ผู้เขียน หัวข้อ: กะเทาะเคส #นิติจุฬา เพราะ “ระบบการศึกษาไทย” ไม่เคยสอนว่า “อย่าคุกคามทางเพศ”  (อ่าน 306 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
#นิติจุฬา แฮชแท็กร้อนขึ้นเทรนทวิตเตอร์ แฉพฤติกรรมกลุ่มนิสิตใหม่ มหาวิทยาลัยดัง ส่งภาพเพื่อนผู้หญิง-พูดจาเชิงคุกคามทางเพศรัวๆ ด้านตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผย อย่าปล่อยให้ได้ใจ ชี้ กฎหมายไทยไม่หนัก และไม่รองรับผู้ถูกคุกคามทางเพศ!?

แชตลับ #นิติจุฬา แอบส่งภาพผู้หญิง

กลายเป็นดรามาร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกทวิตเตอร์ หลังจากที่ #นิติจุฬา ถูกพูดถึงจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย พบว่า มีนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง สอบติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรุ๊ปแชตไว้ เพื่อส่งภาพของเพื่อนผู้หญิง อีกทั้งยังมีการพูดคุยกันในลักษณะคุกคามทางเพศคนที่อยู่ในภาพอีกด้วย

เมื่อตรวจสอบพบว่า นักเรียนกลุ่มนี้ได้สร้างกลุ่มไลน์เพื่อดึงเพื่อนๆ ผู้ชายที่สอบติดคณะเดียวกันเข้ามาในกลุ่ม โดยมีสมาชิกกว่า 60 คน ซึ่งในกลุ่มมีการชวนคุยเรื่องผู้หญิง เอารูปภาพของผู้หญิงคณะต่างๆ มาลงในกลุ่ม พร้อมกับใช้ข้อความในลักษณะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และมีการตีเนียนแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มของคณะอื่นๆ เพื่อนำภาพของผู้หญิงต่างคณะมาโพสต์ในเชิงคุกคามทางเพศลงในกลุ่มอีกด้วย

ทันทีที่เกิดดรามาเกิดขึ้น ด้านคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยเร็ว รวมทั้งจะประสานงานและติดตามรายงานความคืบหน้ากับคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

“ด้วยความปรากฏต่อคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า นักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเพิ่งผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเป็นนิสิตใหม่ในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปีการศึกษา 2564 ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมซึ่งมีลักษณะล่วงละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว และอาจเข้าข่ายพฤติการณ์ล่วงเกินทางเพศ ผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ต่อนิสิตคณะอื่น…”

แน่นอนว่า หลังแชตเหล่านี้หลุดออกไป ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่เลวร้ายของนิสิตกลุ่มนี้ ที่แม้กำลังจะเข้าไปเรียนกฎหมาย แต่กลับมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคุกคามทางเพศผู้อื่น รวมทั้งมาตรการการจัดการของทางคณะ จะจัดการเรื่องนี้ไปยังทิศทางไหน

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการคุกคามทางเพศภายในรั้วมหาวิทยาลัย ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง อังคณา อินทสาหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ช่วยสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอให้ความเห็นว่า ด้วยยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสาร ก็ยิ่งทำให้เกิดการคุกคามทางเพศง่ายยิ่งขึ้น
“เรื่องของการคุกคามทางเพศมันมีทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกอาชีพ ไม่เฉพาะแค่ในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ว่าพอมันเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อาจจะต้องชื่นชมกับนักศึกษาที่เห็นโพสต์ที่อยู่ในกรุ๊ปไลน์ แล้วออกมาเคลื่อนไหว นั่นหมายความว่า คนที่เห็นในประเด็นปัญหาเหล่านี้ เขาไม่ยอมรับกับสื่อที่มันเป็นเรื่องของการคุกคามทางเพศกับนิสิตผู้หญิง

ทำให้เห็นว่าประเด็นของเรื่องการคุกคามทางเพศมันไม่ใช่เรื่องปกติ ที่ทุกคนจะยอมรับได้ แม้จะอยู่ในกรุ๊ปไลน์ของกลุ่มผู้ชายคณะนิติฯ นี้ก็ตาม อันนี้ก็ต้องชื่นชมกับสิ่งที่ออกมาสื่อสาร ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นทางสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ และทำให้เห็นว่าประเด็นเรื่องของคุกคามทางเพศนิสิตหญิง มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดจะเกิดการยอมรับกันในสังคมอีกต่อไป”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศโดยการถูกแอบถ่าย หรือนำภาพผู้หญิงมาพูดในกรุ๊ป เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คนในสังคมออกมาเตือนภัยกันบ่อยครั้ง โดยหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น อีกว่า เป็นปัญหาที่ผู้หญิงจำนวนมากประสบอยู่ แต่ทว่ากลับไม่ได้รับความสนใจ หรือความช่วยเหลือเท่าที่ควร หนำซ้ำทางด้านกฎหมายไทยไม่สามารถเอาความผิดได้

“กรณีนิสิตจุฬาฯ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เอารูปผู้หญิงมาพูดคุยกันในกรุ๊ปไลน์ อันนี้ก็จะเป็นรูปแบบของสายตา วาจา ทั้งสองรูปแบบนี้ ถ้ามองในมุมของการแก้ปัญหาของการแก้กฎหมายเอง มันไม่ได้มีกฎหมายที่ชัดเจน กับการ Sexual Harassment ในรูปแบบของสายตา ท่าทาง หรือวาจา มันเลยทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้า หรือผู้ชายหลายคน ที่ถูกกระทำแบบนี้ไม่ได้ออกมาที่จะดำเนินคดี

เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายที่เป็นอาญา หรือที่มันชัดเจนกับเรื่องนี้ แต่เมื่อคุกคามทางด้านร่างกาย มาแต๊ะอั๋ง สิ่งนี้ก็เข้าสู่กฎหมาย ในเรื่องของอนาจารต่อได้

หรือว่าช่องทางของการสื่อสารผ่านออนไลน์แบบนี้ มันต้องใช้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างเดียว ที่เอารูปของเราเข้าไปในกรุ๊ป แล้วมีการพูดคุย ก็จะเป็นช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งเรามองว่าในมุมของสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไป เงื่อนไขของการแก้ปัญหาที่มันเท่าทันกับสถานการณ์เอง มันจำเป็นต้องมี

มันไม่ใช่แค่ว่ารอให้สถานการณ์มันเกิดการคุกคามทางเพศ ที่มาแต๊ะอั๋งเราแล้ว หรือพยายามบังคับข่มขืนเรา ถึงจะนำไปสู่เรื่องของการใช้กฎหมายอาญาในการดำเนินการค่ะ

เรื่องการคุกคามรูปแบบอื่นๆ ก็จำเป็นจะต้องมีเรื่องของการพัฒนา เรื่องของกฎหมาย และโทษที่มันชัดเจนหรือว่าเท่ากันกับสถานการณ์นี้ อันนี้ก็จะเห็นภาพในมิติแบบนี้”

ไม่เพียงแค่นี้ เธอยังให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากผู้กระทำผิดแล้ว ด้วยข้อกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ถูกคุกคามเช่นกัน

“ไม่หนักและไม่มี คือ เรื่องการคุกคามทางเพศมันมีหลายระดับ เรื่องสายตา วาจา ไม่มีกฎหมายไหนที่มันชัดเจน หรือกฎหมายอาญาไหนที่มันชัดเจนว่า ถ้าฉันถูกคุกคามจ้องมองหน้าอก จ้องมองอวัยวะเพศ ไม่มีกฎหมายไหนในการดำเนินการกับเรื่องของการ Sexual Harassment ในรูปแบบๆ นี้

แต่ว่าจะมีกฎหมายเรื่องมันมาถึงขั้นแต๊ะอั๋งแล้ว มันอาจจะจ้องหน้าอก มันอาจจะพูดแซวสักพักหนึ่งแล้ว แต่ว่าวันหนึ่งเราก็โต้ตอบกลับไปแล้วไม่ดำเนินการอะไร เพราะมันไม่มีกฎหมาย วันหนึ่งเข้ามาจู่โจมในตัวของเรา อันนี้มันถึงมีกฎหมายในการเข้ามาของกฎหมายอาญา เรื่องของอนาจาร หรือพยายามที่จะข่มขืน ที่เข้าสู่คดีอาญาต่อ

ก็มีกฎหมายที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่มันก็สามารถจะยินยอมได้ ในมุมของถ้าคุณอายุมากกว่า 20 ปี แล้ว ซึ่งอันนี้มันก็ทำให้ผู้หญิงหรือว่าผู้ชายหลายคนที่ถูกคุกคามทางเพศ มีการชดใช้ค่าเสียหาย แล้วก็จบกันไป

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ที่เราใช้สื่อออนไลน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็ต้องควรระมัดระวัง และมองในมุมผลกระทบที่จะเกิดกับตัวของคนที่เราโพสต์ไป ซึ่งหลายคนใช้คำผิดที่มันสองแง่สองง่าม ใช้คำพูดที่มันไม่เหมาะสม

ก็นำไปสู่ในเรื่องของการดำเนินการ ถ้าอีกฝั่งหนึ่งเขารู้สึกว่าคำนั้น หรือการสื่อสารในข้อความนั้น มันไปละเมิดสิทธิของเขา มันนำไปสู่เรื่องการไปใช้กฎหมาย อย่างเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาดำเนินการกับเราก็ได้ อันนี้ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่เราอาจจะต้องระแวดระวังกับเรื่องแบบนี้เหมือนกัน”

สุดท้าย ตัวแทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังฝากเตือนอีกว่า ถ้าหากเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องเก็บหลักฐาน เพราะหากโต้กลับบนโลกออนไลน์ไปด้วยความรุนแรง ก็อาจจะเป็นฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน อีกทั้งมองว่าเรื่องสิทธิในร่างกาย ในระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยมีการสอนเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเข้าใจกับเรื่องของสิทธิในเนื้อตัวเอง

“คือ ทางมูลนิธิฯ เองมองว่า กฎหมายเอง ต้องรวดเร็ว และเท่าทันกับสถานการณ์สังคมที่มันเปลี่ยนไป รวมไปถึงผู้ที่กระทำ น้องที่เป็นนิสิตผู้ชาย สิ่งนี้เป็นเรื่องของการเคารพสิทธิผู้อื่น เป็นเรื่องที่มันควรจะมีในทุกคน มันควรจะมีกับทุกคน โดยเฉพาะคุณเอง ก็เข้าไปเป็นนิสิตจุฬาฯ ดังนั้น การเคารพในเนื้อตัวของเพศหญิง หรือว่าเพศอื่นๆ มันจำเป็นจะต้องมี

และเรื่องแบบนี้ระบบการศึกษาเอง อาจจะต้องบ่มเพาะตั้งแต่ระดับเล็กๆ จนถึงระดับโต เพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มันไม่ใช่เรื่องปกติ หรือว่าเรื่องที่ใครจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ สิ่งนี้เรื่องระบบการศึกษา การสอนในเรื่องแบบนี้เองก็จำเป็นจะต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเข้าใจกับเรื่องของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่นได้ด้วย อาจจะต้องรองดูว่ามัน

ทางมูลนิธิฯ ก็พยายามจะสื่อสารกับกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการเพิ่มบทเรียนให้มีหลักสูตรเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอยู่เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานให้กับเด็กที่โตขึ้นไปจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิกับคนอื่น”

7 มิ.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์