ผู้เขียน หัวข้อ: กทม. เดินเครื่องมหานครสีเขียว ชูนโยบายแปรสภาพเพิ่มมูลค่า “ขยะ”  (อ่าน 836 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
แนวทางและวิธีการจัดการขยะในกรุงเทพฯ ล่าสุดผู้บริหารระดับสูง กทม.รับลูกสภากทม. เตรียมออกนโยบายการแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า พร้อมแนวทางร่วมมือทั้ง 50 เขต รณรงค์การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางโดยเริ่มที่ตลาดสด
       
       ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร จัดสรรงบประมาณในการจัดการขยะเป็นงบประมาณที่สูงสุดหากเทียบกับงบในส่วนอื่น อีกทั้งค่าจัดเก็บขยะตามบ้านเรือนหลังละ20 บาทต่อเดือน กทม. ก็ได้กลับมาเพียง 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงจำเป็นต้องไปดึงภาษีจากส่วนอื่นมาใช้ในการจัดการขยะ

        จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าแนวทางการจัดการปัญหาขยะของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับนโยบายในการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556-2560 ในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งสีเขียว จะเห็นว่าที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมและรณรงค์การลดและคัดแยกขยะจากต้นตอแหล่งกำเนิด
       แนวโน้มขยะกทม. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
       แต่จากข้อมูลการจัดเก็บขยะ กลับพบว่ากรุงเทพฯ มีขยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยเก็บขนได้ประมาณ 12,500 ตัน/วัน ซึ่งต่ำกว่าข้อมูลการศึกษาของ JBIC (Japan Bank For International Cooperation) ที่คาดการณ์ว่าในปี 2557 จะมีขยะเกิดขึ้น 13,425 ตัน/วัน
       อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงเมื่อเทียบกับประชากรในกรุงเทพมหานครกว่า 10 ล้านคน ซึ่งแต่ละคนนั้นผลิตขยะคนละ 1.5 กิโลกรัม/วัน เราจึงมีความพยายามที่จะต้องสร้างจิตสำนึกและช่วยกันลดขยะตั้งแต่ต้นทางให้มากขึ้น
       จึงจะต้องมีการแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ใช่ปลายทางด้วยการแนะนำให้ประชาชนลด ปริมาณขยะ ด้วยการนำสิ่งของใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงในอนาคตจะมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้รีไซเคิลขยะให้ประชาชนศึกษาวิธี จัดการขยะในบ้าน
       ทั้งนี้ ในแต่ละวันเมื่อมีการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่แล้วจะเหลือขยะประมาณ 9,900 ตัน/วัน โดยจะนำไปไว้ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ซึ่งได้กำจัดด้วย 2 วิธี คือ 1.หมักทำปุ๋ย (Compost) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช จำนวน 1,200 ตัน/วัน คิดเป็น 13% จากขยะทั้งหมด 2.ฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะประมาณ 7,500 ตัน/วัน หรือ 87% โดยศูนย์ที่อ่อนนุชนำไปฝังกลบ 2,800 ตัน/วัน ศูนย์ที่หนองแขมนำไปฝังกลบ 3,500 ตัน/วัน และศูนย์ที่สายไหมนำไปฝังกลบ 2,400 ตัน/วัน นอกจากนี้ ในส่วนของขยะติดเชื้อที่มีประมาณ 30 ตัน/วัน จะมีการทำลายทุกวัน ส่วนขยะอันตราย อาทิ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย จะทำลายทุก 15 วัน

        ตั้งเป้าลดขยะฝังกลบเหลือ 50 %
       ล่าสุด กทม.วางเป้าหมายลดขยะที่จะนำไปฝังกลบให้ได้ และเหลือนำไปฝังกลบเพียง 50% ในอีก 18 ปีข้างหน้า จึงมีโครงการก่อสร้างโรงงานเตาเผาพลังงานความร้อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 300 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ซึ่งมีกำหนดเสร็จในปี 2558 การก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้การคัดแยกขยะขนาด 300 ตัน/วัน และโรงงานหมักปุ๋ยขนาด 600 ตัน/วันที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช การศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโรงงานเตาเผาพลังงานความร้อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 2,000 ตันที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม และเดินระบบโรงงานแปรรูปวัสดุก่อสร้างขนาด 500 ตัน/วันที่อ่อนนุช
       ขณะเดียวกันวิธีการจัดเก็บขยะนั้น กทม.มีนโยบายให้ทุกเขตจัดเก็บขยะทุกวันในถนนสายหลัก ในเวลา 20.00-05.00 น. และให้เก็บให้เสร็จก่อน 06.00 น. ทั้งนี้ จะมีจุดที่เป็นจุดอับ ซึ่งรถขยะของสำนักงานเขตไม่สามารถเข้าถึงได้ ประมาณ 300 ชุมชน โดยชุมชนเหล่านี้ได้ตั้งเจ้าหน้าที่อาสาชักลากขยะ ทำหน้าที่ นำขยะออกจากชุมชนมาไว้ในจุดที่รถขยะของกทม.เข้าถึง
       นอกจากนี้ แนวทางสร้างสรรค์ กรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสีเขียว ยังได้เดินหน้าแผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปี 2558 ให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมอีก 5,000 ไร่ ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยขอให้สำรวจพื้นที่ใต้ทางด่วน และบริเวณจุดขึ้นลงทางด่วนในเขตที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงประสานงานกับกรรมการหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ เพื่อเข้าไปดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะส่วนกลางในหมู่บ้านที่ปล่อยรกร้างไม่มีผู้ดูแล อีกทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เขตชั้นในให้มากขึ้น เน้นทำสวนแนวตั้งหรือสวนดาดฟ้าอาคารสูงต่างๆ โดยประสานกับเจ้าของอาคาร คอนโด อาคารชุด

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่โรงกำจัดขยะมูลฝอย เขตสายไหม พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภากทม. เป็นประธานประชุมติดตามนโยบายโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยท่าแร้ง (สายไหม) และการแก้ไขปัญหาขยะของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยมีสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

        ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าขยะ
       กทม.ต้องมีการแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ใช่ปลายทางด้วยการแนะนำให้ประชาชนลด ปริมาณขยะ ด้วยการนำสิ่งของใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงในอนาคตจะมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้รีไซเคิลขยะให้ประชาชนศึกษาวิธี จัดการขยะในบ้าน
       พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภากทม. บอกว่า ขณะนี้เสนอให้กทม.เน้นนโยบายการแปรสภาพเพิ่มมูลค่าของขยะ ซึ่งขณะนี้โรงกำจัดขยะหนองแขมได้เริ่มก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ส่วนโรงกำจัดขยะหนองแขมและอ่อนนุช ได้มีโครงการนำขยะพวกวัชพืชกิ่งไม้มาทำปุ๋ยอินทรีย์ สามารถผลิตได้วันละ 100 ตันต่อวัน แต่จากรายงานพบว่ายังผลิตได้ไม่ถึงเป้าเนื่องจากปริมาณกิ่งไม้ยังมีไม่มากพอ จึงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนเมื่อตัดกิ่งไม้ต้นไม้ไม่ควรนำมาเผาทิ้ง แต่ให้แจ้งมายังกทม.เพื่อจะได้เข้าไปบริการจัดเก็บให้ ซึ่งปุ๋ยที่ได้จะนำมาใช้ตามสวนสาธารณะของกทม. ทำให้ประหยัดงบได้หลายสิบล้านบาทต่อปี ซึ่งในอนาคตเห็นว่าการแปรสภาพขยะมาเพิ่มมูลค่าเป็นแนวทางที่จะช่วยประหยัดงบ ประมาณได้ ทั้งนี้จะนำข้อมูลไปหารือกับส.ก. เพื่อผลักดันเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้สอดคล้องรัฐบาลต่อไป
       พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางให้ 50 เขต ร่วมรณรงค์การคัดแยกขยะที่เกิดจากตลาดสดต่างๆ โดยทาง กทม.จัดนำถังขยะไว้บริการเพื่อคัดแยกขยะแต่ละประเภท และเสนอให้ดูแลสวัสดิการสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับขยะ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีในการทำงาน นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้กทม.กำหนดนโยบายจัดตั้งโรงงานหรือธนาคารขยะ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนคัดแยกขยะแล้วนำมารีไซเคิลขายให้กับธนาคาร เพื่อเป็นรายได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอีกทางหนึ่ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 มกราคม 2558