูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยา กล่าวว่า ตนได้มาดูอาการ จนท.แล้ว ส่วนค่ารักษาทางมูลนิธิจะออกให้ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บในหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของ จนท.อาสา เกี่ยวกับการรักษาอาการคนไข้ที่โรงพยาบาลเดิม ยังสร้างความคลางแคลงใจแก่หลายฝ่าย

ทางประธานมูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยา และเจ้าที่อาสาที่อยู่ในเหตุการณ์ จึงได้ไปความกระจ่างจาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งแรก ซึ่งทางหัวหน้าพยาบาล และ จนท.ที่อยู่เวรในวันนั้น ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ในรักษาตามขั้นตอน ทั้งการล้างแผล ให้ยา และเจาะเลือดตรวจ แต่ก็ยอมรับว่า จนท.อาจเอาใจใสไม่เพียงพอ และพร้อมที่อบรม ปรับปรุงคุณภาพและบริการของบุคลากรในหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น โดยจะนำเหตุการณ์นี้ไปเป็นบทเรียนแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล พร้อมทั้งทำเรื่องเสนอไปถึงทางจังหวัดเพื่อขอความช่วยเหลือคนไข้ในฐานะผู้มีบัตร 30 บาท ด้วย
 
ซึ่งเมื่อนายประสิทธิ์ และ จนท.กู้ภัยทั้งหมดได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว ต่างก็ไม่ติดใจเอาความ หรือคิดที่จะฟ้องร้องโรงพยาบาลอีกต่อไป แต่ทั้งหมดได้ฝากโรงพยาบาลทุกแห่งโปรดให้ความเอาใจใส่ในคนไข้ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ควรดูแลอย่างเต็มที่โดยคิดว่าคนไข้เหล่านั้น เป็นญาติพี่น้องของท่าน แล้วเหตุการณ์ฟ้องร้อง หรือร้องเรียนตามโรงพยาบาลต่างๆคงจะไม่เกิดขึ้น

pattayadailynews.com

7314
สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดการประชุมวิชาการ คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2554: จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยเป็นความร่วมมือทางวงการแพทย์ที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชน
       
       วันนี้ ( 15 มิ.ย.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2554: จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช (Joint Conference in Medical Sciences 2011: Chula Rama Siriraj : JCMS2011) “84 พรรษาองค์ราชัน สามสถาบันเทิดไท้ วิชาการแพทย์ก้าวไกล สุขภาพประชาไทยยั่งยืน” ณ ศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี โดยมีศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมด้วยผู้บริหาร และผู้แทนนิสิตนักศึกษาจาก 3 สถาบันร่วมรับเสด็จ
       
       ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงมีพระราชดำรัสว่า เนื่องในโอกาสที่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมวิชาการร่วม คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2554: จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช (Joint Conference in Medical Sciences 2011: Chula Rama Siriraj) ตามแนวคิดหลัก “84 พรรษาองค์ราชัน สามสถาบันเทิดไท้ วิชาการแพทย์ก้าวไกล สุขภาพประชาไทยยั่งยืน” ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพื่อเผยความรู้ ความก้าวหน้า ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชา และต่อประชาชนทั่วไป อันจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน ในสุขภาวะของประชาชนชาวไทยในที่สุด
       
       โดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ทรงดำรัสในตอนท้ายด้วยว่า ขอให้การจัดงานครั้งนี้สัมฤทธิผลสมดังเจตนารมณ์ทุกประการ และขอให้ผู้จัดงานและผู้มาร่วมการประชุม ประสบแต่ความสุขความเจริญก้าวหน้าโดยทั่วกัน
       
       ด้าน ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ กล่าวว่า การจัดประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ 3 สถาบัน ครั้งนี้ถือเป็น ความร่วมมือกันครั้งแรก เพื่อแสดงผลงานความก้าวหน้าทางด้านวิชาการและการวิจัย ด้านการแพทย์ทุกสาขา เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีความร่วมมือในการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มประชากรหรือกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องโรคติดเชื้อ หรือข้อมูลของผู้ป่วยที่ดมยาสลบ เป็นต้น แม้ในงานจะมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยมากมาย แต่งานนี้ยังให้ความสำคัญกับปัญหาผู้สูงอายุ การรักษาโรคในผู้สูงวัย โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน
       
       ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภาคประชาชนในวันที่ 18 มิ.ย.เพื่อบริการด้านการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน และให้ความรู้สร้างทักษะความเข้าใจในองค์รวมด้านการดูแลสุขภาพ ขณะเดียวกันยังบริการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 มิถุนายน 2554

7315
เผย คนไทยอายุยืนขึ้น ชาย 69.5 ปี หญิง 76.3 ปี สอดคล้องอัตราการตายของวัยแรงงานลดลงเหลือ 3.2% ต่อพันคน เหตุ คนไทยสุขภาพดีขึ้น คนจนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น แต่การควบคุมโรคเรื้อรังยังน่าห่วง สลด สัดส่วนแม่วัยรุ่นเพิ่มเกือบ 3 เท่า แถมอายุน้อยลง อยู่ที่ 10-14 ปี
      
       รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะบรรณาธิการหนังสือรายงานสุขภาพคนไทย 2554 กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย 2554 โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2551-2552 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ โดยรายงานนี้ใช้กรอบตัวชี้วัดสุขภาพแห่งชาติ 12 หมวด ประกอบด้วยหลายมิติ เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรมสุขภาพ ความมั่นคง การเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยรวมพบว่า แนวโน้มคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง 34.7% และ 32.1% ขณะที่สัดส่วนแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 5.6% ในปี 2501 เพิ่มเป็น 15.5% ในปี 2551 โดยเฉพาะกลุ่มแม่วัยรุ่นอายุ 10-14 ปี มีอัตราการคลอดบุตรเพิ่มมากขึ้น

 “ด้านสุขภาพจิต พบว่า คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตและความสุขในการดำรงชีวิตสูงขึ้น เห็นได้จากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก 8.6% ต่อประชากรแสนคน ลดเหลือ 5.7% ต่อประชากรแสนคน ด้านความมั่นคงของสังคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจคนไทยอยู่ในระดับสูง และไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนรวยมีรายได้ 54-59% ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนจนมีรายได้รวมร้อยกว่า 5% กลุ่มคนรวยที่สุดจึงมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดถึง 11.3 เท่า” รศ.ดร. ชื่นฤทัย กล่าว
       
       ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการคาดการณ์ในปี 2554 คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เพศชายอยู่ที่ 69.5 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 76.3 ปี สอดคล้องกับอัตราเสียชีวิตของวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ต่อประชากรพันคน จาก 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 4.1% สาเหตุที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นเพราะคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุยังมีอัตราสูง ต้องเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป
       
       นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สวรส. กล่าวว่า คนไทยมีรายจ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 3.5-4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมและการเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า การที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า(บัตรทอง) ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับหนึ่ง โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลลดลงจาก 280,000 ครอบครัวในปี 2543 เหลือ 88,000 ครัวเรือนในปี 2551 และลดลง ในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานลดลงมากที่สุด ขณะที่การวิเคราะห์คุณภาพและประสิทธิภาพของระบบ บริการสุขภาพ พบว่า การรักษาโรคให้ผู้ป่วยในมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่การรักษาโรคเรื้อรังของผู้ป่วยนอกยังมี ประสิทธิภาพการรักษาต่ำเห็นได้จากการมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุ โรคแทรกซ้อน เฉียบพลันจากโรคเรื้อรังที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจวาย หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ลมชัก เป็นต้น แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น แต่การดูแลควบคุม โรคเรื้อรัง ไม่ให้เกิดภาวะ แทรกซ้อนกลับทำได้ต่ำ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 มิถุนายน 2554

7316
 แพทยสภา เสนอกรมบัญชีกลาง ตั้งคณะทำงานตัดสินใจการเบิกยานอกบัญชี คุมพฤติกรรมการใช้ยาเกินความจำเป็น
       
       จากกรณีที่กรมบัญชีกลาง และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีการรายงานผลการสอบสวนพบว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักเกินความจำเป็นนั้น วานนี้ (14 มิ.ย.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ในการแก้ปัญหานั้น คิดว่า ควรที่จะมีการจ่ายยาอย่างมีเงื่อนไข เพื่อให้สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผลได้ หรือเกินความจำเป็นได้ รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้ยาด้วย เช่น อาจตั้งเกณฑ์ขึ้นมา ว่า ถ้าเป็นยาในบัญชียาหลัก ผู้รับบริการสาธารณสุขอาจไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า แต่ถ้าเป็นยานอกบัญชียาหลักให้สำรองจ่ายเงินล่วงหน้า ยกเว้นกรณีข้าราชการที่มีรายได้น้อย อาจจะกำหนดเพดานในการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้รับภาระหนักเกินไป ซึ่งเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะสามารถบรรเทาปัญหาของทุกฝ่ายลงได้ เพราะหลักๆ เชื่อว่า ไม่น่าจะมียาสามัญตัวใดที่ใช้แล้วไม่ได้ผล 100% ซึ่งกรมบัญชีกลางน่าจะเข้าใจหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ
       
       นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางอาจจะใช้วิธีการตั้งคณะทำงานตัดสินใจการเบิกยานอกบัญชียาหลัก คล้ายๆ กับกรณียาข้อเข่าเสื่อมกลูโคซามีน ที่ใช้วิธีการเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ อาทิ แพทยสภา คณะทำงานวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง นำหลักฐานที่เป็นผลทางการรักษาจากการใช้ยามาพิสูจน์กันให้ชัดเจน ถือว่าน่าจะเป็นการแก่ปัญหาที่ดี เพราะคณะอนุกรรมการที่แพทยสภาตั้งขึ้น ก็มีการรวบรวมความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ ไว้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะนำเสนอหลักการดังกล่าวแก่กรมบัญชีกลาง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 มิถุนายน 2554

7317
ปัญหาในเรื่องของความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 7 ปี ผ่านนายกรัฐมนตรี มาถึง 5 สมัย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร,  พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งจะมีรัฐบาลใหม่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจะลดน้อยถอยลง กลับจะทวีความรุนแรงมากขึ้น  ซึ่งความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลแต่ละยุคสมัยได้พยายามศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด  บางครั้งก็ใช้มาตรการแข็งกร้าว บางครั้ง ก็ใช้มาตรการผ่อนปรน แต่ปัญหาก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
   
สถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบกับเม็ดเงินงบประมาณที่ทุ่มลงไปคลี่คลายสถานการณ์กว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่ยังต้องมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบันมากถึง 4,370 ราย บาดเจ็บ 7,136 ราย เด็กกำพร้า 5,111 คน หญิงหม้าย 2,188 คน คดีความมั่นคง 7,680 คดี ศาลพิพากษาแล้วเพียง 256 คดี และยกฟ้อง ถึง 45.31% กลายเป็นเครื่องยืนยันความล้มเหลวของภารกิจดับไฟใต้ของฝ่ายความมั่นคง (หนังสือพิมพ์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 973 วันที่ 21 มกราคม 2554 หน้า 18)
   
สถานการณ์ในภาคใต้เหมือนกับคลื่นสึนามิ บ่มเพาะอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน แล้วก็เปิดปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 คล้ายวันเสียงปืนแตก คือเหตุการณ์ปล้นปืน จำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับว่าเป็นเรื่องที่อุกอาจและท้าทายต่อความมั่นคงของประเทศชาติเป็นอย่างมาก  เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานของรัฐบาลต้องร่วมมือกันดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
   
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มองเห็นถึงปัญหาของวิกฤตชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะความสำคัญของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยมี แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์  โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นที่ปรึกษาดำเนินการโครงการวิจัยเกี่ยวกับ การจัดการความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำการศึกษาวิจัยในระหว่างเดือนเมษายน 2553 ถึง มีนาคม 2554 มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการดำเนินงานค้นหา ปัญหา อุปสรรค พิสูจน์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและการก่อความไม่สงบในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการสร้างคู่มือในการจัดการความรู้ทางด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พิสูจน์หลักฐาน และพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติงาน คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยยึดหลักความเป็นธรรม และต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนิติวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทย คือ การหาพยานบุคคลเป็นไปได้ยากมาก ต้องใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
   
“สถานการณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบตอนนี้น่าจะขาดแคลนผู้ปฏิบัติการอย่างมาก เพราะส่วนหนึ่งถูกจับ อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการปะทะและอีกส่วนหนึ่งหลบหนีออกนอกพื้นที่ทำให้การก่อเหตุรุนแรงลดความถี่ลงอย่างชัดเจน หลาย ๆ ครั้งต้องใช้วิธีระดมพลข้ามเขตเรียกว่า “รวมการเฉพาะกิจ” คือระดมกองกำลังจากหลายๆพื้นที่มาก่อเหตุใหญ่ครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนผู้ปฏิบัติจะมีเขตงานชัดเจนและไม่ข้ามเขตกัน สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่าฝ่ายคนร้าย มีผู้ปฏิบัติการน้อยลงและแม้ฝ่ายแกนนำจะพยายามฝึกแนวร่วมรุ่นใหม่แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติการได้มีประสิทธิภาพเท่าแนวร่วมรุ่นเก่า ๆ”
   
การใช้กฎหมายพิเศษผนวกกับการใช้ “นิติวิทยาศาสตร์” ในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยังทำให้ได้ฐานข้อมูลการใช้อาวุธปืนในพื้นที่โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาสามารถตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุจาก “ปลอกกระสุน” ที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุจำนวน 4,381 ปลอก พบว่าเป็นการ “ยิงซ้ำ” จากปืน 574 กระบอก จึงเชื่อว่ายอดอาวุธปืนที่กลุ่มคนร้ายมีอยู่จริงไม่น่าจะเกิน 600 กระบอก และใช้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ขณะนี้
   
จากการศึกษาปัญหาอุปสรรค มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 3 ประการ ด้วยกัน
   
1)  ปัญหาข้อขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง  และเป็นรูปธรรมมิฉะนั้นแล้วปัญหาในเรื่องนี้จะเกิดผลเสียต่อทางราชการเป็นอย่างมาก และยากที่จะแก้ไขปัญหาได้
   
2)  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง เช่น ท่านกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้พูดในที่ประชุมของการทำ storytelling เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 ว่าฝ่ายทหารและปกครองมีอำนาจในการสั่งการแต่ขาดความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เพียงพอ มองไม่เห็นภาพในการบริหารงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร จึงสมควรจัดสัมมนาการประชาสัมพันธ์ หรือการให้ความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ต่อฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

3)  การยอมรับของประชาชน (Public Acception) ควรศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ เกิดการยอมรับของประชาชนในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้เกิดการสนับสนุนในเรื่อง ความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น จะได้นำข้อมูล ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาวิจัย ไปสู่การวางแผนและการบริหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการอีกทางหนึ่ง

รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินงบประมาณไปมากกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่ยังแก้ไขไม่ถูกจุด ไม่ตรงประเด็น ลองสร้างมิติและมุมมองในการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดการยอมรับของประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมตามที่ประชาชนแต่ละกลุ่มชนชั้นเรียกหา เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันทั้งทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ รวมทั้งความฝังใจในเรื่องของศาสนา การแบ่งชนชั้น และการไม่ได้รับความเป็นธรรม จะทำให้สถานการณ์ในชายแดนภาคใต้ดีขึ้นเพราะนิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ และเป็นที่ยอมรับกันในอารยประเทศ

พลตำรวจโท ดร.ณรงค์  กุลนิเทศ
ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เดลินิวส์ 10 มิถุนายน 2554

7318
บอร์ดอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์สปส.ไฟเขียว เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนใน 6 กรณี ทั้ง ยาราคาสูง-เอดส์-รักษาโรคไต-ทันตกรรม-โรคเรื้อรัง ใช้งบดำเนินการ 700 ล้านบาทต่อปี เสนอเข้าบอร์ด สปส.21 มิ.ย.นี้ คาดมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดเดือน ก.ค.นี้ หรือช้าสุดเดือน ส.ค.นี้
       
       วันนี้ (14 มิ.ย.) นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ของ สปส.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบงบประมาณเพื่อดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนใน 6 กรณี ได้แก่ 1.โรคเรื้อรังจากเดิมดูแลเพียง 180 วันเพิ่มเป็นดูแลต่อเนื่องในช่วง 1 ปี 2.ยาราคาสูง 3.ปลูกถ่ายไตและยารักษาโรคไต 4.เจ็บป่วยฉุกเฉินจากเดิมรักษาได้ 2 ครั้งต่อปีเพิ่มเป็นรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง 5.ทันตกรรม และ6.ยาต้านไวรัสเอชไอวี (เอดส์) ซึ่งทั้ง 6 กรณีนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 700 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ของสปส.ไปพิจารณารายละเอียดการดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 กรณีให้รอบคอบอีกครั้งเพื่อให้การดำเนินอยู่ในกรอบงบประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี
       
       “จะนำผลประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯเสนอที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ให้ออกประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 กรณีนี้คาดว่าคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.จะออกประกาศได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทำให้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 กรณีมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้หรืออย่างช้าประมาณเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนกรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์ยารักษาโรคมะเร็งนั้นได้ให้สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ไปจัดทำกรอบงบประมาณดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งคาดว่าประชุมต้นเดือนกรกฎาคมนี้” เลขาธิการ สปส.กล่าว
       
       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยารักษาโรคมะเร็งนั้นเบื้องต้นได้ประมาณการว่าจะใช้งบประมาณไม่น่าจะเกิน 50 ล้านบาทต่อปี จะเร่งสรุปรายละเอียดการใช้งบประมาณดำเนินการเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 มิถุนายน 2554

7319
กระทรวงการคลัง คุมเข้มเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
พบ 8 เดือนยอดพุ่งแค่ 4 หมื่นล้าน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก...

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจรายจ่าย เปิดเผยถึงยอดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัวใน 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 หรือ ณ สิ้นเดือน พ.ค.54 ว่า มียอดการเบิกจ่ายรวม 40,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก แต่คาดว่ายอดการเบิกจ่ายในปีงบ 54 จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 62,000 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้ยอดการเบิกจ่ายลดลง มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ทั้งการควบคุมการเบิกจ่ายยาที่ไม่จำเป็น เช่น คุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลัก และการตรวจสอบการเบิกจ่ายยาที่ไม่เป็นไปตามระเบียบย้อนหลังของโรงพยาบาล รวมถึงการออกระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการทุจริต

“ที่ผ่านมา ยอดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลพุ่งขึ้นเฉลี่ยปีละ 20-25% ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีมากถึง 50,000-60,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน หากไม่ควบคุมการเบิกจ่ายส่วนนี้ ประเมินกันว่า ยอดการเบิกจ่ายจะทะลุถึง 100,000 ล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบประมาณสมดุลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

นางสาวสุภา กล่าวต่อถึงแนวทางของกรมบัญชีกลางที่จะใช้ระบบประกันมาดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพื่อคุมให้งบประมาณรายจ่ายส่วนนี้อยู่ในเป้าหมายว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสีย คาดได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

ส่วนข้อเรียกร้องที่จะให้ยกเลิกระเบียบห้ามการเบิกจ่ายยารักษาข้อเข่าเสื่อมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ได้มอบหมายให้แพทย์ที่วิจัยการใช้ยาดังกล่าว และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคนี้ ไปหาข้อสรุปให้ตรงกันว่า ควรจะใช้ยาดังกล่าวรักษาคนไข้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปว่า ยานี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก็พร้อมที่จะยกเลิก สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 800-900 ล้านบาท.

ไทยรัฐ ออนไลน์:14 มิย. 2554

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>.

แพทยสภายืนกรานให้เบิกจ่ายยาข้อเข่าเสื่อม แบบมีเงื่อนไข 
ผอ.รพ.รามาฯ เสนอ หากต้องการคุมค่ายาให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย ในส่วนของยาต้นตำหรับ
       
       นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่ สวัสดิการรักษาพยาบาลคณะกรรมการบริหารระบบข้าราชการ เกี่ยวกับการควบคุมการเบิกจ่ายกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม (กลูโคซามีน) เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานโดยเชิญผู้แทนจากแพทยสภา คณะทำงานวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง นำหลักฐานที่เป็นผลทางการรักษาจากการใช้ยามาพิสูจน์ให้ชัดเจนสรุปว่าควรให้มีการสั่งเบิกจ่ายยาดังกล่าวต่อไปหรือไม่ หลังจากมีการร้องเรียนจำนวนมาก ว่า แพทยสภา ยืนยันความเห็นตามที่ได้เคยส่งหนังสือ มติของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาทบทวนและรับรองประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยาแบบองค์รวม ซึ่งมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบ ทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพ.ศ/รพ.ท.) ฯลฯ  ซึ่งมีความเห็นร่วมกัน
       
       นพ.สัมพันธ์  กล่าวว่า ข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการ ได้เห็นพ้องกันว่า ผลการวิจัยในส่วนยากลูโคซามีนนั้น มีทั้งเห็นว่าได้ผล และไม่ได้ผล ซึ่งข้อเสนอได้อิงประโยชน์ผู้ป่วยและทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด คือ ให้สั่งจ่ายได้แบบมีเงื่อนไข ตามที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ควรจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะกลาง ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และไม่จ่ายยาเพื่อป้องกัน หรือ ให้แก่ผู้ป่วยอาการระยะท้าย เพราะไม่มีประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่า การสั่งจ่ายแบบมีเงื่อนไข จะสามารถช่วยลดงบประมาณของกรมบัญชีกลางลงได้ รวมทั้งไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์จากการที่ตัดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด  ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางและหน่วยงานอื่นๆ  เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปเพราะความเห็นจากแพทยสภา ได้มาจากการหารือร่วมกันจากทุกฝ่าย ทั้งผู้จ่ายยา ผู้ใช้ยา นักวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ และ อย.       
       
       นพ.ธันย์   สุภัทรพันธุ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า  เมื่อการหารือยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องยึดตามระเบียบเดิมของกรมบัญชีกลาง โดยผู้ป่วยทุกคนที่เข้ารับการรักษาจะได้รับแจ้งจากแพทย์ ว่า ไม่สามารถเบิกยาดังกล่าวได้ ต้องจ่ายเองทั้งหมด  แต่จะมีทางเลือกโดยการใช้ยาในกลุ่ม Local made ซึ่งเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว และนำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศอื่น แต่มาบรรจุในประเทศไทย โดยราคาถูกกว่ายาต้นแบบมาก อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ตนมองว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ ควรให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มข้อเข่าเสื่อม แต่เป็นกลุ่ม Local made แทน และต้องตั้งราคากลางเพื่อควบคุมคุณภาพยา ซึ่งข้อเสนอนี้ทางกรมบัญชีกลางทราบดี และเคยมีการหารือแล้ว ส่วนหากจะใช้ยาต้นตำรับ อาจให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายด้วย

manager online  14 June 2011

7320
ปัจุบันประ​เทศ​ไทยกำลังก้าว​เข้าสู่สังคม​ผู้สูงอายุ ดังจะ​เห็น​ได้ว่า​ในปี 2553 สัดส่วน​ผู้สูงอายุอยู่ที่ 12% ของประชากร​ไทย ​และประมาณ​การณ์ว่าจะ​เพิ่มขึ้น​ถึง 17% ​ในปี 2563 ​ซึ่ง​แน่นอน​ผู้สูงอายุส่วน​ใหญ่มักมี​โรคประจำตัว​ไม่​โรค​ใด​ก็​โรคหนึ่ง

จากรายงาน​การสำรวจสุขภาพประชาชน​ไทย​โดย​การตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 ของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชน​ไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ​ซึ่ง​ทำ​การสำรวจ​ในประชากรจำนวน​ทั้งสิ้น 21,960 คน มี​ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้น​ไป จำนวนประมาณ 44% ​หรือ 9,720 คน ​ทั้งนี้พบว่าประชากร​ไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้น​ไป มี​โรค​เรื้อรัง​เรียงตามลำดับดังนี้ ​ความดัน​โลหิตสูง ​ไขมัน​ใน​เลือดผิดปกติ ​และ​เบาหวาน ​โดยมี​ผู้ป่วย​เพียงบางส่วนที่รู้ตัว​และ​ได้รับ​การรักษา ​และ​ผู้ป่วยที่​ได้รับ​การรักษา​แต่ควบคุม​ไม่​ได้​ก็มีจำนวน​ไม่น้อย ​ซึ่งสูงสุดอยู่​ใน​เขตกรุง​เทพมหานคร

​ผู้ป่วย​โรค​เรื้อรังกับปัญหา​การ​ใช้ยา  ​ผู้ป่วย​โรค​เรื้อรัง มักจะมีหลาย​โรคร่วม ​การรักษาหลัก​ก็คือ รับประทานยา ​ซึ่งจำ​เป็นต้อง​ใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ​และ​ใช้ติดต่อกันอย่างต่อ​เนื่อง ​และ​ผู้ป่วยอาจ​ได้รับ​การรักษาจากสถานพยาบาลหลาย​แห่ง ช่วง​เวลา​การนัด​ผู้ป่วย​เพื่อมาติดตามผล​การรักษามี​ความถี่ต่ำ อาจ​เป็น 3-6 ​เดือน ​ซึ่ง​ในระหว่างที่​ผู้ป่วยอยู่บ้าน​และรับประทานยาหลายชนิด ​ใช้ถูกบ้าง​ไม่ถูกบ้าง มี​โอกาส​เสี่ยงต่อ​การ​เกิดปัญหา​ทั้งจากยาที่​ใช้รักษา​โรคประจำตัว จาก​การ​ใช้ยา​เพื่อบรร​เทาอา​การ​เจ็บป่วยอื่นๆ จาก​การ​ใช้ยาซ้ำซ้อน ​และจากพฤติกรรม​การบริ​โภคอาหาร ​การสูบบุหรี่ ​และ​การดื่ม​แอลกอฮอล์ ปัญหาที่​เกิดขึ้นอาจ​ทำ​ให้​ผู้ป่วยหยุดยา​เอง​โดย​ไม่บอก​แพทย์ ​ทำ​ให้​โรคยิ่ง​เป็นมากขึ้น ​หรือยาที่​ใช้รักษา​ได้ผลลดลง​หรือ​เพิ่มมากขึ้นจน​เป็นอันตราย​ได้ ​เป็นต้น

​การที่​ผู้ป่วย​โรค​เรื้อรัง​ได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน ​การรับประทานยา​ไม่ถูกต้อง ​หรือพฤติกรรม​ใน​การดำ​เนินชีวิตของ​ผู้ป่วย​เอง ​เป็นสา​เหตุที่​ทำ​ให้​ผู้ป่วยต้อง​เข้ามานอนรักษาตัว​ใน​โรงพยาบาล พบว่า 1 ​ใน 5 ของ​ผู้ป่วยสูงอายุที่​เข้ามานอนรักษาตัว​ใน​โรงพยาบาล มีสา​เหตุมาจาก​เรื่องของยา ​โดยที่ 40% มีสา​เหตุมาจาก​การ​ใช้ยา​ไม่ถูกต้อง ​และอีก 60% มาจากอา​การ​ไม่พึงประสงค์จากยา
​เตือนอันตราย "ยาตีกัน...ภัย​เงียบ​ผู้​ใช้ยา อาจ​ถึงตาย​ได้"

​ผู้ป่วย​โรค​เรื้อรัง​เหล่านี้ มัก​ได้รับยามาจากสถานพยาบาลหลาย​แห่ง ​โดย​แต่ละ​แห่ง​ไม่ทราบข้อมูลว่า​ผู้ป่วยรับประทานยาอะ​ไรอยู่บ้าง​เป็นประจำ ​หรือ​การที่​ผู้ป่วย​ไปหาซื้อยา อาหาร​เสริม ​หรือ​แม้​แต่สมุน​ไพรมารับประทาน​เอง นอกจาก​เกิดปัญหา​การ​ได้รับยาซ้ำซ้อน​แล้ว ยังอาจ​เกิด "ยาตีกัน" ​ได้

ข้อมูลจาก ​เภสัชกรหญิง รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภา​เภสัชกรรม

บ้าน​เมือง -- จันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2554

หน้า: 1 ... 486 487 [488] 489 490 ... 535