ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 ก.ค.2557  (อ่าน 887 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 ก.ค.2557
« เมื่อ: 01 สิงหาคม 2014, 07:41:25 »
1. รธน.ชั่วคราวคลอดแล้ว พบ มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช.ล้นฟ้า สามารถกลับคำพิพากษาศาลได้ ขณะที่หลายฝ่ายข้องใจ!

       เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทูลเกล้าฯ ก่อนหน้านี้ และพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
      
        สำหรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่เด่นๆ ได้แก่ มาตรา 35 ที่มีการวางกรอบว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ 10 ข้อ เช่น มีกลไกป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ,ป้องกันการบริหารที่มุ่งสร้างคะแนนนิยม ที่อาจก่อความเสียหายในระยะยาว และให้พิจารณาความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
      
       ขณะที่มาตรา 44 ซึ่งถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง เพราะให้อำนาจหัวหน้า คสช.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ระบุว่า กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด โดยหลังจากดำเนินการแล้ว ให้รายงานให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
      
       สำหรับผู้ที่ตั้งคำถามพร้อมแสดงความเป็นห่วงเนื้อหามาตรา 44 ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 44 ให้อำนาจหัวหน้า คสช.และ คสช.เป็นพิเศษ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งปกติการตราธรรมนูญการปกครองชั่วคราวจะเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล โดยจะมีการคงอำนาจไว้อยู่บ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง แต่อำนาจพิเศษในมาตรา 44 ครั้งนี้ เป็นของหัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. และไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้มาตรา 44 ยังบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติและทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการจะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึงสามารถออกกฎหมายหรือกลับคำพิพากษาได้ ไม่เท่านั้นขอบเขตของการใช้มาตรา 44 ยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเท่านั้น แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย มาตรา 44 จึงอาจถูกมองได้ว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 3 (บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล)
      
       ด้าน คสช.ได้เปิดแถลงข่าวความเป็นมาและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. โดยพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะ คสช.ยืนยันว่า แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่บ้านเมืองจะมีหลักกติกาที่แน่นอนและมีความเป็นนิติรัฐ
      
       ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. บอกว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 จำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างให้เข้มงวด กวดขัน ยุ่งยาก และว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นต้นทางของแม่น้ำทั้ง 5 สาย สายที่ 1 คือการเกิด สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เหมือนสภานิติบัญญัติในอดีต มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของ คสช. จะไม่มีการสมัคร นายวิษณุ บอกด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาวกว่าในอดีต หากเกิดปัญหาขึ้น จะให้ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญก่อน หากไม่มีข้อใดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครองที่ใช้กันมา เมื่อใดเห็นว่าธรรมนูญชั่วคราวมีปัญหา สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในอนาคต สำหรับการแต่งตั้งถอดถอนนายกฯ อยู่ที่ สนช. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ได้ อภิปรายได้ แต่ไม่สามารถลงมติได้
      
       สำหรับแม่น้ำสายที่ 2 คือคณะรัฐมนตรี(ครม.) มี 35 คน รวมนายกฯ ด้วย เป็น 36 คน ซึ่งจะเป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจก็ได้ เปิดโอกาสให้มากที่สุด แม่น้ำสายที่ 3 การแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน สรรหาจากจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัด แม่น้ำสายที่ 4 จะมีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปฯ สรรหาผู้มีความสามารถ เลือกมาจังหวัดละ 5 คน ส่งให้หัวหน้า คสช.พิจารณาเหลือ 1 คน 77 จังหวัด 77 คน ส่วนที่เหลือสรรหาอีก 173 คนจากทั่วประเทศ โดยห้ามสมัครเอง ต้องมีองค์กรนิติบุคคลหรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้เสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน แบ่งเป็น 11 ด้าน กรรมการจะสรรหาไม่เกินด้านละ 50 คน เพื่อไปรวมกับ 77 คนจาก 77 จังหวัด รวมเป็น 250 คน ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็น สปช.ไม่ได้มีข้อห้ามว่าห้ามเป็นกรรมการในพรรคการเมืองแต่อย่างใด และไม่จำกัดว่าจะมาจากอาชีพไหน
      
       ส่วนมาตรา 44 นั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า เป็นอำนาจพิเศษของ คสช.กรณีจำเป็น โดยเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ ต้องทำเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สำหรับแม่น้ำสายที่ 5 คือ คสช. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.ยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6-7 คน เป็นไม่เกิน 15 คน ขณะที่อำนาจหน้าที่ของ คสช.มีแค่ 1.เสนอแนะให้รัฐมนตรีพิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะไม่ทำก็ได้ 2.คสช.เชิญคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประชุมร่วมกัน เพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ และว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดนายกฯ หรือรัฐมนตรีได้ดังที่มีการร่ำลือกัน รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยให้ ครม.แต่อย่างใด
      
        นายวิษณุ ยังพูดถึงการดำรงอยู่ของแม่น้ำทั้ง 5 สายด้วยว่า สนช.จะอยู่จนมีการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ,ครม.จะอยู่จนกว่ามี ครม.ชุดใหม่เข้ามา สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับที่ 20 จะมาเมื่อใด มาเมื่อได้รับการลงพระปรมาภิไธยแล้ว ส่วน คสช.จะอยู่ถึงเมื่อใด เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอยู่ภายในระยะเวลา 1 ปี บวกลบ
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ชี้ว่า การมีอำนาจตามมาตรา 44 ผิดหลักการอย่างยิ่ง เพราะเป็นอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ เป็นอันตราย ดังนั้นผู้ที่ใช้อำนาจนี้ต้องรู้จักประมาณตนอย่างยิ่ง
      
        ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 25 ก.ค. โดยยืนยันว่า เรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว จำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่แต่ละฝ่ายให้ชัดเจน และว่า ตลอดเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา คสช.ได้พยายามแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้มุ่งใช้อำนาจในการทำร้ายใคร แต่ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ความสงบสุขให้กับประชาชนและชาติบ้านเมือง ซึ่งคงมีทั้งผู้ที่ถูกใจและไม่ถูกใจบ้าง
      
        สำหรับความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หลัง คสช.อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศระหว่างวันที่ 20 ก.ค.-10 ส.ค.ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ร้องขอ ปรากฏว่า เมื่อคืนวันที่ 23 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับ ด.ช.ศุภเสข อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย และผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อไปฉลองวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 26 ก.ค. อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดินทางครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขนกระเป๋าเดินทางไปด้วยมากถึง 15 ใบ ท่ามกลางความสงสัยของหลายฝ่ายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแล้วจะกลับมาหรือไม่ หรือจะอยู่ยาวเพื่อหนีคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเมื่อเร็วๆ นี้
      
       2. คสช.เตือน “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” อ้างเผยแพร่ข้อมูลเท็จ แต่ไม่ยอมระบุเท็จตรงไหน พร้อมสั่งองค์กรสื่อสอบด่วน!

       ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 97/2557 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยห้ามสื่อมวลชนทุกแขนงเชิญนักวิชาการหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้สังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนี้ยังกำหนดให้สื่อมวลชนทุกแขนงมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช.และห้ามเสนอข้อความอันเป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยก หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาทบุคคลอื่น และห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากผู้ใดฝ่าฝืน ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์หรือการออกอากาศของรายการดังกล่าวทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย
      
        ปรากฏว่า หลังจากนั้น 1 วัน(19 ก.ค.) นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้หารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อ พร้อมแสดงความกังวล และห่วงใยเนื้อหาในประกาศดังกล่าว เนื่องจากอาจกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และอาจเกิดความไม่เข้าใจวิธีการทำงานและการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน พร้อมย้ำ การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนต้องยืนอยู่บนหลักการ คือเสนอข่าวสารโดยยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน หากสื่อมวลชนใดกระทำผิดหน้าที่นี้ คสช.ก็สามารถสั่งการให้มีการดำเนินการหรือใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่จัดการได้อยู่แล้ว สมาคมฯ ห่วงว่า การให้บุคคลมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อาจส่งผลให้บุคคลใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และหากไม่มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจ จะเกิดผลเสียมากกว่า
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังสมาคมสื่อออกมาแสดงความห่วงกังวลเนื้อหาในประกาศฉบับที่ 97 ปรากฏว่า 2 วันต่อมา(21 ก.ค.) คสช.ได้มอบหมายให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เชิญ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมาพูดคุย ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ,สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ หลังหารือ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่า ตัวแทนของ 4 สมาคม เป็นห่วงประกาศฉบับที่ 97 ของ คสช. โดยเฉพาะข้อ 5 ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งงดหรือระงับ การจำหน่าย จ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์ และการออกอากาศของสื่อได้ หากพบว่ามีความผิด และข้อ 3.3 ที่ห้ามสื่อวิพากษณ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. และห้ามนำนักวิชาการมาแสดงความเห็น ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยก โดยทางสมาคมฯ เห็นตรงกันว่า ควรมีการปรับปรุงข้อความในคำสั่ง หรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหลังการพูดคุย มีสัญญาณที่ดี เพราะปลัดกระทรวงกลาโหมยืนยันจะนำข้อเสนอที่มีการหารือกันรายงานต่อหัวหน้า คสช.โดยเร็ว
      
        จากนั้น คืนวันเดียวกัน(21 ก.ค.) คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 โดยยอมผ่อนปรนมาตรการคุมสื่อลง 2 กรณี คือ 1.ให้ยกเลิกข้อความที่กำหนดห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วเปลี่ยนเป็น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกข้อความที่กำหนดให้ระงับการจำหน่าย จ่ายแจกหรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์หรือการออกอากาศรายการที่ไม่ฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของ คสช.ทันที และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเปลี่ยนเป็น เจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง คสช.พยายามออกมาตรการคุมสื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ปรากฏว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยอ้างว่า ตามที่ คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกชนิดนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ อันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ได้ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช.ดังกล่าว ในชั้นนี้เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย
      
       ทั้งนี้ คสช. ได้สั่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็ว เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งของ คสช.ที่อ้างว่า ผู้จัดการสุดสัปดาห์ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่ คสช.กลับไม่ยอมระบุว่าข้อความส่วนใดบ้างที่เป็นเท็จ ทั้งยังไม่ยอมชี้แจงว่าหากเป็นเท็จ แล้วเรื่องจริงเป็นอย่างไร
      
       ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อคืนวันที่ 26 ก.ค.หลัง คสช.ออกคำสั่งตักเตือนผู้จัดการสุดสัปดาห์ พร้อมสั่งให้สมาคมสื่อฯ สอบจริยธรรมว่า กระบวนการสอบข้อเท็จจริงต้องเป็นไปตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คือ คสช.ในฐานะผู้ร้องเรียน ต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องเรียนละเมิดจริยธรรมในเรื่องใด เพื่อให้คณะกรรรมการสอบสวนตามประเด็น และว่า คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะพิจารณาคำสั่ง คสช.อย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งในการประชุมวันที่ ๒๙ ก.ค.นี้ แต่ในฐานะส่วนตัว ยืนยันตามที่ได้ให้คำมั่นกับปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทน คสช.ว่า เราจะทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา และจะไม่ปกป้องกันเองอย่างเด็ดขาด หากปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ กระทำละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพข้อใด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะดำเนินการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 ก.ค.2557(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 01 สิงหาคม 2014, 07:41:41 »
3. “น้องก้อย” นำดอกไม้ขอขมา “โค้ชเช” รับ บทเรียนราคาแพงจากความใจร้อน ด้าน “โค้ชเช” ยัน ไม่ติดใจ พร้อมรับกลับทีมชาติ!

       ความคืบหน้ากรณี “น้องก้อย” น.ส.รุ่งระวี ขุระสะ นักเทควันโดทีมชาติไทย วัย 23 ปี เจ้าของเหรียญทองแดงศึกชิงแชมป์เอเชีย 2014 ออกมาแฉผ่านโซเชียลมีเดียว่า ถูก “โค้ชเช” เช ยอง ช็อก หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชาวเกาหลีใต้ ว่าลงโทษเกินกว่าเหตุด้วยการต่อยหน้าและท้องหลายครั้ง จากกรณีไม่มีความพร้อมในการลงแข่งขัน “โคเรีย โอเพ่น 2014” ที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. จนเป็นเหตุให้พ่ายเจ้าภาพ ซึ่งหลังจากถูกโค้ชเชลงโทษ น้องก้อยได้ประกาศจะไม่ยอมเจ็บตัวฟรี และจะไม่ให้แม่ต้องเสียน้ำตาฟรี ขณะที่บิดาของน้องก้อยได้เรียกร้องให้โค้ชเชขอโทษผ่านสื่อ ด้านโค้ชเช ยืนยันไม่ได้ต่อยน้องก้อยรุนแรงอย่างที่กล่าวหา แค่ตีเบาๆ เพื่อลงโทษ เนื่องจากไม่มีวินัย ขณะที่กระแสสังคมค่อนข้างเห็นใจโค้ชเช และเกรงว่าโค้ชเชจะไม่กลับไทยแล้ว แต่ในที่สุดโค้ชเชก็ตัดสินใจเดินทางกลับไทยเมื่อช่วงดึกวันที่ 20 ก.ค.โดยมีประชาชนไปรอต้อนรับอย่างล้นหลาม
       
        จากนั้น วันต่อมา(21 ก.ค.) โค้ชเช ได้ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ โดยยอมรับว่าเสียใจและร้องไห้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ไม่เคยคิดว่าจะไม่กลับเมืองไทย ส่วนการลงโทษน้องก้อยนั้น หลังลงโทษได้มีการพูดคุยและขอโทษแล้ว พร้อมยืนยันไม่ได้ต่อยอย่างที่ก้อยกล่าวหา แต่เป็นการตบเข้าที่หน้าและท้อง ซึ่งเป็นการลงโทษเพื่อสั่งสอนเท่านั้น และก่อนลงโทษก็ได้อธิบายแล้วว่า ก้อยมีความผิดตรงไหน “ทุกอย่างผมได้พูดกับก้อยไปหมดแล้ว ยืนยันว่าไม่เคยโกรธและพร้อมรับกลับมาเป็นทีมชาติอีกครั้ง และอยากจะขอโทษพ่อแม่ของก้อย เพราะผมก็มีลูกเหมือนกัน ย่อมเข้าใจหัวอกของคนเป็นพ่อแม่”
       
       หลังจากนั้น ช่วงสายวันเดียวกัน โค้ชเชได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการพร้อมด้วยนายปรีชา ต่อตระกูล อุปนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย โดยโค้ชเชได้ขอโทษประชาชนที่เกิดเรื่องราวใหญ่โต ไม่คิดว่าจะบานปลายขนาดนี้ และอยากให้เรื่องจบลงโดยเร็ว โค้ชเช ยังย้ำด้วยว่า การทำโทษนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของกีฬาต่อสู้ และที่ทำโทษก้อย ไม่ใช่เพราะเล่นไม่ดีหรือเล่นแล้วแพ้ แต่เป็นเรื่องของระเบียบวินัย และว่า หากในอนาคต ก้อยอยากจะกลับมาติดทีมชาติ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องรับในเรื่องของระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตนเอง ถ้าทำได้ก็พร้อมรับกลับมาเสมอ
       
       โค้ชเช บอกด้วยว่า ต่อจากนี้คงต้องคุยกับทางสมาคมฯ ถ้าหากนักกีฬาขาดระเบียบวินัย มาสาย ไม่ตั้งใจซ้อม หรือไม่มีมารยาท ก็ต้องมีการลงโทษที่ร่างกายหรือใบหน้าเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม นายปรีชา ต่อตระกูล อุปนายกสมาคมเทควันโดฯ กล่าวเสริมขึ้นมาว่า เรื่องการลงโทษจะคุยกับโค้ช ปรับเปลี่ยนวิธีการ และแจ้งให้นักกีฬาและผู้ปกครองทราบต่อไป ซึ่งนายปรีชา ได้เผยอีกครั้งในวันต่อมา(22 ก.ค.)ว่า ได้หารือเรื่องระเบียบในการทำโทษนักกีฬาแล้ว และได้บอกให้โค้ชชาวเกาหลีใต้และสต๊าฟทุกคนทราบแล้วว่า ต่อไปนี้ห้ามทำโทษตั้งแต่บ่าไปจนถึงศีรษะ เพราะคนไทยเขาถือมาก ซึ่งโค้ชก็เข้าใจดีทุกคน และจะเรียกผู้ปกครอง รวมถึงนักกีฬามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อไป
       
       ทั้งนี้ ระหว่างแถลงข่าว ได้มีการถามถึงเงินเดือนที่โค้ชเชได้รับ ซึ่งโค้ชเช บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดกัน และว่าตนทำงานตรงนี้มานานเหมือนเป็นคนไทย ความสุขของตนคือการได้เห็นประชาชนคนไทยมีความสุข ดังนั้นจึงอยากตั้งใจทำงาน ด้านนายปรีชา เผยว่า ระเบียบของการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดสรรเงินเดือนให้โค้ชเช 6 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือสมาคมฯ เป็นคนหามาให้ และว่า ได้คุยกับโค้ชเชเฉพาะเรื่องเงินอัดฉีดที่ได้มาแต่ละรายการ ซึ่งโค้ชเชก็จะหักส่วนของเขาแบ่งให้โค้ชชาวไทยด้วย
       
       ด้านโค้ชเช ย้ำอีกครั้งว่า อยากให้เรื่องที่เกิดขึ้นจบลงโดยเร็ว เพราะต้องมีการเตรียมทีมเพื่อแข่งยูธโอลิมปิกเกมส์และเอเชี่ยนสเกมส์ รวมไปถึงอีก 2 ปีข้างหน้าในโอลิมปิกเกมส์ และอยากให้กำลังใจนักกีฬา สต๊าฟโค้ช รวมถึงก้อยด้วย ถ้าหากยังสนใจ ก็พร้อมให้เข้ามาสมาคม เพื่อนๆ โค้ช ยินดีต้อนรับเสมอ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังโค้ชเชแถลงข่าวได้ 2 วัน(23 ก.ค.) น้องก้อย พร้อมด้วยนายวัลลภ และนางนพมาศ ขุระสะ บิดาและมารดา ได้เดินทางไปที่ศูนย์ฝึกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย จากนั้นน้องก้อยได้นำพวงมาลัยไปขอขมาโค้ชเช ซึ่งโค้ชเชได้ออกมารับดอกไม้ พร้อมบอกว่า ไม่ติดใจอะไรแล้ว ทั้งนี้ น้องก้อยได้กล่าวขอโทษสมาคม โค้ช และผู้ฝึกสอนทุกคน โดยเฉพาะโค้ชเช พร้อมยอมรับว่าตนเป็นเด็กใจร้อน ทำอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยืนยันไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ทุกคนเดือดร้อนแบบนี้ ส่วนที่หายหน้าไปหลายวัน เนื่องจากไม่สบายและจิตใจไม่พร้อม และว่า ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ สื่อเป็นคนเขียนเองโดยที่ไม่ได้สัมภาษณ์โดยตรง ทำให้สังคมคิดไปก่อน ซึ่งตนรับแรงกดดันตรงนี้ไม่ได้ ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่งต่อไปจะต้องรอบคอบและใจเย็นมากกว่านี้
       
       น้องก้อย ยังยืนยันด้วยว่า สิ่งที่ทำไปทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของตนเอง ไม่ได้มีใครบอก ยอมรับว่าได้ปรึกษากับอาจารย์ และผู้ใหญ่หลายๆ คน แต่ไม่ได้เชื่อทุกอย่าง “เรื่องของอนาคตทีมชาตินั้น ตัวเองรักกีฬาชนิดนี้มาก แต่ขึ้นอยู่กับทางสมาคมฯ จะให้โอกาสหรือไม่ ถ้าหากว่าได้โอกาส ก็พร้อมจะทำหน้าที่ให้ดี”
       
       4. ศาล พิพากษาจำคุก “ณัฐวุฒิ-จตุพร” 3 ปี คดีดักฟังโทรศัพท์ แต่จำเลยสารภาพ -1 ในผู้เสียหายไม่ติดใจ ลดโทษให้-รอลงอาญา 2 ปี!

       เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อยู่ระหว่างหลบหนี) ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อดักรับไว้ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลอื่นใด ที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 74
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2550 จำเลยกับพวกร่วมกันนำข้อความ ถ้อยคำสนทนาที่มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ อันเป็นการสื่อสารโทรคมนาคมที่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ติดต่อสนทนากับนายวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และนายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ไปเปิดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ส่วนนายจักรภพ ศาลสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งนี้ ระหว่างการสืบพยานจำเลยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า จำเลยที่ 2-3 แถลงต่อศาลขอให้การรับสารภาพ
       
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายณัฐวุฒิและนายจตุพร จำเลยที่ 2-3 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 74 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 21 ข้อ 1 ลงวันที่ 24 ก.ย.2549 เรื่องห้ามดักฟังเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทำผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 ข้อ 1 พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2-3 คนละ 3 ปี ปรับคนละ 6 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ปรับคนละ 4 หมื่นบาท แต่ปรากฏว่า หนึ่งในผู้เสียหายทำหนังสือแถลงต่อศาลว่า ทราบวัตถุประสงค์ในการปราศรัยของจำเลยที่ 2-3 จึงไม่ติดใจเอาความ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี
       
        หลังฟังคำพิพากษา นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้ศาลเมตตาให้รอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยทั้งสองรับสารภาพ ประกอบกับผู้เสียหาย 1 ใน 3 คนที่เป็นผู้พิพากษา ได้ทำหนังสือไม่ติดใจกับการกระทำของจำเลย เพราะทราบวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสองแล้วว่า เป็นการปราศรัยเพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ปกป้องศาสนา และสถาบันฯ โดยหนังสือดังกล่าวระบุเฉพาะพฤติกรรมของนายณัฐวุฒิและนายจตุพรเท่านั้น ไม่ได้มีการอ้างอิงครอบคลุมไปถึงนายจักรภพด้วย ดังนั้น ผลของคำพิพากษาของนายจักรภพจะเป็นอย่างไรนั้น ตนคงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งศาลได้ออกหมายจับนายจักรภพไว้แล้ว และในส่วนของนายจักรภพยังมีอีกหลายคดี นายวิญญัติ ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของนายณัฐวุฒิและนายจตุพรจะอุทธรณ์คดีหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดคำพิพากษาก่อน ด้านนายณัฐวุฒิและนายจตุพร หลังฟังคำพิพากษาไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 กรกฎาคม 2557