ผู้เขียน หัวข้อ: การตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของสปสช. และข้อเสนอในการแก้ปัญหา  (อ่าน 687 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีประกาศของหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 19/2558 เด้งข้าราชการทั้งหมด 71 ราย (1)โดยเลขาธิการสปสช.มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ 1 ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการใน ตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงที่สังกัดโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทาง สังกัดเดิมและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงาน อื่นของรัฐเป็นการชั่วคราวได้ หลังจากที่มีข่าวนี้แล้ว ปรากฏว่ามีผู้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคสช.ฉบับนี้มากมายจากผู้ที่ทำงานร่วมกับนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เริ่มจากเจ้าหน้าที่ในสปสช.(2) และเลขาธิการสปสช.เองได้ยืนยันว่าตนเองทำงานเพื่อประชาชนมาตลอด

ต่อมาก็ปรากฏข่าวว่า นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (3)(บอร์ดสปสช.) รองประธานกรรมการคนที่ 2 สสส. ได้ออกมา “รับรอง”ว่านพ.วินัย สวัสดิวรไม่ได้ทำผิด และยังใส่ร้ายว่า “เกลือเป็นหนอน”หมายความว่านพ.วิชัย โชควิวัฒน์เชื่อว่าคนรอบตัวหัวหน้าคสช.ต้องการ “เอาคืน” กรณีที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขถูกย้ายออกจากตำแหน่ง โยเขาเชื่อว่าปลัดกระทรวงทำผิดจริง ในขณธที่เขาก็รับรองว่าเลขาธิการสปสช.ไม่ได้ทำผิดอะไร และต้องการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทบทวนคำสั่งย้ายเลขาธิการสปสช.

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ภายหลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2558 เพียง 1 วัน นพ.มงคล ณ สงขลา(4) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคคมช. (รัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้ออกมาเขียนแสดงความคิดเห็นในเฟซบุคส่วนตัวว่าเขาเป็นห่วงคนที่ไม่รวยจริง คนที่เป็นมะเร็ง คนไตวาย คนติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆท่อาศัยระบบ 30 บาทอยู่ว่าจะเดือดร้อน เพราะนพ.มงคล ณ สงขลา “มโน”หรือคิดไปเองว่า การย้ายเลขาธิการสปสช.เป็นสัญญาณที่จะ “ล้ม” โครงการที่จะช่วยเหลือคนจน และปกป้องนพ.วินัย สวัสดิวรว่าทำทุกอย่างภายใต้การกำกับของบอร์ด ซึ่งความเห็นของนพ.มงคล ณ สงขลา เห็นว่าการที่หัวหน้าคสช.สั่งย้ายนพ.วินัย สวัสดิวรในครั้งนี้เป็นการ “หลงอำนาจ”ของหัวหน้าคสช.ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

แต่การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหัวหน้าคสช.ของนพ.มงคล ณ สงขลานี้ ก็นับว่ามีประโยชน์ ในการชี้ประเด็นว่ารัฐบาลควรจะต้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุชภาพแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ “กำกับ”การทำงานของเลขาธิการสปสช.อีกต่อหนึ่ง กล่าวคือลูกน้องทำผิด เจ้านาย(หรือผู้กำกับการทำงาน)ก็ต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นๆด้วย

ต่อมาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 มีข่าวในไทยรัฐฉบับพิมพ์ว่านพ.ประเวศ วะสี(5) ได้ออกมาให้ความเห็นว่าการปฏิรูปสุขภาพใช้สมอง ไม่ก่อบาป”โดยนพ.ประเวศ วะสีได้กล่าวถึง “ที่มา”หรือ “การกำเนิดองค์กรอิสระในทางสาธารณสุข” ที่เขารวมเรียกว่า “องค์กรตระกูลส.” เริ่มจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ในปีพ.ศ. 2535 (ผู้เขียน) ต่อด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีพ.ศ.2544(ผู้เขียน) และต่อมาคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีพ.ศ. 2545(ผู้เขียน) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในปีพ.ศ. 2550 (ผู้เขียน)

โดยนพ.ประเวศ วะสีได้กล่าวว่าการตั้งองค์กรตระกูลส.ขึ้นมาตามพ.ร.บ.เฉพาะนั้น เป็นเพราะแนวความคิดที่ว่าระบบราชการเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่ระบบที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ประชาชนจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรสุดแต่ทางราชการจะจัดให้หรือไม่ให้ ระบบราชการเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่ากระทรวงใดๆก็มีประสิทธิภาพต่ำที่จะสนองประโยชน์ประชาชน เพราะเป็นระบบอำนาจไม่ใช่ระบบแนวทางประชาชน

นพ.ประเวศ วะสียังได้กล่าวอีกว่า พื้นฐานความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพก็คือ การปฏิรูปให้ประชาชนมีศักดิ์ศรี เดิมทั้งผู้ให้บริการและผู้ดูแลรายจ่ายงบประมาณรวมอยู่ในที่เดียวกันคือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้อำนาจรวมศูนย์จึงขาดประสิทธิภาพ และเขายังกล่าวอีกว่า การใช้อำนาจรวมศูนย์ทำให้ประชาชนมีเกียรติน้อย มีอำนาจต่อรองน้อย
เขาจึงเป็นผู้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของการจัดตั้งองค์กรตระกูลส. คือสวรส.ตามการ “ตกผลึกของผู้ร่วมก่อตั้ง” เห็นว่าควรเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เช่นเดียวกับการที่ต้องมีสกว “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สวทช.(7) ในปีเดียวกัน

ผู้เขียนเห็นว่า นพ.ประเวศ วะสี ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการก่อตั้งองค์กรภาครัฐที่เป็นอิสระจากหน่วยงานราชการ แต่อาศัยอยู่ภายใต้ชายคาของหน่วยงานนั่นเอง พอ “แข็งแรง”ขึ้นแล้วก็ขยายองค์กรให้ใหญ่โตขึ้นตามลำดับ และแยกย้ายกันไปสร้าง “อาณาจักร”ในที่ใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสมาชิกตามอุดมการณ์เดียวกันก็เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจที่การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.จึงสอดคล้องกันมากใน ครม,ชุดนี้ เนื่องจากดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ก็คือ(6) ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2535จนถึงปี พ.ศ. 2541 และปัจจุบันก็ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเขาบอกว่าคตร.พบความบกพร่องในการปฏิบัติงานของสปสช. แต่เขาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อมาสอบสวนต่ออีก โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความขัดเจน(7)

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ ไม่ยอมรับการทำงานของคตร.ทั้งๆที่คตร.พบ”พิรุธ”ในการทำงานของสปสช.แล้วและเขาบอกว่าจะรายงานเรื่องนี้ให้ครม.รับทราบในกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านได้รายงานครม.หรือไม่/อย่างไร

แต่ในกรณีของปลัดกระทรวงสาธารณสุขนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์นั้น ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เลือกที่จะขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งย้ายปลัดออกไปก่อนสอบสวน(8) ซึ่งจะเห็นได้ว่าดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์มีอคติต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือไม่รับฟังว่าที่ขัดแย้งกับรัฐมนตรีนั้นมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่/อย่างไร

และนพ.วิจารณ์ พานิชก็คือผู้นำในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (9)โดยดำรงตำแหน่ง เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสกว.เป็นกรรมการสสส.ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการนโยบายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและองค์กรอื่นๆอีกมากที่ส่วนมากเกี่ยวข้องกับองค์กรตระกูลส.และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วนนพ.ประเวศ วะสีก็คือผู้นำในการก่อตั้งและบริหารงานในสวรส.และองค์กรตระกูลส.อื่น รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลด้วย และนพ.รัชตะ รัชตนาวินก็คืออดีตอธิการบดีที่ร่วมงานกับนพ.วิจารณ์ พานิช นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งต่างก็เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เราจึงเห็นข่าวว่ารองนายกยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ออกมาให้ความเห็นในทางสนับสนุนการทำงานของรัฐมนตรีสาธารณสุขและสปสช.มาตลอด

นพ.ประเวศ วะสี(5) ยังกล่าวอีกว่าองค์กรส.เป็นเครื่องมือของกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่อยู่สูงกว่าองค์กรส. ไม่ควรจะมาเป็นคู่ขัดแย้งกัน กล่าวคือกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรนโยบายที่กำหนดนโยบายให้องค์กรส.ซึ่งเป็นองค์กรปฏิบัติรับไปปฏิบัติ เช่น จะให้สวรส.วิจัยเรื่องอะไร จะให้สปสช.จะสนับสนุนระบบบริการสุขภาพอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด สสส.ต้องทำอะไรบ้างคนไทยจึงจะมีสุขภาพดีได้เต็มประเทศ

สิ่งที่นพ.ประเวศ วะสีกล่าวในข่าวนี้ เป็นสิ่งที่เขา “ต้องการให้เกิดขึ้น”จริงหรือไม่? แต่ในทางปฏิบัติแล้วองค์กรส.ทั้งหลายกลับใช้อำนาจเหนือกฎหมายทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ “ออกคำสั่ง”ให้กระทรวงสาธารณสุขทำตาม คือทำหน้าที่กลับกันกับที่นพ.ประเวศ วะสีกล่าว ตัวอย่าง เช่น สปสช.ทำการออกระเบียบและกฎเกณฑ์/ข้อบังคับให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องทำตามข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติตามประกาศของสปสช. ถ้าไม่ทำตามระเบียบหรือประกาศของสปสช.แล้ว โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทั้งหลายก็จะไม่สามารถเบิกเงินในการทำงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้เลย จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยตามการวิจัยของ TDRI (10) และเขายังกล่าวอีกว่า การเป็นองค์กรนโยบายได้จะต้องมีปัญญาสูงสุดหรือสมองก้อนโตที่รู้ทั้งหมด สามารถสังเคราะห์นโยบายและบริหารนโยบายได้ ต้องเชื่อมโยงทั้งในและนอกกระทรวงเพื่อให้การพัฒนาทั้งหมดเป็นประโยชน์สุขแก่คนไทยทั้งมวล ซึ่งหลักการและกฎหมายควรจะต้องเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.และประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด

แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือสปสช.ไม่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ ได้รับฟังปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติงานของข้าราชการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศว่า โรงพยาบาลและสถานพยาบาลส่วนมากได้รับงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทไม่เพียงพอ เกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณจนขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย(เจ๊ง) และต้องการให้สปสช.แก้ไขการบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลได้รับงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อที่จะสามารถทำงานดูแลรักษาประชาชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน แต่สปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด)สปสช. ไม่รับฟังและแก้ไข ในขณะที่นพ.รัชตะ รัชตนาวินในตำแหน่งประธานบอร์ดสปสช.ไปสั่งนพ.รัชตะ รัชตะนาวินในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้รายงานไปที่ดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงออกจากการทำงาน ในข้อหาไม่สนองนโยบายรัฐมนตรี จนเกิดการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของสปสช.และน่าจะเป็นที่มาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2558 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าวแล้ว

สิ่งที่นพ.ปประเวศ วะสีพูดทั้งหมด(5) เป็นการรับรองอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า เขาเป็นผู้ที่ร่วมก่อตั้งองค์กรตระกูลส. และร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดกับ สกว. สวทช. และรองนายกรัฐมนตรีดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และเขายังสนิทสนมคุ้นเคยกันดีกับนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ( ผู้ดำรงตำแหน่งรมช.สาธารณสุขคนปัจจุบัน)จากการร่วมก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(11) โดยนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์นี้คือผู้ปฏิเสธการรัฐประหารและเอาเลือกตั้ง(10) โดยการประกาศตัวเข้าร่วมกับขบวนการ “2เอาและ2 ไม่เอา”(12) แต่พอคสช.ทำการรัฐประหารสำเร็จนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ที่ประกาศ “ไม่เอารัฐประหาร” กลับมา “เอา”ตำแหน่งรัฐมนตรี แบบสุภาษิตไทยว่า “เกลียดตัวกินไข” อย่างนั้นเลย
นพ.ประเวศ วะสี ยังพูดอีกว่า “เราต้องร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศน่าอยู่ที่สุด เราทำไม่ได้ในภพภูมิเก่า ซึ่งเป็นภพภูมิแห่งการคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างอำนาจทางดิ่ง ซึ่งเป็นภพภูมิที่ทำให้มีความบีบคั้น พฤติกรรมเบี่ยงเบน ทำร้ายกันสูงเราต้องการศีลธรรมใหม่ และการปฏิวัติสัมพันธภาพด้วยกัลยาณมิตรธรรม”

“ศีลธรรมใหม่” คือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนของคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน การปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ความจริง ความเป็นเหตุเป็นผล คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง”

ผู้เขียนขอสรุปจากการที่ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ 19/2558 นั้นท่านได้ยึดยึดหลักการว่า “ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง”อย่างแน่นอน เพระนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีมากในการที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน ให้มีโอกาสได้รับการดูแลรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมเหมือนประชาชนที่ไม่ยากจน แต่การบริหารจัดการในระบบ 30บาทนั้นมีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ และเกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยมากมายดังตัวอย่างที่กล่าวแล้ว จึงสมควรที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสียหายแก่ประชาชนและงบประมาณแผ่นดินอย่างเร่งด่วนที่สุด
เปรียบเหมือนนโยบายประชานิยมอีกอย่างหนึ่ง คือโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน แต่เกิดความเสียหายจากการทุจริตคอรัปชั่น จึงต้องรีบยุติโครงการนั้น และตรวจสอบแก้ไขและยุติโครงการนั้นทันที

แต่สำหรับระบบ 30 บาทนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทางแก้ไขเร่งด่วนดังนี้คือ
การเริ่มต้นแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการบริหารกองทุนตามหลักธรรมาภิบาลกล่าวคือ
1.ยึดหลักกฎหมาย (นิติธรรม)
2.ยึดหลักคุณธรรม (เห็นความสำคัญของชีวิตผู้ป่วย
3.ยึดหลัก ความถูกต้อง (ยึดหลักมาตรฐานวิชาชีพ)
4.ยึดหลักความมีส่วนร่วม (รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปแก้ไข)
5.ยึดหลักความโปร่งใส (สุจริต ตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)
6 ยึดหลักความรับผิดชอบ (เมื่อทำผิดก็ควรแสดงความรับผิดชอบ เช่นออกมาขอโทษประชาชน และลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถมาแก้ไขระบบทันที)

แต่ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่แก้ไขและไม่แสดงความรับผิดชอบ หัวหน้าคสช.ควรพิจารณาใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้คระกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยทันที

การแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุดพร้อมๆกับการตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบก็คือ การที่คสช.ควรตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการประกันสุขภาพโดยด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับสิทธิในการไปรับการดูแลรักษาในระบบ 30 บาทเหมือนเดิม
แต่ขอร้องว่า อย่านำเอาผู้ที่มีรายชื่อเป็นและเคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารและที่ปรึกษาขององค์กรตระกูลส.เข้ามาเป็นกรรมการ เนื่องจากเป็นผู้ร่วมก่อปัญหามาโดยตลอด เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันที่อาจมีส่วนโยงใยกับผลประโยชน์จากการบริหารกองทุนตระกูลส.ทั้งหมด

เอกสารอ้างอิง
1. http://www.hfocus.org/content/2015/06/10254 บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 เด้ง 71 ขรก. ‘เลขาธิการ สปสช.-นพ.สสจ.ศรีสะเกษ-ผอ.รพ.สงขลา’ โดนด้วย
2. http://www.dailynews.co.th/article/330924 (คลิป) จนท.สปสช.ให้กำลังใจ “นพ.วินัย”
3. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx… “หมอวิชัย" โดดป้องบิ๊กสปสช.
4. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435314212 หมอมงคล ณ สงขลา โพสต์กรณีเด้งเลขาสปสช. ชี้ "ยิ่งนานไปการหลงในอำนาจจะรุนแรงมากขึ้น"
5. https://www.thairath.co.th/content/508914 ปฏิรูปสุขภาพ ใช้สมองไม่ก่อบาป
6. https://th.wikipedia.org/…/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B…
7 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx… “ยงยุทธ” พบพิรุธ สปสช.ใช้เงิน รอสอบให้ชัด
8 http://www.hfocus.org/content/2015/03/9529 ‘ยงยุทธ’ ยัน สธ.ต้องทำงานเป็นทีม เผยปมสอบปลัด หาเหตุทำไมทำงานร่วมกันไม่ได้
9 https://th.wikipedia.org/…/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B…
10 . http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx… งานวิจัยของ TDRI ที่อาจจะทำให้คนไทยรอดตายเป็นจำนวนมากกับวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์และการวิจัย
11. http://www.thainhf.org/?module=page&page=detail&id=2 สาส์นจากประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
12. http://www.tddf.or.th/political/detail.php…
′เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา′ ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ …′ค้านรัฐประหาร-หนุนเลือกตั้ง′ มั่นใจไม่นองเลือดหากทุกฝ่ายเคารพกติกา


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
13 กรกฎาคม 2558