ผู้เขียน หัวข้อ: รุมค้าน “บริจาค” ช่วยบัตรทอง แนะร่วมจ่ายช่วยงบไม่บาน คุณภาพรักษาดีขึ้น  (อ่าน 613 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
แวดวงสาธารณสุขรุมค้านแนวคิด “บริจาค” เพิ่มเงินในระบบบัตรทอง “หมอเจตน์” ชี้เป็นเรื่องตลก รพ. มีรับบริจาคอยู่แล้ว เสนอควรมีการร่วมจ่าย ช่วยงบไม่โป่งเหตุ คุณภาพการรักษาดีขึ้น ด้าน “หมอประชุมพร” เห็นพ้องร่วมจ่าย ยกเว้นกลุ่มบุคคล สปสช. กำหนด ด้านเอ็นจีโอค้านด้วย แนะเก็บภาษีสุขภาพ หวั่นเป็นระบบอนาถา

รุมค้าน “บริจาค” ช่วยบัตรทอง แนะร่วมจ่ายช่วยงบไม่บาน คุณภาพรักษาดีขึ้น
        หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีการล้มกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่จะต้องสร้างระบบให้ยั่งยืน โดยเสนอให้คนทุกสิทธิบริจาคเงินเข้ากองทุน สามารถนำไปหักภาษีได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และ ส.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำแนวทางดังกล่าว
       
       นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และถือเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะโรงพยาบาลเองก็มีการรับบริจาคอยู่แล้ว และตนไม่คิดว่าจะมีเศรษฐีรายใหญ่คนไหนบริจาคเพื่อหวังลดหย่อนภาษี ซึ่งวิธีบริจาคนี้ไม่ได้ช่วยให้ระบบยั่งยืน วิธีที่ช่วยได้แม้หลายฝ่ายไม่ยอมรับ แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องทำ คือ การร่วมจ่าย แต่ไม่ใช่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนจะเข้ารับบริการ โดยจะต้องมาระดมสมองกันว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือตั้งหน่วยงานมาดูแล ซึ่งการร่วมจ่ายทำให้งบประมาณไม่โป่งจนเกินไป อย่างสิทธิข้าราชการจะเห็นว่างบประมาณด้านสุขภาพอยู่ที่ปีละ 60,000 ล้านบาท เป็นเช่นนี้มาประมาณ 8 ปีแล้ว หากเพิ่มขึ้นก็ประมาณ 2 - 3 พันล้านบาท
       
       “อย่างที่มีนักวิชาการนำผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาเปิดเผยว่า คนไข้บัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนไข้สิทธิข้าราชการถึง 7.1 หมื่นคนในรอบ 4 - 5 ปี เหตุผลหนึ่งที่หลายคนอาจมองผ่าน คือ คนไข้สิทธิข้าราชการ และประกันสังคม มีการร่วมจ่าย ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าต้องใส่วัสดุทางการแพทย์เพิ่ม ทั้งการทำสายสวนหัวใจ การใส่ข้อเข่าเทียม หรือแม้แต่เลนส์กระจกตา หากวัสดุเพิ่มก็จะมีการร่วมจ่ายของข้าราชการ ตรงนี้เมื่อวัสดุดีก็ทำให้คุณภาพการรักษาดีด้วย แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีเพียงบัตรทองสิทธิเดียวที่ไม่มีการร่วมจ่าย และจะเป็นการรักษาแค่สูตรเดียว อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะไม่มีการปรับยาเพิ่ม แต่จะใช้ยาสูตรเดียว เพราะไม่มีเงินเข้ามาสู่ระบบนั่นเอง ที่สำคัญ ยาของ สปสช. ก็เป็นการประมูลทั้งหมด ก็ต้องเข้าใจว่าการประมูลจะค่อนข้างได้ยาถูกที่สุด” นพ.เจตน์ กล่าว
       
       นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย การจะทำให้ระบบยั่งยืนไม่ควรพูดว่าให้ประชาชนมาบริจาค เพราะระบบสุขภาพของประเทศไม่ใช่ภาระ แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องลงทุนเพื่อดูแลประชาชน มิเช่นนั้น จะกลายเป็นระบบสงเคราะห์ โดยหลักควรเน้นงบประมาณจากรัฐบาลมากกว่า ต้องมาพิจารณาว่า จะมีการเพิ่มได้หรือไม่ โดยอาจต้องไปดูงบสุขภาพภาพรวมทั้งประเทศ ในแต่ละกองทุนว่ามากน้อยแค่ไหน และจัดสัดส่วนให้เหมาะสม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะรวม 3 กองทุน หรือจะเพิ่มงบเข้ากองทุนจะทำอย่างไร เช่น วิธีเก็บภาษีสุขภาพ แต่การเก็บต้องมีวิธีที่ดี โดยเก็บประชาชนทุกคน คล้ายกับเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเก็บแบบภาษีรถยนต์ประจำปี ส่วนการบริจาคมองว่าเป็นเรื่องเสริม เช่น คนเสียภาษีที่มีช่องว่างบริจาคให้พรรคการเมือง อาจเพิ่มช่องทางบริจาคเข้ากองทุนสุขภาพ ก็ต้องมาระดมสมองว่าวิธีการไหนดีที่สุด แต่ไม่ใช่ใช้การบริจาคเป็นเรื่องหลักในการดูแลกองทุนให้ยั่งยืน
       
       น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กองทุนบัตรทองต้องการเงินเข้ามาในระบบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยงบที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบต้องเป็นเงินที่รัฐบาลจัดหาเข้ามาอย่างเพียงพอ ถ้าจะเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มจากระบบภาษี ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดหาเงินเข้าคลังให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อุดรอยรั่วเรื่องการจัดเก็บภาษีบางอย่าง ส่วนเรื่องบริจาคนั้นเป็นเรื่องไกลเกินไป และ ไม่เหมาะสม จะทำให้ถูกมองว่าอนาถา และไม่ใช่ว่าจะได้รับการบริจาคไปตลอด การบริจาคควรเป็นเรื่องที่ประชาชนไปทำกันเองในระดับพื้นที่ ในระดับสนับสนุนการดูแลสุขภาวะอื่น ๆ ร่วมกันมากกว่า
       
       “สิ่งที่จะทำได้ดีกว่านั้นคือคนที่มีเงินเยอะต้องจ่ายภาษีให้เยอะขึ้น นั่นคือ การได้เงินมาอย่างสมศักดิ์ศรีและเป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องมาบริจาค เพราะความสงสาร เห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ มันไม่ควรเป็นอย่างนี้ ซึ่งหากยังเดินหน้าว่าจะทำเรื่องการขอรับบริจาคอยู่ จะใช้เสียงของประชาชนบอกเขาว่า ระบบเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรี” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
       
       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า แทบทุกโรงพยาบาลมีการดำเนินการบริจาคอยู่แล้ว หากรัฐบาลจะใช้แนวทางนี้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ระบบดีขึ้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาถึงเรื่องการให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองร่วมจ่ายหรือร่วมสมทบ โดยแนวทางอาจเป็นการร่วมจ่ายขณะเข้ารับการรักษาเหมือนที่จ่าย 30 บาทต่อการเข้ารักษาแต่ละครั้ง ที่อาจเพิ่มเป็น 50 บาท หรือ 100 บาท หรืออาจให้ร่วมจ่ายเหมือนสิทธิข้าราชการ เช่น หากต้องการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติก็ร่วมจ่ายเอง หรืออาจจะใช้แนวทางร่วมจ่ายแบบคล้ายซื้อประกันของรัฐบาล แต่ทุกแนวทางจะต้องยกเว้นให้กับผู้ที่ถือบัตรทองตามเกณฑ์การยกเว้นที่ สปสช. กำหนดขึ้น เช่น พระภิกษุ สามเณร ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และ เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เป็นต้น
       
       “การร่วมจ่ายที่ยกเว้นบางกลุ่มบุคคลตามที่ สปสช. กำหนดจะถือว่ามีความเป็นธรรมที่แท้จริง คือ ผู้ไม่มีไม่ต้องจ่าย ผู้ที่พอมีร่วมจ่าย กรณีที่ รมว.สธ. แต่งตั้งคณะกรรมการระดมทรัพยากรฯ เห็นว่า อาจจะเป็นการพายเรือในอ่าง เพราะทั้ง 2 ท่านอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น จึงอาจเป็นการเสียโอกาสที่จะให้เห็นปัญหา และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น คงหวังได้ยาก” พญ.ประชุมพร กล่าว


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 กรกฎาคม 2558