ผู้เขียน หัวข้อ: แฉ รพ.ตจว.เอารถจ้างเหมามาวิ่งฉุกเฉิน เสี่ยงอุบัติเหตุ จี้เปลี่ยนแถบสีรถพยาบาล  (อ่าน 468 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
นักวิจัยชี้โครงสร้างรถพยาบาลฉุกเฉินไทยไม่ได้มาตรฐาน จี้เปลี่ยนแถบสีคาดรถเป็นเขียว - เหลืองมะนาว ตามมาตรฐานเหมือนต่างประเทศ ช่วยคนตาบอดสีมองเห็น ย้ำต้องแก้ปัญหาไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ด้านผู้สอบสวนอุบัติเหตุ สธ. แฉ รพ.ตจว. เอารถจ้างเหมามาวิ่ง สุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ชอบฝ่าไฟแดง เสนอเปลี่ยนเลขสายด่วน 1669 เหตุจำยาก
       
       วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในการเสวนา “ทำอย่างไรให้ทุกชีวิตปลอดภัยในรถพยาบาล” ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปี 2558 “เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย"” ว่า คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 2 หมื่นรายต่อปี ถือว่าสูงที่สุดในเอเชียและสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเชื่อมโยงต่อการประสบอุบัติเหตุของเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ซึ่งปี 2557 มีรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุ 61 ครั้ง เจ็บ 130 ราย ตาย 19 ราย ช่วงใกล้เทศกาลจะเกิดบ่อยครั้ง โดยภาคอีสานเกิดเหตุบ่อยที่สุด ปัญหาสำคัญคือพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินไม่เคยผ่านการอบรมที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข โดย สพฉ. ได้จัดโครงการอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินหรือสุภาพบุรุษนักขับ เพื่อให้รู้แนวทางขับรถพยาบาลที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกหลักสูตรการขับรถพยาบาลด้วย
       
       ด้าน นายศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยประจำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ารถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพของประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในส่วนโครงสร้างของตัวรถ รวมไปถึงค่านิยมความปลอดภัยของคนไทยที่มักไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขและเปลี่ยนทัศนคติ แต่สิ่งที่สามารถเปลี่ยนได้เลย คือ แถบสีคาดรถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพ ที่ควรจะทำให้เห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะคนตาบอดสีก็จะต้องทำให้เห็นได้ โดยเปลี่ยนเป็นสีเขียว และ สีเหลืองมะนาว ซึ่งในต่างประเทศได้มีการเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแล้ว ขณะที่การจัดวางเก้าอี้ภายในรถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพควรจะมีเฉพาะผู้ป่วยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่ควรให้ญาติผู้ป่วยเข้ามาอยู่ด้านไหน
       
       ดร.ณัฐกานต์ ไวยเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจอุบัติเหตุของพนักงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติหน้าที่ พบว่า 95% เกิดจากความบกพร่องของคนขับ ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าเกือบทุกโรงพยาบาลโดยเฉพาะต่างจังหวัดจะมีการนำรถจ้างเหมามาวิ่งให้บริการ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าคนขับมาจากไหน มีประวัติอย่างไร เคยผ่านการฝึกอบรมหรือไม่ ทำให้แพทย์และพยาบาลในรถอยู่บนความเสี่ยง และไม่กล้าตักเตือนเมื่อขับรถเร็ว หรือหากตักเตือนคนขับรถก็จะโกรธและขับรถด้วยความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ เคยตรวจระดับแอลกอฮอล์คนขับรถพยาบาลฉุกเฉินพบว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงมากในช่วงกลางวัน และมีการปิดบังข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจนี้
       
       ดร.ณัฐกานต์ กล่าวว่า อีกวิกฤตหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ คือ คนขับรถพยาบาลฉุกเฉินมักคิดว่าสามารถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรได้ ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ขณะที่ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับแพทย์พยาบาล อยากเสนอให้ปรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 4 แสนบาท ถือว่าไม่พอ นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนขับรถว่าไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอยากเสนอให้เปลี่ยนเบอร์สายด่วน 1669 เพราะจำยาก และภายในรถพยาบาลควรจะมีเก้าอี้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ควรมีเก้าอี้ของญาติ ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถพยาบาลควรมีการปรับปรุงให้ใช้ได้สะดวก


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 มีนาคม 2558