ผู้เขียน หัวข้อ: แรง!! ขึ้นป้ายไล่ “ประดิษฐ-ณรงค์” ไปสู่สุคติ  (อ่าน 1009 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
 โรงพยาบาลชุมชนพร้อมใจแห่ขึ้นป้ายไล่ “ประดิษฐ-ณรงค์” ไปสู่สุคติ ค้านเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทน ส่วนแพทย์ชนบทชุมนุมหน้าทำเนียบ 26 มี.ค.นี้ เตรียมแห่โลงศพ วางดอกไม้จันทน์ ให้ รมว.สธ.ด้าน สพศท.หนุนจ่ายแบบ P4P ชี้คนออกมาเต้นเป็นพวกไม่ทำงาน ย้ำหยุดงานยาวช่วงสงกรานต์เป็นการจับคนไข้เป็นตัวประกัน เตรียมระดมคนร่วมพันตบเท้าให้กำลังใจ ปลัด สธ.ตัดหน้า 1 วัน
       
       นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มแพทย์ชนบทได้มีการหารือเพื่อเตรียมตัวเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เพื่อคัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแนวใหม่ และกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ถอดถอน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง โดยการชุมนุมในครั้งนี้จะมีการแห่โลงศพ รมว.สาธารณสุข พร้อมวางพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ นอกจากนี้ กลุ่มแพทย์ชนบททั้งหมดจะกล่าวคำปฏิญญาณไม่ยอมรับผู้นำอย่าง นพ.ประดิษฐ เนื่องจากการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P เสมือนการบั่นทอนจิตใจ และเป็นการนำผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในครั้งนี้ได้รับการประสานงานจากตำรวจนครบาล ซึ่งจะมาอำนวยความสะดวกให้ ขณะที่สมาชิกกองทุนเบี้ยบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็จะมาร่วมชุมนุมด้วย
       
       ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า การที่ สธ.จะปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ P4P ได้เริ่มมีการวางแผนมาตั้งแต่สมัย นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัด สธ.แล้ว เนื่องจากการวิธีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม เพราะคนทำงานมากก็จะได้รับเงินมากตามภาระงาน นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง และโรงพยาบาลนอกเหนือจากสังกัด สธ.ก็ล้วนแต่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เพราะทราบดีว่าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 4 6 และ 7 เป็นการใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปรับเป็นแบบ P4P ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก เนื่องจากเป็นเงินที่ได้เปล่า มีเพียงกลุ่มที่เสียผลประโยชน์เท่านั้นที่ไม่ยอมรับ
       
       “อย่างกรณีที่แพทย์ชนบทออกมาคัดค้านน่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน เพราะคนที่ทำงานต่างเห็นด้วยทั้งหมด ที่สำคัญแพทย์เองก็ควรที่จะมีจริยธรรม เนื่องจากหากแพทย์ชนบทจะหยุดงานยาวช่วงสงกรานต์จริง จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย การทำเช่นนี้แพทย์จะถูกมองว่าเอาคนไข้มาเป็นตัวประกัน อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะมีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มพิกัด เพื่อรับมือให้ความช่วยเหลือและรองรับกรณีโรงพยาบาลอำเภอส่งต่อผู้ป่วยอาการหนักมายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด” ประธาน สพศท.กล่าวและว่า วันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. บุคลากรจากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศจะรวมตัวกันประมาณ 1,000 คน เดินทางมาเข้าพบปลัด สธ.เพื่อให้กำลังใจเกี่ยวกับการทำงานในครั้งนี้ด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศที่ รพช.แต่ละแห่งทั่วประเทศที่คัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P เริ่มมีบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลสวมชุดดำมาปฏิบัติงาน และขึ้นป้ายสีขาว กรอบดำ ที่มีข้อความว่า “ขอไว้อาลัย ประดิษฐ ณรงค์ จงไปสู่สุคติ” อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่ง นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผอ.รพ.พานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ขึ้นป้ายดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้ โดยจะติดป้ายจนกว่าจะมีการยกเลิก เพราะวิธีการจ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำให้เพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์อยู่ในระบบได้มากกว่า
       
       ด้าน นพ.วัฒนา พาราสี ผอ.รพ.ยุพราช ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ร่วมคัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว นอกจากการติดป้ายแล้วจะมีการขึ้นป้ายข้อความว่าเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนคือ “เนื่องจาก สธ.ได้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายหัวของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้เกิดความขาดแคลนของบุคลากร จึงขออภัยในความไม่สะดวก” ด้วย
       
       นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผอ.รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 52 จาก คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.ศิริราช กล่าวว่า ตนไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์ชนบท และ สธ.เนื่องจากทั้งสองฝ่ายฟังกันน้อยไป พูดกันน้อยไป จำเป็นต้องหาทางพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดย สธ.ควรทำความเข้าใจว่า ความกังวลของ รพช. คือการไม่มีเบี้ยเหมาจ่ายที่คงที่ ทำให้แพทย์รุ่นน้องไม่มีแรงจูงใจในการอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องอธิบายให้ได้ว่า สธ.จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 มีนาคม 2556