ผู้เขียน หัวข้อ: หมอแผนปัจจุบันค้านสูตรสมุนไพรกรมแพทย์แผนไทย ชี้ ไม่มีหลักฐานรักษา “มะเร็ง”  (อ่าน 1765 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
กรมพัฒนาแพทย์แผนไทย  ย้ำไม่สามารถเปิดเผยสูตรยาสมุนไพรรักษามะเร็งได้   เกรงถูกลอกเลียน  แย้มความชัดเจนในการประชุมวิชาการช่วง ก.ย.นี้  ด้านหมอแผนปัจจุบันค้าน ยังยอมรับไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน
       
       วานนี้ (24 พ.ค.)  พญ.วิลาวัลย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เตรียมพิสูจน์ประสิทธิภาพตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษามะเร็งระยะแรก โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาระบบน้ำเหลืองเป็นสำคัญ โดยได้มีการรวบรวมสูตรตำรับยาถึง 2,000 ตำรับ เพื่อเตรียมศึกษาประสิทธิภาพเพิ่มเติม ว่า   ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยสูตรของตัวยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้ เพราะเกรงว่าเมื่อมีข่าวออกไปจะทำให้ประชาชนแตกตื่น และไปซื้อสมุนไพรมาเพื่อรักษามะเร็ง ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ เนื่องจากการใช้ยาสมุนไพรในการรักษามะเร็งต้องรักษาตามตำรับยา มีสัดส่วนตามที่หมอพื้นบ้านแต่ละท่านจะวินิจฉัยโรค หากประชาชนนำไปทำกินเองในจำนวนมาก อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อใดๆ ได้ในขณะนี้  อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาสมุนไพรทั้ง 2 พันตำรับ พบว่า มีอยู่ 100 ตำรับที่มีความเป็นไปได้ และกรมเตรียมศึกษาวิจัยตำรับยาทั้ง 100 ตำรับอยู่ ว่า  มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้ตามที่มีหมอพื้นบ้านมาแจ้งกับกรม หรือไม่  ทั้งนี้ คาดว่า จะวิจัยเสร็จและเปิดเผยตำรับสมุนไพรบางตำรับได้ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือน ก.ย.นี้
       
        พญ.วิลาวัลย์ กล่าวต่ว่า ยืนยันว่า มีตำรับยาสมุนไพรที่สามารถรักษามะเร็งให้หายได้จริง แต่จะต้องเป็นไปตามการดูแลของหมอพื้นบ้านที่จะวินิจฉัยก่อนและดูว่าจะต้อง ได้รับยาในจำนวนเท่าใด ทำให้สูตรของตำรับยาสมุนไพรไม่มีความตายตัว แต่จะขึ้นอยู่ที่การวินิจฉัยของหมอพื้นบ้านเป็นหลัก ทั้งนี้หลักในการใช้ยาสมุนไพร คือ อะไรที่ผิดปกติ ก็ต้องทำให้เป็นปกติ ซึ่งสมุนไพรสามารถไปรักษาเซลล์ร่างกายที่ผิดปกติให้กลับสู่สภาวะปกติได้ หรือสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติได้ สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ   ทั้งนี้  ช่วงที่ผ่านมา ทางกรมได้ส่งเสริมให้มีการดื่มน้ำ ตรีผลา ซึ่งมีส่วนผสมจากมะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก  มีสรรพคุณช่วยในการเสริมภูมิต้านทาน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหวัดบ่อยๆ ทั้งยังมีสรรพคุณในการชะลอการชราด้วย อีกทั้ง   ตรีผลา ยังมีสรรพคุณในการยับยั้ง และต้านเซลล์มะเร็ง หรือหากเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาแล้วก็จะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งโตช้า โดยมีผลวิจัยรองรับจากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่จะต้องมีการดื่มเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ร่างกายยังเป็นปกติ

ด้าน  นพ.เจษฎา  มณีชวขจร      แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง  โรงพยาบาลรามาธิบดี   กล่าวว่า   การรักษาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านยังไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์แน่ชัดว่า  สามารถรักษาได้จริงในระดับใด และมีตัวอย่างที่ศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกกี่ราย  รายที่ศึกษานั้นป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด ระยะใด  และยาสมุนไพรมีผลข้างเคียงหรือไม่  เพราะการยืนยันประสิทธิผลและประสิทธิภาพของยาที่ยอมรับได้ทางการแพทย์นั้น ต้องไม่ใช่แค่ระบุว่า ยาใช้ได้ หรือไม่ได้ แต่ต้องลงรายละเอียดว่าใช้ได้ดีในระดับใด ข้อจำกัดการใช้มีอะไรบ้าง เพราะยา ทุกประเภทไม่ได้มีผลดี 100%   
       
         นพ.เจษฎา   กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันมียาสำหรับรักษามะเร็งมากมาย แต่จะใช้แตกต่างกัน  โดยในคนไข้บางรายต้องอาศัยขั้นตอนหลายอย่างในการรักษา เช่น  รักษาทั้งการฉายรังสี  การผ่าตัด และการให้ยา บรรเทาอาการปวดร่วมด้วย  บางคนใช้แค่ชนิดเดียว ขณะที่บางรายต้องใช้หลายขนาน หลายชนิดร่วมกัน  หากจะให้แยกรายชื่อยาคงไม่สามารถระบุได้หมด     ในการรักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมาพบปัญหาอย่างหนึ่ง  คือ บางรายป่วยมะเร็งขั้นต้นแล้วรักษากับหมอพื้นบ้าน พอไม่หายก็มาพบแพทย์แผนปัจจุบัน  แสดงให้เห็นว่า  ผู้ป่วยยัง ต้องอาศัยการรักษาแบบสมัยใหม่อยู่  แต่ปัญหาคือ มาพบแพทย์ในระยะที่เชื้อมะเร็งลุกลามในระยะท้ายๆ ซึ่งแพทย์พยายามช่วยชีวิตอย่างดีที่สุด แต่ผลร้ายคือ ผู้ป่วยเองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร  และอีกปัญหาที่พบได้บ่อย คือ แพทย์พบว่า ในผลเลือดของผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่ผ่านการรักษาโดยหมอพื้นบ้าน  มีร่องรอยการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างชัดเจน  แต่พอสอบถามกับผู้ป่วยกลับปฏิเสธว่าไม่เคยรับยาจากแพทย์ในโรงพยาบาล  ทำให้ทราบว่า หมอพื้นบ้านมีการให้ยาแผนปัจจุบันด้วยเหมือนกัน
       
        “  ไม่มีแพทย์คนใดอยากจะปฏิเสธการค้นพบวิจัยสรรพคุณยาสมุนไพร แต่ที่แพทย์ปัจจุบันไม่สามารถยอมรับอย่างจริงจังและนำมาใช้รักษาในโรงพยาบาล ก็เพราะคนไข้ส่วนมากมุ่งแค่ความเชื่อความศรัทธา โดยไม่มีหลักวิทยาศาสตร์ใดๆมารองรับ   ซึ่งกรณีนี้หากเกิดข้อผิดพลาดในการรักษาก็ยากที่ผู้ป่วยจะเอาผิดกับแพทย์ พื้นบ้านได้ เนื่องจากไม่มีบันทึกผลการรักษา ไม่มีเวชระเบียนใดๆ ทั้งสิ้น แต่กับแพทย์ที่ประจำการในโรงพยาบาลนั้นต้องมีรายละเอียดทุกอย่าง ทุกขั้นตอนในการรักษาและต้องรับผิดชอบกับชีวิตคนไข้ทุกราย ดังนั้น หากผิดพลาดขึ้นมาก็มีหลักฐานยืนยันชัดเจน”นพ.เจษฎา   กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 พฤษภาคม 2554