ผู้เขียน หัวข้อ: ป.ป.ช. มีหนังสือถึงนายกฯ ขอให้คุ้มครองพยาน นพ.สมเกียรติ  (อ่าน 605 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ป.ป.ช. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการให้คุ้มครองพยาน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตามกฎหมาย ป.ป.ช. หลังกล่าวหา รมว.-รมช.สธ.มีผลประโยชน์ทับซ้อน

วันที่ 22 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือขอรับการคุ้มครองผู้กล่าวหา ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตามมาตรา 103/5 ประกอบมาตรา 103/2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554

โดย ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้คุ้มครอง ศ.นพ.สมเกียรติ กรณีอาจถูกกลั่นแกล้งปลดให้ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฯ อันเนื่องมาจากผู้กล่าวหาหรือแจ้งเบาะแสต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหา นพ.พงษ์สุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกับพวกว่า ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพื้นฐานรายเดือนและโบนัส รวมถึงการเบิกจ่ายเงินรายได้โครงการที่รับทุนวิจัยจากประเทศแคนาดา (IDRC) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีกล่าวหา ศ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับพวก ที่ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แล้วต่อมา ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา และคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ. ป.ป.ช. มีเจตนาคุ้มครองผู้กล่าวหา ซึ่งได้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเนื่องจากการกล่าวหาหรือการให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแส หรือข้อมูลนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่า ศ.นพ.สมเกียรติ เป็นผู้กล่าวหา ศ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งได้ขอคุ้มครองไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 103/5 ประกอบมาตรา 103/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ว่าอาจถูกกลั่นแกล้งปลดให้ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยการบอกเลิกสัญญาจ้างผู้บริหาร ที่อ้างเหตุผลเกี่ยวกับการโต้แย้งอำนาจของประธานและคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการบริหารการประชุม ดังนั้น การบอกเลิกจ้างผู้บริหารที่ นพ.สมศักดิ์ ​ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้มีต่อ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เป็นผู้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น เพื่อให้นโยบายแห่งรัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองช่วยเหลือพยานให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การส่งเสริมป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้คุ้มครองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล หรือมีมาตรการอื่นใดตามที่เห็นสมควรต่อไป

จึงแถลงเพื่อทราบโดยทั่วกัน


ไทยรัฐออนไลน์ 22 ธ.ค. 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ป.ป.ช. ใช้ กม. คุ้มครองพยาน “หมอสมเกียรติ” ครั้งแรก ฐานะแฉทุจริต สวรส. ไม่ฟันธงครอบคลุมยกเลิกมติบอร์ด สวรส. เลิกจ้างงานหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจนายกฯ ระบุยื่นหนังสือให้คุ้มครองต่อนายกฯ แล้วพร้อมเตรียมไต่สวนข้อมูลทุจริตตามที่แจ้งข้อมูล

        วันนี้ (22 ธ.ค.) นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล นักกฎหมายชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ รักษาราชการแทน ผอ.สำนักคดี ป.ป.ช. กล่าวว่า จากกรณี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีต ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้คุ้มครองในฐานะพยาน กรณีแจ้งข้อมูลเรื่องการทุจริตใน สวรส. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาตามมาตรา 103/5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม 2550 และ 2554) เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลหลักฐาน ประกอบกับกรณีบอร์ด สวรส. ยกเลิกสัญญาจ้าง ศ.นพ.สมเกียรติแล้ว จึงมีมติให้คุ้มครอง ศ.นพ.สมเกียรติ ตามที่ร้องขอ วันนี้จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการคุ้มครองหรือมีมาตรการตามสมควร
       
        “ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ป.ป.ช. ใช้กฎหมายนี้ในการคุ้มครองผู้กล่าวหา ส่วนการคุ้มครองนี้จะครอบคลุมหรือมีผลให้ยกเลิกมติบอร์ด สวรส.เรื่องการยกเลิกสัญญาจ้าง ศ.นพ.สมเกียรติ หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ท่านนายกฯ จะพิจารณาดำเนินการ อยู่ที่ดุลพินิจของท่าน และอาจจะใช้อำนาจในการแจ้งมายังบอร์ด สวรส. อีกครั้งหนึ่ง” นายพัฒนพงศ์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีทุจริตตามที่ร้องเรียนเอาไว้นั้น ป.ป.ช. ต้องดำเนินการไต่สวนต่อไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเท่าที่มีอยู่น่าจะเพียงพอแล้ว และคาดว่าน่าจะมีผลสรุปการไต่สวนออกมาในเร็วๆ นี้
       
        นายพัฒนพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้มอบหมายตนให้ไปชี้แจงต่อศาลปกครองเพื่อดำเนินการตามที่ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.สมเกียรติ ได้ไปร้องขอคุ้มครองเอาไว้ที่ศาลปกครองด้วย ขึ้นอยู่กับศาลจะเรียกมาเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้ ศ.นพ.สมเกียรติ ได้ขอคัดสำเนาเอกสารมติของ ป.ป.ช. ไปยื่นต่อศาลปกครองอีกครั้งหนึ่งแล้ว
       
        ด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้คุ้มครองในฐานะพยานกรณีที่ออกมาแจ้งข้อมูลเรื่องการทุจริตใน สวรส. ต่อ ป.ป.ช. โดยอาศัยมาตรา 103/5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม 2550 และ 2554) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณแล้วเห็นให้คุ้มครองตน และทราบว่าวันนี้ ป.ป.ช. ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อเรื่องนี้แล้ว ส่วนจะคุ้มครองถึงคำสั่งเลิกสัญญาจ้างตนหรือไม่นั้นต้องสอบถามที่ ป.ป.ช. ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะตนเป็นคนออกมาแฉทุจริต แต่กลับเป็นคนโดนปลด ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ สวรส. ที่ร้องเรียนว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุน IDRC ด้วยนั้น ไม่เป็นไร ก็ให้คนกลางเข้ามาตรวจสอบ แต่คำถามคือทำไมเรื่องนี้ถึงไม่อยู่ในฐานข้อมูลที่ตนมี และอธิบายได้หรือไม่ทำไมตอนที่ตนอยู่ถึงไม่มาสอบถามตน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ให้คนกลางเข้ามาตรวจสอบ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 ธันวาคม 2557