ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงผู้หญิงต่อร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ  (อ่าน 1137 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
 คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดย คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการพลังสตรีเพื่อการปฏิรูปประเทศ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดการสัมมนาระดมความเห็น “เวทีสาธารณะ” และ “การแถลงข่าว” เผยแพร่ผลการระดมความเห็นต่อสื่อมวลชน” เสียงของผู้หญิงต่อ “ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ....” โดย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสวุฒิสภา กล่าวต้อนรับ

นายอภิชาต ปาฐกถาเรื่อง “การส่งสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ : มิติหญิงชาย ในการพัฒนาประชาธิปไตย” โดยกล่าวว่า
ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะบทบาททางการเมืองพิจารณาได้จากผู้นำองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เป็นผู้หญิง รวมทั้งผู้นำอย่างนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้หญิง ประกอบกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวนั้นเชื่อว่าความนุ่มนวล และความเป็นผู้หญิงสามารถร่วมทำงานกับทุกฝ่ายได้ง่ายและได้รับการยอมรับโดยไม่ยาก แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับมากขึ้นแต่ก็ยังมีผลการวิจัยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมองว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงมีความอ่อนแอ ไม่เหมือนผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ชาย การสนับสนุนทางการเมืองก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ แต่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พยายามสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาท และมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ส่วนเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในหลายมาตราที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม นอกจากนั้น รัฐบาลปัจจุบันมีโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้หญิงซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

นักวิชาการด้านสิทธิสตรีและเครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาสังคม
มีความเห็นตรงกันว่า ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.... ของรัฐบาล มีสาระสำคัญที่เป็น “ประเด็นปัญหา” และ
“มีข้อน่าห่วงใย” ดังนี้

1. “คำนิยาม” ที่กำกวมและไม่ชัดเจน และไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะคำนิยามเรื่องเพศ เพราะปัจจุบันมีเพศอื่น นอกเหนือจากชายและหญิงมี “คำ” ที่ควรนิยามไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งเสริมโอกาส” “การคุ้มครอง” “มาตรการพิเศษ” “ผู้ที่สมควรได้รับการส่งเสริมโอกาสและคุ้มครองเป็นพิเศษ”

2.การร่างกฎหมายว่าควรมีความรอบคอบและทันสมัย

3.ข้อยกเว้น “เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ต้องตัดออก เพราะขัดกับหลักการ CEDAW

4.เหตุผลในการตรากฎหมาย : ไม่อ้างสาระสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อ้างพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ลงนาม
อนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (CEDAW)

5.นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รักษาการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้  ไม่ใช่รัฐมนตรี (ซึ่งร่างพระราชบัญญัติไม่ระบุว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด) เพราะความไม่เสมอภาคระหว่างเป็นเพศเป็นปัญหาระดับชาติ  ไม่ใช่ปัญหาระดับกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น

6.การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างเพศ มีขอบข่ายมาก ต้องระบุให้ชัดเจน จะกำกวมหรือจะรอให้ประกาศในกฎกระทรวงโดยภาครัฐไม่ได้

7.ร่างพระราชบัญญัติฉบับของรัฐบาลไม่มีการระบุเรื่องการคุ้มครองและการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ชื่อของกฎหมายมีคำว่า “ส่งเสริมโอกาส”

8.คณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ (อทพ.) : กรรมการโดยตำแหน่งควรมีทุกกระทรวง และควรต้องเพิ่มอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรสตรีภาคประชาสังคมด้วย ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิควรเพิ่มสาขาด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสตรีศึกษาและสถาบันการศึกษาด้วย โดยในหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐไม่ควรสรรหาและเสนอชื่อโดยรัฐมนตรี แต่ควรสรรหากันเองและนำเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต่อไป และควรกำหนดสัดส่วนหญิงชายในคณะกรรมการให้ใกล้เคียงกันตามมาตรา 87 วรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

9.คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ อทพ.ทุกคน ไม่ว่าจะมาโดยตำแหน่งหรือได้รับการแต่งตั้งจากการสรรหากันเองของหน่วยงานต่างๆ จะต้องไม่เป็นผู้ที่เคยต้องคดีหรือกระทำความผิดทางเพศมาก่อน

10.อำนาจหน้าที่ของ อทพ. ในเรื่องกำหนดเกณฑ์ แนวทาง และระเบียบปฏิบัติใดๆ (ถ้ามี) ต้องมีกรอบเวลากำกับไว้ด้วย

11.คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ไม่ควรมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี โดยการเสนอชื่อของ อทพ. เพราะจะกลายเป็นคณะกรรมการเล็ก ในคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งไม่มีความเหมาะสม หากแต่กรรมการ วลพ. ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลือกปฏิบัติและความไม่เสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริงและอำนาจหน้าที่ของ วลพ. ต้องมีการทบทวนและแก้ไข เพื่อมิให้เป็นการไปรอนสิทธิหรือกระทบสิทธิของผู้ร้องในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่กฎหมายอื่นกำหนดให้กระทำได้

12.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ต้องเป็นสำนักงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่ภารกิจที่สำนักกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องมี “เลขาธิการสำนักงาน” ที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่ควรเป็นผู้ที่มีความสามารถและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องมีการรับสมัคร คัดเลือก สรรหาตามกระบวนการอย่างโปร่งใสและควรมีการแสดงวิสัยทัศน์ด้วย

13.คณะกรรมการบริหารกองทุนต้องมาจากการสรรหามิใช่มาจากการแต่งตั้งโดย สทพ. เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ รวมทั้งยังแยกอำนาจบริหารจัดการจากฝ่ายนโยบาย (สทพ.) ออกจากฝ่ายบริหารกองทุนด้วย และภารกิจนี้ไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่ในหน่วยงานเล็กๆ ของภาครัฐ

14.ส่วนหนึ่งของเงินของกองทุนควรมาจากเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปีในสัดส่วนร้อยละ 1 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการ Gender Budgeting หรือการจัดสรรงบประมาณเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศที่แท้จริง

15.การกำหนดให้ “เจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรรับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้องให้มีอำนาจเปรียบเทียบ
ดังต่อไปนี้ (1) ผู้อำนวยการ สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ (2) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นซึ่งเป็นกระบวนการเปรียบเทียบปรับ (มาตรา 36) และเลิกคดี (มาตรา 36 วรรคท้าย) ต้องทบทวนและแก้ไข

16.บทกำหนดโทษ ควรมีการทบทวนโดยควรให้สอดคล้องกับหลักการลงโทษตามความหนักเบาของความผิด โดยโทษปรับควรนำหลักการปรับตามการประเมินความเสียหาย (punitive damages) ใช้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนเรื่องกฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเสียงของผู้หญิงได้เน้นยํ้าว่ามิติความเสมอภาคระหว่างเพศต้องพูดถึงผู้หญิงทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าสัญชาติใดก็ต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติหรือผู้หญิงชายขอบก็ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อแต่ละกระทรวงมีการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกคน และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่มองว่ามากแล้วนั้น ผู้หญิงพิการยิ่งมีความเหลื่อมลํ้ามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาที่มีการสนับสนุนให้ผู้ชายได้รับการศึกษาก่อน ซึ่งในบางครอบครัวคิดเพียงว่าให้ผู้หญิงพิการเฝ้าบ้าน ทำงานบ้าน พ่อแม่ก็คิดว่าเลี้ยงได้ แต่เมื่อพ่อแม่ตายไป ผู้หญิงพิการเหล่านี้ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ควรช่วยพัฒนาด้านการศึกษาและอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสตรีพิการ สรุป ข้อคิดเห็นจากการประมวลเสียงจากผู้หญิงในเวทีนี้ ผู้หญิงอยากให้กฎหมายความเท่าเทียม ระหว่างเพศ “เท่าเทียม” อย่างแท้จริง

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือกลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226

แนวหน้า 8 ตุลาคม 2555