ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ชม.แถลงผลไม่พบเชื้ออันตรายในหมูกระทะ  (อ่าน 887 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
จากกรณีที่นางสาว ก. (นามสมมติ) อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ ให้กับกลุ่มเครือข่ายงดเหล้า ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปนั่งกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วต่อมาได้เกิดอาการเจ็บป่วยแล้วเสียชีวิต ซึ่งทางด้านสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ไปตรวจสอบและเก็บตัวอย่างมาตรวจ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ตามข่าวที่เดลินิวส์ได้เสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (11 ธ.ค.) ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สธ.) เชียงใหม่ เปิดแถลงข่าวที่ห้องประชุมชั้น 2 ภายในสำนักงานสาธารณสุข ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่าผลการตรวจเนื้อปลา เนื้อหมู และเนื้อไก่ จนถึงขณะนี้ผลตรวจได้ออกมายืนยันแล้วว่า พบการปนเปื้อนของเชื้อสเตรปโตคอกคัส แต่ไม่ใช่อยู่ในกรุ๊ปบี ซึ่งเป็นกรุ๊ปอันตรายที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและทำให้หลายฝ่ายสบายใจได้ ถึงแม้จะเป็นเชื้อคนละกรุ๊ปกัน แต่กรุ๊ปนี้จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย หากกินไม่สุกและร่างกายไม่แข็งแรงอาจจะเป็นได้ หากผู้ที่กินสุกและร่างกายแข็งแรงจะไม่เป็นอะไร ส่วนเชื้อที่ทำให้สาวปริญญาโท เสียชีวิตนั้นเป็นเชื้อสเตรปโตคอกคัส กรุ๊ปบีหรือชื่อเต็มคือ “สเตรปโตคอกคัส อกาเล็คเทีย” ทางสาธารณสุขกำลังตรวจหาอยู่ ถึงแม้ว่าผลการตรวจในครั้งนี้จะไม่พบเชื้อที่เป็นต้นเหตุก็ตาม แต่ไม่สามารถไว้ใจได้ เพราะตัวอย่างที่เก็บมานั้นไปเก็บหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว 4 วัน ดังนั้นจึงทำให้ตัวอย่างที่เก็บมาไม่ตรงกับของเดิมที่เป็นวันเกิดเหตุ ทางสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จะได้ร่วมกับทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกตรวจสอบโดยทางอ้อมอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำภาชนะ และเครื่องมือในการประกอบอาหารมาตรวจสอบ เพื่อให้ทราบว่าการปนเปื้อนมาจากไหน ต้องมีการปนเปื้อนมาก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภคแน่นอน

ทพ.ดร.สุรสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปนเปื้อนบนเนื้อสัตว์นั้น ต้องเข้าใจร้านที่เปิดจำหน่ายหมูกระทะ หมูจุ่มด้วยว่า เขาไม่ได้เอาเนื้อมาจากฟาร์มโดยตรง ซึ่งต้องผ่านมาจากตลาดและแหล่งขายต่างๆ แล้วก่อนที่จะซื้อมา เนื้อเหล่านั้นก็ต้องถูกหั่น ถูกชำแหละ ซึ่งอาจจะมีการปนเปื้อนกันนั้น เมื่อมาถึงที่ร้านก็ได้มีการนำมาทำความสะอาดแล้ว แต่การปนเปื้อนนั้นยังไม่หายไปทั้งหมด เมื่อผู้ที่นำมารับประทานนั้นนำมาทำแบบไม่สุกหรือกินดิบ ก็เกิดปัญหาได้ ส่วนเชื้อสเตรปโตคอกคัส กรุ๊ปบี นั้นในต่างประเทศก็พบว่ามีการปนเปื้อนมาจากฉี่หนู หรือเจริญเติบโตได้จากตัวหนูด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบความสะอาดของเครื่องมือในการประกอบอาหาร เพราะเราไม่ทราบว่า ช่วงก่อนที่จะภาชนะมาประกอบอาหารนั้นผ่านอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฉี่หนู หรือผ่านอะไรมา ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีที่มีผู้ไปทานหมูกระทะและมีอาการไม่สบายแบบนี้ ปีหนึ่งเป็น 100 คน ซึ่งล่าสุดก็พบในจังหวัดเชียงใหม่ 3 คน และเสียชีวิตไป 1 คนคือสาวปริญญาโทดังกล่าว แต่ทั้งสามคนนั้นไม่รู้จักกัน ไม่ได้ไปทานพร้อมกัน แล้วหนึ่งในจำนวนนี้ก็เป็นเบาหวานด้วย ซึ่งมีอาการเจ็บป่วยและสามารถรับเชื้อได้ง่าย  แต่ถึงขณะนี้เขาก็ยังไม่เสียชีวิต

ดังนั้นจึงอยากจะฝากเตือนผู้ที่ชื่นชอบเนื้อกระทะ หมูกระทะ หมูจุ่ม ควรปรุงอาหารให้สุก ไม่ควรทานกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือทานแบบดิบๆ เพราะโอกาสที่จะเกิดอาการผิดปกติต่อร่างกายมีสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเบาหวานและโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้วยิ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับการปนเปื้อนได้ง่าย จึงควรระมัดระวังในการรับประทานเป็นอย่างมาก และถ้าชื่นชอบการทานหมูกระทะ หมูจุ่ม ควรจะมีการแยกตะเกียบในการทานด้วยเพื่อความปลอดภัย ซึ่งปกติแล้วส่วนใหญ่จะใช้ตะเกียบปนกัน คือนำไปคีบเนื้อสัตว์เสร็จแล้ว ก็จะนำไปคีบเพื่อปิ้งเนื้อ นำเนื้อไปจุ่มในน้ำร้อน แล้วก็นำตะเกียบอันเดียวกันเข้าปาก ซึ่งจะวนกันไปอย่างนี้ หากเนื้อนั้นมีการปนเปื้อนก็จะทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย แต่หากมีการแยกว่าคีมคีบเนื้อ และตะเกียบที่จะรับประทานให้แยกกันออกไป และทำให้เกิดความเคยชิน ก็จะทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในช่วงนี้เป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติเชียงใหม่เกมส์ ทางสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ไปเก็บตัวอย่างอาหารไว้แล้วเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นต่อนักกีฬาและผู้ที่นำนักกีฬามาร่วมเข้าแข่งขัน แต่หากอาหารวันไหนที่นักกีฬาหรือคนอื่นๆ ที่รับประทานเข้าไปแล้วเกิดปัญหา ก็จะได้หาสาเหตุได้ง่ายขึ้น.

เดลินิวส์