ผู้เขียน หัวข้อ: ฝรั่งคนแรกที่เชี่ยวชาญภาษาไทย ทำดิกชันนารี ๔ ภาษา! เป็นสังฆราชคาทอลิกองค์เดียว  (อ่าน 342 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
ในจำนวนชาวต่างประเทศที่เข้ามาสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยนั้น ประวัติศาสตร์ได้จารึกชื่อ สังฆราช ยวง บับติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ด้วยท่านหนึ่ง ท่านเป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยามสมัยรัชกาลที่ ๓ มีสมณศักดิ์เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก และเป็นเจ้าอธิการวัดคอนเซ็ปชัญ หรือวัดบ้านเขมร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามเสน ในสมัยเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ซึ่งอยู่ติดกัน มีเพียงคลองเล็กๆคั่น

สังฆราชปาลเลอกัวซ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาคนหนึ่งในยุคนั้น นอกจากท่านจะศึกษาภาษาอังกฤษและละตินอย่างแตกฉานแล้ว ยังมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และยังมีความชำนาญในการถ่ายรูปและชุบโลหะ ซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้น รวมทั้งเรื่องไฟฟ้าที่เรียกกันว่า “เครื่องสะดุ้ง” เพราะใครโดนเข้าก็ต้องสะดุ้งทันที

ด้วยเหตุนี้ “ทูลกระหม่อมพระ” จึงให้คนไปเชิญสังฆราชปาลเลอกัวซ์มาเฝ้า ทั้ง ๒ องค์ซึ่งต่างศาสนากัน แต่ใฝ่หาความรู้เหมือนกัน จึงแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทูลกระหม่อมพระสอนภาษาไทย ภาษาบาลีให้ท่านสังฆราช ส่วนท่านสังฆราชก็สอนภาษาอังกฤษและภาษาละตินให้ทูลกระหม่อมพระ อีกทั้งยังแลกเปลี่ยนความรู้รอบตัวต่างๆให้กัน จนแตกฉานไปด้วยกัน

เมื่อทูลกระหม่อมพระได้ขึ้นครองราชย์ในปี ๒๓๙๔ แล้ว ก็ยังทรงให้สังฆราชยวงไปมาหาสู่มิได้ขาด และผลจากการที่ถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันนี้ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้เขียนหนังสือขึ้น ๓ เล่ม คือ

“เล่าเรื่องกรุงสยาม” (Description du Royaume Thai ou Siam) นำความรู้เรื่องขนบธรรมเนียมที่แท้จริงของไทยไปเผยแพร่ให้ชาวยุโรปได้รู้

“สัพพะ พะจะนะ พาสาไท” เป็นพจนานุกรม ๔ ภาษา คือ จากคำไทย มีคำอ่านออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน

“Grammatica linguoe Thai” หนังสือภาษาอังกฤษที่อธิบายถึงไวยกรณ์ไทย

ในปี ๒๓๙๕ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้เข้าทูลลาไปเยี่ยมบ้านเกิด และจะไปเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงวาติกันด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงรับสั่งว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระสันตะปาปาเคยถวายสมณสาส์นมาถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฝากฝังศาสนาคาทอลิก จึงขอฝากพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษไปทูลพระสันตปาปาด้วย

สังฆราชปาลเลอกัวซ์ไปอยู่ฝรั่งเศสครั้งนั้น ๒ ปี โดยได้นำหนังสือที่ท่านเขียนไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในยุโรป และรวบรวมจดหมายเหตุโบราณของหลายชาติในยุโรปนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯด้วย

เมื่อกลับมา สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดคอนเซปชัญ เพื่อพิมพ์เอกสารเผยแพร่ศาสนา และพิมพ์พจนานุกรม ๔ ภาษาของท่านขึ้นอีกครั้งที่โรงพิมพ์นี้ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการชุบโลหะ ทอง นาก เงิน และไฟฟ้า รวมทั้งการถ่ายรูปที่ท่านฝากบาทหลวงด้วยกันซื้อกล้องมาจากยุโรป ตั้งแต่ปี ๒๓๘๘ มีคนสนใจไปเรียนกันมาก

สังฆราช ยวง บับติสต์ ปาลเลอกัวซ์ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๐๕ ขณะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญบางรัก ชาวคริสต์ต้องการจะแห่ศพทางแม่น้ำมาฝังที่วัดคอนเซปขัญซึ่งท่านเป็นเจ้าอธิการและบูรณะจนรุ่งเรือง แต่มีข้อห้ามในขณะนั้นว่ามิให้มีการนำศพผ่านหน้าพระตำหนักแพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงทราบจึงทรงมีพระบรมราชานุญาต ทั้งยังทรงพระราชทานหีบทองทึบ วอรับศพ เครื่องประโคมศพ เรือศพ พร้อมเรือหลวงเข้าร่วมขบวนแห่ศพหลายลำ นำศพจากวัดอัสสัมชัญไปฝังที่วัดคอนเซปชัญอย่างสมพระเกียรติ

ครั้นเมื่อขบวนเรือศพมาถึงหน้าตำหนักแพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯประทับอยู่ในเรือกลไฟ รับสั่งให้ลดธงประจำเรือพระที่นั่งลง ทรงเปิดพระมาลาก้มพระเศียรลงคำนับศพ และยิงสลุตปืนใหญ่หลายนัดแสดงความอาลัย
ยังมีข้อสนใจของคนที่อ่านเรื่องราวของสังฆราชปาลเลอกัวซ์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ภาพของท่านที่มีเด็กชาย ๒ คนยืนอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นภาพที่เห็นกันอย่างแพร่หลายนั้น เด็กทั้ง ๒ นี้เป็นใคร มีข้อเฉลยให้ทราบว่า

เด็กชายที่อยู่ทางซ้าย เป็นเด็กไทย มีชื่อว่า แก้ว อายุ ๑๑ ปี ส่วนคนทางขวาเป็นเด็กญวน มีชื่อว่า ชม อายุ ๑๔ ปี ครอบครัวอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านญวน ติดกับบ้านเขมร เป็นศิษย์ที่มีความเฉลียวฉลาดที่บาทหลวงปาลเลอกัวซ์จะส่งไปเรียนเทววิทยา ที่บ้านเณรใหญ่ ในเกาะปีนัง แต่เมื่อสังฆราชปาลเลอกัวซ์เดินทางไปเยี่ยมบ้านในปี ๒๓๙๕ นั้น ได้นำเด็กทั้ง ๒ ไปด้วย และพาไปออกงานพิธีต่างๆซึ่งเด็กทั้ง ๒ ได้แต่งตัวตามพื้นเมืองตะวันออก ทำให้เป็นที่สะดุดตาและได้รับความสนใจจากคนทั่วไป
ในปี ๒๓๙๖ เด็กชายแก้วได้เข้ารับศีลบาปที่กรุงปารีส จากสมณทูตวาติกันประจำฝรั่งเศสท่ามกลางผู้มาร่วมพิธีหลายพันคนซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมยุวทูต แต่ไม่ปรากฏชื่อเด็กชายชมได้เข้าร่วมพิธีด้วย จากนั้นก็ไม่ปรากฏข่าวของเขาอีกเลย และไม่ปรากฏเหตุที่หายไป

เมื่อสังฆราชปาลเลอกัวซ์เดินทางกลับสยามในปี ๒๔๙๗ เมื่อมาถึงเมืองท่ามาร์เซย์ มีเหตุต้องเลื่อนการเดินทางออกไปอีก ๒ เดือน จึงฝากเด็กชายแก้วให้เข้าโรงเรียนทางศาสนาที่นั่น และเมื่อถึงกำหนดเดินทางกลับได้ก็ไม่ได้พาเด็กชายแก้วกลับมาด้วย คงให้เรียนต่อที่นั่นอีก จนกลับมาสยามในปี ๒๓๙๘

สังฆราชเลอกัวซ์ได้ส่งเด็กชายแก้วไปเรียนศาสนาต่อที่สิงคโปร์ แต่เมื่อเดินทางไปถึงสิงคโปร์ได้ไม่กี่วันก็เกิดป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๓๙๙ นั้น ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่สิงคโปร์

นี่ก็เป็นเรื่องราวของชาวต่างประเทศอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย และถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศนี้

 15 ก.พ. 2564    โดย: โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000014899