ผู้เขียน หัวข้อ: สสจ.พังงาเผย พบคนป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 31 ราย  (อ่าน 1163 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
   นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 มิ.ย.2555 ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนูจำนวน 992 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1.55 ต่อประชากรแสนคน ภาคใต้มีผู้ป่วย 283 ราย อัตราป่วย 3.18 ต่อประชากรแสน เขต 7 มีผู้ป่วย 81 ราย อัตราป่วย 4.41 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จังหวัดระนอง รองลงมาคือ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุรินทร์ ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดพังงา อยู่ลำดับที่ 7
       
       สำหรับพื้นที่จังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 มิ.ย.55 มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเลปโตสไปโรซีส จำนวน 31 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 12.16 ต่อแสนประชากร พื้นที่ที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อำเภอคุระบุรี รองลงมาคือ อำเภอเมืองพังงา และอำเภอตะกั่วป่า ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่ม 35-44 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ
       
       จำแนกผู้ป่วยตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.คุระบุรี จำนวน 8 ราย อัตราป่วย 30.67 ต่อแสนประชากร อ.เมืองพังงา จำนวน 6 ราย อัตราป่วย 14.96 ต่อแสนประชากร อ.ตะกั่วป่า จำนวน 6 ราย อัตราป่วย 12.93 ต่อแสนประชากร อ.ตะกั่วทุ่ง จำนวน 5 ราย อัตราป่วย 11.78 ต่อแสนประชากร อ.ทับปุด จำนวน 3 ราย อัตราป่วย 11.93 ต่อแสนประชากร อ.ท้ายเหมือง จำนวน 3 ราย อัตราป่วย 6.31 ต่อแสนประชากร ต.เกาะยาว อำเภอกะปง ไม่มีรายงานผู้ป่วย
       
       อย่างไรก็ตาม ทางนายแพทย์สรรพงษ์ ยังได้กล่าวถึงวิธีการป้องกันโรคเล็ปโตสไปโรซิส ว่า
       1.กำจัดหนู
       2.ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
       3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคดังกล่าว
       4.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในที่ที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
       5.หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด
       6.หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
       7.รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรคเล็ปโตสไปโรซิส
       
       สำหรับการรักษานั้น โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ หากสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ เพื่อวินิจฉัยของแพทย์จะได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี หากปล่อยไว้อาจเสียชีวิตได้